ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
การแพทย์แผนโบราณและการแพทย์แผนปัจจุบันในสมัยอยุธยา
โดย นายแพทย์สุด แสงวิเชียร
การแพทย์ในทวีปยุโรปในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ระหว่างพุทธศักราช 2054 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีฝรั่งเข้ามาในสมัยอยุธยาและ พ.ศ. 2231 ซึ่งเป็นปีที่ตรงกับปีสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นเกือบตรงกับ พ.ศ. 2043 - 2243 ซึ่งทางฝ่ายยุโรปถือเป็นระยะเวลาที่สำคัญ คือเป็นระยะเวลาที่มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุโรป (Renaissance) เช่น มีการประดิษฐ์การพิมพ์ การพบทวีปอเมริกา และมีการเดินเรือติดต่อกับประเทศอินเดีย ทำให้ประชาชนรวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป มีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาความรู้ เลิกล้มความเชื่อถือเก่าๆ และพยายามศึกษาหาข้อเท็จจริง ทำให้วิชาการหลายแขนงเจริญก้าวหน้ากว่าเดิมเป็นอันมาก วิชาการแพทย์ของทวีปยุโรปก็รวมอยู่ในกลุ่มทางวิชาการที่ก้าวหน้านี้ด้วย เพราะมีพื้นฐานดีอยู่แล้วจากวิชาการแพทย์ที่เจริญอยู่ในประเทศใกล้เคียง และที่มีอิทธิพลมากก็คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซ (Greece) วิชาการที่เห็นได้ชัดเจนคือ ความรู้ในเรื่องร่างกายของมนุษย์ เป็นความรู้ที่ถูกต้อง เพราะศึกษาจากของจริงโดยการชำแหละศพของคน แม้ความรู้เกี่ยวกับร่างกายจะมีอยู่บ้างแต่เดิม ก็ไม่ถูกต้องตรงกับความจริง เพราะศึกษาจากศพของสัตว์ เช่น งานของกาเลน (Galen, ค.ศ. 130-200) ผู้ริเริ่มศึกษาหาความรู้ที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นแพทย์ แต่เป็นศิลปินคนสำคัญของโลก คือ ลีโอนาร์ดา ดา วินซี (Leonardo da Vinci, ค.ศ. 1452-1519) ท่านผู้นี้ไม่พอใจความรู้เกี่ยวกับร่างกายที่มีอยู่ เพราะไม่อาจใช้ได้ถูกต้องในการปั้นและการเขียนภาพของคน ท่านจึงลงมือศึกษาเองจากศพโดยวิธีชำแหละ แต่การศึกษาของท่านก็เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ที่มองเห็นได้จากภายนอก เช่น แขน ขา และลำตัว ไม่ลึกซึ้งเข้าไปถึงอวัยวะภายในอันเป็นความรู้ที่จำเป็นต่อวิชาแพทย์ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคและการรักษา ความรู้ที่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งเกี่ยวกับวิชาการแพทย์ ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดย อันเดรียส เวซาลิอุส (Andreas Vesalius, ค.ศ. 1514-1564) นักกายวิภาคศาสตร์ ชาวเบลเยียม จนกระทั่งได้รับการยกย่องทั่วโลกว่าเป็น บิดาของวิชากายวิภาคศาสตร์ พร้อมกับความก้าวหน้าในวิชาพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้วิชาการแพทย์ที่เกี่ยวกับการผ่าตัดในส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ก้าวหน้าขึ้น ก็เกิดมีอัจฉริยะบุคคลคือ อัมบรัวซ์ ปาเร (Ambroise Pare, ค.ศ. 1510-1590)ชาวฝรั่งเศส คิดแก้ไขวิธีการผ่าตัดให้ปลอดภัยและมีอันตรายน้อยลง เช่น เดิมบาดแผลของแขนขาที่ถูกตัดเพื่อจะให้เลือดหยุด แพทย์จะใช้เหล็กเผาไฟจี้ให้เลือดหยุด (cautery) แต่วิธีนี้เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อบริเวณนั้น นอกจากจะทำให้แผลหายช้าแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดอย่างสาหัส ปาเรได้แก้ไขโดยวิธีผูกหลอดเลือดแทน ฉะนั้นปาเรจึงเป็นบุคคลแรกที่คิดทำคีมจับหลอดเลือดขึ้น ในสมัยของปาเรบาดแผลที่ถูกกระสุนปืนใช้น้ำมันเดือดราดไปบนแผล อ้างว่ากันไม่ให้แผลเป็นพิษแต่ปาเรใช้น้ำมันที่สะอาดแต่งแผลแทน ผู้ป่วยไม่มีความเจ็บปวดและแผลหายเร็วขึ้น วิธีของปาเรคงติดมาถึงเมืองไทยในสมัยนั้นด้วย เดอ ฟอร์แบงจึงนำมาใช้ในการรักษาทหารที่ถูกอันตรายที่หน้าท้องจนลำไส้และกระเพาะอาหารทะลักออกมาภายนอกปกเรเป็นคนคัดค้านไม่ยอมให้ใช้เนื้อมัมมี่และเขาของสัตว์เขาเดียว (Unicorn) ในการรักษากาฬโรค
ฝ่ายทางยาหรืออายุรศาสตร์ก็มี ปาราเซลซุส ('Paracel- sus, Phillippus
Aureolus', Theophrastus Bombastus Von Hohenheim, ค.ศ. 1493-1541)
เป็นผู้แนะนำให้กลับไปใช้วิธีการของฮิปโป คราเตส (Hippocrates, 500
ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยอาศัยธรรมชาติเป็นสำคัญ ทำให้การรักษาพยาบาลดีขึ้น
ตัวอย่างคำกล่าวสั้นๆ แบบคำพังเพย (apjorisms) ของฮิปโปคราเตสได้แก่
ผู้ใดชักสืบเนื่องจากบาดแผลบอกอาการตาย (บาดทะยัก)
ผู้ที่มีลักษณะตามธรรมชาติเป็นคนอ้วนมักตายด้วยโรคปัจจุบันยิ่งกว่าคนผอม
เมื่อผู้เพ้อหลับลงได้นับเป็นการดี ชีวิตสั้นแต่ศิลปะวิทยาจะอยู่ต่อไปอีกนาน
การเปลี่ยนแปลงของโรคเป็นไปโดยรวดเร็ว การทดลองย่อมต้องฝ่าอันตราย
การตัดสินใจเป็นเรื่องยาก คนชราจะเป็นโรคต่างๆ ได้น้อยกว่าคนหนุ่มสาว
แต่ถ้าคนชราเกิดเป็นโรคเรื้อรังขึ้นโรคนั้นก็มักติดตามไปถึงหลุมศพด้วย
อย่าละเลยว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย
ไม่มีบาดแผลใดที่ศีรษะแม้เป็นบาดแผลเล็กน้อยที่อาจจะละเลยได้
และก็ไม่มีบาดแผลใดที่ศีรษะแม้จะดูร้ายแรงเพียงไรจนคิดว่า
จะทำให้ถึงแก่ชีวิตแล้วละเลยเสีย เป็นต้น (คำแปลคำพังเพยนี้ อาจจะยาวไปกว่าตัวจริง
แต่เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจตามความหมายจึงได้ขยายขึ้นเล็กน้อย)
คำพังเพยยังคงใช้ต่อมาจนถึง ทุกวันนี้
นอกจากนั้นยังมีข้อความที่ผู้ที่จะดำเนินชีวิตในอาชีพแพทย์จะต้องกล่าวคำสาบาน
(Hippocratic oath) ที่ใช้กันอยู่หลายในหลายแห่งของโลก
ทำให้แพทย์มีจรรยาบรรณในการปฏิบัติที่เหมาะสม
ที่ประเทศอังกฤษได้ตั้งสมาคมแพทย์ขึ้นโดยทอมัส ลินักร์ (Thomas Linacre, ค.ศ.
1460-1514) ซึ่งเป็นผู้พบว่า
มีผู้ที่ให้การรักษาผู้ป่วยเป็นหมอเถื่อนที่ขาดการศึกษาเป็นส่วนใหญ่
ต่อมาสมาคมนี้ได้กลายเป็นราชวิทยาลัยแพทย์แห่งกรุงลอนดอน (Royal College of
Physicians of London)
ดูแลให้กิจการแพทย์ของประเทศอังกฤษดำเนินไปตามหลักการของวิทยาศาสตร์ และ
ผู้ทำการรักษาพยาบาลจะต้องได้ใบประกอบโรคศิลป์
เกี่ยวกับประวัติการแพทย์ เท่าที่ได้เอ่ยนามบุคคลต่างๆ มาแล้ว
ไม่อาจจะนำรายละเอียดมาเสนอได้ เพราะจะกลายเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง
เป็นประวัติการแพทย์สากลไป
แต่ต้องการจะให้ทราบแต่เพียงว่าการเจริญทางการแพทย์ของประเทศตะวันตกนั้น
ย่อมถูกชักนำเข้ามาพร้อมกับผู้มาแสวงโชคในทางการค้ากับคณะนักบวช คณะทหาร
และคณะทูตที่มาเจริญทางสัมพันธไมตรี พร้อมกับการแพทย์
งานทางวิทยาศาสตร์ก็คงได้นำเข้ามาด้วย เพราะในคริสต์ศตวรรษที่ 17 คือจาก ค.ศ.
1600-1700 (พ.ศ. 2143-2243) ได้เกิดอัจฉริยบุคคลขึ้น หลายท่าน เช่น ฟรานซิส เบคอน
(Francis Bacon,ค.ศ. 1561- 1626) ผู้เน้นความสำคัญในการทดลองทางวิทยาศาสตร์
กาลิเลโอ (Galileo, ค.ศ. 1564-1642) ผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์
ซึ่งเป็นแม่แบบของกล้องจุลทรรศน์ (Compound microscope)
ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในวิชาการแพทย์ต่อมา โดยบุคคลในตระกูลแจนเซน (Janzen, Z. &
H.) โดยใช้เลนส์ที่มีความโค้งออกทั้งสองด้านใส่เข้าไปในท่อ
ท่านผู้นี้ยังเป็นผู้สร้างให้เกิดความแน่นอนในการวัด
ทำให้การทดลองทางการแพทย์มีผลแน่นอนขึ้น โดยอาศัยแนวการปฏิบัติของกาลิเลโอ
ทำให้แซงตอเรียม (Sanctorium, ค.ศ. 1561-1636) ประดิษฐ์ปรอทใช้วัดความร้อน
และต่อมาได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดชีพจรขึ้น
รอเบิร์ต บอยล์ (Robert Bolye, ค.ศ. 1627-1691)
เป็นคนแรกที่แสดงให้เห็นว่าอากาศเป็นวัตถุและมีปริมาตรที่วัดได้ งานของบอยล์ ทำให้
จอน เมยัวร์ (John Mayour, ค.ศ. 1645- 1677) กล่าวว่า
อากาศมีส่วนประกอบสำคัญในการหายใจ และเป็นผู้ทำออกซิเจนโดยเผาออกไซด์
และเกือบเป็นผู้พบว่าออกซิเจน เป็นตัวเปลี่ยนเลือดจากหลอดเลือดดำให้เป็นสีแดง
ในศตวรรษเดียวกันนี้ ก็ได้พบการไหลเวียนของเลือดโดยฮาร์วีย์
มีการใช้เหล็กในการรักษาโรคโลหิตจาง การใช้เปลือกต้นซิงโคนา
จากประเทศเปรูในการรักษาไข้จับสั่น ซึ่งได้นำเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา
โดยคณะนักบวชตามที่ได้กล่าวแล้ว รู้จักการใช้ปรอทในการรักษาโรคซิฟิลิส โดยโทมัส
ซิดเดนแฮม (Thomas Sydenham, ค.ศ. 1624-1689) ผู้ซึ่งแนะแนวในการวินิจฉัยโรค
และการรักษาตามแนวของฮิปโปคราเตส จนได้ฉายาว่า ฮิปโปคราเตส ชาวอังกฤษ (English
Hippocrates)
และมีชื่อสัมพันธ์อยู่กับโรคสันนิบาตลูกนกและการไอชนิดหนึ่งซึ่งเนื่องมาจากประสาท