ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
ชนชาติไทยมาจากไหน
ถิ่นเดิมของชนชาติไทย
การตั้งถิ่นฐานของชนชาติไทย
หลักฐานที่ใช้ในการศึกษาเรื่องราวของชนชาติไทย
แนวความคิดเกี่ยวกับคนไทยมาจากไหน
ไท และไทยสยาม
แนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดคนไทย
การจัดระดับชั้นของสังคมไทย
แนวคิดเรื่องถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย
ถิ่นเดิมของชนชาติไทย
โดย รศ.ปรีชา กาญจนาคม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
-
ถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง สมมติฐานนี้อิงอยู่กับทฤษฎีความเชื่อที่ว่าแหล่งอารยธรรมของโลกตะวันออกมีจุดดั้งเดิมอยู่ที่บริเวณเอเชียกลางใกล้ทะเลสาบแคสเปียน ก่อนที่จะแพร่กระจายออกไปในทิศทางต่างๆ แต่จากการขุดค้นพบโครงกระดูกคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ใกล้กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี พ.ศ.2470 และการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีของจีน ทำให้สมมติฐานข้อนี้ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป
-
ถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่ที่บริเวณตอนเหนือและบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเสฉวน สมมติฐานนี้อิงอยู่กับประวัติศาสตร์จีนสมัยราชวงศ์ฮั่นที่มีบันทึกเกี่ยวกับอาณาจักรในบริเวณนี้ว่าชื่ออาณาจักรต้ามุง อาณาจักรลุง อาณาจักรปา และอาณาจักรอ้ายลาว เป็นอาณาจักรของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทย สมมติฐานนี้ยังสัมพันธ์กับทฤษฎีที่ว่าอาณาจักรน่านเจ้าเป็นของคนไทย โดยพวกอ้ายลาวได้สถาปนาขึ้นภายหลังที่หนีการรุกรานของจีนลงมาจากทางเหนือ ต่อมาอาณาจักรน่านเจ้าถูกรุกรานจากพวกมองโกลและได้อพยพผู้คนลงมาสู่ทางใต้ในบริเวณแหลมอินโดจีนจนเกิดเป็นรัฐต่างๆ ขึ้นในเวลาต่อมา
สมมติฐานนี้ถูกคัดค้านเมื่อมีการศึกษาค้นคว้าทางด้านชาติพันธุ์วิทยาและภาษาศาสตร์ พบว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาไทยเป็นพวกที่ประกอบการกสิกรรมเพาะปลูกพืชเมืองร้อน เช่น ปลูกข้าวเจ้าเป็นหลัก ถิ่นเดิมของคนที่พูดภาษาไทยจึงน่าจะอยู่ในเขตร้อนชุ่มชื้นมากกว่า
และการสำรวจหลักฐานข้อมูลจากจดหมายเหตุจีนทั้งหมด ยังพบว่า ไม่เคยมีคนที่พูดภาษาไทยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีนมาก่อน ไม่มีแม้แต่การอพยพผู้คนทั้งชนชาติเพื่อหนีการครอบงำของชนชาติจีน และยังได้พบอีกว่าภาษาของคนส่วนใหญ่ของอาณาจักรน่านเจ้าไม่ใช่ภาษาไทย ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของคนน่านเจ้าส่วนมากก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับพวกกลุ่มคนไทย -
ถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่ที่บริเวณมณฑลยูนนาน และทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สมมติฐานนี้อิงอยู่กับทฤษฎีของการจัดกลุ่มภาษาไทย-กะได-อินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทย โดยนำมาศึกษาค้นคว้าร่วมกับแนวคิดของนักมานุษยวิทยา และเชื่อว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาไทยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มในเขตร้อนชุ่มชื้น นอกจากนั้นยังเชื่อว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาไทยจะต้องอพยพเคลื่อนย้ายจากทิศใต้ไปทิศเหนือ อย่างไรก็ตาม สมมติฐานนี้ก็ไม่มีหลักฐานข้อมูลใดๆ ที่สนับสนุนอย่างชัดเจน
-
ถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่บริเวณตอนกลางของจีน และที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโห กับแม่น้ำแยงซีเกียง เป็นสมมติฐานว่าด้วยถิ่นกำเนิดชนชาติไทยที่เก่าแก่ที่สุด หลักฐานข้อมูลทางภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์ พบว่าในบริเวณนี้เป็นอู่อารยธรรมของจีนมานาน และมีกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณดังกล่าวก่อนที่จะอพยพเข้ามาอยู่ที่น่านเจ้า แต่ในขณะเดียวกันพวกจีนยังคงอยู่ที่ราบสูงตอนบนของลุ่มแม่น้ำฮวงโห
สมมติฐานนี้ถูกล้มล้างไประยะหนึ่ง จนเมื่อ แชมเบอร์เลน นักภาษาศาสตร์ ศึกษาศัพท์สัตววิทยาในภาษาไทยดั้งเดิม เชื่อว่า ถิ่นเดิมชนชาติไทยน่าจะอยู่บริเวณชายทะเลเหนือปากแม่น้ำแยงซีเกียง หรือลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงตอนล่าง การศึกษาค้นคว้านั้นยังได้สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับศัพท์ของกล้าข้าวประเภทต่างๆ ในภาษาไทยที่สะท้อนว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาไทยอาจเป็นคนกลุ่มแรกที่รู้จักการเพาะปลูกข้าวนาลุ่ม สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่ว่า บริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำแยงซีเกียงตอนล่าง มีการทำนาลุ่มมาแล้วตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และอาจเป็นแห่งแรกของโลกด้วยก็ได้ -
ถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่ที่บริเวณตอนใต้ของจีน กับบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง และบริเวณรอยต่อตอนเหนือของเวียดนาม เป็นสมมติฐานที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากที่สุด โดยมีหลักฐานข้อมูลหลายสาขาสนับสนุน เช่น ทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทย พบว่ากลุ่มคนพวกนี้เลือกที่จะอาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบหุบเขาหรือเชิงเขา ปลูกข้าวนาลุ่ม หรือพืชเมืองร้อน เป็นพวกที่อพยพมาจากบริเวณที่ราบลุ่มในเขตร้อนชุ่มชื้นมากกว่าที่จะมาจากทางตอนเหนือ ดังนั้น พวกนี้จึงอาจมีถิ่นเดิมอยู่ในมณฑลกวางสีและมณฑลกวางตุ้ง
ด้านภาษาศาสตร์ นักภาษาศาสตร์รวมทั้งแชมเบอร์เลนกล่าวว่าบริเวณทางตอนใต้ของจีนเป็นถิ่นกำเนิดของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทย หลักฐานข้อมูลทางพงศาวดารและประวัติศาสตร์เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยน่าจะอยู่ที่บริเวณตอนใต้ของจีน การแพร่ขยายของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยน่าจะเริ่มขึ้นหลังคริสต์ศตวรรษที่ 8 ต่อจากนั้นมาก็เริ่มปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับคนไทยมากขึ้นตามลำดับ และเป็นการอพยพในแนวทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก -
ถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่ที่บริเวณประเทศไทย สมมติฐานล่าสุดอิงอยู่กับหลักฐานทางโบราณคดีและมานุษยวิทยากายภาพ โดยศึกษาเปรียบเทียบโครงกระดูกคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ขุดค้นพบที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี กับคนไทยปัจจุบัน พบว่าลักษณะคล้ายคลึงกัน เป็นแนวความคิดของ ศ.น.พ.สุด แสงวิเชียร สมมติฐานนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับเพราะไม่อาจพิสูจน์ได้ชัดเจนถึงภาษาและวัฒนธรรม และผลการขุดค้นทางโบราณคดีเกี่ยวกับชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อไม่นานนี้ ปรากฏว่าขัดแย้งกับสมมติฐานข้างต้น เพราะชุมชนเหล่านั้นไม่ใช่กลุ่มคนที่พูดภาษาไทย
สมมติฐานทั้ง 6 ข้อ มีเพียงสมมติฐานข้อที่ 3-6 เท่านั้นที่ยังมีคุณค่าทางวิชาการที่น่าศึกษาค้นคว้าต่อไป เพราะสมมติฐานเหล่านั้นอิงอยู่กับหลักฐานข้อมูลทั้งทางภาษาศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และมนุษยวิทยา โดยสมมติฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด น่าจะเป็นสมมติฐานข้อที่ 5