สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

การเจรจา

หลังจากที่มีการตกลงที่จะเริ่มเจรจากันในเดือนตุลาคมปี 2003 พอมาถึงเดือนมิถุนายนปี 2004 ก็เริ่มมีการเจรจากันครั้งแรกที่ฮาวาย และการเจรจารอบล่าสุดคือรอบที่ 5 มีขึ้นที่เชียงใหม่ ฝ่ายไทยมีอดีตทูตประจำกรุงวอชิงตันดีซี คือ ทูตนิตย์ พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าทีมในการเจรจา ในการเจรจา อเมริกาก็บีบให้ต้องเจรจาทุกเรื่อง ทั้งสินค้าเกษตร NTB มาตรฐานสินค้า ภาคบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เรื่องระเบียบศุลกากร ฯลฯ

หลังจากเริ่มมีการเจรจา ก็เริ่มมีเสียงต่อต้านจากกลุ่มต่าง ๆ ของไทยโดยเฉพาะจากทางฝ่ายวิชาการ สำหรับภาคเอกชนกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ คือ ธุรกิจส่งออก สิ่งทอ สินค้าเกษตร แต่กลุ่มที่จะเสียประโยชน์คือกลุ่มการค้าภาคบริการ กลุ่มนี้ก็ออกมาต่อต้าน

ทรัพย์สินทางปัญญา
เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งคือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มีหลายประเด็น เรื่องแรกคืออเมริกาต้องการให้กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยเพิ่มเรื่องของ optical disc เข้าไปในกฎหมาย เพราะกฎหมายคุมไม่ถึง เพราะสมัยที่ไทยออกกฎหมายเมื่อ 10 ปีก่อนยังไม่มี VCD และ DVD อีกเรื่องคือ เมื่อปี 1998 ไทยกับสหรัฐฯ มีการลงนามกันใน แผนปฏิบัติการทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights Action Plan) อเมริกาต้องการให้ไทยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว

อเมริกาบอกว่าจะใช้ special 301 report เป็นพื้นฐานในการเจรจา ซึ่งจะมีรายละเอียดมากมายในเรื่องว่า ไทยมีจุดบกพร่องอะไรบ้างในเรื่องของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ล่าสุดใน special 301 report ได้ยกระดับไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (Priority Watch List: PWL) ข้อบกพร่องต่าง ๆ จะทำให้ไทยอยู่ในจุดที่ด้อยกว่าในเรื่องอำนาจการต่อรอง สำหรับอเมริกาแล้ว ต้องการที่จะใช้ตัวแบบของสิงค์โปร์ในการเจรจา คือ อย่างน้อยต้องมีประเด็นเหล่านี้

  • ต้องมีการแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ โดยจะต้องปกป้องจากเดิม 50 ปีเป็น 70 ปี และกฎหมาย ลิขสิทธิ์จะต้องแก้ไขเพิ่มในส่วนของ digital work ด้วย
  • จะต้องไม่ให้มีการใช้ยาที่ไม่มีสิทธิบัตรหรือยาเถื่อน แต่ไทยบอกว่า หากซื้อยาจากอเมริกาจะราคาแพงมาก ในกรอบ WTO มีการถกเถียงกันมาก ประเทศยากจนบอกว่า บริษัทยาทำแบบนี้ คนจนจะตายหมด ในช่วงหลัง ๆ มีคนออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยอ้างว่า หากไทยยอมเรื่องนี้จะทำให้ไม่มียาราคาถูกใช้ จะกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทย อย่างไรก็ตาม เรื่องสิทธิบัตรยา เป็นเรื่องใหญ่สำหรับสหรัฐฯ และไม่มีประเทศใดที่ทำข้อตกลง FTA กับอเมริกาโดยปราศจากการการยอมรับเงื่อนไขของสหรัฐฯในเรื่องของสิทธิบัตรยา
  • จะให้ไทยเข้าภาคยานุวัติข้อตกลงปารีส (Paris convention) และพิธีสารมาดริด (Madrid Protocal) ข้อตกลงเหล่านี้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสิ้น ที่ไทยยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก เพราะฉะนั้น สรุปคือ ไทยต้องแก้หลายเรื่องในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา FTA ไทย-สหรัฐฯ จึงจะบรรลุข้อตกลงได้

ภาคบริการ
เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องภาคบริการ มีนักวิชาการและนักการเงินออกมาวิจารณ์ว่า ภาคการเงินไทยยังไม่พร้อม ถ้าเปิดเสรีจะมีผลกระทบอย่างมากต่อภาคธนาคารและภาคการเงินของไทย แต่ขณะเดียวกัน ก็มีบางฝ่ายมองต่างมุมว่า FTA กับสหรัฐฯจะทำให้มีการปฏิรูปสถาบันการเงินของไทย วิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 เกิดขึ้นเพราะ สถาบันการเงินของไทยมีปัญหา ต้องมีการปฏิรูป แต่ว่าตอนนี้ยังไม่มีการทำอะไรจริงจัง เพราะฉะนั้น การมี FTA กับสหรัฐฯจะเป็นการผลักดันให้มีการปฏิรูปภาคการเงินอย่างจริงจัง เพราะถ้าไม่ปฏิรูป ไทยจะสู้สถาบันการเงินของอเมริกาไม่ได้

ภาคการลงทุน
เรื่องสุดท้ายเกี่ยวข้องกับการลงทุน ซึ่งเกี่ยวโยงกับสนธิสัญญา Treaty of Amity ที่ไทยทำกับสหรัฐฯไว้ตั้งแต่ปี 1966 อเมริกาต้องการให้คงไว้ แต่ฝ่ายไทยอ้างว่าผิดหลัก MFN คือ ไทยให้สิทธิคนอเมริกัน บริษัทอเมริกันมีสิทธิเท่ากับบริษัทของไทย แต่ไม่ได้ให้กับบริษัทญี่ปุ่นและชาติอื่น ๆ ฝ่ายไทยมีความรู้สึกว่าจะต้องยกเลิกสนธิสัญญาดังกล่าว เพราะว่าได้ให้สิทธิพิเศษแก่คนอเมริกันมา 35 ปีแล้ว ซึ่งขัดกับหลัก MFN ของ WTO

» ช่วงก่อนสงครามเย็น-1960

» ช่วงทศวรรษ 1970-1990

» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ

» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ

» ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทักษิณ

» ไทยกับสงครามอิรัก

» ทักษิณเยือนสหรัฐฯ

» ทหารไทยในอิรัก

» Bush เยือนไทย

» สถานะพันธมิตรนอกนาโต้

» สถานการณ์ความสัมพันธ์ล่าสุด

» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ

» สหรัฐฯต้องการอะไร

» ไทยต้องการอะไร

» การเจรจา

» ผลเสียของ FTA ไทย-สหรัฐฯ

» ผลดีของการทำ FTA ไทย-สหรัฐฯ

» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ

» สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ

» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย

» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา

» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)

» นโยบายสายกลาง

» บทสรุป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย