ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์
(รัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 6)

การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5
การวางฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การปฏิรูประบบกฎหมายและการศาล
ด้านเศรษฐกิจ
สภาพสังคมและการศึกษา
การศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี
วรรณกรรรมและศิลปกรรรม
ศิลปกรรม
การต่างประเทศ
การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศตะวันตก
อิทธิพลของอายธรรมตะวันตกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของไทย
การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 6
การเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5

การปฏิรูประบบกฎหมายและการศาล

    สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นระยะเวลาที่ชาวยุโรปเริ่มแสวงหาอาณานิคมและแผ่อิทธิพลเข้ามาในเมืองไทย พระองค์จึงได้ทรงตรากฎหมายและประกาศต่างๆ ขึ้นใช้บังคับมากมาย เพื่อให้ทันสมัยเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น เช่น พระราชบัญญัติมรดกสินเดิมและสินสมรส ใน พ.ศ. 2394 พระราชบัญญัติพระสงฆ์สามเณร และศิษย์วัด พ.ศ. 2402

ในการติดต่อกับต่างประเทศ ทำให้ไทยเสีย “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” โดยต่างชาติอ้างว่ากฎหมายไทยป่าเถื่อนและรังเกียจวิธีการพิจารณาคดีแบบจารีตนครบาล (คือวิธีการไต่สวนคดีของตุลาการอย่างทารุณ เช่น การตอกเล็บ บีบขมับ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯยกเลิก เมื่อ พ.ศ.2439) จึงไม่ยอมให้ใช้บังคับคนต่างชาติหรือคนในบังคับบัญชา ทำให้ไทยต้องทำการปฏิรูปกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5

การปฏิรูปกฎหมายไทย การปฏิรูปกฎหมายไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มเมื่อ พ.ศ.2440 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชุรีดิเรกฤทธิ์ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาตลับ ได้ทรงศึกษาวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและได้รับยกย่องว่าเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายและการศาลไทย” ทรงตั้งโรงเรียนสอนวิชากฎหมายขึ้น โดยดำเนินการสอนเอง โรงเรียนกฎหมายแห่งนี้ต่อมาได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายลักษณะอาญา ประกาศใช้ใน พ.ศ.2451 จัดเป็นกฎหมายฉบับใหม่และทันสมัยที่สุดฉบับแรกของไทย ต่อมาได้ประกาศใช้กฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 พระราชบัญญัติสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ.120 กฎหมายว่าด้วยการเลิกทาส พ.ศ2448 ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการปฏิรูปภาษากฎหมายไทยให้รัดกุม ชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น

 

สมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯให้ดำเนินงานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อจากที่ทำไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 และ พ.ศ.2466 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมร่างกฎหมายขึ้น

การศาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ.2434 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ตุลาการขาดความยุติธรรม ทุจริตตัดสินคดีความล่าช้า เป็นต้น โดยแยกตุลาการออกจากฝ่ายธุรการ และรวมศาลที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มาไว้ที่กระทรวงยุติธรรมเพียงแห่งเดียว และใน พ.ศ.2435 ได้มีการเปลี่ยนแปลงงานด้านการศาล คือ รวมศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ ตั้งศาลราชทัณฑ์พิเฉทขึ้น ยกเลิกกรมรับฟ้องโดยตั้งจ่าศาลเป็นพนักงานรับฟ้องประจำศาลต่างๆ ต่อมารวมศาลราชทัณฑ์พิเฉทกับศาลอาญา รวมศาลแพ่งเกษมกับศาลแพ่งไกรศรีเป็นศาลแพ่ง ใน พ.ศ.2441 จัดแบ่งศาลออกเป็น 3 แผนก ได้แก่ ศาลฎีกา ศาลกรุงเทพฯ และศาลหัวเมือง

ความสำเร็จในการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลของไทยนั้น นอกจากจะเป็นผลงานของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไทยที่มีความรู้ความสามารถ เช่นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม องค์แรก และขุนหลวงพระยาไกรสี ผู้พิพากษาไทยคนแรกที่เรียนวิชากฎหมายสำเร็จได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษแล้ว ไทยยังได้จ้างนักกฎหมายชาวต่างประเทศที่มีความรู้มาเป็นที่ปรึกษากฎหมายอีกด้วย บุคคลสำคัญ ได้แก่ นายโรลัง ยัคมินส์ ขาวเบลเยี่ยม นายโตกิจิ มาซาโอะ ชาวญี่ปุ่น นายวิลเลียม อัลเฟรด ติลเลเก ชาวลังกา และนายยอร์ช ปาดู ชาวฝรั่งเศส

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย