ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
พุทธศาสนากับจริยศาสตร์สมัยปัจจุบัน
พุทธศาสนากับอภิจริยศาสตร์
พุทธศาสนากับจริยศาสตร์แบบอัตถิภาวนิยม
พุทธศาสนากับจริยศาสตร์แบบลัทธิมาร์กซ์
ทำไมพระพุทธองค์ตำหนิการบูชายัญ และห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
บทสรุป
บรรณานุกรม
ทำไมพระพุทธองค์ตำหนิการบูชายัญ และห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
คำตอบก็คือ พวกอารยันอินเดียโบราณ เริ่มเปลี่ยนชีวิตจากการเป็นชนเผ่าเร่ร่อน
ไปเป็นชนเผ่าที่อยู่กับที่ เป็นการเริ่มยุคเกษตรกรรม (settled agriculture)
มีการเพาะ ปลูก หว่าน ไถ ส่วนการพาณิชยกรรมได้เริ่มขึ้นเช่นกัน มีการแต่งกองคาราวาน
ไปค้าขายต่างเมือง จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นกสิกรรมหรือพาณิชยกรรม
ต่างอาศัยแรงงานปศุสัตว์ทั้งสิ้น หากปล่อยให้มีการฆ่าสัตว์บูชายัญคราวละมาก ๆ
ระบบการผลิตของสังคมต้องพลอยได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เปลี่ยนวิธีบูชายัญเสียใหม่ไปเป็นการสังคมสงเคราะห์แทนดังที่ปรากฏในกูฏทันตสูตรเป็นต้น
เพื่อจะไม่ให้กระทบกระเทือนกับระบบการผลิตของสังคมสมัยนั้น
ส่วนคำสอนอื่น ๆ เช่น อหิงสา ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ความขยัน
เป็นต้น ล้วนมีเหตุผลจากกระบวนการผลิตของสังคมทั้งสิ้น
ทั้ง 3 ข้อนี้ แสดงให้เห็นพอเป็นตัวอย่างว่า
ชาวมาร์กซิสต์มองพุทธศาสนาอย่างไร
ส่วนความคล้ายคลึงและความแตกต่างกันระหว่างพระพุทธศาสนากับลัทธิมาร์กซ์จะขอแยกแยะกล่าวเป็นข้อ ๆ ดังนี้
-
การที่ลัทธิมาร์กซ์กล่าวว่าโครงสร้างส่วนบน(จิตสำนึกทางสังคม) มาจากโครงสร้างส่วนล่าง (รากฐานทางเศรษฐกิจ) นั้น พอเปรียบเทียบได้อย่างหยาบ ๆ กับหลักสังสารวัฏของพุทธปรัชญาดังนี้
สังสารวัฏ คือวงจรที่หมุนเวียนเป็นปัจจัยของกันและกันแห่งกิเลส กรรม และวิบาก ที่อธิบายได้ในรูปของ ปฏิจจสมุปบาท ดังนี้
มาร์กซ์กล่าวไว้ใน บทวิพากษ์เศรษฐกิจการเมือง (Critique of Political Economy) ว่า :
สภาพการดำรงชีวิตในสังคมของมนุษย์นั่นเองที่กำหนดความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ (their social existence that determines their social consciousness)(Karl Marx,1978:บทนำ)
สภาพการดำรงชีวิต (existence) หมายถึงวิถีชีวิตในการผลิตของสังคม ถือเป็นโครงสร้างส่วนล่าง สิ่งนี้จะเป็นรากฐานให้เกิดโครงสร้างส่วนบน เช่น การเมือง ศาสนา กฎหมาย เป็นต้น อย่างเคยกล่าวมาแล้วข้างต้น เราอาจเปรียบเทียบสภาพการดำรงชีวิตหรือระบบการผลิตได้กับกิเลสทางสังคม จากนั้นจะผลักดันให้เกิดลักษณะทางสังคมที่เป็นโครงสร้างส่วนบน (กรรม) ที่สอดคล้องกับที่มาหรือกิเลส ผลลัพธ์คือการเสวยผลทางสังคม(วิบาก) อันเกิดจากการปรุงแต่งของกรรม หรือลักษณะทางสังคม โดยที่เราอาจยกสังคมทุนนิยมมาแสดงเป็นตัวอย่างดังนี้ :
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เรายอมรับได้หรือไม่ว่า ความคิดของมนุษย์ โดยเฉพาะความคิดของมนุษย์ปุถุชน (สังขาร : การทำกรรม) มักถูกกำหนดโดยภาวการณ์ทางวัตถุหรือชีวิตทางการผลิต (กิเลส) แบบที่มาร์กซ์กล่าวไว้ ถ้ายอมรับได้ ก็เท่ากับยอมรับประเด็นที่คล้ายคลึงกันระหว่างพุทธศาสนากับลัทธิมาร์กซ์ และเท่ากับยอมรับว่า จริยธรรม (ส่วนที่เป็นจิตใจหรือโครงสร้างส่วนบน) เป็นเพียงผลพลอยได้ของสภาวะที่เป็นกระบวนการผลิตของมนุษย์ หากเป็นเช่นนั้นจริง ศาสนาอย่างพุทธศาสนาก็หนีไม่พ้นไปจากเงื่อนไขนี้ -
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธ ไม่มีผู้ใดเป็นครู สิ่งที่พร่ะองค์ตรัสรู้คือ ความจริง (reality) ซึ่งอาจจะเรียกว่า ไตรลักษณ์ อริยสัจ 4 หรือปฏิจจสมุปบาทก็ได้ สุดแท้แต่ว่าจะมองจากจุดใด ความจริงนี้เป็นกฎธรรมชาติที่มีอยู่อย่างนั้น (ธมฺมฐิตตา) ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของใคร
ฉะนั้น ระบบศีลธรรมของพระพุทธศาสนาก็คือ
ระบบที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นจากการตรัสรู้ของพระองค์
อย่างสอดคล้องกับเป้าหมายหรือความจริงแท้ ที่ชาวพุทธต้องเดินให้ถึงจุดนั้น
อย่างที่พระองค์เคยตรัสไว้ว่า ทรงเป็นเพียงผู้บอกทาง (อกฺขาตาโร ตถาคตา)
กล่าวคือทรงแสดงคำสอน ที่เป็นศีล วินัย หรือธรรมะ
ที่เหมาะแก่เป้าหมายให้คนนำไปปฏิบัติในชีวิต
จากเหตุผลดังกล่าว จะพบว่า ศีลธรรมหรือระบบจริยธรรมในพระพุทธศาสนา
ไม่ใช่ผลพลอยได้จากสังคม หรือเกิดจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของสังคม
แต่เกิดขึ้นจากการแสวงหาความจริงจนกระทั่งได้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ซึ่งเราอาจกล่าวว่า
พระพุทธศาสนาคือศาสนาที่เกิดขึ้นจากการแสวงหาความจริงของพระพุทธองค์
แม้จะได้รับแรงบันดาลใจจากสภาพการณ์การณ์ที่มีในสังคม
แต่ก็ไม่ถูกต้องที่จะกล่าวว่ามาจากการผลักดันจากสภาพการณ์ของสังคมเท่านั้นโดยส่วนเดียว
คนเรามักจะเข้าใจว่า มนุษย์โดยทั่วไปมักพูด คิดและทำ (ทำกรรม)
เพราะแรงผลักดันของสิ่งแวดล้อม (สภาวการณ์ทางสังคม
ซึ่งรวมเอาวิถีชีวิตทางการผลิตด้วย) แต่หากจะพิจาณากันอย่างถี่ถ้วนแล้ว
สิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น จริง ๆ นั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ
อีกที่ทำให้มนุษย์ทำกรรมแต่ละอย่างลงไป เหมือนการขึ้นบันได
บันไดขั้นแรกอาจเป็นปัจจัยทำให้เรายืนอยู่บันไดขั้นที่ 2 ได้ แต่การจะขึ้นขั้นที่ 3
ต่อ หรือจะไม่ขึ้นคือ เดินกลับลงไป
ก็ขึ้นอยู่กับตัวมนุษย์ผู้นั้นที่ยืนอยู่บนบันไดอยู่ดี มนุษย์จึงมีเจตจำนงเสรี
และไม่ใช่ถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อมโดยส่วนเดียว
ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ว่า ถ้ามนุษย์มีกิเลส กล่าวคือ ใช้อวิชชา ตัณหา
อุปาทาน เป็นตัวนำชีวิตแล้ว ไม่ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ภายใต้สังคม
(ภาวการณ์ทางการผลิต) เช่นใด เขาอาจทำอกุศลกรรม เช่น สร้างระบบศีลธรรมผิด ๆ
อย่างมาร์กซ์เคยกล่าวไว้ แล้วก่อให้ให้เกิดผลกรรมตามนั้น เช่น
ขาดการไว้วางใจระหว่างกัน หวาดระแวงต่อกัน และจนถึงที่สุดต้องขัดแย้งต่อสู้กัน
จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนในสังคม ข้อนี้อาจจริงอย่างมาร์กซ์ได้กล่าวไว้
แต่จะยึดเอามนุษย์ที่มีกิเลสดังกล่าว
มาเป็นมาตรฐานสำหรับการมองมนุษย์ว่าจะเป็นเช่นนั้นไปเสียทั้งหมดคงไม่ถูกต้อง
นอกจากมีกิเลสแล้ว บางครั้งมนุษย์ยังมีความสำนึกรับผิดชอบชั่วดี
มากน้อยตามพื้นฐานนิสัยที่ตนได้รับการอบรมสั่งสอนมาอีกด้วย ฉะนั้น
ศีลธรรมที่ถูกต้องและดีงามในทรรศนะของพุทธปรัชญานั้น มีอยู่อย่างแน่นอน
โดยไม่ต้องรอจนกระทั่งถึงสังคมใหม่
ไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ที่มาร์กซ์บอกว่าจะมีศีลธรรมอย่างแท้จริงเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม
กล่าวคือ สามารถเกิดขึ้นแม้ในปัจจุบัน ภายใต้สภาพการผลิตทุกแบบของสังคม
หากมนุษย์ใช้วิชชาหรือปํญญาเป็นตัวนำชีวิต
ถ้ามีสังคมคอมมิวนิสต์จริง ๆ พุทธศาสนาคงจะมองว่า
มนุษย์ในสังคมเช่นนั้นมีกิเลส ตัณหา อุปาทานหรือไม่
ถ้ามนุษย์ยังมีกิเลสเป็นต้นดังกล่าว ก็แน่นอนว่า
ถ้าให้คนเช่นนั้นสร้างระบบศีลธรรมขึ้นมา
เขาย่อมสร้าระบบศีลธรรมที่เอื้อประโยชน์เฉพาะชาวพรรคคอมมิวนิสต์เป็นหลัก
แม้ว่าพวกเขาจะประกาศตนเองว่าเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้เสียเปรียบก็ตาม
อย่างเช่นเคยเกิดและกำลังเกิดกับประชาชนในประเทศคอมมิวนิสต์หลายๆ ประเทศมาแล้ว