ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ความจริง

ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

       มีปัญหาที่ถกเถียงกันมาตลอดว่าพระพุทธศาสนามีแนวคิดใกล้เคียงกับอภิปรัชญาใดมากที่สุดเป็นธรรมชาตินิยม สัจจนิยม จิตตนิยม สสารนิยม หรือเหตุผลนิยม มีนักปรัชญาพุทธหลายท่านพยายามตอบคำถามนี้ ซึ่งแต่ละประเด็นเป็นสิ่งที่ควรศึกษาค้นคว้า พระพุทธศาสนานั้นมีคำสอนหลายอย่างที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับปรัชญา และปรัชญาก็มีเนื้อหาหลายส่วนที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงมีการนำเสนอแนวคิดที่หลากหลายเนื่องจากแนวคิดของปรัชญาตะวันตกกับพระพุทธศาสนานั้น มีกำเนิดต่างกันปรัชญาตะวันตกส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานความเชื่อเรื่องการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นการอธิบายหลักการต่างๆจึงมักจะสิ้นสุดลงที่พระเจ้า ส่วนพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม(Atheism)คือไม่ยอมรับการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นการอธิบายหลักการต่างๆ จึงไม่ขึ้นอยู่กับพระเจ้า แต่ขึ้นอยู่กับมนุษย์และธรรมชาติ พระพุทธศาสนายอมรับความจริงแท้ ซึ่งอยู่ในขอบข่ายของอภิปรัชญา แต่แตกต่างไปจากปรัชญาตะวันตก มีปัญหาถกเถียงกันมากว่าพระพุทธศาสนามีทัศนะใกล้เคียงกับอภิปรัชญาใดมากที่สุด เป็นธรรมชาตินิยม สัจจนิยม จิตตนิยม สสารนิยมหรือเหตุผลนิยมตามหลักปรัชญาตะวันตก

ปัญหาที่ว่าความจริงแท้คืออะไรนั้นหากตอบตามทัศนะของปรัชญาความจริงแท้เทียบได้กับคำว่าอันติมสัจจะ(Ultimate Reality) ในทางปรัชญาหมายถึงความเป็นจริงขั้นสูงสุด (ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตสถาน,พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน,2548, หน้า 101.)

ในแต่ละสำนักทางปรัชญาหรือศาสนามีคำตอบไม่เหมือนกันเช่นทาเลสคือน้ำในศาสนาฮินดูคือปรมาตมัน

ในพระพุทธศาสนาสัจจะหรือความจริงมีสองอย่างตามที่แสดงไว้ในอรรถกถา อังคุตตรนิกายว่า พระสัมพุทธเจ้าเป็นยอดของผู้กล่าวสอนทั้งหลายได้ตรัสสัจจะสองอย่างคือสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะไม่ตรัสสัจจะที่สาม คำที่ชาวโลกหมายรู้กันก็เป็นสัจจะ เพราะมีโลกสมมติเป็นเหตุ คำที่ระบุถึงสิ่งที่เป็นปรมัตถ์ก็เป็นสัจจะเพราะมีความจริงของธรรมทั้งหลายเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นมุสาวาทจึงไม่เกิดแก่พระโลกนาถผู้ศาสดาผู้ฉลาดในโวหาร ผู้ตรัสตามสมมติ (องฺ. อรรถกถา. 1/185.)



สมมุติสัจจะคือความจริงโดยสมมุติ ความจริงที่ขึ้นต่อการยอมรับของคน ความจริงที่ถือตามความกำหนดหมายตกลงกันไว้ของชาวโลกเช่นว่าคนสัตว์ โต๊ะเก้าอี้เป็นต้น

ปรมัตถสัจจะ ความจริงโดยปรมัตถ์ ความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยไม่ขึ้นต่อการยอมรับของคน ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่จะกล่าวถึงได้เช่นว่า รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น (พระพรหมคุณาภรณ์,พจนานุกรมพุทธศาสตร์,พิมพ์ครั้งที่ 13,กรุงเทพ ฯ: เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์,2548,หน้า 75.)

ในพระพุทธศาสนาแสดงความจริงอันประเสริฐไว้ว่าอริยสัจสี่อันประกอบด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดังคำกล่าวยืนยันว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 คือปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตชอบ (วิ.มหา 4/13/16)

ความจริงแท้ในพระพุทธศาสนาจึงมิใช่สิ่งเดียวแต่เป็นทั้งตัวปัญหา สาเหตุ การแก้ปัญหา และวิธีการในการแก้ปัญหา เมื่อกระทำให้สิ้นสุดตามกระบวนการแล้วจึงเข้าสู่ภาวะแห่งการตรัสรู้ดังที่พระองค์ยืนยันว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจสี่นี้ มีรอบสาม มีอาการ 12 อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป (วิ.มหา. 4/16/18)

อริยสัจจ์ตรงตามความหมายของความจริงแท้ในที่นี่ พร้อมทั้งแสดงวิธีการในการเข้าถึงความจริง จึงเป็นอภิปรัชญาคือทุกขสัจจ์ ร้อมทั้งสาเหตุเกิดคือสมุทัย ญานวิทยาคือมรรคมีองค์ 8 นิโรธความดับทุกข์ได้นั้นจึงเป้นความจริงแท้ที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า นิพพานคือภาวะที่จิตรู้ตามความเป็นจริงแล้วเข้าสู้การรู้แจ้ง นิพพานรู้ได้ยาก ดังที่พระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้ใหม่ๆก็ทรงใคร่ครวญว่า บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยยาก เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะครอบงำแล้วไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้ว ถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแสคือนิพพาน (วิ.มหา.4/7/9)

ส่วนความจริงแท้อีกอย่างหนึ่งแสดงไว้ในอภิธรรมเรียกว่าปรมัตถธรรม คือสภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์ สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุดได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ความจริงแท้ในพระพุทธศาสนาจึงสรุปลงที่รูปนาม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย