สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สวัสดิการสังคม

นิยามศัพท์
รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคม
ความหมายของคำว่า “สวัสดิการสังคม” (Social Welfare)
ความหมายของสวัสดิการสังคม
คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
ลักษณะของสวัสดิการสังคม
องค์ประกอบของงานสวัสดิการสังคม
แนวคิดทฤษฎีว่าด้วยสวัสดิการและความยากจน
แนวคิดด้านสวัสดิการสังคม (SOCIAL WELFARE)

ความหมายของคำว่า “สวัสดิการสังคม” (Social Welfare)

มีนักวิชาการได้ให้ความหมายของคำว่า “สวัสดิการสังคม” ไว้มากมาย ความหมายของสวัสดิการสังคมตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545 – 2549) ซึ่งได้รวมความคิดรวบยอดของทั้งนักวิชาการสังคมสงเคราะห์ นักบริหาร และนักปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและเอกชน มีข้อสรุปความหมายที่ครอบคลุม ดังนี้

สวัสดิการสังคม หมายถึง ระบบการจัดบริการสังคม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคมและพัฒนาสังคม รวมทั้งการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ในระดับมาตรฐาน โดยบริการดังกล่าวจะต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งในด้านการมีศึกษาที่ดี การมีสุขภาพอนามัย การมีที่อยู่อาศัย การมีงานทำ การมีรายได้ การมีสวัสดิการแรงงาน การมีความมั่นคงทางสังคมนันทนาการ และบริการสังคมทั่วไป โดยระบบบริการสังคมต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิที่ประชาชนต้องได้รับและเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการจัดบริการสังคมในทุกระดับ

ขอบเขตของงานสวัสดิการสังคม (Fields of Social Welfare)

  • การศึกษา (Education)
  • สุขภาพอนามัย (Health Care)
  • การประกันรายได้ (Income Maintainance) : มีงานทำ มีรายได้ มีสวัสดิการแรงงาน
  • ที่อยู่อาศัย (Housing)
  • ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความมั่นคงทางสังคม (Safety in Life and Property)
  • นันทนาการ (Recreation)
  • บริการสังคมปัจเจกบุคคล (Personal social services)

เจมส์ มิดซ์ลี่ย์ (James Midgley) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Field of International Social Welfare ว่า บริการสังคมใหญ่ๆ (“big five” social services) ที่สถาบันรัฐสวัสดิการนิยมจัดให้มีขึ้น ได้แก่

  1. โครงการประกันรายได้ เช่น การประกันสังคม (Social Insurance) และการประชาสงเคราะห์ หรือการช่วยเหลือทางสังคม (Social Assistance)
  2. บริการสุขภาพ (Health Services)
  3. โครงการทางการศึกษา (Educational Programs)
  4. ที่อยู่อาศัย (Housing)
  5. บริการสังคมสงเคราะห์ หรือบริการสังคมปัจเจกบุคคล (Social work Services or Personal Social Services)

และได้กล่าวต่อไปอีกว่า บริการแก้ไขผู้กระทำความผิด (Correctional Services) โครงการ โภชนาการ (Nutrition Programs) การวางแผนครอบครัว (Families Planning) และบริการสังคมอื่นๆ มักจะถูกละเลยและไม่เขียนไว้ในนโยบายสังคม ในการจัดบริการสังคมนี้ รัฐจะดำเนินการภายใต้ระบบภาษี (the tax system) หรือโดย การให้เงินอุดหนุน (subsidies) หรือการสร้างแรงจูงใจ (incentives)

(ทัศนีย์ ลักขณาภิชนชัชง “การใช้ทรัพยากรในงานสวัสดิการสังคม”, พิมพ์ครั้งที่ 1 เดือนสิงหาคม 2545, สมชายการพิมพ์, น. 13 – 16.)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย