วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

 นิทาน

      นิทาน หมายถึงเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา มุ่งให้เห็นความบันเทิงแทรก แนวคิด คติสอนใจ จนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยอย่างหนึ่ง อาจเรียกนิทาน พื้นบ้าน นิทานพื้นเมือง นิทานชาวบ้าน เป็นต้น

ที่มาของนิทาน ตำนาน นิยาย

  1. มาจากความต้องการให้เกิดความสนุกสนาน บันเทิง จึงผูกเรื่องขึ้นหรือ นำเรื่องไปผสมผสานกับเรื่องที่มีอยู่เดิม
  2. มาจากความต้องการอบรมสั่งสอน ในแง่ของพุทธศาสนาให้ความรู้ ด้านคติธรรม เพื่อให้การอบรมสั่งสอนให้คนประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม อยู่ในกฏระเบียบของสังคม เช่น นิทานธรรมบท นิทานอีสป เป็นต้น
  3. มาจากการยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย จึงมีการสมมุติเรื่องราวขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

ประเภทของนิทานพื้นบ้าน

วรรณกรรมท้องถิ่นที่เป็นเรื่องเล่า แบ่งประเภทเพื่อการศึกษาตามแบบของนิทานพื้นบ้าน สรุปได้ดังนี้

  1. ประเภทเทพนิยายหรือปรัมปรา (Fairy tale) เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทวดา นางฟ้า เรื่องมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติ เป็นความฝันและจินตนาการของผู้แต่ง เรียกหลายอย่างเช่น นิทานมหัศจรรย์ นิทานบรรพบุรุษ เรื่องราวมักเกี่ยวข้องกับราชสำนัก เจ้าหญิง เจ้าชาย มีแม่มด มียักษ์ สัตว์ประหลาด ตัวละครที่ดีจะเป็นฝ่ายชนะ เช่น เรื่องพระอภัยมณี คาวี สังข์ทอง พระสุธนมโนห์รา ฯลฯ
     
  2. ประเภทชีวิตจริง (Novella) เป็นเรื่องที่ดำเนินอยู่ในโลกของความจริง มีการบ่งสถานที่และตัวละครชัดเจน อาจมีปาฏิหาริย์อิทธิฤทธิ์แต่เป็นไปในลักษณะที่เป็นไปได้ โดยใช้สถานที่ เวลา ตัวละครที่มาจากความจริง เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี (บางส่วนที่มาจากชีวิตจริงของผู้แต่ง) พระลอ พระรถเมรี พระร่วง ไกรทอง เป็นต้น
     
  3. ประเภทวีรบุรุษ (Hero tale) เป็นเรื่องที่มีหลายตอนขนาดยาว อาจคล้ายชีวิตจริงหรือจินตนาการ เป็นเรื่องเล่าที่กล่าวถึงวีรบุรุษที่ต้องผจญภัยที่มีลักษณะเหนือมนุษย์ เช่น เรื่อง เฮอร์คิวลิส เซซีอุสและเพอร์ซีอุสของกรีก เป็นต้น
     
  4. ประเภทนิทานประจำถิ่น (Sage) มักเป็นเรื่องแปลกพิสดารซึ่งเชื่อว่า เคยเกิดขึ้นจริง ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง บ่งบอกสถานที่และตัวละครชัดเจน อาจมาจากประวัติศาสตร์ อาจเป็นไปได้ทั้งมนุษย์ สัตว์ เทวดา ผี เช่น เรื่อง พระยาพาน พระร่วง เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตาม่องล่าย ท้าวปาจิตกับนางอรพิม เป็นต้น
     
  5. ประเภทเล่าอธิบายเหตุ (Explanatory tale) เป็นเรื่องอธิบายกำเนิด ความเป็นมาของสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ กำเนิดของสัตว์ว่าเหตุใดจึงมีรูปร่างลักษณะ ต่าง ๆ กำเนิดของพืช มนุษย์ ดวงดาวต่าง ๆ เป็นต้น เช่น ทำไมจระเข้จึงไม่มีลิ้น กำเนิด ดาวลูกไก่ กำเนิดจันทรคราส เป็นต้น
     
  6. ประเภทเทพปกรณัมหรือเทวปกรณ์ (Myth) เป็นเรื่องอธิบายถึงกำเนิดของจักรวาล มนุษย์ สัตว์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ลม ฝน กลางวัน กลางคืน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แสดงถึงความเชื่อทางศาสนา มีเรื่องของเทพที่เรารู้จักกันดี เช่น เมขลา รามสูร เป็นต้น
     
  7. ประเภทสัตว์ (Animal tale) เป็นเรื่องที่มีสัตว์เป็นตัวเอก โดยจะแสดงให้เห็นความฉลาดและความโง่เขลาของสัตว์ โดยเจตนาจะมุ่งสอนจริยธรรมหรือคติธรรม ซึ่งจัดเป็นเรื่องประเภทให้คติสอนใจ เช่น นิทานอีสป และปัญจะตันตระ
     
  8. ประเภทมุขตลก (Merry tale) เป็นเรื่องขนาดสั้นอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ หรือสัตว์ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่ความไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความโง่ ความฉลาด การใช้กลลวง การแข่งขัน การปลอมแปลง ความเกียจคร้าน เรื่องเพศ การโม้ คนหูหนวก นักบวช พระกับชี ลูกเขยกับแม่ยาย ศรีธนญชัย กระต่ายกับเต่า เป็นต้น
     
  9. ประเภทศาสนา (Religious tale) เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเยซู นักบุญ พระพุทธเจ้า พระสาวก ซึ่งไม่มีในพระไตรปิฎกอยู่หลายเรื่อง ซึ่งทรรศนะของผู้เล่ามักถือว่าเป็น เรื่องจริง
     
  10. ประเภทเรื่องผี เป็นเรื่องเกี่ยวกับผีต่าง ๆ ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่ามาจากไหน เกิดอย่างไร เช่น ผีบ้าบ้องและผีปกกะโหล้งของไทยภาคเหนือ หรือผีที่เป็นคนตายแล้วมาหลอกด้วยรูปร่างวิธีการต่าง ๆ มีผีกองกอย ฯลฯ
     
  11. ประเภทเข้าแบบ (Formular tale) เป็นเรื่องที่มีโครงเรื่องสำคัญเล่าเพื่อความสนุกสนานของผู้เล่า และผู้ฟังอาจมีการเล่นเกม แบ่งเป็นนิทานลูกโซ่ เช่นเรื่องตากับยายปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า นิทานหลอกผู้ฟัง นิทานไม่รู้จบ เช่นเกี่ยวการนับจะเล่าเรื่อยไปแต่เปลี่ยนตัวเลข

การเขียนนิทาน

นิทาน คือ เรื่องเล่าสืบต่อกันมาเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุด กล่าวกันว่านิทานมีกำเนิดพร้อม ๆ กันครอบครัวของมนุษยชาติ มูลเหตุที่มาแต่เริ่มแรก คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้วเล่า สู่กันฟัง มีการเพิ่มเติมเสริมแต่งให้พิสดารมากยิ่งขึ้น จนห่างไกลจากเรื่องจริงกลายเป็นนิทานไป การเขียนนิทาน เป็นการเขียนจากจินตนาการ ผู้เขียนจะต้องมีศิลปะในการเขียน โดยเขียนให้สนุกและมีคุณค่าแก่ผู้อ่าน

องค์ประกอบของนิทาน

  1. แนวคิดหรือแกนของเรื่อง หรือสารัตถะของเรื่อง แนวคิดของเรื่องนิทานมักเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ง่ายไม่ลึกซึ้งนัก เช่น แนวคิดเรื่องแม่เลี้ยงข่มเหงลูกเลี้ยง การทำความดีจะได้ผลดีตอบสนอง
  2. โครงเรื่องของนิทาน มักจะสั้น กะทัดรัด เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นลักษณะเรื่องเล่าธรรมดา โดยดำเนินเรื่องไปตามลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง
  3. ตัวละคร ไม่ควรมีหลายตัว เพราะเป็นเรื่องสั้น ๆ จะน่าอ่านกว่าเรื่องยาว ๆ ตัวละครอาจเป็นคน สัตว์ เทพเจ้า นางฟ้า มนุษย์ อมนุษย์ ฯลฯ
  4. ฉาก เป็นภาพจินตนาการที่ผู้เขียนสร้างขึ้นให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง
  5. ถ้อยคำหรือบทสนทนาที่ตัวละครในเรื่องพูดกัน ควรใช้ภาษาที่กะทัดรัดเข้า ใจง่ายสนุกสนานชวนติดตาม
  6. คติชีวิต นิทานที่ดีต้องมีข้อคิดเกี่ยวกับชีวิต สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมแก่ผู้อ่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เยาว์ ดังนั้น ในตอนท้ายของนิทานมักสรุปคติชีวิตให้เป็นเครื่องเตือนใจผู้อ่านด้วย

นิทาน เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา มีหลายชนิด คือ

1. นิทานชาวบ้าน (Folk Tales) เป็นเรื่องราวของท้องถิ่นที่เล่าต่อกันมา โดยไม่ปรากฏตัวผู้เล่า เช่น ผาแดงนางไอ่ ขูลูนางอั้ว สังข์ศิลป์ชัย เป็นต้น

นิทานชาวบ้าน เป็นเรื่องที่เล่าถ่ายทอดมาช้านาน ต่อมาได้มีการเขียนตามเรื่องราวที่ เล่ากันมา ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะนิทานชาวบ้าน ได้หลายประการคือ

  • นิทานปรัมปรา เป็นนิยายเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ที่แฝงคุณธรรม บางเรื่องก็ยืดยาว สลับซับซ้อน มักไม่มีแหล่งที่มา เช่น เรื่องนางสิบสอง เจ้าหญิงนิทรา ปลาบู่ทอง ฯลฯ
  • นิทานประจำถิ่น เป็นเรื่องเล่าที่แฝงความเชื่อเกี่ยวกับกำเนิดของสัตว์ ธรรมชาติ และประวัติวีรบุรุษ เช่น เรื่องดาวลูกไก่ ท้าวแสนปม ขอมดำดิน ผีสางนางไม้ เจ้าพ่อเจ้าแม่ ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ฯลฯ
  • เทพนิยาย เป็นนิทานเกี่ยวกับเทพเจ้า นางฟ้า ผู้คุ้มครองโลก
  • นิทานชวนเพ้อฝัน สัตว์ ต้นไม้ หรือสภาพแวดล้อมทั้งหลายพูดได้ เช่น นิทานอิสป
  • นิทานชวนขัน เป็นนิทานที่ดูแล้วไม่ค่อยจะเป็นเรื่องเป็นราวไม่น่าเป็นไปได้เช่นตาบอดกับหูหนวก หัวล้านนอกครูชายขี้ลืม เป็นต้น

นิทานพื้นบ้าน นอกจากจะเป็นตำนานและมีประโยชน์ต่อผู้อ่านแล้ว ยังเป็นประโยชน์ทางประวัติศาสตร์อย่างมาก เช่น ตำนานเขาวงพระจันทร์ ตำนานพระพุทธชินกร ไกรทอง พญาวงพญาทาน เป็นต้น

2. นิทานปรัมปรา (Fairy Tales) หรือเทพนิยาย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเวทย์มนต์คาถา เทวดา นางฟ้า อันเป็นเรื่องสมมติ ไม่อาจกำหนดแน่นอนได้

นิทานปรัมปราเรื่องค่อนข้างยาว ซับซ้อนมักขึ้นต้นว่า “กาลครั้งหนึ่ง… นานมาแล้ว…” เช่น

โสนน้อยเรือนงาม
นางสิบสอง
สังข์ทอง
ปลาบู่ทอง
สโนไวท์
เจ้าหญิงนิทรา
ซินเดอเรลลา

3. เทพปกรณัม (Myth) หรือเทพปกิรณัม เป็นนิทานเกี่ยวกับเทพเจ้า เทพธิดาประจำถิ่น ประจำเผ่าพันธุ์ ตามความเชื่อของแต่ละสังคมเช่นเรื่องพระอินทร์ พระอิศวร พระราหู เป็นต้น เรื่องของเทพเรียกว่า เทพปกรณัม หรือ Mythology

สองเรื่องนี้เป็นการ์ตูนจะเรียกว่า การ์ตูนปกรณัม ก็คงจะได้ ปกรณัมมีไว้เพื่อให้คนเราได้ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ นานา ผ่านสัญลักษณ์ที่ปรากฏในเรื่องเล่าเหล่านั้น เรื่องราวมักเริ่มต้นเมื่อเจ้าชายพลัดพรากจากสิ่งที่รัก หรือเมื่อมีเสียงเรียกร้องให้ออกเดินทางผจญภัย หลังจากนั้นเจ้าชายก็ต้องพบศัตรู พ่ายแพ้ศัตรูและตกอับหรือเข้าตาจน ก่อนที่จะกลับฟื้นคืนชีพและเอาชนะศัตรูได้ในที่สุดทั้งหมดนี้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตจริง และเป็นความต้องการในจิตใต้สำนึกของทุกผู้คน (เรียกว่า collective unconscious ตามทฤษฎีของ Carl Jung) เจ้าชายคือตัวเรา ศัตรูคืออุปสรรค เมื่อเอาชนะอุปสรรคได้ชีวิตก็เติบโตขึ้นอีกขั้นหนึ่งเจ้าชายสุดสาครต้องพลัดพรากจากบิดาและมารดา ปัญจาวุธกุมารได้ยินเสียงเรียกร้องให้ออกผจญภัย เจ้าชายสุดสาครพบชีเปลือย ปัญจาวุธกุมารพบยักษ์ขนเหนียว ทั้งสองต้องเอาชนะศัตรูให้จงได้จึงจะเติบโตขึ้นอีกขั้นหนึ่ง เด็กๆ ที่ได้อ่านนิทานเหล่านี้หรือมีพ่อแม่อ่านให้ฟังก็จะเติบโตขึ้นอีกขั้นหนึ่งเช่นเดียวกัน

สุดสาคร:เด็กมหัศจรรย์ มีชื่อภาษาอังกฤษซะด้วย Sut Sakhon:Magical Child จากวรรณคดี พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ จับความตั้งแต่กำเนิดสุดสาครไปจนถึงสุดสาครปราบชีเปลือยสำเร็จแล้วพบพระอภัยมณีอย่างรวดเร็ว

สำหรับยักษ์ขนเหนียวอาจจะไม่ค่อยรู้จักกัน ชื่อภาษาอังกฤษว่า Yak Khon Nieo ดัดแปลงมาจาก ปัญจาวุธชาดก ที่ซึ่งมีพระพุทธพจน์ว่า “ยักษ์ในครั้งนั้น ต่อมาคือองค์คุลีมาลในกาลบัดนี้ และปัญจาวุธกุมารได้มาเป็นเราตถาคต”

สุดสาครมีม้ามังกรและไม้เท้าของพระเจ้าตาฤาษีเป็นอาวุธคู่กาย ส่วนปัญจาวุธกุมารเป็นผู้มีอาวุธ 5 ประการตามชื่อ ทั้งสองออกเดินทางผจญภัยไปตามเส้นทางของวีรบุรุษตามขนบของนิทานโบราณหรือนิทานดั้งเดิมอันเป็นปฐมบทของเรื่องเล่าทั้งปวง อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ปกรณัม หรือ myth

4. นิทานพื้นเมืองนานาชาติ (Folk Tale from other Countries) เป็นนิทานของชาติต่าง ๆ ที่เด็กสามารถอ่านให้ได้ทราบเรื่องราวของชาติอื่น เช่น นิทานอาหรับราตรี นิทานอาละดินกับตะเกียงวิเศษ นิทานโรบินฮูด เป็นต้น

5. นิทานชวนขัน (Jest) เป็นนิทานตลก มีเรื่องราวไม่น่าจะเป็นไปได้ เช่น ไอ้หูกาง ไอ้ขี้มูกมาก ไอ้ก้นแหลม เป็นต้น

6. นิทานเกี่ยวกับสัตว์ เช่นสัตว์พูดได้ บางครั้งแฝงไว้ด้วยคติธรรมต่างๆ (Fable) เช่น นิทานอีสป

7. นิทานซ้ำๆไม่รู้จบ (Cumulative Tale) เช่น ยายกับตา

8. นิทานเรื่องผี อาจมีเค้าเรื่องจริง หรือดัดแปลงขึ้นใหม่ เช่น นางนาคพระโขนง

9. นิทานเค้าเรื่องจริง หรือนำเอาบุคคลที่มีตัวตนจริงในอดีตมาเป็นแบบอย่างการประพฤติปฏิบัติ เช่น ขอมดำดิน พระร่วง สุนทรภู่ เป็นต้น

10. นิทานสมัยใหม่ทั่วๆไปที่แต่งขึ้นมา หรือนำเรื่องเก่ามาปรับปรุงดัดแปลง มีจุดประสงค์เพื่อสอนให้ปฏิบัติดี ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน

11. นิทานคติธรรมต่างๆ เช่นนิทานชาดก นิทานพุทธสุภาษิต นิทานอีสป นอทานประเภทนี้ของไทยมักมีคำว่า " นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ........"ซึ่งบางครั้งทำให้ผู้อ่านเบื่อหน่าย เพราะมีความรู้สึกว่าถูกสอนอยู่บ่อยๆตรงๆ น่าจะหาวิธีการอื่นที่น่าจะดีกว่านี้

12. นิทานที่ช่วยให้เพ้อฝัน (Fantastic Story) ซึ่งช่วยให้เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้

  • หนังสือภาพล้วนๆ อาจมีทั้งภาพและคำบรรยาย (Picture book, Picture - Story book)
  • หนังสือโคลงกลอนต่างๆ บทกล่อมเด็ก ปลอบเด็ก เป็นต้น
  • หนังสือนวนิยาย (Fiction, Novel) ซึ่งแต่งขึ้นมาโดยเลียนแบบชีวิตจริง หรือมีลักษณะคล้ายชีวิตจริง เพื่อให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินกับผู้อ่าน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย