ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ศาสนาในสังคมไทย

        ประเทศไทย ให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชน พร้อมกันนั้นยังมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกทุกศาสนา จึงเป็นผลให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสันติสุข เราเป็นพุทธศาสนิกชนควรมีความรู้ ความเข้าใจทุกศาสนา เพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมไทย

ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลาม องค์ศาสดา คือ นบีมูฮัมหมัด กำเนิดที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย คัมภีร์อัลกุรอาน มัสยิดเป็นสถานที่ประกอบพิธีปฏิบัติมนัสการหรือทำละหมาดในวันศุกร์เป็นประจำ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เรียกว่า มุสลิม หลักคำสอนศาสนาอิสลามและการปฏิบัติ

  1. การปฏิญาณตน ว่า“ไม่พระเจ้าองค์ใดนอกจากอัลฮอล์ และมูฮัมหมัด คือ ศาสนทูตแห่งพระองค์”
  2. การระหมาด คือ การนมัสการต่อพระเจ้า วันละ 5 ครั้ง ย่ำรุ่ง กลางวัน เย็น พลบค่ำ กลางคืน โดยหันหน้าไปทางเมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
  3. การถือศีลอด คือ การละเว้นจากการกิน การดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ตก ในเดือนเราะมะฎอน (เดือน 9 ) เป็นเวลา 1 เดือน
  4. การบริจาคชะกาต คือ การจ่ายทานบังคับจากผู้ที่มีทรัพย์สินครบ ให้แก่ผู้ยากจน รู้จักการเสียสละลดความตระหนี่
  5. การประกอบพิธีฮัจญ์ คือ การเดินทางไปประกอบศาสนกิจ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

องค์กรทางศาสนา เรียกว่า สำนักจุฬาราชมนตรี โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำสูงสุด กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการอิสลามประจำจังหวัด และกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

ศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์ องค์ศาสดา คือ พระเยซู กำเนิดที่เมืองเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล คัมภีร์ ไบเบิล การประกอบ ศาสนพิธีจะไปโบสถ์ในวันอาทิตย์เป็นประจำ นิกายที่สำคัญ นิกายโรมันคาทอลิก นิกายโปรเตสแตนต์ และนิกายออร์ทอดอกซ์ หลักคำสอนศาสนาคริสต์บัญญัติ 10 ประการ และการปฏิบัติ

  1. ศีลล้างบาปหรือศีลจุ่ม จะทำเมื่อทารกเข้ามานับถือศาสนา โดยใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์เทบนศีรษะเป็นสัญญลักษณ์การล้างบาป
  2. ศีลกำลัง พิธีเจิมหน้าผากด้วยน้ำมัน เพื่อยืนยันถึงความศรัทธาในศาสนาคริสต์
  3. ศีลมหาสนิท เป็นพิธีกรรมรับศีล โดยรับขนมปังและเหล้าองุ่น เป็นสัญลักษณ์แทนกายและพระโลหิตของพระเยซูมารับประทาน พีธี “มิสซา” ชาวคริสต์ทุกคนไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์เพื่อระลึกถึงคำสอนและชีวิตของพระเยซู
  4. ศีลแก้บาป พิธีกรรมที่ชาวคริสต์ไปโบสถ์เพื่อสารภาพบาป แล้วบาทหลวงจะคอยตักเตือนสั่งสอน
  5. ศีลอนุกรม ศีลบวช เป็นพิธีสำหรับผู้ที่จะบวชเป็นบาทหลวง
  6. ศีลสมรส พิธีประกอบการแต่งงานในโบสถ์ จะทำพิธีต่อหน้าบาทหลวงทางศาสนาและเป็นพยาน องค์กรทางศาสนา สภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิก

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ศาสดาของศาสนาฮินดู เทพเจ้า 3 องค์ พระพรหม พระวิษณุหรือพระนารายณ์ พระศิวะ กำเนิดที่ประเทศอินเดีย คัมภีร์พระเวทย์ 4 คัมภีร์ หลักคำสอนศาสนาฮินดู หลักธรรม 10 ประการ หลักปฏิบัติทั่วไป

  1. พิธีสังสการ พิธีที่ทำให้บริสุทธิ์ประจำบ้าน 12 ประการ คือ พิธีตั้งครรภ์ พิธีคลอด พิธีตั้งชื่อ พิธีโกนผม พิธีตัดผม และพิธีแต่งงาน เป็นต้น
  2. พิธีศราทธ์ พิธีทำบุญอุทิศให้แก่บิดา มารดา และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว วันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำในเดือน 10

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พิธีกรรมของศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยผสมกลมกลืนกับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา และพิธีสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ตราบถึงปัจจุบัน ศาสนาพราหมณ์มีฐานะเป็นองค์กรทางศาสนาและเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักพระราชวัง มีสำนักงานอยู่ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร

ศาสนาฮินดูเป็นของชาวอินเดีย มีสมาคมฮินดูสมาช และสมาคมฮินดูธรรมดาสภา



ศาสนาสิกข์

ศาสนาสิกข์ เป็นของชาวอินเดีย มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ชาวอินเดียนับถือศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลามมีความสมัครสมานสามัคคีกัน มีพระเจ้าองค์เดียว ศาสดาของศาสนา หรือ คุรุ รวมทั้งหมด 10 องค์ องค์ที่สำคัญที่สุด คุรุนานัก คัมภีร์ ครันถสาหิพ พิธีกรรม ผู้ที่ผ่านพิธี “ปาหุล” จะได้นาม “สิงห์” ต่อท้ายทุกคน และจะได้ “กกะ” คือ สิ่งที่ขึ้นต้นอักษร “ก” 5 ประการ เกศ ไว้ผมยาว โดยไม่ต้องตัด กังฆา หวีขนาดเล็ก กฉา กางเกงขาสั้น กรา กำไลมือทำด้วยเหล็ก และกิรปาน ดาบ หลักปฏิบัติพิธีกรรม

  1. พิธีอมฤตสังสการ คือ พิธีรับคนเข้าศาสนา โดยให้ชาวสิกข์นั่งพร้อมกันในที่แห่งเดียวกัน แล้วหยิบอาหารใส่ปากให้แก่กันและกันและโดยไม่ถือศักดิ์สูงต่ำ
  2. พิธีสังคัต คือ ชุมนุมศาสนิกชน คือ ต้องเช็ดรองเท้า ตักน้ำ ทำทุกอย่างด้วยตนเอง จะเป็นชาวสิกข์ที่ดีมาก

ในทุกศาสนาสอนให้คนประพฤติสิ่งที่ดีงาม โดยมุ่งหวังให้เกิดความสงบสุขต่อตนเองและสังคม ประเทศไทยให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือได้ทุกศาสนา แม้ศาสนาจะแตกต่างกันก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมไทยโดยไม่มีการแบ่งแยกหรือกีดกันทางศาสนา และความเชื่อ สืบเนื่องมาจากหลักธรรมและคำสั่งสอนในทุกศาสนาต่างสอนให้คนทำความดี ไม่ทำความชั่ว มีความเอื้ออาทร เสียสละ และมีความรักความเมตตาต่อกัน

ความสอดคล้องของหลักธรรมคำสอนในแต่ละศาสนา

1. เป้าหมายสูงสุดของแต่ศาสนา

  • พระพุทธศาสนา สอนให้ละความชั่วแต่ให้ทำความดี ตามหลัก เบญจศีล และเบญจธรรม
  • ศาสนาอิสลาม สอนเกี่ยวกับการทำความดี ได้แก่ บอกคนหลงทาง พูดความจริง ห้ามผิดประเวณี
  • ศาสนาคริสต์ สอนให้ทำความดีละเว้นความชั่ว มีอยู่ในบัญญัติ 10 ประการ
  • ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สอนหลักจริยธรรม 10 ประการ ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์
  • ศาสนาสิกข์ หลักคำสอนเกี่ยวกับการความดีละเว้นความชั่ว มีอยู่ในบัญญัติ 10 ประการ

2. การอนุเคราะห์ สงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

  • พระพุทธศาสนา สั่งสอนให้รู้จักการเสียสละ สังคหวัตถุ 4 ได้แก่ ทาย ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตา
  • ศาสนาอิสลาม สอนว่าชาวมุสลิมต้องมีหน้าที่เสียสละและบริจาค จึงมีการบริจาค ซะกาต ให้แก่คนจน
  • ศาสนาคริสต์ ทำความดีด้วยความเต็มใจ
  • ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู การแบ่งปันด้วยความยินดีและเต็มใจ
  • ศาสนาสิกข์ จงให้ทานคนยากจนเสมอแบ่งรายได้ 10 ส่วนอุทิศการกุศล

3. มีความรักความเมตตา

  • พระพุทธศาสนา มีคำสอนให้รู้จักความรักความเมตตา พรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
  • ศาสนาอิสลาม ในคัมภีร์อัลกุรอาน มีหลักความรักความเมตตา “ผู้ใดขาดเมตตาเพื่อนมนุษย์ ผู้นั้นไม่ได้รับความเมตตาจิตเช่นกัน”
  • ศาสนาคริสต์ หลักคำสอนเรื่องความรักเป็นหลักอันยิ่งใหญ่สำหรับชาวคริสต์
  • ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู “สิ่งที่มอบให้ผู้อื่น จงให้ด้วยความศรัทธา ด้วยความเต็มใจและดีใจ ด้วยความรัก”
  • ศาสนาสิกข์ “จงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ทำจิตใจของท่านให้เต็มไปด้วยความรักในพระเจ้า”

4. ความอดทน

  • พระพุทธศาสนา หลักคำสอนให้มีความอดทน คือ ขันติ อดทนทั้งทางกาย ใจ วาจา การทำงาน เป็นต้น
  • ศาสนาอิสลาม หลักคำสอนให้มีความอดทน คือ การถือศีลอด ซึ่งเป็นการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ
  • ศาสนาคริสต์ ในคัมภีร์สอนไว้ว่า “จงชื่นชมยินดีในความทุกข์ยากของเราด้วย เพราะเรารู้ว่าความทุกข์ยากนั้นทำให้เราอดทน”
  • ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีหลักคำสอนความอดทน “อย่าแสดงอาการโกรธ จงระงับความโกรธ”
  • ศาสนาสิกข์ ให้ทุกคนมีความแกล้วกล้าอดทน รักชาติ ศาสนา สละได้แม้แต่ชีวิตเพื่อศาสดา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย