ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

ประเพณีในเกาะเกร็ด

ประเพณีการจุดลูกหนู

ประเพณีการจุดลูกหนู เป็นประเพณีการจุดดอกไม้เพลิงชนิดหนึ่งของคนมอญที่ใช้จุดเผาศพพระสงฆ์ในเกาะเกร็ด และในอำเภอปากเกร็ด เนื่องจากพระสงฆ์เป็นสถาบันที่คนมอญเคารพนับถือมาก เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ทรงศีลปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ การเผาศพต้องทำด้วยความเคารพ ไม่นิยมจุดดอกไม้จันทน์เผาศพพระสงฆ์ด้วยมือตนเอง ซึ่งถือว่าไม่เป็นการสมควรจึงใช้ลูกหนูจุดศพ และมีการสร้างปราสาทสำหรับเผาศพโดยเฉพาะ โดยจะเผาปราสาทไปพร้อมกับเผาศพด้วย เป็นประเพณีเฉพาะวัดที่มีพระสงฆ์มอญเท่านั้น ไม่มีการจำกัดชั้น วรรณะของพระสงฆ์แต่ประการใด ประเพณีนี้ยังคงรักษาสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ คนมอญยังนิยมทำลูกหนูมาจุดแข่งขันกันในงานศพด้วย แข่งกันว่าของใครจะมีเสียงดัง และวิ่งตามสายไปโดยที่เสียงไม่ขาดหาย และมีกำลังแรงสามารถโดนหีบศพ หรือปราสาทที่ไว้ศพจำลองพังได้ ก็นับว่าเป็นผู้ชนะ ระยะทางที่ให้ลูกหนูวิ่งนั้น แล้วแต่จะสัญญาตกลงกันเอง และก่อนที่จะนำลูกหนูมาจุดนั้น จะต้องมีการแห่กันอย่างใหญ่โต ลูกหนูของใครก็แห่กันมา มีปี่พาทย์มอญ กลองยาวหรือเปิงมาง สุดแต่ว่าใครจะจัดอะไรมาก็ได้ มีสาวๆ สวยๆ ของหมู่บ้านแต่งกายสวยงามร่วมฟ้อนรำมาในขบวนแห่ลูกหนูด้วย

อุปกรณ์ในการจัดทำลูกหนู
เดิมทีเดียวใช้ไม้ไผ่ตัดเป็นท่อนๆ บรรจุดินปืนไว้ข้างในเรียกว่า " ตัวลูกหนู " แต่เนื่องจากลูกหนูไม้ไผ่มีกำลังวิ่งน้อย ปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาทำด้วยไม้มะม่วงบ้าง ไม้ขนุนบ้าง ตัดเป็นท่อนๆ ท่อนหนึ่งยาวประมาณ 80 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร เจาะรูตรงกลาง เพื่อบรรจุดินปืน แล้วอุดหัวและท้าย เจาะรูด้านหนึ่ง สำหรับใส่สายชนวน แขวนตัวลูกหนูไว้กับลวดสลิงเส้นใหญ่ ซึ่งขึงเป็นสายยาวประมาณ 200 เมตร สายหนึ่งมีลูกหนูประมาณ 6-12 ตัว ต้นสายผูกติดไว้กับต้นไม้ ส่วนปลายสายจะทำเป็นเขื่อนด้วยไม้ปักเป็นขาทรายตรึงไว้ ส่วนมากจะมีหาบพาดกลาง ให้ลูกหนูทุกสายได้ผูกเล็งตรงยังโลงศพที่อยู่ในปราสาท ตัวเขื่อนนี้ห่างจากเมรุประมาณ 20-30 เมตร การจุดลูกหนูครั้งหนึ่ง จะใช้กี่สายก็ได้แต่สายหนึ่งต้องจุดทีละตัว

วิธีจุดลูกหนู
การจุดลูกหนูเพื่อเผาศพพระสงฆ์นั้น เดิมทีเดียวพระสงฆ์เป็นผู้จุดชนวน ฆราวาสจะยุ่งเกี่ยวไม่ได้ เพราะถือว่าพระสงฆ์เป็นปูชนียบุคคลอันสูงสุด เมื่อจุดลูกหนูวิ่งไปยังปราสาทแล้ว ไฟจากดินปืนจะลุกไหม้เชื้อเพลิงภายในปราสาท ทำให้ปราสาทและโลงศพไหม้ไฟ ถ้าจุดลูกหนูหมดแล้วศพยังไหม้ไม่หมด ก็จะช่วยกันเผาต่อไปจนไหม้หมด เนื่องจากมีปัญหาที่แรงวิ่งของลูกหนู บางครั้งทำให้ศพกระจัดกระจาย ดูแล้วเป็นที่อุจาดตาอย่างยิ่ง ปัจจุบันนี้จึงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม โดยสร้างเมรุจำลองสำหรับทำพิธีขึ้นต่างหาก มีปราสาทโลงศพเช่นกัน ส่วนศพจริงๆนั้นตั้งไว้ที่เมรุสำหรับเผาจริง เวลาจุดลูกหนูก็จะจุดไปที่เมรุจำลอง ต่อมาการจุดลูกหนูจึงกลายเป็นการเล่นแข่งขันกันในงานศพพระประเภทหนึ่ง โดยส่งตัวแทนของวัด ประมาณ 5-8 วัด หรือมากกว่านั้น สุดแต่ความใหญ่โตของงาน การแข่งขันนี้จะจุดทีละสายๆละตัวจนครบทุกสาย สายใดลูกหนูวิ่งไปชนยอดปราสาทถือว่าชนะเลิศ จะมีเงินรางวัลให้ตามความสามารถลดหลั่นกันไป เมื่อแข่งขันเสร็จแล้ว จึงมีการเผาจริงอีกครั้งหนึ่ง พิธีจุดลูกหนูนี้จะทำกันในตอนบ่ายของวันเผาจริง

โรงทำลูกหนู
ปัจจุบันยังมีโรงทำลูกหนูที่วัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด และมีกระบอกลูกหนูที่ทำเสร็จแล้วหลายลูก และมีอุปกรณ์การผลิตลูกหนูด้วย ถ้าต้องการชมเชิญแวะไปชมได้ที่วัดปรมัยยิกาวาส สำหรับวัดที่เคยมีชื่อเสียงในการจุดลูกหนู ได้แก่วัดสนามเหนือ อีกวัดหนึ่ง

ประเพณีสงกรานต์
แห่สงกรานต์
แห่น้ำหวาน
แห่ข้าวแช่
แห่หางหงส์
สะบ้ามอญ
ทะแยมอญ
รำเจ้า
การปล่อยปลา
การทำบุญกลางบ้าน
สรงน้ำพระและเจดีย์มอญ
ประเพณีการจุดลูกหนู
ประเพณีทำบุญออกพรรษา
ประเพณีตักบาตรทางน้ำ
ประเพณีตักบาตรดอกไม้
ปี่พาทย์มอญเกาะเกร็ด
ประเพณีรำมอญ
ประเพณีการเล่นเพลงเจ้าขาว
ประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้ง
การละเล่นเพลงระบำบ้านไกล
ประเพณีลอยกระทง
ประเพณีทำบุญตักบาตรพระร้อยแปด

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย