สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ

จุดเริ่มต้นของการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย คือ การวิเคราะห์สภาวะ แวดล้อมระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มหลัก (megatrend) ของความสัมพันธ์ของโลกในอนาคต จะเป็นโลกในยุคที่ผู้วิจัยอยากจะเรียกว่า “ทวิภพ” หมายความว่า โลกในอนาคตจะมีทั้งโลกใบเก่าและโลกใบใหม่ โลกใบเก่าจะยังคงเป็นสัจจนิยมที่เน้นเรื่องดุลยภาพแห่งอำนาจ ขั้วอำนาจ ระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ระบบ “Westphalia” อำนาจอธิปไตย แต่ในอนาคตจะมีโลกใบใหม่เกิดขึ้น และคงอยู่คู่กับโลกใบเก่า โลกใบใหม่จะเป็นโลกของอุดมคตินิยม ที่เน้นเรื่องโลกาภิบาล (global governance) สถาบันระหว่างประเทศ กฎระเบียบระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจที่เป็นหนึ่งเดียวในกระบวนการโลกาภิวัฒน์ เป็นโลกในยุคหลัง “Westphalia” (post-Westphalian system) โลกในยุคหลังอำนาจอธิปไตย (post-sovereign system)

ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้มีลักษณะ 1 ขั้ว คือ มีสหรัฐอเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก โดยขั้วอำนาจอื่นๆ ยังคงไม่มีศักยภาพพอที่จะเข้ามาแข่งขันกับสหรัฐฯได้ รัสเซียยังคงอ่อนแอและยังคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ ที่จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับสหรัฐฯได้ สำหรับสหภาพยุโรป ถึงแม้จะมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ แต่ทางด้านการเมืองและความมั่นคงยังคงต้องใช้เวลานานในการรวมตัวกัน สำหรับญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นมีข้อจำกัดหลายด้านด้วยกัน ทั้งในด้านการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ศักยภาพในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจเริ่มลดลง และอำนาจทางด้านการทหารและความมั่นคงยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯอยู่

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวมีแนวโน้มว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้วไปสู่หลายขั้วอำนาจ สหรัฐฯจะเสื่อมคลายลงตามวัฏจักรของมหาอำนาจที่เป็นมาในอดีต นอกจากนี้ ก็มีแนวโน้มว่า ขั้วอำนาจอื่นๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป รัสเซีย ประเทศในเอเชีย ประเทศกลุ่มอิสลาม แอฟริกา และละตินอเมริกา มีแนวโน้มว่าจะต่อต้านสหรัฐฯ และเป็นพันธมิตรกันในการคานอำนาจสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้โลกเป็นหลายขั้วอำนาจในระยะยาว แต่ก็มีความเป็นไปได้อีกแนวทางหนึ่ง (scenario) ที่ในระยะยาว ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจจะมีวิวัฒนาการเป็น 2 ขั้ว (bi-polar system) จากบทวิเคราะห์ของ Samuel Huntington ใน “The Clash of Civilizations” โลกกำลังจะเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วตะวันตก กับขั้วที่ไม่ใช่ตะวันตก และความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วนี้จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

นโยบายไทยสำหรับโลกใบเก่า ในอนาคตระยะยาว โลกจะเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้ว ไปสู่ระบบหลายขั้ว ดังนั้น แนวนโยบายต่างประเทศไทยในระยะยาวจะต้องเตรียมปูพื้นฐานไว้สำหรับโลกหลายขั้วอำนาจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยนโยบายไทยต้องค่อยๆ ปรับจากสภาวะแวดล้อมที่เป็นระบบ 1 ขั้วเป็นหลายขั้วอำนาจ จากการพึ่งพิงสหรัฐฯไปสู่นโยบายการทูตรอบทิศทาง (omni-directional diplomacy) โดยจะต้องพยายามฟื้นฟู สร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งก็คือ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป รัสเซีย ในอนาคต มีความเป็นไปได้ว่า ขั้วเอเชียหรือขั้วอาเซียนจะเกิดขึ้น ดังนั้นไทยควรที่จะหาลู่ทางสร้างแนวร่วมเอเชีย (Pan-Asianism)

