ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
ประเพณีตักบาตรเทโว
ประเพณีอันเกี่ยวเนื่องกับวันออกพรรษา ได้แก่ ประเพณีตักบาตรเทโว ซึ่งย่อมาจาก
"เทโวโรหนะ" หมายถึง การเสด็จลงมาจากเทวโลกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำนานเล่าว่า
จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทศนาพระอภิธรรมปิฎก
โปรดพระพุทธมารดาและเทวดาทั้งหลายอยู่หนึ่งพรรษา ครั้นวันแรม 1 ค่ำเดือน 11
หรือหลังวันออกพรรษา 1 วัน พระองค์เจ้าจึงได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
มาประทับที่เมืองสังกัสสะ ประชาชนต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์
เพื่อทำบุญตักบาตรกันอย่างเนืองแน่น ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธจึงถือเอาวันแรม 1 ค่ำ
เดือน 11 เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกมาสู่เมืองมนุษย์
จึงนิยมตักบาตรกันเป็นพิเศษ และทำสืบต่อมาเป็นประเพณีที่เรียกว่า"ตักบาตรเทโว"
มาจนทุกวันนี้
วันตักบาตรเทโว เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า วันพระเจ้าเปิดโลก
ด้วยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
มาสู่โลกมนุษย์หลังวันออกพรรรษานั้นเล่ากันว่ามีเทวดาจำนวนมากได้ตามส่งเสด็จอย่างสมพระเกียรติ
พระพุทธองค์จึงทรงเนรมิตให้เทวดา มนุษย์และสัตว์นรกมองเห็นกันและกันตลอดทั้ง 3 โลก
คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรก อีกทั้งในวันนี้การลงโทษในเมืองนรกได้ยุติลงชั่วคราว
จึงเรียกว่า วันพระเจ้าเปิดโลก
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หมายถึง สวรรค์ชั้นที่ 2 แห่งสวรรค์ 6 ชั้น ซึ่งมี ท้าวสักกะ หรือ พระอินทร์เป็นจอมเทพผู้ปกครอง สวรรค์ 6 ชั้นดังกล่าว เรียกว่า กามภพ หมายถึง ภพที่ท่องเที่ยวไป ในกามแบ่งออกเป็น
- ชั้นจาตุมหาราช เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4
- ชั้นดาวดึงส์ เป็นเมืองของพระอินทร์
- ชั้นยามา เป็นเมืองของสยามเทวราช
- ชั้นดุสิต (ดุสิต แปลว่า บันเทิง) มี สันดุสิตเทวราช เป็นผู้เป็นใหญ่
- ชั้นนิมมานนรดี(นิม-มาน-นอ-ระ-ดี) หมายถึง ผู้ยินดีในการเนรมิต
- ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี(ปอ-ระ-นิม-มิด-ตะ-วะ-สะ-วัด-ดี) มีพระยามาราธิราช เป็นใหญ่
ของทำบุญที่นิยมกันเป็นพิเศษ ในประเพณีตักบาตรเทโวฯ คือ ข้าวต้มลูกโยน (ข้าวต้มหาง)โดยจะเอาข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาว กล่าวกันว่าที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยนคงเป็นเพราะเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากเทวโลก พระบรมศาสดาถูกห้อมล้อมด้วยมนุษย์และเทวดาจำนวนมากทำให้ผู้ที่เข้าไม่ถึง คิดวิธีใส่บาตรโดยโยนเข้าไป และที่ไว้หางยาวก็เพื่อให้โยนได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งการโยนลักษณะนี้คงเกิดขึ้นภายหลัง มิใช่สมัยพระพุทธองค์จริง ๆ และทำให้เป็นนัยมากกว่าเพราะปัจจุบันจะใช้การแห่พระพุทธรูปแทน