ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
ประเพณีรำมอญ
จังหวัดปทุมธานี
มอญ หรือที่เรียกกันว่า
ไทยเชื้อสายมอญ อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย เช่น นนทบุรี
ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และราชบุรี เป็นต้น คนมอญเหล่านี้นับถือพุทธศาสนา
นิกายเถรวาท และยังยึดถือระบบความเชื่อในเรื่องผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษ
ดังนั้นจึงยังมีการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีอยู่ เช่น พิธีรำผี เป็นต้น
พิธีรำผี ถือเป็นพิธีกรรมทางครอบครัว มีสาเหตุมาจากการผิดผี คือ
เมื่อมีคนเข้ามาพักที่บ้านและเจ้าของบ้านเกิดเจ็บป่วยในระหว่างนั้น
ถือว่าผีโกรธเจ้าของเรือน ต้องทำการบนบานศาลกล่าว โดยเอาน้ำมารดที่เสาเอก
และกล่าวอโหสิกรรมต่อผี รวมทั้งจัดพิธีเลี้ยงผีด้วย และสาเหตุอีกประการหนึ่ง คือ
ถ้าครอบครัวใดไม่มีลูกชายเป็นผู้รักษาผีเรือน ก็ถือว่าหมดผีไปจากตระกูล
ต้องทำการถอนเสาเอกออกจากเรือน และทำพิธีกินทั้งยืนหรือพิธีรำผี
เท่ากับเป็นการเชิญผีเรือนให้ไปอยู่ศาล ซึ่งเตรียมไว้ให้บริเวณบ้านหลังนั้น
กำหนดงาน
การจัดพิธีรำมอญ มักจะมีขึ้นในเดือนคู่
ยกเว้นวันพระและวันเข้าพรรษา และถ้าครอบครัวใดได้จัดงานพิธีใดก็ตามขึ้นมาแล้ว
ในปีนั้นจะไม่สามารถจัดพิธีรำผีได้
กิจกรรม / พิธี
ก่อนวันทำพิธี 1 วัน ต้องเตรียมอาหารสำหรับใช้ในพิธี เช่น
ข้าวเหนียว หัวหมู ขนมต้ม ข้าวขนมกล้วย แป้งคลุกน้ำตาลทอด กล้วยน้ำว้า
และมะพร้าวอ่อน เป็นต้น เพื่อเลี้ยงญาติพี่น้องหรือแขกที่เชิญมา
วันทำพิธีมีการตั้งผีเรือน พร้อมเสาสูงแขวนเสื้อและหมวก
หน้าเรือนผีจะมีต้นหว้าซึ่งชาวมอญเชื่อว่ามีผีอยู่
มีหญิงชราทำหน้าที่หมอผีอยู่ในเรือนพิธีหน้าแท่นเครื่องบูชา
ผู้เป็นเจ้าบ้านจะให้ลูกสาวคนเล็กออกมารำนำในพิธีและให้ชาวบ้านคนอื่นๆขึ้นมารำตาม
โดยหมอผีจะทำหน้าที่จับตัวผู้รำโยกไปมา ทั้งนี้เพื่อให้ผีมาเข้าร่างผู้รำ
ถ้าผีเข้าร่างคนใด คนนั้นก็จะถือจานอาหารเพื่อหยิบกิน
และแจกจ่ายผู้ที่นั่งอยู่บริเวณนั้น
และเมื่อใดที่คนรำที่มีผีเข้าร่างอยู่กระโดดกลับไปที่เรือนผี
นอนคว่ำกับพื้นและจับผ้าผี ผีก็จะออกทันที ในระหว่างวัน
พิธีจะเน้นความสนุกสนานแก่คนในหมู่บ้าน พอตกเย็นหมอผีก็จะถือมะพร้าวอ่อน 2 ใบ
หาบกล้วย 2 หวี
เพื่อเดินปาไปนอกโรงพิธีทีละลูกจนหมดหลังจากนั้นนำเรือที่ทำจากต้นกล้วยมาใส่ของให้เต็มแล้วยกไปไว้ที่ต้นไม้หน้าโรงพิธี
ตัดเรือต้นกล้วยออกเป็น 2 ท่อน นำเสื้อกับหมวกที่แขวนอยู่หน้าเรือนผีมาวางบนต้นไม้
เป็นอันเสร็จพิธี