ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
ทวีปยุโรป (Europe)
ทวีปอเมริกาใต้ (South America)
ทวีปอเมริกาเหนือ (North America)
ทวีปออสเตรเลีย (Australia)
ทวีปแอฟริกา (Africa)
ทวีปเอเชีย (Asia)
ทวีปแอฟริกา (Africa)
อาชีพและทรัพยากร
1. การเพาะปลูก การเพาะปลูกของทวีปแอฟริกามีผลผลิตแต่ละปีได้ไม่เพียงพอแก่การบริโภคภายในทวีป จึงต้องสั่งเข้าจากส่วนอื่นของโลก ลักษณะการเพาะปลูกมีความแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ คือ
- เขตร้อนชื้น ได้แก่ แอฟริกาตะวันตก ลุ่มแม่น้ำคองโกและชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกมีอากาศร้อนชื้น เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเมืองร้อน เช่น โกโก้ ปลูกมากที่สุด ประเทศกานาเป็นประเทศที่ส่งเมล็ดโกโก้ออกจำหน่ายมากที่สุดในโลก พืชสำคัญอื่นๆ ได้แก่ เผือก มัน ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ถั่วลิสง อ้อย ยางพารา
- เขตลุ่มน้ำไนล์ มีอากาศร้อนและแห้งแล้งแต่ได้รับน้ำจากการชลประทาน พืชสำคัญได้แก่ ฝ้าย ชา อินทผลัมและข้าวฟ่าง
- เขตเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่ ตอนเหนือสุดและใต้สุดของทวีป มีการปลูกพืชผลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น ส้ม องุ่น มะกอก ข้าวสาลี เป็นต้น
- เขตอบอุ่นชื้น ได้แก่ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป มีการปลูกข้าวสาลี ข้าวโพด และไม้ผล
2. การเลี้ยงสัตว์ เป็นอาชีพที่พบมากที่สุด เพราะแอฟริกาเป็นทวีปที่มีเขตทุ่งหญ้ากว้างขวาง แต่การเลี้ยงสัตว์ก็ประสบปัญหาสำคัญ คือ ทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารามีการเลี้ยงสัตว์มากเกินไป เป็นการทำลายทุ่งหญ้าอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนในเขตร้อนทางภาคกลางของทวีปมีแมลงเซตซี (Tsetse fly) ที่เป็นพาหะแพร่เชื้อโรคเหงาหลับ (Sleeping sickness) เข้าสู่สัตว์เลี้ยงจนบางแห่งไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ สัตว์เลี้ยงสำคัญของทวีปแอฟริกา ได้แก่
- โคพันธุ์พื้นเมือง
เป็นโคเขายาวที่นิยมเลี้ยงกันทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของทวีป
การเลี้ยงโคของชาวแอฟริกานอกจากเพื่อใช้แรงงานและใช้เนื้อเป็นอาหารแล้ว
ยังแสดงถึงฐานะทางสังคมด้วย กล่าวคือ
ผู้มีจำนวนโคมากแสดงถึงความมีฐานะดีและเป็นผู้มีหน้ามีตาในสังคม
- โคพันธุ์ต่างประเทศ เป็นโคที่นำมาจากต่างประเทศเลี้ยงไว้
เพื่อใช้เนื้อและนม เลี้ยงกันมากทางตอนใต้และตอนเหนือของทวีป
ในเขตอากาศอบอุ่นชื้นและเขตเมดิเตอร์เรเนียน
- แพะและแกะ ชาวแอฟริกานิยมเลี้ยงแบบเร่ร่อน ซึ่งพบในทุกประเทศที่มีลักษณะอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย
- อูฐ เป็นสัตว์เลี้ยงในเขตแห้งแล้ง เพื่อใช้เป็นสัตว์พาหนะและใช้เนื้อเป็นอาหาร
- ลา เลี้ยงไว้เป็นสัตว์พาหนะในเขตทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย
3. การล่าสัตว์ แอฟริกาเป็นทวีปที่สัตว์ป่าชุกชุมและมีมากมายหลายชนิด
ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของแอฟริกา เช่น พวกปิกมี่ แถบลุ่มแม่น้ำคองโก และพวกบุชแมน
ในเขตทะเลทรายคาลาฮารี ยังดำเนินชีวิตโดยการล่าสัตว์ป่าเอาไปขาย
สินค้าจากป่าแอฟริกาที่ต่างชาติสนใจ ได้แก่ งาช้าง และนอแรด
ต่อมาต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรปนิยมเดินทางไปล่าสัตว์ในแอฟริกามากขึ้น
จึงทำให้จำนวนสัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันประเทศต่างๆ
ในแอฟริกาจึงได้จัดทำเขตรักษาพันธุ์สัตว์แห่งชาติ เช่น ประเทศเคนยา เอธิโอเปีย
เป็นต้น และเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้าชมโดยจ่ายเงินค่าธรรมเนียมแก่รัฐบาล
ที่รู้จักกันในชื่อ ซาฟารี (Safari)
แต่ปัจจุบันทุกประเทศต่างมีนโยบายอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำให้ซาฟารีหมดความสำคัญไป
4. การประมง การประมงไม่ได้เป็นอาชีพสำคัญของชาวแอฟริกาจะมีบ้าง
ได้แก่ การจับปลาเล็กๆ น้อยๆในแม่น้ำต่างๆ ส่วนการประมงน้ำเค็มมีน้อยมาก
แหล่งจับปลาน้ำเค็ม ได้แก่ น่านน้ำชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้
โดยมีประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่จับปลาได้มากที่สุดในแอฟริกา
5. การทำป่าไม้ เขตที่มีความสำคัญในการทำป่าไม้ในแอฟริกา คือ
บริเวณทางชายฝั่งอ่าวกินี และบริเวณลุ่มแม่น้ำคองโก
เป็นแหล่งที่มีป่าไม้อยู่มากและอยู่ใกล้ทะเล ซึ่งสามารถขนส่งได้ง่าย
กับเขตที่ราบสูงของแอฟริกาตะวันออก
6. การทำเหมืองแร่ แร่ที่สำคัญของแอฟริกา ได้แก่ เพชร ทองคำ ยูเรเนียม ถ่านหิน ใยหิน เหล็ก แมงกานีส ทองแดง ดีบุก บอกไซต์ และฟอสเฟต มีแหล่งผลิตดังนี้
- เพชร แหล่งเพชรที่สำคัญ ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ นามิเบีย บอตสวานา ซิมบับเว และโมซัมบิก
- ทองคำ ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซิมบับเว กานา ผลิตทองคำได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก แหล่งสำคัญอยู่ที่วิตวอเตอร์สแรนด์ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
- ถ่านหิน มีในรัฐทรานสวาล และนาทาลในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เป็นแหล่งสำคัญที่สุดในแอฟริกา
- น้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ มีในเขตทะเลทรายสะฮารา ได้แก่ ลิเบีย ไนจีเรีย แอลจีเรีย อียิปต์
- เหล็ก พบมาในเขตที่ราบสูงมาลาวี ซิมบับเว โมร็อกโก แต่มีปริมาณไม่มาก
- ทองแดง พบมากในแคว้นคาดังกา ประเทศซาอีร์ ผลิตได้มากที่สุดในแอฟริกา
7. การอุตสาหกรรม แอฟริกาเป็นทวีปที่มีความล้าหลังทางด้านอุตสาหกรรม
ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม คือสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
ประเทศที่มีผลผลิตทางด้านอุตสาหกรรมทำรายได้เข้าประเทศบ้าง ได้แก่ ซิมบับเว
สวาซิแลนด์ โมร็อกโก เซเนกัล ส่วนประเทศที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่
ตูนิเซีย โมร็อกโก อียิปต์ เคนยา แอลจีเรีย
8. การค้ากับต่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศต่างๆ
ในแอฟริกากับภูมิภาคอื่นของโลก ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า
จะมีประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าบ้างก็เฉพาะประเทศผู้ผลติน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ
กับประเทศโกตดิวัวร์และรวันดาเท่านั้น ที่ได้ดุลการค้าในการค้าขายกับต่างประเทศ
ลักษณะการค้ากับต่างประเทศ ดังนี้
- สินค้าออก ที่สำคัญได้แก่ น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ อาหาร ยาสูบ
และวัตถุดิบต่างๆ ตลาดรับซื้อสินค้าจากแอฟริกา ได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป
สหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆในยุโรปตะวันออก
- สินค้าเข้า ที่สำคัญได้แก่ เครื่องจักรกล ยานยนต์ อุปกรณ์การขนส่งสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรม น้ำมันดิบ และแก๊สธรรมชาติ แหล่งที่ส่งสินค้าเข้าสู่แอฟริกา ได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มโอเปค สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
9. การคมนาคม
ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีความล้าหลังทางการคมนาคมขนส่งมากกว่าทุกทวีป
ทั้งเพราะประเทศ ส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะนำมาพัฒนาในด้านนี้
และนอกจากนี้ทวีปแอฟริกายังมีลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมต่างๆ
ที่เป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่งด้วย
1) ทางบก นอกจากความขาดแคลนทางด้านเศรษฐกิจแล้ว
แอฟริกายังมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างถนนและทางรถไฟ
เพราะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง และมีเขตทะเลทรายอันกว้างขวางทางตอนเหนือและตอนใต้
เป็นบริเวณที่ไม่มีค่าทางเศรษฐกิจและแทบไม่มีประชากรอาศัยอยู่
การสร้างเส้นทางคมนาคมในเขตนี้จึงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
ส่วนเขตแม่น้ำคองโกทางภาคกลางเป็นเขตที่ราบลุ่มที่ปกคลุมด้วยป่าดิบอันกว้างขวาง
ก็เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งยังประชากรอาศัยอยู่เบาบางมาก
พื้นที่ดังกล่าวจึงแทบไม่มีถนนอยู่เลย
แอฟริกาเป็นทวีปที่ไม่มีถนนหรือทางรถไฟสายยาวข้ามทวีปเหมือนทวีปอื่นๆ
บริเวณที่มีเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกอยู่บ้าง ก็มักเป็นเส้นทางสายสั้นๆ ได้แก่
ประเทศต่างๆที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
มีเส้นทางคมนาคมขนส่งหนาแน่นกว่าทุกประเทศ
2) ทางน้ำ เส้นทางคมนาคมทางทะเลมีความสำคัญต่อแอฟริกามาก
ทั้งนี้เพราะแอฟริกาตั้งอยู่ในเส้นทางเดินเรือระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย
และทวีปยุโรปกับทวีปออสเตรเลีย หลายประเทศในทวีปนี้
ได้มีการปรับปรุงเมืองท่าน้ำลึกให้เรือสินค้าและเรือเดินสมุทรเข้าเทียบท่าได้
และกลายเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่หลายเมือง เช่น อะเล็กซานเดรีย ในอียิปต์
เคปทาวน์ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ คาซาบลังกาในโมร็อกโก มันโรเวียในไลบีเรีย เป็นต้น
3) ทางอากาศ
แอฟริกาเป็นทวีปมีสายการบินที่ใช้ติดต่อกันทั้งภายในทวีปและระหว่างทวีป
ศูนย์กลางคมนาคมทางอากาศ ได้แก่ ไคโรในอียิปต์ คาร์ทูมในซูดาน แอลเจียร์ในแอลจีเรีย
ไนโรบีในเคนยา ลากอสในไนจีเรีย โจฮันเนสเบิร์กและเคปทาวน์ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
ลักษณะทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรม
อาชีพและทรัพยากร
แหล่งที่มา
http://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/Africa.htm