ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
อุทิศ สังขรัตน์
ท้องถิ่นภาคใต้ : อาณานิคมแห่งรัฐ และตัวตนของท้องถิ่น
พื้นที่ความทรงจำ : ภาพประกอบสร้าง กับ ศูนย์กลางที่เปลี่ยนไป
พื้นที่ความทรงจำ : ปฏิบัติการทางสังคม
จาก “พื้นที่ความทรงจำ” สู่ “พื้นที่และชุมชนประวัติศาสตร์”
พื้นที่อันเป็นปริมณฑลของความศักดิ์สิทธิ์
พื้นที่อันเกิดจากปรากฏการณ์ทางสังคม
พื้นที่อันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
พื้นที่อันเป็นวิถีวัฒนธรรมชุมชน
บทสรุป
เอกสารอ้างอิง
บทสรุป
การก่อความหมายของชุมชนประวัติศาสตร์ในบริบทของ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้”
ซึ่งผ่านพื้นที่ความทรงจำของคนในชุมชนที่คณะยุววิจัยฯเข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ศึกษา
โดยข้อมูลต่างๆ ที่ได้มานั้นได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับคำว่า “อดีต”
โดยมีประเด็นคำถามหลักที่ว่า “เกิดอะไรขึ้นบ้างในบริบทของชุมชนเมื่ออดีต?” การนำ
“ฉากอดีต” แต่ละฉากมาเรียงร้อย/ประกอบสร้าง แล้วพยายามหาคำตอบ ซึ่งเป็นการ
“การสร้างความหมาย” ของชุมชนขึ้นมา โดยให้ “สัญญะ” บางประการของชุมชนเป็น
“ศูนย์กลาง” ของประเด็นศึกษา แล้วเก็บประเด็นปลีกย่อยเพื่อประกอบสร้างให้
“ศูนย์กลาง” ให้มีความสมบูรณ์ โดยไม่ลืมผนวก “อดีต” เข้าไปในทุกส่วนของประเด็น
ดังนั้น การนำ “พื้นที่ความทรงจำ” ไปใช้ในการสร้าง
“พื้นที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้”
มีนัยสำคัญอยู่ที่ว่าคนในชุมชนที่มีความสัมพันธ์พื้นที่ (ภูมิลักษณ์)
และพื้นที่ได้บรรจุเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ตั้งแต่อดีต
จากพื้นที่ที่เป็นภูมิลักษณ์เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำเนินชีวิต
พื้นที่ที่เป็นภูมิลักษณ์ ได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ของจิตลักษณ์ พื้นที่ชุมชนในอดีต
ที่ถูกสร้างขึ้นจากความทรงจำจึงปรากฏความสำคัญทั้งต่อปัจเจก และสังคม
การรื้อฟื้นอดีตจึงไม่ได้เป็นเพียงจุดประสงค์จะเล่าเรื่อง
แต่ในเรื่องเล่าล้วนเป็นภาพวิถีสังคม และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมแบบ
“ตราตรึง” เฉพาะบริบท ทั้งๆที่ชีวิตประจำวันในแต่ละมีเหตุการณ์มากมาย
แต่จะมีสักกี่เหตุการณ์ในทศวรรษที่เป็นความทรงจำแบบตราตรึง
การเคลื่อนเปลี่ยนของเวลาเป็นปกติของวิถี แต่การเคลื่อนเปลี่ยนที่ “ราบเรียบ” ปกติ
เช่น กินข้าว ไถนา ทำสวน อาบน้ำ จับปลาในคลอง ฯลฯ
ไม่ส่งผลให้ตราตรึงเท่ากับการเคลื่อนเปลี่ยนที่ “ขรุขระ” หรือ “สะดุด”
เช่นการไปจับปลาในคลองแล้วโดนจระเข้งับเข่าจนเป็นแผลเหวอะหวะ
หรือเดินทางในป่าแล้วโดนเสือขย้ำดวงตา เป็นต้น
การสร้างความหมายจากพื้นที่ความทรงจำสู่พื้นที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้
จึงมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งพื้นที่ภูมิศาสตร์ พื้นที่ทางสังคม
และพื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนนี้สามารถที่จะแทนค่าสลับไปมาได้
เพราะเมื่อรวมกันแล้วคือสิ่งเดียวกัน แต่แตกต่างกันตรงที่การให้ค่าความหมาย
และการตีความ
ซึ่งการตีความดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้อีกต่อหนึ่ง
ซึ่งต้องตีความตามวัตถุประสงค์การใช้ ทั้งนี้เพราะนิยามความหมาย “ถูก/ผิด”
“จริง/เท็จ” ไม่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ในงานศึกษาครั้งนี้ได้
เพราะการศึกษาอดีตของชุมชน/ท้องถิ่นมาจากหลากหลายวิธีการ แม้ในที่สุดจะมาจบลงด้วย
“เรื่องเล่าประกอบหลักฐาน” ก็ตาม ดังกรณี “พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช” คือ “หลักฐาน”
ที่มีอยู่จริง แต่เรื่องเล่าว่า “ราว พ.ศ. 1773 ตรงกับสมัยพระเจ้าสามพี่น้อง
คือพระเจ้าพงษาสุระ ขณะที่เมืองนครกำลังมีงานสมโภช พระบรมธาตุเจดีย์อยู่นั้น
คลื่นได้ซัดผ้าแถบผืนหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ ซึ่งเรียกว่า
ผ้าพระบฏขึ้นฝั่งที่ปากน้ำปากพนัง” นั้นจริงหรือไม่ และสิ่งที่กล่าวนี้ถูกหรือผิด
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาก็คือ
ไม่ว่าเรื่องเล่าอันเกี่ยวข้องกับพื้นที่ความทรงจำของชุมในอดีตเป็นอย่างไร
จึงไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่สิ่งสำคัญก็คือ จากประเด็นต่างๆเหล่านั้นได้ “สะท้อน”
ความเป็นชุมชน/ท้องถิ่นออกมาอย่างไร และชุมชน/ท้องถิ่นมีแบบแผนวิถีอย่างไร
มีการต่อรอง/ต่อสู้ /ตอบโต้ หรือตั้งรับ ต่อการเปลี่ยนแปลงประเด็นเหล่านั้นแค่ไหน
อย่างไร เพื่อที่จะใช้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็น “เครื่องมือ”
ในการก้าวผ่านของชุมชนจากอดีตไปสู่อนาคต