เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

นวัตกรรม

      การเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา นวัตกรรมที่เกิดขึ้นบางครั้งไม่ได้เกิดจากความตั้งใจให้เกิด เป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ เรียนรู้กันไม่ได้ เช่นเดียวกับคนที่เป็นอัจฉริยะ ในบางเรื่องไม่สามารถบอกใคร ๆ ได้ว่าเหตุใด ตนเองจึงมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ไม่จำเป็นที่คนที่เป็นอัจฉริยะจะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมขึ้นมาในโลกนี้เท่านั้น คนธรรมดาก็สามารถสร้างได้ เพราะความคิดของแต่ละคนจะมีภูมิปัญญาที่มีแนวคิดแตกต่างกันไป ดังนั้นนวัตกรรมของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน และแตกต่างกันไป นวัตกรรม อาจจะเกิดจากบุคลากรระดับบนลงล่าง TDI (Top down Innovation)หรือจากระดับล่างขึ้นบน BUI (Bottom up Innovation) ก็ได้ ซึ่งทั้ง 2 ลักษณะนี้มีข้อดีและข้อเสียดังนี้ นวัตกรรมจากบนลงล่าง (TDI) ข้อดี - ผู้ที่คิดขึ้นมาเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจในองค์กร - สามารถอธิบายแนวความคิดให้กับบุคลากรระดับล่างได้ง่าย - สามารถจัดเงินทุนและทรัพยากรอื่น ๆ ได้ง่าย ข้อเสีย - บุคลากรระดับล่าง ไม่มีส่วนร่วมในการคิด - การสรรทรัพยากรต่าง ๆ ทำได้ยาก

นวัตกรรมจากล่างขึ้นบน (BUI)

ข้อดี

  • สามารถเกิดจากบุคลากรที่หลากหลาย และเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ชอบการเปลี่ยนแปลง
  • บุคลากรระดับล่างมีส่วนร่วมมากขึ้น

ข้อเสีย

  • ขาดแรงจูงใจ ถ้าคิดแล้วไม่นำไปใช้

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับ นวัตกรรม ในหนังสือ The Essential Drucker เขาได้เขียน ถึงกลยุทธ์ 4 ประเด็นสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างนวัตกรรม ดังนี้

  1. ต้องเป็นคนแรก และตั้งเป้าไว้ที่ตำแหน่งผู้นำตลาด
  2. เป็นนักเลียนแบบที่สร้างสรรค์ ในกรณีที่คิดเองไม่ได้
  3. ค้นหาและเตรียมบุคลากรที่เชี่ยวชาญในตลาดเฉพาะกลุ่ม
  4. กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงบุคลิกของสินค้า การตลาด รวมถึงองค์กร

นอกจากนี้ ดรักเกอร์ ยังได้เขียนถึงหลักของ ผู้ประกอบการพึงกระทำ (Dos) และสิ่งไม่พึงกระทำ (Donts) ดังต่อไปนี้ สิ่งที่พึงปฏิบัติ (Dos)

1. แหล่งที่มาของโอกาส การคิดค้นนวัตกรรมมักจะเริ่มด้วยด้วยการวิเคราะห์แหล่งที่มาของโอกาสได้แก่

  1. ความสำเร็จและความล้มเหลวที่ไม่คาดคิดมาก่อนของตัวองค์กร และบริษัทคู่แข่ง
  2. ความไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะในกระบวนการประดิษฐ์คิดค้น
  3. การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอุตสาหกรรมและโครงสร้างการตลาด
  4. สถิติประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป
  5. การเปลี่ยนแปลงในความหมายและการรับรู้ และความรู้ใหม่ๆ

2. สัมผัสความเป็นจริง ออกไปสังเกต ไต่ถาม และรับฟัง การออกไปข้างนอกจะทำให้วิเคราะห์ อย่างจริงจังว่านวัตกรรมแบบใดที่จะสอดคล้องกับจังหวะ และโอกาส

3. ต้องใช้ง่าย มีความเป็นธรรมดาสามัญ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความสับสน หากไม่สามารถทำให้ใช้ง่าย นวัตกรรมนั้นก็จะไม่ได้ผล แม้แต่นวัตกรรมที่สร้างวัฒนธรรมการใช้สอยใหม่และสร้างตลาดใหม่ ก็ควรต้องมีจุดมุ่งหมายในการนำไปใช้ที่ชัดเจน เฉพาะเจาะจง และมีความสร้างสรรค์ ควรจะมีการโฟกัสไปที่ความจำเป็นเฉพาะด้าน ตัวอย่างเช่นธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นที่นิยมของบุคคลทั่วไป เสมือนเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยหลักของชีวิตอย่างหนึ่ง

4. เริ่มจากเล็กๆ เป็นนวัตกรรมที่ต้องการเงินทุนไม่มาก และให้เน้นไปที่ตลาดขนาดเล็กก่อน

5. เป็นผู้นำ ข้อนี้สำคัญ หากนวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อที่จะเป็นผู้นำตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ก็จะดูเหมือนว่าจะไม่ได้เป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือความคิดที่ใหม่เพียงพอ

ตัวอย่างเช่น P&G ประกาศตัวชัดว่า ไม่ได้เป็นองค์กรที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคแต่ขาย นวัตกรรม ในที่นี้หมายถึงทุกสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่และเริ่มก่อนใคร เช่น ผลิตภัณฑ์แชมพูแพนทีน ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ ส่วนผสมใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติพิเศษต่อเส้นผมทำให้ผมหนา นุ่ม หรือตรงยาว มีน้ำหนัก ฯลฯ

สิ่งไม่พึงกระทำ (Donts)

  1. พยายามไม่ฉลาด นวัตกรรมใดๆ ก็ตามที่ดูฉลาดเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหรือการนำไปใช้ สิ่งเหล่านั้นมักมีแนวโน้มที่จะประสบความล้มเหลว
  2. อย่าพยายามทำหลาย ๆ สิ่งในเวลาเดียวกัน ควรมุ่งความสนใจไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แก่นของนวัตกรรมไม่จำเป็นจะต้องเป็นเทคโนโลยีหรือความรู้ที่ยิ่งใหญ่ การคิดค้นใหม่ ๆ เรื่องหนึ่งต้องการความเป็นหนึ่งของผลงาน
  3. พยายามคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่ออนาคต ควรสร้างนวัตกรรมเพื่อปัจจุบันเท่านั้น สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเริ่มมีผลสะท้อนกลับ เช่น การคิดค้นหลอดไฟฟ้าของโธมัส เอดิสัน ต้องรอนานถึง 10 ปี กว่าความรู้ที่ได้นั้นกลายเป็นสิ่งมีคุณค่าขึ้นมา แต่บางครั้งโอกาสในการสร้างนวัตกรรมก็ต้องใช้เวลานานมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยเกี่ยวกับตัวยา ระยะเวลา 10 ปีของการวิจัยและพัฒนานั้นถือเป็นเรื่องธรรมดามาก ไม่จัดว่าเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

เงื่อนไข 3 ประการต่อความสำเร็จของนวัตกรรม

  1. การสร้างนวัตกรรม เป็นงานต้องการความรู้ ความเฉลียวฉลาด มีความยากลำบากต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง มีจุดมุ่งหมาย มีความอดทนสูง รวมทั้งความต่อเนื่องและความรับผิดชอบอย่างจริงจัง
  2. การสร้างนวัตกรรมต้องสร้างมาจากจุดเด่นของผู้ประดิษฐ์คิดค้นและจุดเด่นขององค์กรเพื่อพัฒนานวัตกรรมนั้น ๆ
  3. การสร้างนวัตกรรมต้องให้ความสำคัญกับตลาด ที่นวัตกรรมนั้น ๆ ได้นำเสนอต่อตลาด

การสร้างนวัตกรรมในองค์กร ไม่ใช่เพียงแต่จะจ้างบุคคลที่มีความสามารถให้มาทำงานที่เหมาะสมหรือมีเทคโนโลยี่ที่ดีที่สุดเท่านั้น การสร้างปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มีความจำเป็นที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในการคิดและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นมาในองค์กร

  1. ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เปิดกกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกคน
  2. รู้จักปกป้องสิทธิของตนเองรวมถึงเคารพสิทธิของตนเองรวมถึงเคารพในสิทธิของผู้อื่นตามสมควร
  3. มีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดี
  4. รู้จักคิดในสิ่งที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ฉีกตัวเองออกมาจากวิธีคิดที่เป็นระบบ ระเบียบตามขั้นตอนแบบเดิม เพื่อให้ได้แนวคิดใหม่ ๆ
  5. รู้จักคิดปะติดปะต่อ นำสิ่งที่มีอยู่มาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ ๆ

บรรณานุกรม

  • “นวัตกรรม ศิลปะการคิดค้นสำหรับผู้ประกอบการ”, วารสาร MBA ฉบับเดือนพฤษภาคม 2545.
  • “ศิลปะการคิดค้นนวัตกรรมของ IDEO”, วารสาร MBA ฉบับเดือนพฤษภาคม 2545.
  • “แบบแผนการสร้างนวัตกรรม”, วารสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน 2546.
  • “สุดยอดกลยุทธ์” อนุวัฒน์ ทรัพย์พืชผล, แมคกรอ-ฮิล อินเตอร์แนชั่นแนล เอ็นเตอร์ไพรส์มอิงค์ 1996

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย