ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พุทธศาสนากับจริยศาสตร์สมัยปัจจุบัน

พุทธศาสนากับอภิจริยศาสตร์
พุทธศาสนากับจริยศาสตร์แบบอัตถิภาวนิยม
พุทธศาสนากับจริยศาสตร์แบบลัทธิมาร์กซ์
ทำไมพระพุทธองค์ตำหนิการบูชายัญ และห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
บทสรุป
บรรณานุกรม

พุทธศาสนากับจริยศาสตร์แบบอัตถิภาวนิยม

อัตถิภาวนิยมเกิดขึ้น เนื่องมาแต่ความไม่พอใจต่อสภาพสังคมปัจจุบัน ที่มนุษย์ต้องสูญเสียตนเอง จนกระทั่งเป็นที่พึ่งของตนเองไม่ได้ สถาบันต่าง ๆ ในสังคม เช่น ระบบการเมือง ศาสนา จารีตประเพณี ตลอดถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ต่างไม่ให้ความหวังใด ๆ แก่มนุษย์ มนุษย์จำต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นทาส ดำรงชีวิตอย่างไร้ศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ เหมือนสวะที่ลอยไปตามกระแสของแม่น้ำ อัตถิภาวนิยมได้เรียกร้องให้มนุษย์กอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนเองคืน ด้วยการนำเสรีภาพที่มีอยู่โดยธรรมชาติของตนออกมาใช้

ส่วนทางพุทธศาสนาอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาองค์แรกก็ว่าได้ ที่มีบุคลิกภาพแบบอัตถิภาวนิยม เพราะพระองค์ไม่ทรงพอพระทัยกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น สังคมที่มีพราหมณ์และศาสนาพราหมณ์คอยกำหนดความเป็นไปของประชาชน ชีวิตของผู้คนต้องล่องลอยไปตามกระแสของสังคม (ฝากชีวิตไว้กับพิธีกรรมต่าง ๆ) ขึ้นอยู่กับอำนาจที่มองไม่เห็น (พระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ) เป็นไปอย่างไร้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ (ระบบวรรณะ) แต่ละอย่างล้วนสร้างความแปลกแยกในชีวิตมนุษย์ทั้งสิ้น

พระพุทธเจ้าทรงสถาปนาพุทธศาสนาขึ้นมา เพื่อย้ำถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ เป็นศาสนาของมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์ จึงนับเป็นท่าทีแบบอัตถิภาวนิยม ที่เกิดขึ้นก่อนลัทธิอัตถิภาวนิยมถึง 2,500 ปี

ทรรศนะของอัตถิภาวนิยมที่ว่า มนุษย์สร้างตนเองจากการเลือกเสรีของเขา ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรมหรืออะไรก็ตาม ข้อนี้พระพุทธศาสนาคงไม่ขัดแย้งอะไรด้วย เพราะพุทธศาสนายอมรับว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของมนุษย์ และเกิดขึ้นจากมนุษย์เช่นกับลัทธิอัตถิภาวนิยม ไม่ใช่เกิดจากแก่นสารหรือสาระที่มีอยู่แต่เดิมบางอย่าง เช่น พระเจ้า (God)

พระพุทธศาสนายอมรับว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรี (Free will) และสามารถใช้เจตจำนงอันนี้พัฒนาปรับปรุงตนเองที่เรียกว่าสร้างกรรมดี (กุศลกรรม) ซึ่งก็พ้องต้องกับลัทธิอัตถิภาวนิยม ที่เชื่อในเสรีภาพของมนุษย์ แต่ลัทธิอัตถิภาวนิยมอาจจะแตกต่างจากพุทธศาสนาที่วางใจในมนุษย์เกินไปว่า ในการตัดสินใจเลือกนั้น มนุษย์มักจะเลือกสิ่งที่ดี ซึ่งรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ (his choice involves mankind in its entirety)(Sartre, Jean Paul, 1984:48) แต่สำหรับพุทธปรัชญาแล้ว จะเห็นว่า ไม่จริงเสมอไป ที่มนุษย์จะใช้เสรีภาพของตนไปในทางที่ถูกที่ควรทุกครั้งไป การเลือกเสรีที่เป็นกุศลหรืออกุศลนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางจิตใจของคนที่เลือกด้วย ว่าตัดสินใจกระทำลงไปด้วยเจตสิกธรรมที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

กล่าวโดยสรุป ลัทธิอัตถิภาวนิยม สอนให้มนุษย์แสวงหาตนเองเช่นกับพุทธศาสนา แต่การยึดถือจริยศาสตร์แบบอัตถิภาวนิยมเพียงในบางแง่มุม อาจนำไปสู่การพอกพูนขยายอัตตาตนเองขึ้นตามการรู้จักตนเอง แม้ จัง ปอล ซาร์ต จะเคยกล่าวว่า การใช้เสรีภาพต้องควบคู่ความรับผิดชอบก็ตาม ส่วนการรู้จักตนเองของพุทธศาสนา เป็นการรู้จักตนเองตามสภาพเป็นจริงของสภาวธรรม เพื่อลดอัตตาของตนเอง หรือเพื่อเอาชนะจิตใจของตนเองแล้วจะไม่เป็นทาสของตนเองอีกต่อไป เพราะเกิดความเข้าใจตามความเป็นจริงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

การรู้จักตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ดี ผลเสียจะเกิดขึ้นก็ตรงที่เป็นการรู้จักตนเองเพื่ออะไร เพื่อลดหรือเพื่อพอกพูนอัตตาของตนเอง หากเป็นข้อหลัง การรู้จักตนเองลักษณะนี้ย่อมเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย