ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์
(รัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 6)

การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5
การวางฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การปฏิรูประบบกฎหมายและการศาล
ด้านเศรษฐกิจ
สภาพสังคมและการศึกษา
การศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี
วรรณกรรรมและศิลปกรรรม
ศิลปกรรม
การต่างประเทศ
การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศตะวันตก
อิทธิพลของอายธรรมตะวันตกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของไทย
การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 6
การเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5

การศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี

การศาสนา รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดต่างๆ ได้แก่ วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดปทุมวนาราม และวัดราชประดิษฐ์

รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งสถานศึกษาสำหรับสงฆ์ คือ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หรือมหาธาตุวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาฝ่ายมหานิกาย และมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2436 เป็นสถานศึกษาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สำหรับวัดที่ทรงสร้างในสมัยนี้ ได้แก่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นต้น

ขนบธรรมเนียมประเพณี การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเพณี วัฒนธรรมของชาติให้เป็นแบบอารยประเทศ ได้เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับกาลเวลาและเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรในเวลาเดียวกันด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มที่ราชสำนักก่อน แล้วจึงขยายไปสู่ระดับประชาชน แต่ผลกระทบของการรับประเพณีวัฒนธรรมแบบตะวันตกบางอย่างก็เห็นชัดเฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ตามหัวเมือง และในชนบทยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม

นับแต่ต้นรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมเป็นแบบตะวันตกหลายประการ คือ มีประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า ให้ชาวตะวันตกที่อยู่ในกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าขณะเสด็จออกมหาสมาคมพร้อมกับข้าราชการไทยเป็นครั้งแรก ให้ชาวต่างประเทศถวายคำนับและนั่งเก้าอี้เวลาเข้าเฝ้าได้ ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนาและการประกอบอาชีพ ในด้านสิทธิเสรีภาพของสตรีรัชกาลที่ 4 ทรงพยายามยกฐานะของสตรีให้ดีขึ้น สำหรับข้าราชการฝ่ายในที่ไม่สมัครใจจะอยู่ในวังต่อไป ก็ทรงอนุญาตให้ลาออกจากราชการได้ ทรงริเริ่มให้สตรีในราชสำนักได้มีโอกาสเล่าเรียนวิชาภาษาอังกฤษจากสตรีในคณะมิชชันนารีอเมริกัน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดทางการศึกษาของสตรีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้ยังทรงเริ่มใช้ชาวต่างประเทศเป็นข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ เพื่อปรับปรุงประเทศเป็นแบบตะวันตกด้วย

 

ประเพณี วัฒนธรรมของไทยได้มีการแก้ไขปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเสด็จประพาสต่างประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป คือให้ผู้ชายไทยในราชสำนักเลิกไว้ผมทรงมหาดไทยเปลี่ยนเป็นไว้ผมยาวทั้งศีรษะอย่างฝรั่ง ส่วนผู้หญิงให้เลิกไว้ผมปีก ให้ไว้ผมตัดยาวทรงดอกกระทุ่ม ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างออกแบบตัดแปลงจากเสื้อนอกของฝรั่งเรียกว่า “เสื้อราชประแตน” และสวมหมวกอย่างยุโรป ให้ข้าราชการทหารแต่งเครื่องแบบ นุ่งกางเกงอย่างทหารยุโรป แทนการนุ่งโจงกระเบนแบบเก่า

รัชกาลที่ 5 ทรงแก้ไขประเพณีการสืบราชสันตติวงศ์ ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลใน พ.ศ.2429 โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” ตาแบบประเทศตะวันตก ที่เรียกองค์รัชทายาทว่า “Crown Prince”

รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกประเพณีวัฒนธรรมที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ที่สำคัญคือ เลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าและให้ยืนเข้าเฝ้าแทน ยกเลิกการโกนผมเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต คงให้มีการไว้ทุกข์เพียงอย่างเดียว เปลี่ยนวิธีการไต่สวนของตุลาการแบบเก่า ยกเลิกจารีตนครบาล เพราะเป็นวิธีลงโทษที่ชาวตะวันตกรังเกียจทารุณไร้อารยธรรม พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ 5 ในการเปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมของไทยให้เป็นไปตามคตินิยมตะวันตก คือ การเลิกทาสและเลิกระบบไพร่ อันเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ประชาราษฎรโดยตรง

ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ.2455 ให้ใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชทางราชการ พ.ศ.2456 แทนการใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เพราะเป็นศักราชทางศาสนาที่ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับประเทศตะวันตกที่ใช้ศักราชของศาสนาที่ชนส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศักราช (ค.ศ.) และเปลี่ยนแปลงการนับเวลาทางราชการเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสากลนิยม โดยถือเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นเวลาเปลี่ยนวันใหม่ กำหนดคำนำหน้าสตรีที่ยังเป็นโสดว่า “นางสาง” ผู้ที่มีสามีแล้ว ใช้คำว่า “นาง” และกำหนดคำนำหน้านามเด็กว่า “เด็กชาย” และ “เด็กหญิง” ขึ้นด้วย

นอกจากนี้เมื่อไทยส่งกองทหารอาสาไปสมทบกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป พ.ศ. 2460 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐ์ธงชาติขึ้นใหม่ใช้ 3 สี คือ สีน้ำเงิน สีขาว และสีแดง ตามแบบสีธงชาติของอารยประเทศส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ และพระราทานนามธงชาติแบบสามสีห้าริ้วที่ประกาศใช้ขึ้นใหม่ว่า “ธงไตรรงค์” ซึ่งยังคงใช้เป็นประจำชาติมาจนทุกวันนี้

พ.ศ.2461 โปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ตามแบบประเทศยุโรปที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข วางลำดับผู้ที่จะทรงได้ราชสมบัติไว้โดยละเอียด

ในด้านการแต่งกาย การเปลี่ยนแปลงการแต่งกายแบบตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นไปเฉพาะราชสำนักและในหมู่ข้าราชการชั้นสูงเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 7 สตรีไทยหันไปแต่งกายแบบตะวันตกมากขึ้น นิยมนุ่งซิ่นแค่เข่า สวมเสื้อทรงกระบอกตัวยาวแขนสั้น ไว้ผมบ๊อบ ส่วนการแต่งกายของชายที่เป็นข้าราชการพลเรือนยังคงนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อราชปะแตน รองเท้า สวมหมวกสักหลาดมีปีก หรือหมวกกะโล่

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย