ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ความจริง

ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

อภิปรัชญาสามสาขา

ในปัญหาที่ว่าพระพุทธศาสนามีทัศนะทางอภิปรัชญาใกล้เคียงกับปรัชญาใดมากที่สุดนั้น ต้องทราบก่อนว่าอภิปรัชญาคืออะไร ว่าด้วยเรื่องอะไร

อภิปรัชญา(Metaphysics) ปรัชญาที่ว่าด้วยสิ่งเป็นจริงเช่นพระเป็นเจ้า โลก วิญญาณ สาระ เจตจำนงเสรี (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน,พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548, หน้า 64.)

อภิปรัชญาของสามสำนักมองไม่เหมือนกัน ก่อนจะตอบว่าพระพุทธศาสนามีทรรศใกล้เคียงกับปรัชญากลุ่มใดมากที่สุด ต้องทราบทัศนะของแต่ละสำนักซึ่งมีทัศนะดังต่อไปนี้

จิตนิยม (Idealism) เป็นชื่อเรียกทัศนะทางปรัชญาของสำนักปรัชญาหลายสำนักที่มีทัศนะร่วมกันว่า จิตหรือสภาวะนามธรรมมีความเป็นจริงสูงสุดและมีความสำคัญกว่าวัตถุ เช่นจิตนิยมแบบเบริร์กลีย์เรียกว่าจิตนิยมอุตรวิสัยคือทัศนะที่ถือว่า สิ่งที่เป็นวัตถุเป็นเพียงมโนภาพซึ่งมีอยู่ในจิตของพระเป็นเจ้า จิตนิยมแบบคานท์ เรียกว่าจิตนิยมอุตรวิสัย คือทรรศที่ถือว่าสิ่งที่มนุษย์รับรู้นั้นจะต้องผ่านระบบการทำงานของจิตเสียก่อน มนุษย์จะรับรู้ความจริงโดยไม่ผ่านระบบการทำงานของจิตไม่ได้ จิตนิยมแบบเฮเกล เรียกว่าจิตนิยมวัตถุวิสัยหรือจิตนิยมปรวิสัย หรือจิตนิยมสมบูรณ์คือทัศนะที่ถือว่าสิ่งที่มีอยู่จริงนั้นมีอย่างเดียวคือจิตสัมบูรณ์ สิ่งอื่นๆทั้งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุเป็นเพียงการแสดงของจิตสัมบูรณ์ และพัฒนาตามขั้นตอนไปสู่ความเป็นจิตสัมบูรณ์ จิตนิยมแบบเพลโต คือทรรศที่ถือว่ามีสภาพความจริงอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่วัตถุเรียกว่ามโนภาพ (Idea)หรือแบบ(Form) ซึ่งเพลโตถือว่าเป็นจริงและสำคัญกว่าโลกแห่งวัตถุ (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน,พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548, หน้า 45.)



สสารนิยม (Materialism) ในทางอภิปรัชญาหมายถึงทัศนะที่ถือว่าสสารเท่านั้นที่เป็นจริง ปรากฏการณ์ในรูปอื่นๆ สามารถทอนลงได้ว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ของสสารในกรณีนี้เรามักเรียกว่าสสารนิยม (หน้า 61)

ธรรมชาตินิยม (Naturalism) ซึ่งหมายถึงแนวความคิดซึ่งยึดธรรมชาติเป็นหลักประกอบด้วยทัศนะต่างๆเช่น

(1) ทัศนะที่ถือว่า ธรรมชาติเท่านั้นคือสิ่งเป็นจริงนิรันดร์ มีพลังกระตุ้นในตัว ดำรงอยู่ด้วยตัวเอง มีทุกอย่างในตัวเอง อาศัยตนเอง ปฏิบัติการได้ด้วยตนเอง และมีเหตุผลในตัว

(2) ทัศนะที่ไม่ยอมรับอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยถือว่าปรากฏการณ์ทุกๆอย่างเป็นไปตามสภาวะความเกี่ยวพันที่มีต่อกันของเหตุการณ์ทางธรรมชาตินั้นๆเอง ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆทั้งสิ้น แต่เป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองตามกาละและเทศะกล่าวคือธรรมชาตินี้มีโครงสร้างของตนเอง และโครงสร้างนั้นเกิดขึ้นได้เอง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอำนาจเหนือธรรมชาติ

(3) ทัศนะที่มีลักษณะนิยมวิทยาศาสตร์ได้แก่ทัศนะที่ถือว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติสามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลเพียงพอโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ความรู้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยวิธีการวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ความรู้ที่เรียกกันว่าอัชฌัตติกญาณ(intuition) คือการรู้เองก็ดี ประสบการณ์เชิงรหัสยะคือประสบการณ์เรื่องลึกลับก็ดี คติความเชื่อก็ดี วิวรณ์คือการที่พระเป็นเจ้าเปิดเผยความรู้ให้มนุษย์ทราบก็ดีไม่ถือว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี แม้วิทยาศาสตร์จะเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้มนุษย์รู้และเข้าใจโลก แต่มนุษย์ก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับโลกได้หลายทาง นอกเหนือจากการรู้และการเข้าใจ ธรรมชาตินิยมไม่ถือว่าการรู้และการเข้าใจโลกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

(4) ทัศนะที่ถือว่า มนุษย์เป็นสิ่งหนึ่งในธรรมชาติ มิได้มีฐานะพิเศษเหนือกว่าสิ่งอื่นๆ เลย พฤติกรรมของมนุษย์ก็คล้ายๆกับพฤติกรรมของสัตว์อื่นๆจะต่างกันก็ตรงที่มีความซับซ้อนมากกว่าเท่านั้น อิทธิพลจากสังคมและสิ่งแวดล้อมทำให้พฤติกรรมของมนุษย์ผันแปรไปต่างๆกันได้ คุณค่าเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง มิได้อาศัยสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นหลัก (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน,พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548, หน้า 70.)

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม(Atheism)คือศาสนาที่มีทัศนะว่าไม่มีพระเจ้า ในทางอภิปรัชญาจึงมิได้ให้ความสำคัญกับพระเป็นเจ้า ดังที่มีผู้แสดงทัศนะไว้ว่า “ในทางปรัชญาความคิดเรื่องโลกเป็นความคิดที่สำคัญเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปรัชญาเทวนิยม ความคิดเรื่องโลกจัดเป็นความคิดพื้นฐานที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความคิดเรื่องพระเจ้าและความคิดเรื่องมนุษย์ ปรัชญาประเทศเทวนิยมทั้งของตะวันตกและตะวันออก แม้จะมีความเห็นอื่นๆแตกต่างกัน แต่ก็มีความสอดคล้องกันเกี่ยวกับการมีอยู่ของโลก นั่นคือการมีอยู่ของโลกเป็นผลสืบเนื่องมาจากการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า โดยปรัชญาบางสำนักถือว่าพระเป็นเจ้าทรงเป็นผู้สร้างโลกโดยตรง

(สุนทร ณ รังษี,พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก,พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543,หน้า 46.)

ปัญหาในทางอภิปรัชญาว่าด้วยความคิดเรื่องโลก พระพุทธศาสนากล่าวถึงเรื่องโลกไว้ในอัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคว่าด้วยกำเนิดโลกความว่า “ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยล่วง ระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่า สัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเองสัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้ง บางคราวโดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้จะกลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญ อยู่โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจฺติจากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้น ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ก็แหละ สมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และ ดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฎ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฎ กลางวันกลาง คืนก็ยังไม่ปรากฎ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ยังไม่ปรากฎ ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฎ เพศชายและเพศหญิงก็ยังไม่ปรากฎ สัตว์ทั้งหลาย ถึงซึ่งอันนับเพียงว่าสัตว์เท่า นั้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฎแก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยว ให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ฉะนั้นง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น (ที.ปา.9/56/65.)

        เมื่อกล่าวถึงกำเนิดของโลกพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดและความดับแห่งโลก เธอทั้งหลายจงฟัง ... ภิกษุทั้งหลาย ก็ความเกิดแห่งโลกเป็นไฉน เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม 3 ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความเกิดแห่งโลก ก็ความดับแห่งโลกเป็นไฉน เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม 3 ประการเป็นผัสสะเพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหาเพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความดับแห่งโลก (สํ.นิทาน. 164/72.)

ความเกิดและความดับแห่งโลกในที่นี้จึงเป็นเรื่องของกระบวนการในปฏิจจสมุปบาท มิได้เป็นเหมือนกับที่ปรัชญาตะวันตกเข้าใจ ที่บางลัทธิบอกว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก หลักปฏิจสมุปบาทจึงคล้ายกับกฏธรรมชาติซึ่งมิได้มีผู้สร้าง แต่เป็นเรื่องของปัจจัยที่อิงอาศัยกันและกัน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย