สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประวัติศาสตร์สังคม

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทำไมไม่เขียนประวัติศาสตร์สังคม
การขึ้นมาของประวัติศาสตร์สังคม
ประวัติศาสตร์วิพากษ์
โศกนาฏกรรมของประวัติศาสตร์ (Tragedy of history)
ประวัติศาสตร์กับความจริงทางสังคม (History and social reality)
ปฏิกิริยาต่อประวัติศาสตร์สังคม
บรรณานุกรม

ประวัติศาสตร์วิพากษ์

ความจริงคำว่า "ประวัติศาสตร์สังคม" ดูจะขัดแย้งในตัวมันเอง เพราะคำว่า "ประวัติศาสตร์" ก็น่าจะครอบคลุมถึงเรื่องราวความเป็นมาของสังคมในอดีตอยู่แล้ว ทำไมถึงต้องใส่คำว่า "สังคม" ซ้อนเข้าไปอีก หรือว่าที่ผ่านมา "ประวัติศาสตร์" ไม่ใช่การเขียนหรือศึกษาเหตุการณ์ในอดีตของสังคม ถ้าเช่นนั้นประวัติศาสตร์ที่เราเข้าใจศึกษาเรื่องของคนที่ไม่ใช่เป็นของสังคมนั้นหรอกหรือ

นักประวัติศาสตร์สังคมตอบอย่างเต็มปากเต็มคำได้เลยว่าใช่ ประวัติศาสตร์แบบเก่านั้นไม่ได้ศึกษาเรื่องราวของทั้งสังคม หากแต่ตัดตอนหรือรวมศูนย์อยู่แต่เฉพาะคนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น นักประวัติศาสตร์สังคมจึงให้ความสำคัญต่อกลุ่มคนและเหตุการณ์ที่มักถูกละเลยเสมอๆในหนังสือประวัติศาสตร์แบบเก่าหรือที่เรียกว่ากระแสหลัก แน่นอนว่ากลุ่มคนที่ตกหล่นไปในประวัติศาสตร์แบบเก่าก็ไม่ใช่ใครอื่น หากได้แก่ชาวบ้านคนธรรมดาสามัญซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของทุกสังคมและทุกประเทศ แต่ล้วนไม่ค่อยเป็นที่น่าพิศวาทแก่บรรดานักประวัติศาสตร์เท่าไรนัก ค่าที่ว่าอะไรๆ มันดูเป็นธรรมดาไปเสียหมด เมื่อชีวิตความเป็นอยู่และเรื่องราวสำหรับซุบซิบนินทาไม่ค่อยมันเท่าไรแล้ว ต่อให้มีจำนวนมากก็ไม่มีแรงดึงดูดให้นักประวัติศาสตร์ลงไปเขียนและศึกษา นอกจากนี้ที่สำคัญกว่าต่อนักประวัติศาสตร์ได้แก่การขาดหลักฐานข้อมูลอันจำเป็นในการศึกษาประวัติของชาวบ้านและเหตุการณ์ท้องถิ่นเป็นต้น



แต่ในความเป็นจริงเรื่องหลักฐานขาดแคลนดูจะไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะในหลาย กรณีเมื่อนักประวัติศาสตร์ลงไปศึกษาค้นคว้าเรื่องชาวบ้านหรือเหตุการณ์ท้องถิ่นที่ไม่มีบันทึกในพงศาวดารหรือจดหมายเหตุ ก็สามารถหาช่องทางสืบเสาะจนได้ข้อมูลขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ดังนั้นเรื่องข้อมูลจึงไม่ใช่อุปสรรคอันใหญ่หลวงอย่างที่คิด ประเด็นที่น่าสนใจน่าจะได้แก่การที่ประวัติศาสตร์สังคมก้าวขึ้นมาเป็นทางออกอีกอันสำหรับนักประวัติศาสตร์สะท้อนให้เราเห็นถึงลักษณะและความขัดแย้งในตัวมันเองของประวัติศาสตร์ นั่นคือปัญหาที่นักปรัชญาเรียกว่าทฤษฎีความรู้ (epistemology หรือ theory of knowledge) ของวิชาประวัติศาสตร์อันได้แก่ความขัดแย้งระหว่างข้อมูลหรือข้อเท็จจริงกับการตีความ ระหว่างภววิสัย (objective) กับอัตวิสัย (subjective) เป็นต้น (Kloppenberg 1989)

ทั้งหมดนั้นว่าไปแล้วคือปัญหาของประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตกนั่นเอง ในที่นี้เราคงไม่จำเป็นต้องลงไปถกปัญหาปรัชญาประวัติศาสตร์ทั้งหมด แต่ก็มีความจำเป็นที่นักประวัติศาสตร์ไทยควรตระหนักและมีความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมาทางปรัชญาของการเขียนประวัติศาสตร์สำนักต่างๆ บ้างหากจะต้องการวิพากษ์วิธีการทางประวัติศาสตร์แบบไทยๆ ให้มากขึ้น และสามารถประยุกต์กลั่นกรองทฤษฎีและการพัฒนาวิชาประวัติศาสตร์จากคนนอกที่น่าสนใจ อีกประการหนึ่งความเกี่ยวพันกันมากขึ้นอย่างแยกไม่ออกระหว่างเนื้อหาข้อมูลและวิธีวิทยาสมัยใหม่ทั้งหลาย ทำให้การวิพากษ์ความจริงที่เป็นอดีตหลายๆเรื่อง จะมาจากฝีมือของนักสังคมศาสตร์นอกเหนือจากนักประวัติศาสตร์เอง เช่นนักรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา วรรณกรรมและอื่นๆเป็นต้น

 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย