ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

ความสำคัญของประวัติศาสตร์

        คำว่า “ประวัติศาสตร์” หรือ History มาจากคำภาษากรีกว่า Historia ซึ่งแปลว่า การไต่สวน สืบสวน ค้นคว้า ตรวจสอบ วินิจฉัยเรื่องราวต่าง ๆ นักประวัติศาสตร์และผู้รู้หลายท่านให้คำนิยาม ความหมายของประวัติศาสตร์ ไว้ต่าง ๆ กันมากมายหลายความหมาย แต่ก็ยังไม่มีคำจำกัดความที่ตายตัวแน่นอนมาจน ทุกวันนี้

  • ลิโอ ตอลสตอย กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์คือเรื่องราวของชีวิต ของประเทศชาติและมนุษยชาติ….”
  • ดร.สมศักดิ์ ชูโต อธิบายว่า “วิชาประวัติศาสตร์พยายามที่จะบันทึกและทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลกอันเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ทุกด้าน……”
  • พล.ท.ดำเนิร เลขะกุล ได้สรุปความคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ว่า “คือ บันทึกที่บรรยายเรื่องราวทุก ๆ ด้านในอดีตของมนุษย์ และบันทึกนั้นเป็น ความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ซึ่งอาจจะเป็นการเรียบเรียงต่อเนื่องกันมาโดยตลอด หรือเรียบเรียงเฉพาะตอนหนึ่งตอนใดของเรื่องทั้งหมดก็ได้…...”
  • ดร.แถมสุข นุ่มนนท์ ให้ทรรศนะว่า “ประวัติศาสตร์คือ การไต่สวนเข้าไปให้รู้ถึงความจริงที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของ มนุษยชาติที่เกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของอดีต…”
  • ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวถึง ลักษณะสำคัญของคำว่า ประวัติศาสตร์ว่า “วิชาประวัติศาสตร์เป็นการศึกษาความเป็นมาของมนุษย์ในอดีต ตั้งแต่เมื่อเริ่มมี การจดบันทึกกันด้วยลายลักษณ์อักษร..….”
    เรื่องราวที่บันทึกในประวัติศาสตร์นั้น ต้องเป็นเหตุการณ์อันสำคัญที่เกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น เพราะในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ นั้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย นักประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องสนใจทั้งหมด แต่เหตุการณ์อันสำคัญนั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับมนุษย์หรือสังคมของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่……”
  • ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ให้ทรรศนะว่า “หัวใจสำคัญ ของประวัติศาสตร์ คือ เรื่องราวของอดีต ซึ่งนักประวัติศาสตร์ค้นคิดขึ้นมาอย่างมีหลักฐาน แล้วก็นำมาถกเถียงถึงความหมายของมันในปัจจุบัน  ซึ่งก็หมายความว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องอดีตที่ถกเถียงกัน มิใช่เรื่องของอดีต เฉย ๆ …..”
  • อีเอช คาร์ กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์คือ ขบวนการอันต่อเนื่องของกริยาตอบโต้ระหว่างนักประวัติศาสตร์กับข้อเท็จจริง เป็นบทสนทนาที่ไม่รู้จบระหว่างอดีตกับ ปัจจุบัน….”
  • อ.จ.เจริญ ไชยชนะ กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์นับเป็นสาขาของวิทยาการอันหนึ่งที่บันทึก และอธิบายถึงเหตุการณ์ที่ล่วงมาแล้วในอดีต……”
  • อ.จ.ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งอาจหมายถึง เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้…..”
  • จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า “วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยความชัดเจนในการต่อสู้ทางสังคมมนุษย์ ซึ่งวิชานี้เสมือนตัวอย่างของการต่อสู้ทางสังคมแห่งชีวิตของชนรุ่นหลัง…..”
  • พล.ต.โอภาส วงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์คือ “การศึกษาการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในอดีต”
  • พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้คำจำกัดความว่า “ประวัติศาสตร์เป็นวิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเรื่องราวของประเทศชาติ เป็นต้น ตามที่บันทึกไว้ในหลักฐาน”

ประวัติศาสตร์หมายถึง การศึกษาอดีตของสังคมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของสังคม ความคิดและความเชื่อ ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ในสังคมมนุษย์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต

ประวัติศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยพฤติกรรมหรือเรื่องราวของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในอดีต ร่องรอยที่คน ในอดีตสร้างเอาไว้ เป้าหมายของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ คือ การเข้าใจสังคมในอดีตให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อนำมาเสริมสร้างความเข้าใจในสังคมปัจจุบัน

 

ประวัติศาสตร์ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของสังคมมนุษย์ที่เชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สังคมมนุษย์ในปัจจุบันล้วนเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ในอดีต และอาจส่งผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น การศึกษาอดีตของสังคมมนุษย์ คือ ความพยายามเข้าใจปัจจุบันโดยอาศัยวิธีการสืบค้นเรื่องราวอย่างเป็นระบบจากร่องรอยหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งเรียกว่า วิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical method)

ประวัติศาสตร์ คือ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ และมีผลมาถึงสังคมมนุษย์โดยส่วนรวม ภายใต้สภาวะแวดล้อมของกาลเวลาต่าง ๆ กัน ตามที่ปรากฏหลักฐานหรือมีการบันทึกไว้

ความสำคัญของประวัติศาสตร์ สามารถสรุปได้ดังนี้

  • ประวัติศาสตร์ช่วยให้มนุษย์รู้จักตัวเอง ทำให้รู้บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับขอบเขตของตน ขณะเดียวกันก็รู้เกี่ยงกับขอบเขตของคนอื่น กล่าวคือช่วยให้มนุษย์รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น รวมทั้งเข้าใจสังคมของมนุษย์โดยส่วนรวม
  • ประวัติศาสตร์ช่วยให้เกิดความเข้าใจในมรดก วัฒนธรรมของมนุษยชาติ ความรู้ ความคิดอ่านกว้างขวาง ทันเหตุการณ์ ทันสมัย ทันคน และสามารถเข้าใจคุณค่าสิ่งต่างๆในสมัยของตนได้
  • ประวัติศาสตร์ช่วยเสริมสร้างให้เกิดความระมัดระวัง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ฝึกฝนความอดทน ความสุขุมรอบคอบ ความสามารถในการวินิจฉัย และมีความละเอียดเพียงพอที่จะเข้าใจปัญหาสลับซับซ้อน
  • ประวัติศาสตร์เป็นเหตุการณ์ในอดีตที่มนุษย์สามารถนำมาเป็นบทเรียน ให้แก่ปัจจุบัน โดยบทเรียนประวัติศาสตร์ อาจใช้เป็นประสบการณ์พื้นฐานการตัดสินใจ เหตุการณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หรืออนาคต และประยุกต์ใช้ในกระบวนการแก้ไขปัญหา และวิกฤตการณ์ต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักจริยธรรม คุณธรรม ทั้งนี้เพื่อสันติสุขและพัฒนาการของสังคมมนุษย์เอง
  • ประวัติศาสตร์สอนให้คนรู้จักคิดเป็น ไม่หลงเชื่อสิ่งใดง่าย ๆ โดยมิได้ไตร่ตรองพิจารณาให้ ถี่ถ้วนเสียก่อน
  • ประวัติศาสตร์ของชาติย่อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ ในตระกูล และในความ เป็นชาติประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความรักชาติและช่วยกันรักษาชาติบ้านเมืองให้คงอยู่ ทั้งก้าวไปสู่ความเจริญ

ประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นได้ด้วยองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ สังคมมนุษย์ หลักฐาน มิติของเวลา และวิธีการทางประวัติศาสตร์ โดยขั้นแรกต้องมีเหตุการณ์หรือพฤติกรรมในสังคมมนุษย์เกิดขึ้น แต่เนื่องจากสังคมมนุษย์เกิดขึ้นมากว่า 500,000 ปีมาแล้ว ความจริงในอดีตจึงต้องอาศัยร่องรอยหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจเกิดจากธรรมชาติหรืออาจเกิดจากสิ่งที่มนุษย์ตั้งใจหรืออาจไม่ตั้งใจจะสร้างหลักฐานขึ้น และเมื่อเกิดหลักฐานขึ้นแล้วต้องอาศัยนักประวัติศาสตร์ หรือผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ทำหน้าที่รวบรวม ตรวจสอบ พิจารณา ไตร่ตรอง วิเคราะห์ ตีความ วินิจฉัย และเรียบเรียงข้อเท็จจริงที่ค้นพบ เพื่ออธิบายเรื่องราวในสังคมนั้น ๆ ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด และผลของเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตามไม่มีผู้ใดสามารถจำลองอดีตได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ฉะนั้นเหตุการณ์ที่เรียบเรียงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์นี้ จึงเป็นเรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมมนุษย์ในอดีตเท่านั้น โดยผู้ศึกษาเห็นว่าเหตุการณ์นั้นมีความสำคัญต่อสังคม และควรเรียนรู้ ถือเป็นบทเรียนของอดีตที่มีผลถึงปัจจุบันและอนาคต การสืบค้นอดีต เพื่อเข้าใจสังคมปัจจุบันและเห็นแนวทางปฏิบัติในอนาคตคือ คุณค่าสำคัญของประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ยังช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ ความรัก และความภูมิใจในชาติของตน เข้าใจลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของสังคมมนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ กัน และที่สำคัญผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จะได้รับการฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ การแยกแยะข้อเท็จจริงจากข้อมูลหลักฐานที่หลากหลาย ได้ฝึกฝนการอ่าน การเขียน การเล่าเรื่อง และการนำเสนออย่างมีเหตุผล อันเป็นกระบวนการสร้างภูมิปัญญาอย่างแท้จริง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย