สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

รัฐศาสตร์และการเมือง

ความหมายของการเมือง
ความหมายของรัฐศาสตร์
สาขาวิชาทางรัฐศาสตร์
วิวัฒนาการและวิธีการศึกษาวิชารัฐศาสตร์

วิวัฒนาการและวิธีการศึกษาวิชารัฐศาสตร์

การศึกษาวิชารัฐศาสตร์ นับแต่สมัยโบราณจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังไม่มีลักษณะเป็นศาสตร์ที่แท้จริง หากเป็นเพียงการรวบรวมความคิดของปราชญ์ทางสังคมที่แล้วๆ มา ความคิดและความสนใจของปราชญ์เหล่านั้น ได้แก่ ปัญหาสำคัญๆ ของสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย ทำให้เนื้อหาสาระวิชาการเมืองมีขอบเขตของการศึกษาที่กว้างขวางมาก เนื่องจากได้รวบรวมเอาความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวสารพัดอย่างไว้มากเกินไป

ในระยะหลังๆ การศึกษาวิชารัฐศาสตร์จึงยังคงอยู่ในภาวะของการแสวงหาความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เพื่อที่จะยกฐานะของตนให้เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่มีหลักแห่งความรู้ที่เป็นลักษณะวิชาของตนโดยเฉพาะ โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นมิใช่เป็นเพียงศาสตร์ประยุกต์ ที่นำแนวความคิดในวิชาอื่นๆ มาศึกษาสถาบันทางการเมืองต่างๆ จากความพยายามดังกล่าวนี้ ทำให้วิชารัฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะมีลักษณะเป็นศาสตร์ในทางวิเคราะห์ ที่ยึดถือทฤษฎีเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยมากขึ้น แทนที่จะยึดปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติเป็นหลักแห่งความสนใจ

วิวัฒนาการของการศึกษาวิชารัฐศาสตร์แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ด้วยกัน คือ

1. สมัยที่ศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาทางศีลธรรมทั่วไป
2. สมัยที่ศึกษาตัวบทกฎหมาย
3. สมัยที่ศึกษาสิ่งที่เป็นจริง
4. สมัยที่เน้นในด้านพฤติกรรมศาสตร์

  • ระยะที่ 1 นับตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นเวลาประมาณ 2,500 ปี การศึกษายังคงรวมอยู่กับการศึกษาเกี่ยวกับสังคมทั่วไป ซึ่งได้แก่การศึกษาในเรื่องปรัชญาทางศีลธรรม ในระยะนั้นนักปราชญ์ทางสังคมมีเสรีที่จะเลือกสนใจศึกษาปัญหาสำคัญของสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย การศึกษาวิชาการเมือง ได้แก่ การศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมาของทางการเมืองในสังคมตะวันตก เนื้อหาสาระของวิชาส่วนใหญ่ประกอบด้วยหัวข้อเรื่องที่มีความสัมพันธ์ต่อกันน้อย เนื่องจากยังขาดแนวคิดทางทฤษฎีที่ชัดเจน และระเบียบวิธีที่รัดกุมเป็นหลักในการรวบรวมความรู้ เนื้อหาสาระของวิชาเป็นผลซึ่งเกิดจากการรวบรวมการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสมัยหนึ่งๆ ซึ่งไม่ค่อยซ้ำแบบกัน
  • ระยะที่ 2 การศึกษาที่เน้นในเรื่องทฤษฎีที่ว่าด้วยรัฐ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้วิชาการเมืองเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งรัฐยังมีความหมายแคบๆ ว่าเป็นที่รวมของกฎเกณฑ์ในทางกฎหมาย และจำกัดเฉพาะโครงสร้างหรือรูปแบบที่เป็นทางการตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความรู้โดยเฉพาะในวิชารัฐศาสตร์ขึ้นมา นับแต่นั้นเป็นต้นมา วิชารัฐศาสตร์จึงสนใจศึกษาในเรื่องความก้าวหน้าของกฎหมาย ข้อกำหนดในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการปกครองแบบต่างๆ อำนาจที่เป็นทางการของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาล และฝ่ายบริหารประกอบกับการศึกษาถึงเรื่องปรัชญาโบราณ เป้าหมายของการปกครอง และเป้าหมายของรัฐ
  • ระยะที่ 3 ถึงแม้ว่า วิชาการเมืองในยุโรป ยังคงจำกัดตัวเองเฉพาะการศึกษาเรื่องรัฐ โดยเน้นที่รูปแบบทางการตามตัวบทกฎหมายจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่วิชาการเมืองในสหรัฐ จำเป็นต้องหันไปสนใจศึกษาความเป็นจริงทางการเมืองต่างๆ มากขึ้น โดนเน้นในด้านกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ เพราะมีปัญหาหลายด้าน ซึ่งเกิดจากการเป็นสังคมอุตสาหกรรมและการมีกลุ่มต่างๆ ที่ทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น มุ่งศึกษาความเป็นจริงทางการเมือง เช่น กลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมือง ทำให้มีการแบ่งสาขาวิชาเฉพาะในรัฐศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกสาขาวิชาได้เริ่มมีความพยายามที่จะอธิบายว่า การเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ เพื่อมีอำนาจ หรืออิทธิพลเหนือการปกครองหรือนโยบายสาธารณะ จึงทำให้นักรัฐศาสตร์ผละจากการยึดมั่นในแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ และหันไปสนใจศึกษาเรื่องของการอำนาจ และกลุ่มต่างๆ
  • ระยะที่ 4 เป็นสมัยที่วิชารัฐศาสตร์เน้นในด้านพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งเพิ่งจะเจริญขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวคือ มีการนำเทคนิคใหม่ๆ มาศึกษาพฤติกรรม ซึ่งเป็นอยู่จริงๆ และก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น โดยมุ่งศึกษาที่ตัวบุคคล เช่น ศึกษาถึงทัศนคติ สิ่งจูงใจ และค่านิยมของคน ทำให้มีข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดระเบียบในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์เสียใหม่ การศึกษาที่ยึดหลักพฤติกรรมศาสตร์ มุ่งสนใจศึกษากระบวนการต่างๆ แทนการเน้นในเรื่องสถาบัน จึงมีผลให้วิชาการเมืองก้าวจากการเป็นศาสตร์ในทางสังเคราะห์ไปสู่การเป็นศาสตร์ในทางวิเคราะห์มากขึ้น

สำหรับวิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์ ยังมีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. กลุ่มนิยมการตีความ (Interpretivism)

จะศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ปรัชญา ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง รวมถึงการค้นคว้าหารายละเอียด ข้อมูลที่มิได้เป็นในเชิงจำนวน เพื่อนำมาอธิบาย ตีความ ปรากฏการณ์

2. กลุ่มพฤติกรรมศาสตร์ (Behaviourism)

เกิดขึ้นหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมุ่งเน้นในเรื่องของทฤษฎีทางการเมืองที่เป็นกลไก และใช้หลักทางสถิติเพื่อตรวจสอบข้อมูลในเชิงจำนวน

แต่เดิม นักรัฐศาสตร์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมุ่งเน้นในการตีความ ใช้ข้อมูลหรือเอกสารในห้องสมุด และใช้วิธีการอนุมาน ตลอดจนยังคงศึกษาว่ารัฐที่ดีหรือรัฐบาลที่ควรเป็นอย่างไร ในช่วงระยะเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรดาอาจารย์และนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ได้เข้าไปทำงานและปฏิบัติจริง ในหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ทำให้เกิดประสบการณ์และเปลี่ยนแปลงวิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์ไปมุ่งเน้นในทางพฤติกรรมศาสตร์มากขึ้น โดยใช้ความรู้ที่ได้มาจากการทำงานกับของจริง คือ รัฐบาล มาแล้ว เพื่อที่จะตัดสินได้อย่างแม่ยำว่า

1. ใครจะได้อำนาจทางการเมืองในสังคมหนึ่งๆ
2. พวกเขาได้อำนาจทางการเมืองมาอย่างไร
3. ทำไมพวกเขาจึงเอาอำนาจทางการเมืองมาได้
4. เมื่อพวกเขาได้อำนาจทางการเมืองแล้ว พวกเขาเอาอำนาจนั้นไปใช้ทำอะไร

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือว่า การจะมุ่งเน้นไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง คงไม่เป็นการดีอย่างแน่นอน เพราะในบางเรื่องก็ไม่อาจใช้หลักทางพฤติกรรมศาสตร์ได้ ดังนั้น รัฐศาสตร์จึงเป็นการเชื่อมโยงองค์ประกอบบางส่วนของกลุ่ม “นิยมการตีความ” และองค์ประกอบบางส่วนของกลุ่ม “พฤติกรรมศาสตร์”

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย