วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

การทบทวนวรรณคดีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์ที่ได้จากการทบทวนวรรณคดีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
หลักการเลือกวรรณคดีและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ชนิดของเอกสารที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอแนะวิธีการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ชนิดของเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เอกสารที่เกี่ยวข้องมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ อาจเป็นตำรา บทความทางวิชาการ ข้อมูลจากการรายงานของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ตลอดจนข้อมูลอื่นใดทุกรูปแบบนั้น เพื่อให้นักวิจัยได้ศึกษาอย่างมีระบบจึงขอสรุปเอกสารเหล่านั้นเป็นประเภท ๆ ไป ดังนี้

1. ตำรา ( Textbooks )

ตำราเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่เราคุ้นเคยมากที่สุด ความรู้ด้านทฤษฎีทั้งหลาย เราได้จากการศึกษาค้นคว้าตำรานี่เอง แม้ว่าความรู้ด้านทฤษฎีต่าง ๆ เราอาจเรียนรู้จากการสอนของครูเป็นเบื้องต้นก็ตาม แต่เราก็ยังคงศึกษาค้นคว้าความรู้ด้านทฤษฎีเหล่านั้นจากตำราเพิ่มเติมอีก และความรู้ด้านทฤษฎีจำนวนไม่น้อยที่เราเรียนรู้โดยตรงจากการศึกษาค้นคว้าตำราด้วยตนเองเป็นเบื้องต้นเลย แต่อย่างไรก็ตามตำรามีข้อด้อยอยู่บ้างในแง่ที่ว่า ความรู้บางจุดอาจจะไม่ค่อยทันสมัยเพราะการเขียนตำราต้องกินเวลานาน เมื่อพิมพ์เผยออกไปความรู้บางจุดอาจเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้ ดังนั้นผู้วิจัยจะต้องระมัดระวังในข้อด้อยนี้ ทว่าโดยภาพรวมความรู้ด้านทฤษฎีเราจะได้จากการศึกษาค้นคว้าจากตำรา

2. บทความทางวิชาการ ( Review articles )

บทความทางวิชาการเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้คล้าย ๆ กับ ตำรา แต่ความรู้ต่าง ๆ ในบทความทางวิชาการจะค่อนข้างทันสมัยมากกว่าตำรา เพราะผู้เขียนบทความทางวิชาการมักจะรวบรวมความรู้จากผลการวิจัยใหม่ ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหัวข้อบทความที่ตนเขียน อย่างไรก็ตามบทความทางวิชาการก็มีข้อด้อยอยู่เช่นเดียวกัน กล่าวคือ เป็นความรู้เฉพาะจุดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อบทความนั้น ๆ เท่านั้น ไม่ได้เป็นความรู้ที่กว้างขวางเหมือนในตำรา ดังนั้นผู้วิจัยจึงควรเอาข้อเด่นของตำรามาใช้ผสมผสานกับข้อเด่นของบทความทางวิชาการ โดยใช้ตำราเป็นหลักเบื้องต้น แล้วใช้บทความทางวิชาการเสริมเฉพาะจุด

3. รายงานผลการประชุม ( Proceeding reports )

รายงานผลการประชุมเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่แตกต่างจากตำรา และบทความทางวิชาการ รายงานผลการประชุมจะพยายามรวบรวมผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการประชุมไว้มากมาย และแนวความคิดของวิทยากรที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อประชุม แม้ว่าแนวคิดของวิทยากรจะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่โดยปกติวิทยากร มักจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เป็นหัวข้อของการประชุม ดังนั้นจึงสามารถนำเอาแนวคิดเหล่านั้นมาศึกษาได้นอกจากนี้ในรายงานการประชุมจะยังมีผลสรุปความคิดรวบยอดที่ได้จากการสัมมนาหรืออภิปรายในที่ประชุมจากสมาชิกของการประชุม และในทำนองเดียวกันถึงแม้ว่าผลสรุปความคิดรวบยอดเหล่านั้นเกิดจากแนวคิดเฉพาะบุคคลของกลุ่มชนก็ตาม แต่สมาชิกของการประชุมมักจะรวบรวมบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหัวข้อประชุม ดังนั้นจึงสามารถนำเอาแนวคิดเหล่านั้นมาศึกษาได้เช่นเดียวกัน

4. ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ( Expert ‘ s openion )

ในสังคมยังมีปัญหาอีกมากมายที่ยังไม่ได้มีการวิจัย แต่ผู้เชี่ยวชาญในปัญหา นั้น ๆ อาจมีแนวคิดที่เกิดจากประสบการณ์สั่งสมอันยาวนานของตน ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ ในโอกาส ต่าง ๆ สาระจากการให้สัมภาษณ์เหล่านั้นก็สามารถนำเอามาศึกษาได้

5. รายงานประจำปี ( Year books )

รายงานประจำปีเป็นแหล่งข้อมูลที่สรุปผลงานที่เกิดขึ้นจริงในแง่มุมต่าง ๆ ของ องค์กรนั้น ๆ จึงเป็นเอกสารอีกสิ่งหนึ่งที่ควรนำมาศึกษา

6. รายงานผลการวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ ( Scientific papers from journals )

วารสารเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้หลากหลายประเภท บทความทางวิชาการที่ กล่าวมาแล้วก็ได้มาจากวารสาร ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญก็อาจได้มาจากวารสาร รายงานลักษณะอื่น ๆ ก็อาจได้มาจากวารสาร บทคัดย่อการวิจัยก็อาจได้มาจากวารสาร และรายงานผลการวิจัยซึ่งนิยมเขียนรายงานผลอย่างสั้นก็จะลงพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ แต่ข้อด้อยของรายงานผลการวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ ก็มีอยู่เช่นเดียวกัน เพราะงานวิจัยนั้นอาจจะไม่ถูกต้องสมบูรณ์ก็ได้ เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบผลงาน ดังนั้นรายงานผลการวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ นั้น ถ้าเป็นวารสารที่ผู้วิจัยไม่แน่ใจว่าผลงานนั้นถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่ ขอแนะนำให้สังเกตจากถ้อยแถลงของบรรณาธิการว่า ผลงานวิจัยนั้น ๆ ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ท่านอ่านตรวจสอบก่อนหรือไม่ ซึ่งหลังจากผู้เชี่ยวชาญอ่านตรวจสอบแล้วถ้าผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าควรปรับปรุงแก้ไขจุดใด เจ้าของงานวิจัยต้องปรับปรุงแก้ไขตามข้อสังเกตเหล่านั้นทั้งหมดเสียก่อนจึงจะลงพิมพ์ได้ ถ้าจากถ้อยแถลงของบรรณาธิการระบุว่าผลงานวิจัยนั้น ๆ ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านตรวจสอบอย่างน้อย จำนวน 2 ท่านก่อนแล้ว ซึ่งการให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ท่านอ่านตรวจสอบก่อนนี้เรียกว่า Peer review ผลงานวิจัยนั้น ๆ ก็ใช้ศึกษาค้นคว้าได้

 

7. บทคัดย่อการวิจัยในวารสาร ( Abstract journal )

บทคัดย่อการวิจัยในวารสารก็ต้องยึดหลักเช่นเดียวกับรายงานผลการวิจัยที่ลง พิมพ์ในวารสารต่าง ๆ ดังได้กล่าวไว้แล้ว

8. วิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ( Student ‘ s dissertation )

วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเป็นเอกสารที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอน เพราะวิทยานิพนธ์ ทุกชิ้นจะต้องมีอาจารย์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เป็นผู้ควบคุมการทำวิจัย ดังนั้นผลงานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาจึงเขียนได้ถูกต้องและมีเหตุผล ตลอดจนถูกต้องตามระเบียบวิธีการวิจัย ผู้วิจัยที่เพิ่งเริ่มทำวิจัยนั้น การศึกษาค้นคว้าวิทยานิพนธ์ของนักศึกษานอกจากจะได้รับประโยชน์ทั่ว ๆ ไปแล้ว ยังสามารถยึดวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเป็นต้นแบบการทำวิจัยของตนในขั้นตอนต่าง ๆ ได้อีกด้วย

9. การสืบค้นทางคอมพิวเตอร์จากอินเตอร์เน็ต ( Internet )

ในปัจจุบันนี้การทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยให้นักวิจัยศึกษาค้นคว้าได้กว้างขวางที่สุดและทันสมัยที่สุด ก็คือ การสืบค้นทางคอมพิวเตอร์จากอินเตอร์เน็ต เพราะสามารถสืบค้นได้ทั้งความรู้ด้านทฤษฎีต่าง ๆ และรายงานผลการวิจัย โดยการสืบค้นทางคอมพิวเตอร์จากอินเตอร์เน็ตนี้ ขอแนะนำศูนย์ข้อมูลงานวิจัยที่เปิดเสรีให้บุคคลทั่วไปเข้าไปสืบค้นได้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ซึ่งมักเป็นศูนย์ข้อมูลของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สำหรับงานวิจัยนั้น ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้บางแห่งอาจมีเฉพาะชื่องานวิจัยและบทคัดย่อ และบางแห่งอาจมีรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์

การสืบค้นทางคอมพิวเตอร์จากอินเตอร์เน็ตนั้น ผู้วิจัยจะต้องรู้จักชื่อของหน่วยงานนั้นในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ( The names and Uniform Resource Locator = URL ) โดยผู้วิจัยสามารถเปิดดูได้จากหนังสือรายชื่อสมาชิกเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ( World Wide Web Yellow Page ) ซึ่งมีลักษณะคล้ายหนังสือปกเหลืองรายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์ของเรา ตัวอย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ http://www. Chula. ac.th/ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ http: // www.mu.ac.th/ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ http://www.psu.ac.th/ มหาวิทยาลัยฮาร์วาด คือ http:// www.Harvard.edu/ มหาวิทยาลัยเยล คือ http:// www. yale.edu/ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คือ http:// www.Stanford.edu/ เป็นต้น

อนึ่งการสืบค้นทางคอมพิวเตอร์จากอินเตอร์เน็ตนั้น ดังได้กล่าวไว้แล้วว่ามิใช่สืบค้นเพียงงานวิจัยเท่านั้น แต่ความรู้ด้านทฤษฎีทั้งหลายจะมีอยู่มากมาย และผู้เขียนคิดว่าความรู้ด้านทฤษฎีน่าจะมีอยู่มากกว่างานวิจัย สำหรับนักวิจัยที่ไม่ค่อยสันทัดภาษาอังกฤษก็สามารถสืบค้นได้อย่างกว้างพอสมควร เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเมืองไทยและกระทรวงสาธารณสุข ไดเผยทั้งองค์ความรู้ต่าง ๆ และงานวิจัยเป็นภาษาไทย การสืบค้นทางคอมพิวเตอร์ จากอินเตอร์เน็ตนี้ จะช่วยคลี่คลายปัญหาการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้นักวิจัยต่างจังหวัดได้เป้นอย่างมาก เพราะในอดีตนักวิจัยต่างจังหวัดต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางไปศึกษาค้นคว้าในขั้นตอนการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ

หมายเหตุข้อความที่ติดต่อสื่อสารกันทางคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเราเรียกว่าจดหมายอิเลคทรอนิคส์ ดังนั้นการสืบค้นสาระความรู้ใด ๆ ที่อาศัยข้อความต่าง ๆ เป็นแก่นสาระทางคอมพิวเตอร์ จึงถือว่า คอมพิวเตอร์เป็นเอกสารอิเลคทรอนิคส์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย