เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ถั่วเหลือง
(Soybean)

ประโยชน์ของถั่วเหลือง
พฤกษศาสตร์ของถั่วเหลือง
ระยะการพัฒนาของถั่วเหลือง
สภาพดิน-อากาศที่เหมาะต่อการปลูกถั่วเหลือง
การปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย
พันธุ์ที่ใช้ปลูก
วิธีการปลูก
การดูแลรักษา
โรคถั่วเหลือง
แมลงศัตรูถั่วเหลือง
การเก็บเกี่ยวและนวดถั่วเหลือง

โรคถั่วเหลือง

โรคของถั่วเหลืองมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดแสดงผลอย่างรุนแรงเป็นแห่ง ๆ ไป คือบางโรครุนแรงที่หนึ่งแต่ไม่รุนแรงในอีกที่หนึ่ง การระบาดของโรคบางชนิดจัดว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของการขยายการปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย ตราบใดที่มิได้มีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรคแล้วกสิกรมีความลังเลใจที่จะหันมาปลูกพืชชนิดนี้แลหันไปปลูกพืชอื่น ๆ ที่มีปัญหาน้อยกว่า การที่จะพูดถึงโรคทุกชนิด และพูดอย่างละเอียดนั้นอาจจะยืดยาวเกินไป จึงขอกล่าวโดยสรุปถึงโรคสำคัญๆที่ระบาดแล้วมีผลทำลายรุนแรงหรือค่อนข้างรุนแรงดังนี้

โรคราสนิม (rust)
เกิดจากเชื้อรา Phakopsora pachyrhizi syd. ระบาดทุกประเทศในแถบร้อน แต่ไม่พบระบาดในสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทยพบทุกแห่งที่มีการปลูกถั่วเหลือง อย่างไรก็ดีบางปีอาจไม่ปรากฏก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชื้นและอุณหภูมิ ถ้าความชื้นสูงและอุณหภูมิสูงก็ระบาดรุนแรง

อาการเริ่มเป็นที่ใบล่างเมื่อถั่วเหลืองเริ่มออกดอก หรือก่อนออกดอกเล็กน้อย แล้วลามขึ้นใบบน เมื่อเริ่มเป็นจะปรากฏเป็นจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ ใต้ใบ จุดค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จุดนี้มีลักษณะและสีคล้ายสนิมเหล็กเมื่อเป็นมากใบก็จะร่วง ถ้าเหลืองเป็นโรคนี้ให้ฝักลีบ เมล็ดเล็ก

การป้องกันกระทำโดยฉีดยาเคมีป้องกันหลังปลูกราว 25-30 วัน โดยใช้ Manzate D 80 45-60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ Zineb ฉีด 60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดทุก 15 วัน ถึงแม้ไม่พบโรคก็ตาม หยุดฉีดเมื่อถั่วเหลืองติดฝักแล้ว วิธีป้องกันอีกวิธีหนึ่งคือใช้พันธุ์ต้านทานหรือทนทานต่อโรคเช่น สจ.4 และ สจ.5 เป็นต้น ในปัจจุบันยังไม่มีพันธุ์ต้านทานต่อโรคนี้อย่างแท้จริง

 

โรคแอนแทรกโนส (anthracnose)
เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum dematium f. truncatum เมื่อระบาดแล้วจะรุนแรงพอ ๆ กับโรคราสนิม พบอาการบนใบเป็นจุดแผลสีน้ำตาลเข้ม จุดแผลค่อนข้างโต 2-10 มม. นอกนั้นพบที่กิ่ง ลำต้น ที่ฝักก็มีแผลสีน้ำตาลจนดำเป็นวง ๆ เมล็ดลีบย่นเสียหาย วิธีการป้องกันที่พอจะทราบตอนนี้คือไม่ปลูกถั่วเหลืองซ้ำในแปลงที่เคยเป็นโรคและหลีกเลี่ยงการใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นหรือแปลงที่เป็นโรค การฉีดยาเคมีใช้ Benomyl 50% W.P. และ Manzate-D 80% W.P.

โรคแบคทีเรียลไบลท์ (bacterial blight)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas glycinea Coerper โรคนี้ระบาดอย่างกว้างขวาง พูดได้ว่าพบในทุกแห่งที่ปลูกถั่วเหลือง แต่อาจจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ได้ จะรุนแรงเมื่ออากาศเย็นและฝนชุก พบเป็นจุดเหลี่ยมเล็ก ๆ บนใบ จุดมีสีน้ำตาลอยู่ระหว่างเส้นใบ เป็นที่น่าสังเกตว่าถั่วเหลืองพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย (สจ.1, สจ.2, สจ.4) เป็นโรคนี้เสมอ แต่โดยทั่วไประบาดไม่รุนแรง หรือก่อผลเสียหายเพียงเล็กน้อย การป้องกันแนะนำให้ใช้เมล็ดที่ปลอดโรคนี้ เพราะเชื้อโรคนี้ติดมากับเมล็ดพันธุ์ (seedborne) นอกนั้นก็ใช้พันธุ์ต้านทาน

โรคแบคทีเรียลพัสตูล หรือโรคใบจุดนูน (bacterial pustule)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas phaseoli var. sojensis (Hedges) อาการเป็นจุดกลมเล็ก ๆ สีน้ำตาลแดง มีขอบนอกเป็นสีเหลืองแกมเขียวปรากฏบนใบ แผลมีลักษณะนูนทางใต้ใบเรียกพัสตูล (pustule) โรคนี้มีการระบาดอย่างกว้างขวางทุกแห่งและทุกประเทศที่ปลูกถั่วเหลือง แต่ก็ทำความเสียหายเพียงเล็กน้อย การป้องกันกระทำโดยใช้พันธุ์ต้านทาน พันธุ์ Clark 63 และ Orba ทนทานต่อโรคนี้เป็นอย่างดี การป้องกันโดยการฉีดยามักไม่ได้ผล

โรคราน้ำค้าง (downy mildew)
เกิดจากเชื้อรา Peronospora manshurica (Naoum.) Syd. พบระบาดในบางจังหวัดเท่านั้น เช่น พบที่เชียงใหม่และจังหวัดเลย ระบาดไม่สู้จะรุนแรง ลักษณะที่พบบนใบคือมีจุดขนาดเล็กสีเขียวอ่อน ต่อไปจุดนั้นจะกลายเป็นสีเทาหรือน้ำตาลดำ โรคนี้มีอยู่หลายสายพันธุ์ (races) การป้องกันโรคนี้อาจใช้พันธุ์ต้านทาน ปัจจุบันในประเทศไทยยังกำลังทดสอบกันอยู่ว่ามีพันธุ์ใดบ้างที่ต้านทานโรคนี้ ถั่วเหลืองพันธุ์นครสวรรค์ 1 อ่อนแอต่อโรคนี้

โรคโมเสก หรือโรคใบด่าง (Soybean mosaic)
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส (Soja Virus 1) ซึ่งติดมากับเมล็ด และอาจระบาดติดต่อโดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นตัวนำ ถั่วเหลืองเป็นโรคนี้จะมีใบย่น มีสีเข้มระหว่างเส้นใบ ต้นถั่วแคระแกรน ก้านใบสั้น ฝักเล็ก โรคนี้ติดมากับเมล็ด ดังนั้นควรทำลายต้นที่เป็นโรคเสียก่อน เก็บเกี่ยว การป้องกันโรคนี้กระทำโดยใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นหรือแปลงที่ไม่เป็นโรค

โรคที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นโรคที่พบแพร่หลาย บางโรคอาจรุนแรงในท้องที่หนึ่งแต่ไม่รุนแรงในอีกท้องที่หนึ่ง นอกจากโรคดังกล่าวแล้วก็ยังมีโรคอีกหลายชนิดที่คอยทำลายถั่วเหลืองเช่นโรคลำต้นเน่า โรครากและโคนเน่า โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคตากบ โรคเมล็ดสีม่วง ฯลฯ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย