ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย

พระพุทธศาสนาสมัยพ่อขุนรามคำแหง

สุโขทัยสมัยนั้น มีศาสนาพราหมณ์ พระพุทธศาสนามหายาน และเถรวาทปนกันไป มีวัดสำคัญอยู่วัดหนึ่ง คือ วัดมหาธาตุ กลางกรุงสุโขทัย พระเจดีย์สำคัญวัดนี้ ปัจจุบันยังเหลืออยู่หลายองค์และมีศิลปะแปลกกว่าเจดีย์อื่นในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ คือ พระเจดีย์ที่เรียกว่าพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือแบบที่เรียกว่า เหมือนพุ่มเทียน พระเจดีย์แบบนี้มีเฉพาะ จังหวัดสุโขทัย ตาก กำแพงเพชร ไม่เคยพบในจังหวัดอื่นเลย แต่แปลกที่เจดีย์แบบนี้ไปมีในเมืองจีนด้วยถึง 2 องค์ ไม่ทราบว่าใครเอาอย่างใคร แต่อย่างไรก็ตามแสดงว่าในสมัยกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะในรัชสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระพุทธศาสนามั่นคงพอสมควร

นอกจากเมืองสุโขทัยแล้ว ที่เมืองศรีสัชนาลัย ก็ยังมีโบราณวัตถุคล้ายกับสุโขทัย เช่น วัดเจดีย์เจ็ดแถว พระสถูปทรงข้าวบิณฑ์ มีหลักฐานแสดงว่าในสมัยสุโขทัยนั้น ไทยได้เลิกนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานอย่างขอม ซึ่งลัทธินี้รุ่งเรืองมากในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไทยในสมัยนี้ได้รับเอาลัทธิลังกาวงศ์ จากจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้ามา แต่ตั้งแต่นั้นมาไทยไม่เคยเปลี่ยนลัทธิทางพระพุทธศาสนาอีกเลย

แม้การปกครองที่เปลี่ยนจากระบบเทพาวตาร ไทยก็เปลี่ยนมาเป็นระบบพ่อปกครองลูก ข้อนี้เป็นเพราะอิทธิพลของอพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท โดยเฉพาะข้อความในจักรวัตติสูตรและอัคคัญญสูตร มีอิทธิพลอย่างสูงต่อระบบการปกครอง ทำให้กษัตริย์ไทยทรงสำนึกในหน้าที่ในการบำรุงจักรวรรดิต่อประชาชน

ด้านปูชนียวัตถุ มีการสร้างพระสถูปเจดีย์แบบไทยแท้ ตัวอย่าง เช่น พระสถูปวัดช้างร้อง เมืองศรีสัชนาลัย วัดเจดีย์เจ็ดแถว ที่เมืองศรีสัชนาลัย

ด้านพระพุทธปฏิมา พุทธศิลป์ในสมัยสุโขทัย แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่รุ่งเรืองที่สุด ระยะผสม และ ระยะเสื่อม เราอาจกล่าวได้ว่า ไทยเป็นที่ผลิตพระพุทธรูปมากที่สุดในโลก และพุทธศิลป์ที่งามที่สุดคือสมัยกรุงสุโขทัย ในการหล่อพระพุทธปฏิมาไทยสามารถหล่อพระพุทธปฏิมาใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น แม้แต่ชาติอิตาลีก็ไม่สามารถทำได้ เช่น พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันอยู่ในวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม หน้าตักสามวาเศษ พระพุทธรูปนิยมสร้างใน 4 อิริยาบถ คือยืน เดิน นั่ง นอน พระยืนนั้นที่เป็นสำริดมีน้อย ไม่เหมือนชนิดปูนั้น ที่เรียกว่า พระอัฏฐารสอาจดูตัวอย่างได้ในวัดมหาธาตุ สุโขทัย และพระอัฏฐารสที่วัดสระเกศในปัจจุบัน พระพุทธลีลาที่ถือว่างามที่สุด อยู่ที่วิหารคต วัดเบญจมบพิตร พระปูนปั้นขนาดใหญ่ เช่น พระอัจนะ ที่วัดศรีชุม ส่วนพระสำริดขนาดใหญ่ เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศาสดา และพระที่ยังมีปัญหาอีกอยู่อีกองค์หนึ่ง คือ พระทอง วัดไตรมิตร พระปางไสยาสน์นั้นมีอยู่ที่วิหารพระศรีศาสดา ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ในสมัยสุโขทัยตอนต้นนั้น คณะสงฆ์ที่มีอยู่สืบต่อมาจากสมัยทวาราวดีพวกหนึ่ง คณะสงฆ์ที่สืบต่อมาแต่สมัยลพบุรีพวกหนึ่ง ครั้งแรกมีทั้งเถรวาทและมหายาน พอมาถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระองค์ได้ส่งทูตไปนิมนต์คณะสงฆ์ลังกาวงศ์ จากเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย เพราะฉะนั้นในจารึกของพระองค์ จึงพรรณนาความว่า

“ในเมืองสุโขทัยนี้ มีปู่ครู มีเถระมหาเถระสังฆราชปราชญ์เรียนจบไตร ฉลาดกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกตนลุกมาแต่เมืองนครศรีธรรมราช”

อันที่จริงจำเดิมแต่พระเจ้าปรักกมพาหุมหาราชฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา มีการประชุมพระสงฆ์แต่งฎีกา เป็นต้น ในตอนต้นศตวรรษที่ 17 นั้น ก็ปรากฏว่า มีพระพม่า พระมอญ พระชาวทวาราวดี และลพบุรี ออกไปเรียนรู้ลัทธิจากลังกาเข้ามา สำหรับประเทศไทยนั้นปรากฏว่า คณะสงฆ์ลังกาวงศ์เข้ามาตั้งที่เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนเป็นแห่งแรก เวลานั้นยังเป็นประเทศชื่อว่า ตามพรลิงค์ สังฆปาโมกข์นิกายนี้ ชื่อว่า พระราหุล เหตุการณ์นี้เกิดก่อนอาณาจักรสุโขทัย ประมาณ 100 ปี เมื่ออาณาเขตสมัยพ่อขุนรามคำแหงแผ่ลงไปถึงหัวเมืองมลายูแล้ว จึงยอมรับเอาลัทธินี้เป็นศาสนาประจำรัฐของไทยไป ส่วนนิกายเดิมที่มีอยู่ก่อนก็ค่อย ๆ เสื่อมไป เมื่อลังกาวงศ์มาตั้งที่สุโขทัยแล้ว ได้เกิดผลสะท้อนในทางการศึกษา การปกครองคณะสงฆ์ และศิลปกรรมดังต่อไปนี้ คือ

1. ในด้านการศึกษา ไทยได้รับพระไตรปิฎกทั้งอรรถกถา ฎีกา จากลังกา แม้ก่อนหน้านี้ พระไตรปิฎกของเถรวาท จะมีอยู่แล้วในชนชาติมอญ ครั้งสมัยทวาราวดีก็จริง เข้าใจว่าในสมัยหลังคงตกหล่นหาไปมาก เพิ่งได้รับพระไตรปิฎกครบถ้วน ในสมัยต้นสุโขทัยจากลังกา เป็นเหตุให้การออกเสียงภาษามคธ ของสงฆ์ไทย ชัดถ้อย ชัดคำ ตามแบบลังกายิ่งกว่าชนชาติอื่น

2. คัมภีร์พระพุทธศาสนาในยุคแรก คงจารึกด้วยอักษรสิงหล ต่อมาได้ถ่ายเป็นอักษรขอม ที่ไม่ถ่ายเป็นอักษรไทยตามที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้น อาจเป็นเพราะความนิยมอักษรขอมของคนในยุคนั้น เพราะอักษรพ่อขุนรามคำแหงเป็นการดัดแปลงอักษรไทยเดิมเท่านั้นเอง ข้อนี้พึงเห็นอักษรไทยลื้อในยูนนานเป็นตัวอย่าง อีกประการหนึ่ง อักษรที่พ่อขุนรามคำแหงบัญญัติขึ้นมีอักษรไม่พอเขียนคำมคธ จึงได้ถือเอาอักษรขอมเป็นคำจารึก

3. อิทธิพลของลังกาวงศ์ต่อการปกครองคณะสงฆ์ไทย ได้ทำให้เกิดสมณศักดิ์ขึ้น สมณศักดิ์นี้ในอินเดียหามีไม่ ลังกาเป็นผู้คิดขึ้นก่อน ในชั้นเดิมมี 2 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งสวามี และตำแหน่ง มหาสวามี ทางสุโขทัยรับมาเปลี่ยนแปลงตามทางโลก จึงเกิดทำเนียบสมณศักดิ์ ขึ้นครั้งแรก คือ

1. ครูบา
2. เถระ
3. มหาเถระ
4. สังฆราช เทียบตำแหน่งมหาสวามี
5. สังฆปรินายกสิทธิ

การปกครองคณะสงฆ์แบ่งออกเป็น 3 คณะ คือ

  1. คณะคามวาสี มีเจ้าคณะชื่อ สังฆราชญาณรูจีมหาเถระ
  2. คณะอรัญวาสี มีเจ้าคณะชื่อพระบรมครูติโลกดิลกติรัตนสีลคันธวนวาสีธรรมกิตติ สังฆราชมหาสวามี
  3. คณะพระรูป คณะนี้มืดมนไม่ทราบที่ไปที่มา

4. อิทธิพลเกี่ยวกับศาสนพิธี ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงได้พรรณนาถึงสภาพของชาวสุโขทัยและประเพณีทางศาสนามีข้อความว่า “คนเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัย ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีล เมื่อพรรษาทุกรูป เมื่อออกพรรษากราลกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว เมื่อกราลกฐินมีพนมเบี้ยพนมหมากพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนนอน มีบริพารกฐิน เป็นต้น”

ชาวสุโขทัยเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา ตรงกันข้ามกับข้อกล่าวหาของคนบางคนว่า การที่นับถือศาสนาพุทธ ทำให้ขี้เกียจ เพราะพ่อขุนรามคำแหงจารึกต่อไป ว่า “แต่คนในเมืองสุโขทัยนี้ด้วยรู้ ด้วยหลวก ด้วยกล้า ด้วยหาญ ด้วยแคะ ด้วยแรก หาคนเสมอมิได้” เมื่อคนสุโขทัยขยันขันแข็งทำให้ “มีวิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมาก ป่าพลู มีไร่ มีนา มีถิ่นฐาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วง ป่าขาม ดูงามดังแกล้ง”

5. เนื่องจากกษัตริย์สุโขทัยตั้งพระองค์เป็นพ่อใกล้ชิดกับราษฎรผู้เป็นลูกอยู่เสมอ จึงได้เกิดสุภาษิตสอนราษฎร เช่น พ่อสอนลูก เรียกว่า ภาษิตพระร่วง เช่น “อาสาเจ้าจนตัวตาย อาสานายแต่พอแรง ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศลอย่ารู้โรย อย่าขุดคนด้วยปาก อย่าถากคนด้วยตา อย่าแผ่เผื่อความผิด อย่าผูกมิตรคนจร อย่ารักเหากว่าผม อย่ารักลมกว่าน้ำ อย่ารักถ้ำกว่าเรือน อย่ารักเดือนกว่าตะวัน”

6. อิทธิพลทางศิลปะ ไทยได้พระพุทธสิหิงค์จากลังกา ซึ่งเป็นแม่แบบของพระพุทธรูปสุโขทัย พระพุทธรูปในประเทศไทยก่อนหน้านี้ทุกยุคไม่เคยมีเปลวรัศมีสูง เพิ่งจะมีขึ้นครั้งแรกในสมัยสุโขทัย สังฆาฏิพระพุทธรูปในสมัยก่อนหน้านี้ ไม่เคยเป็นแฉกชนิดที่เรียกว่า เขี้ยวตะขาบ พุทธปฏิมาแบบสุโขทัย มีพระเจดีย์แบบลอมฟาง ซึ่งถ่ายจากรีจิเจดีย์ในลังกาก็ดี ถูปารามในลังกาก็ดี สมัยสุโขทัยได้สร้างขึ้น เช่น พระมหาธาตุวัดช้างร้องเมืองชะเลียง

ยุคฟูนัน (พนม) (ศตวรรษที่ 6–7)
ยุคทวาราวดี (ศตวรรษที่ 11–16)
กษัตริย์เทียบเท่าพระโพธิสัตว์
ยุคศรีวิชัย (ศตวรรษที่ 12–18)
ยุคลพบุรี (ศตวรรษที่ 15–18)
พระพุทธศาสนายุคสุโขทัย(ศตวรรษที่ 18)
พระพุทธศาสนาสมัยพ่อขุนรามคำแหง
การปกครองคณะสงฆ์สมัยสุโขทัย
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท
พระพุทธศาสนาในสมัยล้านนา(ลานนา)
พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าเม็งราย(ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา)
พระเจ้ากือนาธรรมิกราช (ตื้อนา)
พระพุทธศาสนาสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนาสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163 เป็นต้นมา)
พระพุทธศาสนาสมัยพระนารายณ์มหาราช(พ.ศ.2199เป็นต้นมา)
แผนการยึดเมืองไทยของฝรั่งเศส
พระพุทธศาสนาสมัยสมเด็จพระบรมโกษฐ์(พ.ศ. 2275เป็นต้นมา
สรุปพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนาในสมัยกรุงธนบุรี(พ.ศ.2310–2325)
พระพุทธศาสนาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ.2325 ถึงปัจจุบัน)
พระพุทธศาสนาสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยลเดช
นาคหลวง
ภาวะแห่งความแย้งขัดระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น
เกี่ยวกับนิกายแห่งศาสนาและลัทธิอื่น
นิกายหรือลัทธิใหม่ที่เกิดมีขึ้นในประเทศไทย
การเข้ามาสู่ประเทศไทยของพระพุทธศาสนา
ยุคที่ 1 ลัทธิหินยานอย่างเถรวาท
ยุคที่ 2 ลัทธิมหายาน
ยุคที่ 3 ลัทธิหินยานอย่างพุกาม
ยุคที่ 4 ลัทธิลังกาวงศ์
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย