สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

ผลเสียของ FTA ไทย-สหรัฐฯ

ประเด็นสำคัญที่ได้มีการถกเถียงกันมากที่สุด ในเรื่อง FTAไทย-สหรัฐฯ คือผลกระทบต่อการค้าและอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งอาจแยกเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

การค้าสินค้า
ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 18 ของสหรัฐฯ และเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อันดับ 16 ฝ่ายสหรัฐฯหวังว่า FTA จะขยายการส่งออกของสหรัฐฯในไทย โดยการให้ฝ่ายไทยลดภาษีสินค้าต่าง ๆ ลง รวมทั้งการลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีด้วย ซึ่งจากตัวเลขของรัฐบาลสหรัฐฯระบุว่า สินค้าเกษตรของสหรัฐฯเจอปัญหาภาษีนำเข้าจากไทยซึ่งมีอัตราเฉลี่ย 35% นอกจากนี้ ไทยยังมีภาษี นำเข้าที่สูงในเรื่องของยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย ซึ่งมีอัตราสูงถึง 80% ดังนั้น การมี FTA กับสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบในทางลบต่อตลาดสินค้าเกษตรของไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
การทำ FTA กับสหรัฐฯนั้น สหรัฐฯต้องการทำแบบเดียวกับสิงค์โปร์คือ ต้องเปิดเสรีทุกสาขา สำหรับในด้านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ สหรัฐฯต้องการให้ฝ่ายไทยมีมาตรการในการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และต้องมีการปฏิบัติที่มีลักษณะไม่กีดกันบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทของสหรัฐฯ

ทรัพย์สินทางปัญญา
ผลเสียอีกประการหนึ่งจากการทำ FTA กับสหรัฐฯ คือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งขณะนี้ฝ่ายไทยถูกจัดขึ้นบัญชีอยู่ในประเภท priority watch list หรือประเทศที่ต้องเฝ้าติดตามเป็นพิเศษ ตามมาตรา 301 ของกฎหมายสหรัฐฯ โดยทางฝ่ายสหรัฐฯได้อ้างว่า ในปีหนึ่ง ๆ บริษัทสหรัฐฯสูญเสียรายได้ไปหลายร้อยล้านเหรียญอันเกิดจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่าง ๆ ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯนั้นมีอยู่มากมายหลายประการ อาทิ การที่ฝ่ายไทยจะต้องปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ IPR Action Plan ซึ่งฝ่ายไทยได้ลงนามกับสหรัฐฯไปตั้งแต่ปี 1998 สหรัฐฯพยายามจะกดดันให้ไทยยอมรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในลักษณะที่สิงค์โปร์ยอมรับ

นอกจากนี้ สหรัฐฯจะให้ไทยแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ซึ่งจะให้การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาจาก 50 ปีเป็น 70 ปี และแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ครอบคลุมถึงทรัพย์สินทางปัญญาในรูปของสื่ออิเลคโทรนิคต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบ soft ware และแผ่นดิสก์ต่าง ๆ

สหรัฐฯยังกดดันไทยในเรื่องของสิทธิบัตรยา ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่เป็นชนวนก่อให้เกิดการประท้วงการประชุมที่เชียงใหม่ เพราะได้มีการเข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่า ต่อไปยาสามัญจะไม่ได้รับอนุญาต และไทยจะต้องซื้อยาในราคาแพงจากบริษัทยาของสหรัฐฯ ไทยยังถูกสหรัฐฯกดดันที่ต้องเข้าร่วมเป็นภาคีของข้อตกลงปารีส สนธิสัญญาด้านสิทธิบัตร รวมทั้งพิธีศาลมาดริดด้วย ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า FTA ไทย-สหรัฐฯ จะทำให้ไทยจะต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายเรื่อง

สำหรับในแง่ของผู้ชุมนุมประท้วงก็พยายามที่จะให้ฝ่ายไทยยกเลิกการประชุม FTA กับสหรัฐฯ เพราะเห็นว่าไทยจะเสียเปรียบในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แต่สำหรับในแง่มุมของสหรัฐฯนั้น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นเรื่องหลักและเรื่องใหญ่ ในอดีตไม่ปรากฏว่ามีประเทศใดที่ลงนาม FTA กับสหรัฐฯ ที่จะไม่ยอมรับเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา

การค้าภาคบริการ
สาขาอีกสาขาหนึ่งที่ไทยดูจะเสียเปรียบสหรัฐฯเป็นอย่างมาก คือด้านการค้าภาคบริการซึ่งครอบคลุมหลายเรื่องทั้งเรื่องการเงิน การธนาคาร การประกันภัย การโทรคมนาคม การค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทของไทยเสียเปรียบสหรัฐฯแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่น่าเป็นห่วงมากคือ ในสาขาด้านการเงิน ได้มีกระแสออกมาเรียกร้องว่า การเปิดเสรีภาคการเงินให้กับสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธนาคารและสถาบันทางการเงินของไทย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องของการเปิดเสรีทางด้านโทรคมนาคมซึ่งเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งด้วย

ด้านการลงทุน
สำหรับทางฝ่ายสหรัฐฯนั้น มองว่า FTA ไทย-สหรัฐฯ จะปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ด้าน การลงทุนของสหรัฐฯในไทย การลงทุนของสหรัฐฯในไทย ในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ท่าทีของสหรัฐฯในเรื่องนี้คือการที่จะใช้ FTA คงสถานะของสหรัฐฯภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ซึ่งได้ให้สิทธิแก่บริษัทในสหรัฐฯ เทียบเท่ากับบริษัทของไทยในการลงทุนในไทย ปัจจุบันมีบริษัทสหรัฐฯกว่า 1,000 บริษัท ได้ใช้สิทธิดังกล่าวในการทำธุรกิจในไทย

นอกจากนี้ สหรัฐฯยังจะกดดันไทยให้แก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ ที่สหรัฐฯมองว่า เป็นอุปสรรคต่อนักลงทุนสหรัฐฯในไทย อย่างไรก็ตาม สำหรับท่าทีของไทยนั้น ต้องการที่จะให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกสนธิสัญญากับสหรัฐฯ โดยฝ่ายไทยอ้างว่า สนธิสัญญาดังกล่าวขัดต่อหลัก MFN ของ WTO นอกจากนั้น ฝ่ายไทยยังถูกกดดันจากประเทศอื่น ๆ ที่มาลงทุนในไทยที่อยากจะมีสิทธิเหมือนเช่นบริษัทสหรัฐฯ

มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม
ประเด็นเรื่องมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นการเจรจาการค้าที่สำคัญของสหรัฐฯที่ทางสหรัฐฯพยายามกดดันทั้งในเวที WTO และเวที FTA ทวิภาคีต่าง ๆ แต่สำหรับในเวที WTO นั้น ข้อเสนอนี้ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากประเทศกำลังพัฒนา เพราะถูกมองว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ โดยเอาเรื่องมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้ออ้าง สหรัฐฯจึงต้องถอยในเวที WTO แต่ก็พยายามเอามาใส่ไว้ใน FTA ไทย-สหรัฐฯ

» ช่วงก่อนสงครามเย็น-1960

» ช่วงทศวรรษ 1970-1990

» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ

» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ

» ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทักษิณ

» ไทยกับสงครามอิรัก

» ทักษิณเยือนสหรัฐฯ

» ทหารไทยในอิรัก

» Bush เยือนไทย

» สถานะพันธมิตรนอกนาโต้

» สถานการณ์ความสัมพันธ์ล่าสุด

» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ

» สหรัฐฯต้องการอะไร

» ไทยต้องการอะไร

» การเจรจา

» ผลเสียของ FTA ไทย-สหรัฐฯ

» ผลดีของการทำ FTA ไทย-สหรัฐฯ

» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ

» สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ

» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย

» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา

» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)

» นโยบายสายกลาง

» บทสรุป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย