สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

ผักกาดหอม

(Lettuce) Lactuca sativa L. (Grubben and Sukprakarn, 1994)
วงศ์ COMPOSITAE, ASTERACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
เอเชียไมเนอร์หรือเอเชียตะวันออกกลาง มีการนำมารับประทานเป็นผักและใช้เป็นยารักษาโรค เมื่อ 4,500 ปีก่อนคริสตกาล เป็นผักที่นิยมรับประทานในอาณาจักรกรีกและโรมัน สันนิษฐานว่ามีการกลายพันธุ์มาจาก Lactuca serriola ผักกาดหอมกินใบ(leaf lettuce) เป็นที่นิยมในจีนและไต้หวัน ส่วนผักกาดหอมห่อ(head lettuce) นิยมนำมาทำผักสลัดเกือบทั่วโลก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชปีเดียวหรือสองปี ไม่มีเนื้อไม้ ผิวใบเรียบไม่มีขน มียาง ทรงพุ่มสูง 30-100 เซนติเมตร การเจริญเติบโตในระยะแรกใบจะเรียงซ้อนกันเป็นกระจุกคล้ายดอกกุหลาบ เมื่อออกดอกลำต้นจะยืดยาวและมีกิ่งแขนงแตกออกมา รากแก้วหยั่งลึกได้ถึง 1.5 เมตร รูปร่างใบ ขนาดและสีสันแตกต่างกันตามพันธุ์ ใบอาจไม่มีรอยเว้า หรือมีขอบใบหยักเว้าแบบขนนก แผ่นใบอาจม้วนและมีรอยย่น ก้านใบสั้น แผ่นใบสีเขียวหรือมีสีแดงเนื่องจากสารแอนโทไซยานิน ช่อดอกอยู่รวมกันหนาแน่น เป็นช่อแยกแขนง (panicle) ที่มีช่อแขนงแบบช่อเชิงหลั่น (corymb) โดยมีช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น (head) อยู่บนช่อแขนงอีกชั้นหนึ่ง ในช่อกระจุกแน่นประกอบด้วยดอกย่อย 7-15 ดอกย่อย อาจมีได้มากถึง 35 ดอกย่อย วงใบประดับรองช่อดอกยาว 10-15 มิลลิเมตร มีใบประดับรูปใบหอกหรือรูปไข่จำนวน 3-4 แถวเรียงซ้อนกัน ดอกย่อยมีสีเหลืองเรียงซ้อนกันทางด้านบนของวงใบประดับ เกสรเพศผู้มี 5 อันเชื่อมติดกันเป็นวง เกสรเพศเมียมีปลายแยกเป็นสองแฉก ผลแห้งเมล็ดล่อนผอมเรียวรูปไข่กลับ ยาว 3-8 มิลลิเมตร ผิวเมล็ดมีรอย 5-7 ริ้วในแต่ละด้าน เปลือกเมล็ดสีขาว เหลืองซีด เทา หรือน้ำตาล ส่วนปลายผลเป็นจะงอยผอมเรียวติดกับขนแพปพัส (pappus) สีขาวอ่อนนุ่ม 2 แถว สำหรับใช้ในการปลิวตามลมเพื่อแพร่กระจายพันธุ์


ภาพผักกาดหอม (สุรชัย, 2535)


ภาพด้านข้างของลำต้นและใบผักกาดหอม
(คณะทำงานรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผัก, 2541)

การใช้ประโยชน์
นิยมรับประทานใบเป็นผักสดร่วมกับผักอื่นๆ ในอาหารจำพวกสลัดและยำชนิดต่างๆ

คุณค่าทางอาหาร
ส่วนของใบที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 94 กรัม โปรตีน 1.2 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม เส้นใย 0.7 กรัม เถ้า 0.7 กรัม พลังงาน 50 กิโลจูล น้ำหนักเมล็ด 0.8-1.2 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด

ใบผักกาดหอมห่อมีแคลเซียมประมาณ 30 มิลลิกรัม เหล็ก 1 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 1.5 มิลลิกรัม วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.08 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 10 มิลลิกรัม

การขยายพันธุ์
ผักกาดหอมมีหลายสายพันธุ์ มีทั้งพวกที่เป็นพืชปีเดียว (annual) และพืชสองปี (biennial) ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ผักกาดหอมกินใบนิยมปลูกพันธุ์แกรนแรปิดส์ และผักกาดหอมห่อนิยมปลูกพันธุ์บัตเตอร์เฮด

นิเวศวิทยา
ผักกาดหอมสามารถเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิกลางวันเฉลี่ย 15-20 องศาเซลเซียส และอากาศเย็นในเวลากลางคืน ในเขตอากาศแบบร้อนชื้นสามารถปลูกผักกาดหอมให้ผลผลิตดีบนภูเขาสูง และปลูกบนพื้นที่ราบได้ในช่วงฤดูหนาว การปลูกผักกาดหอมห่อต้องมีอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส จึงจะมีการห่อของส่วนยอด ผักกาดหอมที่ปลูกในเขตร้อนชื้นส่วนใหญ่จึงเป็นผักกาดหอมกินใบ และสายพันธุ์ใหม่ๆ ในปัจจุบันเป็นพืชที่ไม่ต้องตอบสนองต่อความยาวของวัน ซึ่งสายพันธุ์เก่านั้นเป็นพืชที่ต้องการช่วงวันยาวเป็นเวลานานในการกระตุ้นการออกดอก ผักกาดหอมสามารถเติบโตได้ในดินหลายชนิดที่มีโครงสร้างดีต่อการเจริญเติบโต มีธาตุอาหารสูง เก็บกักน้ำได้ดี เนื่องจากรากของผักกาดหอมมีขนาดเล็ก และสูญเสียน้ำได้ง่าย ดินที่ปลูกผักกาดหอมได้ดีคือดินร่วนปนทรายมีธาตุอาหารในรูปเกลือ แต่ไม่ชอบดินกรดที่มีค่า pH ต่ำกว่า 6

การเก็บเกี่ยว
อายุเก็บเกี่ยวขึ้นกับสายพันธุ์และความต้องการของตลาด ผักกาดหอมกินใบ (leaf lettuce) มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 30-50 วันหลังเพาะเมล็ด ส่วนผักกาดหอมห่อ (head lettuce) มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 60-80 วันหลังเพาะเมล็ด

การส่งออก
เนื่องจากเป็นพืชที่บอบช้ำง่าย อายุการเก็บรักษาสั้น จึงมีการส่งออกน้อยมาก ในปี พ.ศ. 2540 มีการส่งออก 3.0 เมตริกตัน มูลค่า 0.1 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2543 มีการส่งออกเมล็ดพันธุ์ 8.62 ตัน มูลค่า 1.42 ล้านบาท และนำเข้า 3.06 ตัน มูลค่า 2.30 ล้านบาท (กมล และคณะ, 2544)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย