สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

โรคบลูทัง

(Bluetongue)

          Bluetongue เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Bluetongue virus ที่ติดต่อโดยแมลง เป็น non-contagious ซึ่งส่วนมากจะแสดงอาการในแกะ กวาง elk antelope พวกสัตว์เคี้ยวเอื้องที่เป็นสัตว์ป่า อาการที่แสดงออกในโคและแพะพบน้อยและเป็นตัวอมโรค (reservoir) ความรุนแรงของโรคจะมีความสัมพันธ์กันกับตัวสัตว์ (host) ระดับภูมิคุ้มกันของตัวสัตว์ พาหะและไวรัสที่คล้ายคลึงกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคนี้ รวมถึงสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ โดยอาการจะพบการอักเสบของ mucous membrane มีจุดเลือดออกทั่วไปและพบการบวมน้ำ

โรคนี้ยังทำให้ให้เกิดการแท้ง (abortifacient) และความผิดปกติของตัวอ่อนในแกะและโค นอกจากนี้ยังมีรายงานการเกิดโรคในสุนัข

สาเหตุ (Etiology)

เกิดจากเชื้อไวรัส Bluetongue เป็น double-stranded ribonucleic acid (RNA) อยู่ใน genus Orbivirus ใน Family Reoviridae ตัวไวรัสมีขนาด 80 nm outer capsid จะประกอบด้วย viral protein 2 ชนิด คือ VP2 และ VP5 โดยโปรตีนนี้จะใช้ในการที่ช่วยให้ไวรัสเข้าไปในเซลล์โดยตัว VP2 จะเป็น cell attachment protein ที่ไวรัสใช้ในการเข้าสู่เม็ดเลือดแดงของตัวโฮสต์ และตัว Core มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 55-60 nm มี 10 segments จะประกอบด้วยโปรตีนอีก 5 ชนิด แบ่งแยกเป็น 2 โปรตีนหลัก (VP3 และ VP7) และ 3 โปรตีนย่อย ซึ่ง code ด้วย 1-2 polypeptide โดยตัว Core component จะใช้ในการจำลองตัวเองของไวรัส โดย VP7 จะเป็นตัวกำหนด group specific antigen ซึ่งมีอยู่ 14 serogroups และ VP2 ซึ่งเป็น outer capsid protein จะบรรจุ virus neutralization antigen และมีรหัสทางพันธุกรรม (sequence) ที่แตกต่างกัน เป็นผลให้เกิดการจำแนกได้เป็น 24 serotypes

ระบาดวิทยา (Epidemiology)

Bluetongue เป็นโรคดั้งเดิมของทวีปแอฟริกา แม้ว่าจะไม่มีรายงานของทุกประเทศในทวีปนี้ แต่เป็นไปได้ว่าน่าจะมีการกระจายของโรคทั่วทั้งทวีปแอฟริกา โรคนี้ถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อโรคชนิด เอ (List A) ของ The Office International des Epizooties (OIE) การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า BTV พบว่าโรคนี้ไม่ได้ทำให้เกิดอาการของโรคและการตายอย่างรุนแรงในแกะ และไม่ได้เกิดในแกะทุกชนิด โดยในแกะพื้นเมืองจะมีความทนทานสูงกว่าพันธุ์ยุโรป มีการศึกษาพบว่า สุนัขและสัตว์กินเนื้อชนิดอื่นๆ สามารถติดโรคจาก BTV ได้ การระบาดของโรคที่แหลม Iberian ในสเปน ในปี ค.ศ. 1956 ได้ฆ่าแกะไปถึง 179,000 ตัวภายใน 4 เดือน จึงตระหนักว่า เป็นโรคอุบัติใหม่ซึ่งเกิดจากสัตว์ป่าเข้ามาสู่ปศุสัตว์

24 serotypes ของ BTV สามารถพบได้ทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกา พบ 5 serotypes (2,10,11,13,17) โดยพบในรัฐทางตอนใต้และตรงกลางของประเทศ โดย seroprevalence ที่พบในอเมริกามีประมาณ 18% ในตอนเหนือของออสเตรเลียมีรายงานการพบ 8 serotypes (1,3,9,15,16,20,21,23) ซึ่งพบจากแมลงหรือจากเลือดของสัตว์ โดยสันนิษฐานว่าแมลงอพยพมาจากอินโดนีเซียเข้ามาสู่ออสเตรเลีย และจากการศึกษาทางพันธุกรรมพบว่า Australian BTV จะมีความคล้ายคลึงกับ Asian strain มากกว่า African strain และ 17 serotypes สามารถพบได้ในแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบโรคในญี่ปุ่นและในอินโดนีเซีย ส่วนในยุโรปที่สเปน โปรตุเกส ตุรกี ไซปรัส ซึ่งแสดงผลรายงานการระบาดในช่วงปี 2007 -2008 ข้อมูลจากศูนย์ RNA

BT ไม่ใช่โรคที่มีการติดต่อกันระหว่างสัตว์ เนื่องจากแมลงพวกตัวริ้น (Culicoides) เป็น biological vector และไวรัสไม่สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิดโดยปราศจากแมลง การติดต่อของโรคคือ การที่เลือดมีตัวเชื้ออยู่ หรือ tissue suspension จะถูก inoculate เข้าทาง parenteral เท่านั้น สิ่งขับถ่ายและสิ่งคัดหลั่ง (excretion และ secretion) จากสัตว์ที่เป็นโรคจะมีปริมาณไวรัสเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ของสัตว์ เช่น เนื้อ นม หรือขนสัตว์จากสัตว์ป่วย หรือฟาร์มที่มีสัตว์ที่เป็นโรค จึงไม่ใช่จุดหลักของการแพร่เชื้อโรคนี้ในทางระบาดวิทยา

สำหรับประเทศไทย มีรายงานการสำรวจโรคนี้ในพื้นที่ 35 จังหวัด โดยทำการเก็บซีรัมในโคนมจำนวน 13,000 ตัว พบว่าโคมีแอนติบอดีต่อไวรัส BT ระดับสูงเฉลี่ย 75.6% ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ (เขต 3 และ 4) มีโคสำรวจ 3000 ตัว พบว่ามีแอนติบอดีต่อ BT 89.2-91.1% ซึ่งสูงกว่าภาคเหนือ (50-58%) ส่วนภาคใต้ (เขต 8 และ 9) พบอัตราส่วนสูงในเขต 8 (94.3%) การพบแอนติบอดีในสัตว์เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า BTV มีการแพร่กระจายในประชากรโค และมีการติดเชื้อระดับสูง เนื่องจากมีแมลงเป็นพาหะนำโรค การศึกษานี้ไม่ได้ระบุซีโรไทป์ที่พบในประเทศไทย

การติดต่อของโรค (Route of Transmission)

วงจรการติดเชื้อตามธรรมชาติของโค จะมีความสัมพันธ์กันระหว่างแมลง (vector) สัตว์ (host) และ สิ่งแวดล้อม (environment) โดยธรรมชาติของตัวพาหะของ BTV จะเป็นแมลงจำพวกปากกัด อยู่ในจีนัส culicoides ซึ่งชอบดูดกินเลือดในสัตว์ใหญ่ แมลงสามารถนำโรคได้หลายสัปดาห์ ไวรัสสามารถพบได้ในเขตละติจูดที่ 50 องศาเหนือ ถึง 35 องศาใต้ ในปัจจุบันสามารถแยกได้ 24 serotype และสามารถแยกเชื้อได้จากโคอายุ 1 ปี แมลงจะพบได้มากในช่วงท้ายของฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง จึงทำให้พบโรคนี้ได้ในช่วงนี้ นอกจากนั้นการแพร่กระจายของโรคยังขึ้นกับจำนวนแมลงที่เป็นพาหะ มีรายงานการติดโรคโดยผ่านทางน้ำเชื้อและผ่านทางสายรกของตัวแม่ (transplacental) สามารถพบในน้ำเชื้อของโค แต่ต้องอยู่ในภาวะ viremia เท่านั้นจึงจะพบ จากรายงานการศึกษา 18,000 ตัวอย่างพบว่ามีเพียง 2 ตัวอย่างเท่านั้น มีรายงานการพบว่า BTV สามารถติดโดย commercial modified live canine vaccine สำหรับป้องกันโรคหัด (Canine Distemper Virus) และโรคลำไส้อักเสบในสุนัข (Canine Parvo Virus) ซึ่งติดจากการนำ fetal calf serum ที่มีเชื้อไวรัสมาใช้เลี้ยงเซลล์ canine viruses

ปัจจัยโน้มนำที่ทำให้สัตว์เป็นโรคได้ง่าย (Factors Influencing Susceptibility)

  • สายพันธุ์ของเชื้อ
  • สภาพสิ่งแวดล้อม ในที่ที่มีแสงแดด แกะอาจเกิด photosensitization ขึ้นได้
  • แกะสายพันธุ์พื้นเมืองในแอฟริกาจะมีความต้านทานโรคมากกว่าพันธุ์ Merino และสาย พันธุ์ยุโรป เช่น British breeds
  • ความเครียด

สัตว์ที่เป็นโรคนี้ได้ (Host Range)
BTV จะทำให้เกิดโรคในสัตว์ได้หลายชนิด (wide host range) เช่น แกะ แพะ วัว กระบือ กวาง แกะเขาใหญ่ antelope white-tailed deer และ artiodactyls อื่นๆ

ระยะการฟักตัวของโรค (Incubation Period)
ระยะการฟักตัวใช้ระยะเวลาประมาณ 5-20 วันในโค หรือเฉลี่ย 4-7 วันในแกะ (2-15 วัน)

อาการ (Clinical Signs)

แม้ว่า BTV จะมีการติดเชื้อในสัตว์เคี้ยวเอื้องหลายชนิด ลักษณะอาการของโรคจะแสดงอาการในแกะมากกว่า โดยอาการอาจจะผันแปรจากไม่มีอาการ แสดงอาการอย่างอ่อน จนถึงแบบแสดงอาการรุนแรง โดยจะขึ้นกับ virus strains และสายพันธุ์ของแกะ อัตราการตายในฝูงแกะในสภาวะการติดเชื้อตามธรรมชาติประมาณ 2-30% แต่อาจสูงถึง 70% ภายใต้สภาวะอากาศที่หนาวและมีความชื้นสูง ผลิตภัณฑ์ที่จะได้จากสัตว์ที่หายป่วย เช่น เนื้อและขน จะลดลงอย่างมาก

อาการที่พบจากโรคนี้ สามารถแยกได้ 2 รูปแบบ คือ reproductive syndrome และ vasculitis ในอวัยวะหลายๆ ระบบ ทำให้ vascular endothelial เกิดความเสียหาย เป็นผลให้มีความสามารถในการผ่านเข้าออกของเซลล์เสียไป ตัวผนังของเส้นเลือดจะอ่อนแอและเปราะบาง ต่อมาจะมีการแพร่กระจายของ intravascular coagulation และ necrosis ของเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นผลจากความเสียหายของ capillaries เป็นผลให้เกิด edema, congestion, hemorrhage, inflammation และ necrosis อาการที่พบ mucosal erosion, facial edema, conjunctivitis, stiffness และไม่อยากเดิน มีอาการไข้ pulmonary edema, cardiac failure ในส่วนของระบบสืบพันธุ์ทำให้เกิดการแท้ง (abortion) malformed lamb และ calves พ่อโค พ่อแกะเป็นหมันชั่วคราว (temporary sterile) และเป็นตัวการแพร่กระจายโรค

ในโคและแพะไม่ค่อยพบว่ามีการแสดงอาการ มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาว่า พบเพียง 0.01% ของโคที่ติดเชื้อจะแสดงอาการ โดยมีการอักเสบและลอกหลุดที่บริเวณช่องปากและจมูก มีการกีบอักเสบปานกลางและสัตว์เดินขากระเผลก และในการติดเชื้อช่วงแรกของการตั้งท้อง สามารถทำให้เกิดการตายของคัพภะและดูดซึมกลับ

การแสดงอาการในแกะจะพบว่าจะมีอาการไข้สูง (106 องศาฟาเรนไฮต์) หรือมากกว่า อยู่ประมาณ 6 วันหลังจากนั้น 1-2 วันจะมีการบวมน้ำบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก muzzle และใบหู มีการสะสมในบริเวณ intermandibular space บริเวณเยื่อเมือกในปากแดง น้ำลายไหลมาก ภายในปากจะมีจุดเลือดออก พบการลอกหลุด และเป็นแผลหลุม โดยเฉพาะที่บริเวณ Dental pad แกะที่ป่วยน้ำมูกมากและใส ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นเหลืองข้น มี crust ขอบๆ บริเวณจมูก ทำให้หายใจขัด ทำให้การหายใจเร็วขึ้น หอบ บริเวณลิ้นจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มีจุดเลือดออกบริเวณ papillae ต่อมาจะบวมน้ำขยายใหญ่

ในรายที่รุนแรงมากจะพบ ลิ้นเริ่มมีสีม่วงคล้ำ (cyanotic) จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “Bluetongue” ปอดมีการบวมน้ำและเกิดอาการปอดบวม การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน วิการที่เท้ามักพบเสมอ โดยจะเริ่มพร้อมๆ กับช่วงที่มีอาการไข้หรือหลังอาการไข้ โดยเริ่มที่ hyperemia ที่บริเวณ coronary band ทำให้มีจุดเลือดออกและแดง โดยเฉพาะช่วงขาหลัง สัตว์จะมีความเจ็บปวดเกิดขึ้น จะทำให้สัตว์แสดงอาการโก่งหลัง และสัตว์ไม่อยากเคลื่อนไหว lameness และ stiffness ที่เกิดจาก Corinitis และ Myopathy จะเกิดภายหลังแสดงอาการประมาณ 7-12 วัน สัตว์อาจจะตายจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ทั้งๆ ที่สัตว์เริ่มมีอาการดีขึ้น หากอาการ lameness เป็นมากขึ้น สัตว์จะล้มลงนอนหรือใช้เข่าเดินแทนเท้า (kneewalking) กีบมีการลอกหลุด ภาวะท้องเสีย (อาจจะมีเลือดปนหรือไม่ก็ได้) มักพบบ่อยๆ สัตว์จะซึม ไม่สามารถยืนได้และตาย สัตว์บางตัวสามารถฟื้นคืนได้ การติด BTV ในแกะจะทำให้เกิด hypersensitization ซึ่งจะเป็นหนึ่งในอาการของโรคภายใต้สภาวะการเลี้ยงดูตามธรรมชาติ

การวินิจฉัยแยกโรค (Differential diagnosis)
การวินิจฉัยแยกโรคจากอาการเหล่านี้ในแกะ ซึ่งมีอาการที่คล้ายคลึงกัน เช่น Contagious ecthyma, Foot and Mouth Disease, Sheep pox, peste des petits ส่วนในโคต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรค Mucosal diseasse (BVD-MD), Malignant catarrhal fever (MCF), Vesicular disease, Rinderpest, photosensitization, Bovine papular stomatitis, IBR โดยเฉพาะอาการที่คล้ายคลึงกันอย่างมากกับ FMD และ Vesicular stomatitis

การวินิจฉัยโรค (Diagnosis)
ในโคการวินิจฉัยโรคจากอาการไม่เพียงพอ เนื่องจากการอาการของโรคที่แสดงออกในโคจะพบน้อย จึงจำเป็นต้องใช้ผลจากห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผล

ตัวอย่างที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค (Specimens for Laboratory)
ตัวอย่างที่เหมาะแก่การใช้ในการวินิจฉัยคือ heparinized blood และม้ามของลูกสัตว์ สมองของลูกสัตว์ที่แท้ง เม็ดเลือดแดงมีไวรัสตลอดช่วงอายุ Buffy coat cell ส่วนสัตว์ที่เสียชีวิตใหม่ๆ ให้เก็บ ม้าม ตับ ไขกระดูกแดง เลือดในหัวใจ ต่อมน้ำเหลือง ตัวอย่างเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4 oC ห้ามแช่แข็ง อาจจะมีไวรัสโดยพบหลังการติดเชื้อ 3 อาทิตย์

การวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ (Laboratory Diagnosis)

มีหลายวิธีการที่จะแยกเชื้อ orbivirus วิธีที่ไวต่อการพิสูจน์ viral nucleic acid โดยใช้ PCR การฉีดเชื้อเข้าไปในแกะ ตามด้วยการฉีดเชื้อเข้าไข่ฟักอายุ 11 วัน หรือการตรวจเช็คแอนติบอดี Agar gel immunodiffusion (AGID), competitive enzyme linked immunosorbent assay (c-ELISA) หรือ slot-blot hybridization โดย detect mononuclear cell พบการตอบสนองทางแอนติบอดีในช่วง 7-14 วันหลังการติดเชื้อ โดยวิธีการตรวจหาแอนติบอดีได้แก่ AGID, indirect enzyme linked immunosorbent assay จะเป็นการตรวจสอบ BT serogroup-specific

ข้อเสียของวิธีการนี้ คือ ไม่สามารถที่จะแยกภูมิคุ้มกันระหว่าง BT และ EHD ดังนั้นการที่ได้ผลการทดสอบที่เป็นบวก จึงยังไม่สามารถบ่งชี้ชัดได้ว่า BTV เป็นสาเหตุที่แท้จริง จึงได้มีการพัฒนาให้มีความจำเพาะมากขึ้น โดยใช้วิธีcompetitive enzyme linked immunosorbent assay (c-ELISA) เพื่อที่จะใช้ตรวจหา anti-BTV-antibody และวิธีการแยก serotype specific ต้องใช้วิธี viral nutralization test ซึ่งยุ่งยากและเสียเวลา มี viral antigen 2 ชนิดที่ใช้ในการวินิจฉัยทางซีรัมวิทยา คือ กรุ๊ปแอนติเจน (group antigen) โปรตีนที่เรียกว่า VP7 ซึ่งอยู่ในส่วนกลางของไวรัสและมีอยู่ในไวรัส BTVs ทุกตัว ทำให้สามารถจำแนก serogroup specific ได้ ส่วนโปรตีน 2 ชนิดจาก outer capsid ซึ่งใช้เป็นตัวแยก Serotype (1-24)

วิธี AGID สามารถที่จะพบแอนติบอดีในสัตว์ปกติที่ติดเชื้อ BTV ได้เป็นเวลานาน ส่วน CF test นั้นจะตรวจพบแอนติบอดีในช่วงสั้น ซึ่งตรวจพบได้ยากแต่ยังคงมีการใช้อยู่ในการตรวจสัตว์ที่ได้รับเชื้อและเพื่อการส่งออก การแยกเชื้อไวรัสจากเลือดในช่วงที่สัตว์แสดงอาการไข้สูง และเกิดภาวะ viremia จะเป็นตัววินิจฉัยโรคที่แน่นอน เนื้อเยื่อจากม้ามหรือจากสมองของลูกโคที่แท้งออกมา จะเป็นตัวอย่างที่ดี การแยกเชื้อไวรัสกระทำโดยการฉีดเข้าสัตว์ทดลองหรือการ culture วิธีที่เร็วที่สุดในปัจจุบัน คือ การใช้ PCR

การรักษา (Treatment)
การรักษาส่วนมากเป็นการรักษาแบบประคับประคอง (supportive treatment) สัตว์ที่มีวิการที่ปาก จะไม่สามารถกินอาหารได้ ในสัตว์ที่มีราคาสูงอาจจะให้ alfalfa pellets โดยให้ผ่านสายท่ออาหาร หรือกระตุ้นการกินอาหารโดยใช้หญ้าสด ยาปฏิชีวนะที่ให้เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนของแบคทีเรีย และให้ร่วมกับยาลดการอักเสบ

การป้องกันและการควบคุม (Prevention and Control)
การกำจัดพาหะ culicoides จากสิ่งแวดล้อมจะกระทำได้ยาก แต่การเลี้ยงแกะมีการกางมุ้งป้องกันแมลงในช่วงค่ำหรือช่วงเช้าจะสามารถช่วยได้มาก การทำลายแหล่งแพร่พันธุ์ของแมลงหรือโดยการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีความเป็นพิษต่อสัตว์ต่ำ เช่น กลุ่ม synthetic pyrethroids (deltamethrin ทุกสัปดาห์ หรือใช้ fenvalerate ทุกๆ 2 วันในการฉีดพ่นโรงเรือนหรือแหล่งของแมลง) การฉีดยา Ivermectin เข้าใต้ผิวหนัง ยังมีผลต่อการทำลาย culicoides ที่มาทำการดูดเลือดสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการใช้วัคซีนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการใช้วัคซีนในแกะ

ส่วนในโคยังขาดข้อมูลของความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งผลิตภัณฑ์วัคซีนที่ใช้ในแกะจะเป็นวัคซีนเชื้อเป็น เนื่องจากวัคซีนเชื้อตายไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควรและมีราคาแพงในการผลิต และ subunit vaccine ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันจึงเป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่มีข้อจำกัดในเรื่องที่อาจจะทำให้เกิดภาวะ viremia ซึ่งอาจจะมีแมลงมาดูดเลือดและเป็นพาหะ หรือเกิดการแพร่ของเชื้อไปสู่ตัวลูกในรายที่ตั้งท้อง หรืออาจจะก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อในน้ำเชื้อ หรืออาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น หรืออาจจะมีการรวมตัว (reassortment) กับไวรัสในท้องถิ่นเกิดขึ้นเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ความคุ้มโรคของวัคซีนจะเป็นความคุ้มเฉพาะ serotype ที่ทำ ดังนั้นควรจะเป็น local strain หรือ serotype ที่ระบาดในพื้นที่ ซึ่งสามารถแยก serotype โดยใช้ specific-tissue culture virus neutralization (TC-VN) test และการใช้วัคซีนส่วนมากจะเป็นวัคซีนรวมหลายสายพันธุ์ เช่น วัคซีนรวม 15 สายพันธุ์ มีการผลิตและจำหน่ายในแอฟริกาใต้ 5 serotypes ในปากีสถาน (serotype 3,9,15,16,18) หรือในรัฐแคลิฟลอเนีย จะใช้วัคซีน serotype 10,11,17 ควรให้วัคซีน 2 สัปดาห์ก่อนการผสมพันธุ์ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาวิรูปในลูกสัตว์ วัคซีนจะให้ความคุ้มเฉพาะ serotype ที่ทำเท่านั้น โดยจะไม่ให้ความคุ้มข้ามสายพันธุ์และให้ความคุ้มโรค 1 ปี อย่างไรก็ตามสัตว์ที่มีการทำวัคซีนจะไม่ถูกนำเข้ามาเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ และจะถูกทำลายเพื่อความปลอดภัย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย