เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
ประโยชน์ของถั่วเหลือง
พฤกษศาสตร์ของถั่วเหลือง
ระยะการพัฒนาของถั่วเหลือง
สภาพดิน-อากาศที่เหมาะต่อการปลูกถั่วเหลือง
การปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย
พันธุ์ที่ใช้ปลูก
วิธีการปลูก
การดูแลรักษา
โรคถั่วเหลือง
แมลงศัตรูถั่วเหลือง
การเก็บเกี่ยวและนวดถั่วเหลือง
การปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย
ดิน ถั่วเหลืองขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด
แต่จะให้ผลดีให้ผลผลิตสูงต้องเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ คือเป็นดินร่วน
อาจปนทรายเล็กน้อย น้ำไม่ขังแฉะ ไม่เป็นกรดหรือเป็นด่างมากเกินไป คือมี pH ระหว่าง
5.8-7.0 ทั้งนี้เพราะเป็นช่วงที่ไรโซเบียมสามารถเจริญได้ดี
ทำให้ถั่วเหลืองมีปมมากและมีการตรึงไนโตรเจนได้มาก
ดินที่เหมาะต่อการปลูกถั่วเหลืองควรมีอินทรียวัตถุในดิน 1-2 เปอร์เซ็นต์
ถ้าต่ำกว่านี้ก็ไม่เหมาะต่อถั่วเหลือง
ถ้าสูงไปถั่วเหลืองก็เจริญเติบโตทางกิ่งก้านและใบมากจะให้มีจำนวนฝักน้อย
ในดินที่ไม่เคยปลูกถั่วเหลืองมาก่อน
หรือว่างเว้นการปลูกเป็นเวลานานควรจะได้มีการคลุกเมล็ดด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก
เพราะเชื้อดังกล่าวนี้อาจมีอยู่ในดินเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอยู่เลย
หรือถ้ามีอยู่ก็เป็นคนละชนิดก็ได้ จากการทดลองในภาคต่างๆ ของประเทศไทยพบว่า
การคลุกเชื้อไรโซเบียมทำให้ผลผลิตของถั่วเหลืองสูงขึ้น 20-50 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว
ในปัจจุบันนี้การผลิตเชื้อยังไม่แพร่หลาย
ผู้ที่ต้องการอาจติดต่อขอซื้อได้จากกรมวิชาการเกษตร
ส่วนวิธีการคลุกนั้นได้มีการชี้แจงไว้ข้างถุงของไรโซเบียม ส่วนพื้นที่ ๆ
มีการปลูกถั่วเหลืองทุกปีไม่จำเป็นต้องคลุกเชื้อ
ทั้งนี้เพราะเชื้อเดิมจะทนอยู่ในดินได้นานพอที่จะทำให้เกิดปมใหม่ในปีต่อไป
การใส่ปุ๋ยและปูนขาว การใส่ปุ๋ยจำเป็นสำหรับดินที่อุดมสมบูรณ์ต่ำ
ปุ๋ยที่ใส่อาจเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือใส่ทั้งสองชนิด
การใส่ปุ๋ยคอกอย่างเดียวไม่มีทางเพิ่มอาหารธาตุที่สำคัญได้พอเพียง
ดังนั้นจึงมักมีการใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ด้วย ธาตุที่สำคัญในปุ๋ยวิทยาศาสตร์
คือไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), และโพแทสเซียม (K)
ถ้ามีการคลุกเชื้อไรโซเบียมก็ใส่ธาตุ N เพียงเล็กน้อย คือใส่ให้มีเนื้อธาตุ N เพียง
3 หรือ 6 กก./ไร่ ก็พอ แต่ถ้าไม่คลุกเชื้อก็ควรใส่ 6 ถึง 24 กก./ไร่
(แล้วแต่ชนิดและความอุดมสมบูรณ์ของดิน) ควรแบ่งใส่ปุ๋ยนี้สองครั้งคือหว่านก่อนปลูก
หรือหลังปลูกเล็กน้อย และหว่านก่อนออกดอกอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อมีการคลุกเชื้อแล้วมีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมาก ๆ ก็ทำให้มีปมน้อยหรือมีขนาดเล็ก
และถ้าใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเพิ่มเติมหลังจากที่ปมถั่วเหลืองเริ่มตรึงไนโตรเจนแล้วก็จะไม่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตของถั่วเหลือง
ธาตุ P มีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของถั่วเหลือง
เพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน เพิ่มจำนวนปมที่ราก
ทำให้เชื้อไรโซเบียมตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ดี
ปกติแล้วถั่วเหลืองต้องการธาตุนี้เป็นจำนวนมาก
และมีการใช้ตลอดอายุของถั่วเหลืองทีเดียว ดินในประเทศไทยมักมีธาตุนี้ต่ำ ควรใส่ P
ในรูปปุ๋ยผสม หรือในรูป หินฟอสเฟต (rock phosphate) สำหรับธาตุ K
ก็จำเป็นสำหรับถั่วเหลืองมากเช่นกัน ช่วยทำให้ถั่วเหลืองติดปมดีขึ้น เพิ่มจำนวนฝัก
เพิ่มจำนวนเมล็ด เมล็ดมีน้ำมันเพิ่มขึ้น
สูตรปุ๋ยซึ่งกรมวิชาการเกษตรนิยมใช้ในการทดลองโดยทั่วไปคือ 3-9-6 N, P2O5,
K2O กก./ไร่ ในกรณีของ N
นั้นจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นกว่านี้ถ้าไม่มีการคลุกเชื้อไรโซเบียมที่ใส่ปุ๋ยสูตรอื่น ๆ
ก็อาจใช้สูตร 15-15-15, 12-24-12, 16-20-0 อัตรา 25-30 กก./ไร่ ถ้าใส่หินฟอสเฟต
ก็ใช้ 100-150 กก./ไร่
นอกจากธาตุที่สำคัญ ๆ ดังกล่าวแล้ว
ถั่วเหลืองยังต้องการธาตุเสริมและธาตุรอง (secondary and micro-nutrients)
อีกหลายชนิด ธาตุเหล่านี้ได้แก่แคลเซียม (Ca), แมกนีเซียม (Mg), กำมะถัน (S), เหล็ก
(Fe), แมงกานีส (Mn), โมลิบดีนัม (Mo), และสังกะสี (Zn)
ธาตุเหล่านี้ส่วนมากต้องการเป็นจำนวนน้อย
การตรวจสอบความขาดแคลนเต็มไปด้วยความยากลำบาก
แต่ถ้าขาดแคลนแล้วจะทำให้ผลผลิตของถั่วเหลืองลดลงเช่นกัน
เช่นในการทดลองที่จังหวัดเลยและเชียงรายมีการพบว่า ถ้ามีการใส่โมลิบดีนัมแล้ว
ทำให้ผลผลิตของถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 30-50 เปอร์เซ็นต์
การใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพของดินนับว่าจำเป็นมากสำหรับดินเป็นกรดหรือดินเปรี้ยว
ทั้งนี้เพราะการดูดธาตุอาหารต่าง ๆ ของถั่วเหลืองไปจากดินมีความสัมพันธ์กับ pH
ของดินอย่างมาก ถ้าดินมี pH 6.0-7.0 ก็มีการใช้ธาตุอาหารพวก P, K และอื่น ๆ ได้ดี
ถ้าต่ำกว่านี้ธาตุอาหารจะถูกตรึงไว้ นอกนั้นดิน pH 6.0-7.0
เหมาะต่อการพัฒนาของปมถั่วเหลือง ก่อนที่จะทำการปลูกถั่วเหลือง (หรือพืชอื่น ๆ)
ก็ควรส่งตัวอย่างดินไปให้หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในทางนี้ทำการวิเคราะห์ตรวจสอบคุณสมบัติของดินเสียก่อน
ผู้วิเคราะห์จะให้คำแนะนำอย่างดีถึงวิธีการปรับปรุงดินและปรับสภาพของดินก่อนการเพาะปลูก
ในสมัยปัจจุบันกสิกรควรที่จะรู้ธรรมชาติและลักษณะของสินค้าเองทุก ๆ ราย
ฤดูปลูก ฤดูปลูกของถั่วเหลืองในประเทศไทยมี 2 ฤดูคือ ฤดูฝน และฤดูแล้ง
(ถ้ามีการชลประทานหรือสามารถรดน้ำได้) วันปลูกในฤดูฝนนั้นแตกต่างกันไปตามภาคต่าง ๆ
ของประเทศ แต่ก็อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนั่นเอง
การเลือกวันปลูกนั้นประมาณว่าให้ถั่วเหลืองสุกและเก็บเกี่ยวได้ในช่วงที่หมดฝนพอดี
มิฉะนั้นเมล็ดถั่วจะเน่า ขึ้นรา นวดลำบาก
ในภาคใต้ถ้าปลูกถั่วเหลืองหลังนาควรปลูกในเดือนเมษายน
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมักมีระยะที่ฝนทิ้งช่วงประมาณ 15-20
วันในปลายเดือนมิถุนายนหรือต้นกรกฎาคม ดังนั้นควรปลูกถั่วเหลืองหลังจากช่วงนี้
ในฤดูแล้งส่วนมากเป็นการปลูกถั่วเหลืองในนาข้าว
ในกรณีเช่นนี้ก็อาจปลูกถั่วเหลืองได้ทันทีภายหลังเก็บเกี่ยวข้าว
โดยทั่วไปแล้วปลูกกันในราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์