วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
แหล่งที่มาของเซลล์ต้นกำเนิด
ปัญหาเรื่องการจัดการเซลล์สืบพันธุ์ ตัวอ่อน และเซลล์ต้นกำเนิด
ตัวอย่างนโยบายของประเทศต่างๆ
ความเคลื่อนไหวและการนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย
สถานการณ์ทางด้านกฎหมายในประเทศ
สถานการณ์ทางด้านกฎหมายในประเทศ
ในประเทศไทย
ยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของเซลล์ต้นกำเนิด
มีข้อบังคับระดับองค์กรวิชาชีพ โดยแพทยสภา ได้ออกประกาศแพทยสภาที่ 1/2540
เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
และประกาศแพทยสภาที่ 21/2545
เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ฉบับที่ 2)
ซึงเป็นเพียงกรอบมาตรฐานทางวิชาชีพทางการแพทย์
สำหรับเรื่องการทำสำเนามนุษย์ ก็เช่นเดียวกันมีเพียงประกาศแพทยสภาฉบับที่
21/2544 กำหนดห้ามทำสำเนามนุษย์ อย่างไรก็ดีมีความพยายามจากหลายองค์กร
ที่กำลังศึกษาในรายละเอียดในเรื่องต่างๆ
และบางหน่วยงานพยายามยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์ ได้แก่
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้การสนับสนุนการศึกษาผลกระทบทางกฎหมายที่
เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์แทน
- มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
มุ่งดำเนินงานทางวิชาการเพื่อให้ได้องค์ความรู้ในด้านดังกล่าว
โดยมิได้มุ่งให้เกิดการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายเป็นหลัก
ที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนการศึกษาข้อเสนอแนะทางกฎหมายและจริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิสนธิเทียม
และการคัดเลือกทางพันธุกรรม
และมีแผนที่จะให้การสนับสนุนการศึกษาผลกระทบทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการทำสำเนามนุษย์
- คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษายกร่างกฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์
ในคณะกรรมการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ศึกษาร่างกฎหมายอนามัยการเจริญพันธุ์
- สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ได้พยายามยกร่างพระราชบัญญัติการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ....
การดำเนินงานที่ปรากฏจนเป็นร่างกฎหมายแล้ว ได้แก่
- “ร่างกฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์”
คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษายกร่างกฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์
ในคณะกรรมการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร
ร่างกฎหมายดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทางวิชาการ
ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์ แบ่งออกเป็น 6 คณะ ได้แก่
สุขอนามัยเจริญพันธุ์ สุขภาพทางเพศ การตั้งครรภ์และการคลอด เพศศึกษา
การคุมกำเนิดและการวางแผนครอบครัว และเทคโนโลยีด้านการเจริญพันธุ์
ซึ่งเฉพาะคณะที่ 6 เท่านั้นที่ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมาย เป็นหมวด 6 ของร่างกฎหมายดังกล่าว โดยร่างหมวด 6 ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดย ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการให้บริการผสมเทียมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และส่วนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการตั้งครรภ์แทน -
"ร่างพระราชบัญญัติการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
พ.ศ. ....” สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส
คนพิการ และผู้สูงอายุ
โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมมิให้ดำเนินการโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในทางที่ไม่ถูกต้อง
และเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีดังกล่าวให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ
ร่างกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย บทนิยาม และหมวดย่อย 7 หมวด ได้แก่
หมวด 1 คณะกรรมการควบคุมการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
หมวด 2 การให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
หมวด 3 การตั้งครรภ์แทน
หมวด 4 ความเป็นบิดาและมารดาของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
หมวด 5 การสร้าง เก็บรักษา วิจัย หรือใช้ประโยชน์จากตัวอ่อน
หมวด 6 การควบคุมการดำเนินการโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
หมวด 7 บทกำหนดโทษ
แนวปฏิบัติสำหรับการวิจัยประเทศไทย
โครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่
โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
ได้จัดทำ (ร่าง) แนวปฏิบัติสำหรับการวิจัยด้าน
สเต็มเซลล์ในมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น ในปี ค.ศ. 2003 นั้น ได้เชิญชวนนักวิชาการ
นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักกฎหมาย และนักสังคมศาสตร์ จากสถาบันต่าง ๆ
ร่วมกันจัดทำร่างนี้ขึ้น
(ร่าง) แนวปฏิบัติด้านเซลล์ต้นกำเนิดนี้
มีลักษณะเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นเงื่อนไขต่างๆ โดยมีข้อเสนอในเรื่องต่างๆ คือ
- เงื่อนไขในการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย
- กำหนดประเด็นที่ควรมีระบุในแบบรับรองคำยินยอมของผู้บริจาคตัวอ่อนหรือไข่เพื่อการวิจัย
- ระบุอย่างชัดเจนถึงชนิดของงานวิจัยที่ใช้เซลล์ต้นกำเนิดที่ไม่ควรได้รับทุนสนับสนุน ซึ่ง(ส่วนใหญ่มุ่งควบคุมงานวิจัยที่ใช้กระบวนการเปลี่ยนถ่ายนิวเคลียสระหว่างมนุษย์และสัตว์)
เนื่องจากหน่วยงานผู้ร่างไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการบังคับใช้ เอกสารดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นข้อเสนอแนะเพื่อให้หน่วยงานที่สนใจนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานเอง และร่วมกันปรับปรุงเอกสารฉบับนี้ ให้มีความครบถ้วนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่า มีการใช้ประโยชน์จากเอกสารดังกล่าวอยู่ในวงจำกัด