ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
พระราชพิธี รัฐพิธี พิธี
ในรอบปีปฏิทินหลวงหนึ่งๆ
ได้กำหนดวันพระราชพิธีและรัฐพิธีไว้ บางพระราชพิธี หรือรัฐพิธี
จะกำหนดวันที่และเดือนไว้แน่นอน เช่น พระราชพิธีสงกรานต์
วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์
เป็นต้น
ส่วนพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนาจะกำหนดไว้เป็นวันข้างขึ้นข้างแรมและเดือน
เช่น พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชา พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในวันดังกล่าว
หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติกรณียกิจแทน
พระราชพิธีและรัฐพิธีมีความหมายแตกต่างกัน ดังนี้
พระราชพิธี หมายถึง
งานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
กำหนดไว้เป็นประจำตามราชประเพณี ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธี
ก่อนถึงงานพระราชพิธี จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มี หมายกำหนดการ
พระราชพิธีที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ
(โปรดสังเกตคำว่าหมายกำหนดการ) โดยปกติแล้วผู้มีตำแหน่งเฝ้าฯ ในพระราชพิธีดังกล่าว
เว้นแต่จะเป็นพระราชพิธีส่วนพระองค์หรือเป็นการภายใน ในปัจจุบันมีพระราชพิธีต่างๆ
ที่คณะรัฐมนตรี และผู้มีตำแหน่งเฝ้าฯ จะไปเข้าเฝ้าฯ
รัฐพิธี หมายถึง
งานที่รัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาให้ทรงรับไว้เป็นงานรัฐพิธี
มีหมายกำหนดการที่กำหนดไว้เป็นประจำ
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้มีผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน
ซึ่งเห็นได้ว่าแตกต่างจากพระราชพิธีที่ว่าแทนที่พระมหากษัตริย์จะทรงกำหนด
กลับเป็นว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายกำหนด แล้วขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนิน
ในปัจจุบันมีรัฐพิธีต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญจะไปเฝ้าฯ
พิธี หมายถึง งานที่ผู้ใดก็ตามสามารถจัดขึ้นตามลัทธิ
ตลอดจนแบบอย่าง ธรรมเนียมประเพณี การปฏิบัติของในแต่ละสังคมหรือท้องถิ่น อาทิเช่น
พิธีแต่งงาน พิธีศพ พิธีอุปสมบท เป็นต้น
อย่างไรก็ตามอาจมีพิธีสำคัญของพระมหากษัตริย์หรือรัฐบาล
แต่มิได้กำหนดเป็นพระราชพิธีหรือรัฐพิธี เช่น พิธีรับรองพระราชอาคันตุกะ
และพิธีรับรองผู้นำหรือประมุขต่างประเทศที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
เป็นต้น
ผู้ที่เข้าร่วมในพิธีต่างๆ ต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมแก่ฐานะตามสถานการณ์
ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ไว้มากเช่นเดียวกับสังคมประเทศที่มีความเจริญทางด้านจิตใจ
โดยได้ถือปฏิบัติกันเป็นแบบแผน การวางตัวในการเข้าสังคมไว้
อันเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
บุคคลในแต่ละฐานะของสังคมก็จะมีวิธีปฏิบัติในแต่ละเหตุการณ์ที่แตกต่างกันไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระราชพิธี รัฐพิธี
และในโอกาสต่างๆ โดยกำหนดไว้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ
ซึ่งผู้มีฐานะเป็นข้าราชการวางตัวและประพฤติตนตามแบบแผน
เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและยกย่องของบุคคลโดยทั่วไป