การวิเคราะห์ตรงนี้ ในที่สุดแล้วจะโยงมาสู่นโยบายต่างประเทศของไทย ท่าที นโยบายของไทยจะต่างกันในแง่ที่ว่า ไทยจะตอบสนองต่อระบบ 1 ขั้ว (unipolar system) หรือระบบหลายขั้ว (multipolar system) ถ้าคิดว่าเป็น 1 ขั้ว (unipolar) ไทยก็ต้องเข้าหาสหรัฐฯให้มากขึ้น แต่ถ้าวิเคราะห์แล้วว่า โลกกำลังจะเป็นหลายขั้ว (multipolar) นโยบายต่างประเทศของไทยก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าหาสหรัฐฯเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ ยังมีนักวิเคราะห์บางท่านเห็นว่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคตจะมีลักษณะเป็น 2 ขั้ว (Bipolar) มากกว่า บทวิเคราะห์ของ Huntington เป็นอีกมุมมองหนึ่งของการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมของโลกในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายต่างประเทศของไทยด้วย หากว่าโลกกำลังจะเป็น 2 ขั้วอำนาจ ไทยก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปอยู่ในโลกตะวันตกได้ เพราะไทยไม่ใช่ ตะวันตก ตะวันตกไม่เอาไทย เพราะฉะนั้น การที่ไทยจะไปอิง (Pro) สหรัฐฯก็ไม่มีประโยชน์อะไร นโยบายของไทยคงต้องไปหาประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก

แต่ถึงแม้ว่า ความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมจะเป็นความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับที่ไม่ใช่ตะวันตก แต่ก็มีความขัดแย้งหลักอยู่ที่ตะวันตกกับอิสลามและขงจื้อ ถ้ามองในจุดนี้ ไทยจะอยู่ตรงไหน ไทยเป็นอารยธรรมพุทธ เพราะฉะนั้น ไทยจึง เป็นตัวประกอบของความขัดแย้งหลัก ตัวเอกของเรื่องในอนาคตคือ ฝรั่งกับกลุ่มอิสลามและจีน ไทยจึงอาจกลายเป็นอารยธรรมที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-aligned civilization) ไทยไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในศูนย์กลางของความขัดแย้ง

สรุป เมื่อมองจากกระบวนทัศน์สัจนิยมจะไม่สามารถหาข้อยุติได้ เพราะมีทั้งที่คิดว่าโลกเป็น 1 ขั้ว 2 ขั้ว และหลายขั้ว ในการหาข้อยุติไม่ได้ก็จะส่งผลต่อนโยบายต่างประเทศของไทย เพราะไม่สามารถบอกได้ว่า นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น นโยบายต่างประเทศของไทยจะดำเนินไปในลักษณะที่ลดความเสี่ยง จะมีนโยบายแบบที่เป็นกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไป (incremental process) คือ ค่อยๆปรับ จะไม่ผลีผลาม เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน มีความไม่แน่นอนสูงมากในระบบการเมืองระหว่างประเทศ

นอกจากกระบวนทัศน์สัจนิยมแล้ว ยังมีกระบวนทัศน์ที่เรียกว่า อุดมคตินิยม (Idealism) สำหรับสัจนิยมจะเน้นเรื่องอำนาจ ความขัดแย้ง เรื่องการสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจแต่อุดมคตินิยมจะเน้นเรื่องสถาบันระหว่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น ถ้ามองแบบอุดมคตินิยมในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะมองในแง่ดีว่าโลกกำลังมีวิวัฒนาการเปลี่ยนไป เรื่องของขั้วอำนาจเป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องพ้นยุคพ้นสมัยไปแล้ว โลกปัจจุบันกำลังก้าวสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ การเมืองระหว่างประเทศไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาจากมหาอำนาจเพียงไม่กี่ประเทศ การเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน เต็มไปด้วยตัวแสดงที่หลากหลาย เช่น สถาบันระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ กฎระเบียบระหว่างประเทศ

การเมืองระหว่างประเทศในอนาคตจะคล้ายการเมืองในประเทศเข้าไปทุกที การเมืองภายในประเทศจะมีรัฐบาล สภา พรรคการเมือง การต่อสู้ของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง ในการเมืองระหว่างประเทศในขณะนี้คล้ายๆ กับมีกึ่งรัฐบาลโลก นั่นคือ สถาบันระหว่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ แกนกลางของสถาบันระหว่างประเทศคือ สหประชาชาติ บทบาทของคณะมนตรีความมั่นคง กฎระเบียบต่าง ๆ มติของสหประชาชาติ

สนธิสัญญาระหว่างประเทศเหล่านี้คือ สิ่งที่อุดมคตินิยมเรียกว่า ระบอบความมั่นคงของโลก (global security regime) ถ้ามองในแง่กระบวนทัศน์อุดมคตินิยมก็ไม่ได้มองว่าสหรัฐฯ เป็นเจ้าครองโลก เพราะสหรัฐฯ ถูกจำกัดบทบาทโดยสถาบันระหว่างประเทศ โดยกฎระเบียบระหว่างประเทศ สหรัฐฯไม่สามารถทำอะไรได้โดยเอกเทศ สหรัฐฯเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก สังคมประกอบด้วยสมาชิกมากมาย มีสถาบันต่างๆ มีรัฐบาล มีศาล มีตำรวจ ในระดับระหว่างประเทศ ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามองในแง่นี้ ไทยก็ไม่ต้องตื่นตระหนกกับบทบาทของมหาอำนาจเกินไป เพราะสหรัฐฯก็จะถูกจำกัดบทบาทโดยระบอบระหว่างประเทศ ไทยไม่จำเป็นต้อง “pro” สหรัฐฯมากเกินความจำเป็น เพราะในที่สุดแล้วบทบาทของสหรัฐฯก็ไม่ได้อยู่ตลอดไป

แนวความคิดสัจจนิยมและอุดมคตินิยมมีอิทธิผลต่อแนวคิดของผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะสัจนิยม ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์หลักของผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของประเทศต่างๆ ในสายตาของผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยจะมองโลกด้วยสายตาของสัจนิยม การมองโลกแบบอุดมคตินิยมเป็นเสียงข้างน้อยในกลุ่มของผู้ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ

แต่อีกกระบวนทัศน์คือ มาร์กซิสม์ (Marxism) กลุ่มนี้ไม่สามารถมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย แต่จะมีอิทธิพลในกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนี้จะคอยวิพากษ์วิจารณ์ นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล จะมองว่านโยบายต่างประเทศของไทยตกอยู่ในอำนาจของกลุ่มชนชั้นผู้ปกครอง นายทุน ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงในการเข้าไปร่วมหรือมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ในการมองวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศ ก็จะมองในแง่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลัก คือบทบาทของสหรัฐฯ มหาอำนาจต่างๆ ทำไปเพื่อครอบครองโลก โดยชนชั้นทุนนิยม โดยเอานโยบายต่างประเทศเป็นเครื่องมือของการขยายอิทธิพล การกดขี่ชนชั้นแรงงานในประเทศที่ยากจนต่างๆ ถ้ามองในแง่ของมาร์กซิสม์หรือนักวิชาการฝ่ายซ้าย แน่นอนคือนโยบายต่างประเทศของไทยต้องต่อต้านสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯเป็น “หัวโจก” ของลัทธิทุนนิยม จักรวรรดินิยม แต่โลกทัศน์ของผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยไม่มีความเชื่อหรือศรัทธาในกระบวนทัศน์มาร์กซิสม์ ดังนั้น อิทธิพลของแนวคิดแบบสัจจนิยมจะมีมากที่สุด

» ช่วงก่อนสงครามเย็น-1960

» ช่วงทศวรรษ 1970-1990

» ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ

» ท่าทีไทยในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ

» ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทักษิณ

» ไทยกับสงครามอิรัก

» ทักษิณเยือนสหรัฐฯ

» ทหารไทยในอิรัก

» Bush เยือนไทย

» สถานะพันธมิตรนอกนาโต้

» สถานการณ์ความสัมพันธ์ล่าสุด

» การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ

» สหรัฐฯต้องการอะไร

» ไทยต้องการอะไร

» การเจรจา

» ผลเสียของ FTA ไทย-สหรัฐฯ

» ผลดีของการทำ FTA ไทย-สหรัฐฯ

» ยุทธศาสตร์การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ

» สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ

» ประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

» สหรัฐอเมริกา : ภัยหรือโอกาสต่อไทย

» อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา

» ทางเลือกนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ (Policy Options)

» นโยบายสายกลาง

» บทสรุป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย