ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
ประเพณีทำบุญตักบาตรพระร้อยแปด
ประเพณีการทำบุญตักบาตรพระร้อยแปด
เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานแล้วในอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเกาะเกร็ดมากนัก โดยจัดขึ้นตามลำน้ำในคลองบางกอกน้อย
ได้จัดขึ้นหลายวัดด้วยกัน เช่น วัดไทยเจริญ วัดบางไกรนอก วัดอุทยาน วัดโบสถ์
และวัดบางไกรใน
ประเพณีนี้จะเริ่มขึ้นในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันทำบุญที่แท้จริง
แต่ประเพณีจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรม 7 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี
โดยจัดมาประมาณ 80 ปีเศษมาแล้ว และปัจจุบันก็ยังจัดอยู่
พิธีกรรมมิได้แตกต่างไปจากการทำบุญตักบาตรทั่วๆไป
คือแทนที่พระภิกษุจะออกบิณฑบาตไปตามถนน ได้เปลี่ยนมาพายเรือขนาดต่างๆ ออกมาบิณฑบาต
คำว่า " พระร้อยแปด " นั้นมิได้หมายถึง พระภิกษุสงฆ์จำนวน 108 รูปเท่านั้น
ร้อยแปดเป็นคำที่คนไทยนิยมเรียกสิ่งของที่มีมาก
จนเกินความคาดเดาให้ทราบถึงจำนวนที่แท้จริงได้ เช่นเดียวกับคำว่า " ร้อยแปดพันเก้า
" นั่นเอง
ประวัติความเป็นมาของประเพณีทำบุญตักบาตรพระร้อยแปด
เดิมทีเดียวชาวบ้านวัดหญ้าไทรได้ริเริ่มจัดทำขึ้นก่อน
ต่อมาวัดหญ้าไทรเกิดขัดข้องไม่สามารถจัดทำได้อีก จึงได้มอบให้วัดบ้านจีน
(วัดไทยเจริญ) รับทำต่อ
เวลานั้นวัดบ้านจีนที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านยังไม่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไว้สักการะ
และใช้ประกอบพิธีทางศาสนกิจ อธิการแฉ่งเจ้าอาวาสจึงมีโครงการหล่อพระพุทธรูปขึ้น
และได้ป่าวประกาศบอกบุญให้ชาวบ้านมาร่วมเป็นเจ้าภาพ
เพื่อรับบริจาคทองเหลืองมาหล่อเป็นองค์พระ เมื่อได้ทองเหลืองพอแก่ความต้องการแล้ว
จึงแผ่ทองเหลืองให้เป็นแผ่น และออกไปแจกจ่ายให้แก่สมภารทุกวัดในเขตท้องที่นนทบุรี
ตลอดจนเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมให้ช่วยลงอักขระในแผ่นทองเหลืองที่ได้รับแจกไป
แล้วนำกลับมาหล่อเป็นพระพุทธรูปต่อไป ขนานนามว่า " พระพุทธอาคม "
การตักบาตรพระร้อยแปดก็เริ่มทำมาตั้งแต่สร้างหลวงพ่อพุทธอาคมเสร็จ
ตรงกับวันเสาร์แรม 8 ค่ำ เดือน12 ปีกุน ตรงกับวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2466
สำหรับจุดประสงค์ของการแห่ขบวนพระนี้ก็เพื่อประกาศให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วกันว่า
จะมีพิธ๊ทำบุญตักบาตรพระร้อยแปด ขึ้นอีกครั้งหนึ่งแล้ว
และให้สาธุชนมาทำบุญร่วมกันในวันรุ่งขึ้น การแห่ขบวนพระนี้ทุกวัดจะแห่พร้อมกันหมด
พิธีจะเริ่มขึ้นในวันแรม 7 ค่ำ เดือน 12 โดยเริ่มพิธีตั้งแต่ตอนบ่าย
ทุกวัดที่จัดงานนี้จะมีการแห่พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงของวัดนั้น
เช่นหลวงพ่ออาคมจากวัดไทยเจริญ หลวงพ่อโตวัดอุทยาน แห่ไปตามลำน้ำ
โดยการจัดขบวนแห่อย่างสวยงาม มีการรำประกอบด้วยขบวนแห่
ได้นำเรือล่องไปตามบ้านเรือนต่างๆ ตามลำคลองบางกอกน้อย
โดยมุ่งไปทางทิศตะวันออกจนจดวัดชัยพฤกษ์
แล้วย้อนกลับมาทางทิศตะวันตกจนถึงอำเภอบางใหญ่
ต่อจากนั้นจะนำเรือย้อนกลับมาตั้งที่วัด
เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมากราบไหว้ปิดทองบูชาเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ตลอดงาน
จะมีมหรสพสมโภชอย่างมโหฬาร
พิธีกรรมจะเริ่มเวลา 5.00 น.ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12
ซึ่งถือว่าเป็นวันทำบุญใหญ่.
จะมีประชาชนมาร่วมทำบุญตามลำน้ำอย่างแน่นขนัดทั้งสองฝั่งคลอง
ประชาชนส่วนใหญ่ที่มาทำบุญพระร้อยแปดนี้ จะมาโดยเรือพายและเรือเครื่อง
ซึ่งมีการเตรียมอาหารคาวหวานมาอย่างพร้อมมูล
ส่วนทางด้านพระสงฆ์นั้นชาวบ้านจะนิมนต์ลงเรือจ้างบ้าง เรืออีแปะบ้าง บางลำมีพระ 1
องค์ หรือ 2 องค์ แต่ส่วนใหญ่ไม่เกิน 3 องค์ และมีคนพายเรือ 3 - 4 คน
เพื่อรับอาหารคาวหวานจากประชาชน พระจะบิณฑบาตไปในทางเดียวกัน เช่น
เริ่มต้นทางฝั่งขวาก็จะรับบิณฑบาตเรื่อยไป แล้วจึงวกกลับมาฝั่งซ้ายบ้าง
แต่ละวัดจะมีการแห่พระพุทธรูปสำคัญซึ่งประดับประดาอย่างสวยงามไปรับบิณฑบาตด้วย
พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนปิดทองและบริจาค ทรัพย์เพื่อนำไปบำรุงวัด
ช่วงเวลาที่ประชาชนทำบุญกันหนาตาจะอยู่ระหว่าง 6.00 - 7.00 น.
ในระหว่างการทำบุญนี้ เพื่อให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น
ชาวบ้านจะแต่งตัวเป็นฤษีบ้าง หรือนำผ้าเหลืองมาห่มบ้าง และใช้ขันครอบศีรษะ
สมมติเป็นพระสงฆ์มาร่วมบิณฑบาตด้วย
ประเพณีสงกรานต์
แห่สงกรานต์
แห่น้ำหวาน
แห่ข้าวแช่
แห่หางหงส์
สะบ้ามอญ
ทะแยมอญ
รำเจ้า
การปล่อยปลา
การทำบุญกลางบ้าน
สรงน้ำพระและเจดีย์มอญ
ประเพณีการจุดลูกหนู
ประเพณีทำบุญออกพรรษา
ประเพณีตักบาตรทางน้ำ
ประเพณีตักบาตรดอกไม้
ปี่พาทย์มอญเกาะเกร็ด
ประเพณีรำมอญ
ประเพณีการเล่นเพลงเจ้าขาว
ประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้ง
การละเล่นเพลงระบำบ้านไกล
ประเพณีลอยกระทง
ประเพณีทำบุญตักบาตรพระร้อยแปด