ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย

พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3)

พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(2367–2394) นั้น เป็นผู้ปรารถนาพระโพธิญาณ ได้ทรงบำเพ็ญบารมีเยี่ยงอย่างพระโพธิสัตว์ โดยถือแนวพระเวสสันดรเป็นหลัก ดังนั้นจึงทรงเคารพรัก พระภิกษุ สามเณร และทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นพิเศษ การซ่อมการสร้างวัดได้เกิดขึ้นเป็นอันมากและแยกการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็น 4 คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะอรัญวาสี โดยให้มีพระราชาคณะหรือสมเด็จพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะใหญ่ในตำแหน่งทั้ง 4 นั้น เมืองไทยได้ขอยืมพระไตรปิฎกมาจากลังกาถึง 40 คัมภีร์ เพื่อคัดลอกเข้าสู่ภาษาไทย การติดต่อเรื่องพระพุทธศาสนากับประเทศลังกา ได้มีหลายครั้งด้วยกัน

กำเนิดคณะธรรมยุต

ในรัชสมัยนี้มีเรื่องที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ ซึ่งออกจะมีความสำคัญอยู่เรื่องหนึ่ง คือ การอุบัติบังเกิดขึ้นของคณะธรรมยุต โดย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากทรงผนวชไม่นาน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เสด็จสวรรคต ราชสมบัติตกอยู่แก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะอยู่ในสมณเพศต่อไป หลังจากที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าหลักธรรมในพระไตรปิฎกมาเทียบเคียงกับการประพฤติปฏิบัติของพระในครั้งนั้น ทรงเห็นว่าบางอย่างไม่ตรงกัน เมื่อทรงสอบถามผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครที่จะชี้แจงอธิบายให้เกิดความเข้าพระทัยได้ ทำให้เกิดท้อพระทัย และคิดเลยไปถึงว่า ศาสนวงศ์ที่สืบต่อกันมาจากพระอริยสงฆ์ในสมัยพุทธกาลอาจจะหายไปหมดแล้ว จึงตั้งพระทัยอธิษฐาน ถ้าหากท่านที่สืบต่อมาจากพระอริยสงฆ์ยังมีอยู่ ก็ขอให้ท่านได้พบภายใน 3 วัน หรือ 7 วัน และในที่สุดก็ได้พบกับ พระสุเมธมุนี เป็นพระมอญอยู่ทางวัดบวรมงคล มีความรอบรู้แตกฉานในพระวินัยปิฎก เคร่งครัดมากจึงได้เสด็จไปสนทนาสอบถามเทียบเคียงกับหลักที่ได้ทรงศึกษามา เห็นว่ามีความถูกตรงตามหลักของพระไตรปิฎก จึงทรงมีพระศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามนั้น แต่มีขัดข้องอยู่ เนื่องจากในขณะนั้น ยังประทับอยู่ในสำนักของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ คือสมเด็จพระสังฆราช ที่วัดมหาธาตุ จึงได้เสด็จย้ายไปที่วัดสมอราย ในปี พ.ศ. 2372 แต่ไม่ได้ลาขาดจากวัดมหาธาตุแต่ประการใดก็คงเสด็จไป ๆ มา ๆ อยู่ เพียงแต่ว่ามีพระประสงค์จะปฏิบัติให้ถูกตรงตามหลักธรรมพระไตรปิฎกเท่านั้นเอง ถ้ามองถึงเหตุผลของการแยกพระองค์ไปประพฤติปฏิบัติธรรมให้ถูกตรงตามหลักของพระวินัยในครั้งนั้น คงไม่มีพระประสงค์ให้เกิดนิกายขึ้นแต่ประการใด เพียงแต่ว่าเมื่อบวชมาแล้ว ก็ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ก็ไม่ควรจะบวช

ในระยะแรกก็มีภิกษุที่ถวายตัวเป็นลูกศิษย์เพียง 6 รูปเท่านั้นเองแต่จากการประพฤติปฏิบัติของพระองค์ที่ทรงมีความเคร่งครัด จึงสร้างศรัทธาปสาทะให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนมากขึ้น จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ ทรงจัดการปรับปรุงการศึกษา การปฏิบัติที่วัดสมอราย ให้ดียิ่งขึ้น เมื่อมีเสียงครหานินทาว่า พระวชิรญาณหรือเจ้าฟ้ามงกุฏฝักใฝ่ทางการเมือง รัชกาลที่ 3 ทรงรู้สึกรำคาญ จึงปรึกษากับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยชาญเมื่อครั้งยังเป็นที่พระยาศรีพิพัฒน์ ได้โปรดเลื่อนสมณศักดิ์พระวชิรญาณขึ้นเป็นเจ้าคณะรองและเชิญเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2379 เพื่อให้อยู่ใกล้พระเนตรพระกรรณ จะได้ขจัดเรื่องความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนออกไป ขณะที่พระวชิรญาณหรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศนั้น มีพระชันษาได้ 32 พรรษาพอดี พระองค์ได้ทรงวางระเบียบในการประพฤติปฏิบัติสำหรับคณะธรรมยุตขึ้น โดยยึดถือหลักพระธรรมวินัยเป็นเกณฑ์ ปัญหาที่ไม่ค่อยจะตรงกันกับพระสงฆ์เดิมก็คือ เรื่องการห่มจีวรกับการปฏิบัตวินัยบางข้อ บางประการเท่านั้น นอกนั้นก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างกันมากนัก ในด้านของการปกครอง พระองค์ก็ยังทรงอยู่ในการปกครองของคณะกลาง ซึ่งขึ้นตรงต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส

พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อมองจากสายทั้ง 4 จะได้ภาพรวมดังนี้

การปกครอง ก็คงเป็นไปในรูปเดิม คือมีประมุขสงฆ์สูงสุด ได้แก่สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้บริหาร และมีพระเถระรับผิดชอบลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ โครงสร้างใหญ่จึงมีลักษณะเดียวกับในสมัยพุทธกาล ในสุโขทัย และแม้ในสมัยอยุธยา

ด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้การสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นอย่างมาก จนถึงกับเปิดโอกาสให้พระสงฆ์เข้าเรียนและเข้าสอบในพระบรมมหาราชวัง การสอบความรู้ในสมัยนั้นเป็นการสอบด้วยปากเปล่า คณะกรรมการเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีความรอบรู้แตกฉานในภาษาบาลี มีการเลือกเฟ้นกลั่นกรองกรรมการเป็นอย่างดี และผู้ที่เข้าสอบเองก็มีการเลือกเฟ้นกันเป็นอย่างมาก การสอบนั้นก็เรียกกันไปเป็นประโยค ๆ บางรูปสามารถสอบได้รวดเดียวเป็นเปรียญ 9 ประโยค ก็มี เช่น สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์ สอบเป็นเปรียญได้ 9 ประโยคในสมัยรัชกาลที่ 3

ด้านการเผยแผ่พระศาสนา ทางราชการโดยเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ พ่อค้า คหบดี นิยมการฟังธรรมด้วยการอาราธนาพระไปเทศน์ในวังหรือในบ้านของตน ส่วนการเผยเเผ่ในแนวอื่น คงรูปแบบเดียวกับที่ทำมาแต่ก่อนนั้น ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเข้าไปฟังธรรมในวันธรรมสวนะและอาราธนาพระเทศน์ การเทศน์จะมุ่งเน้นหนักไปในด้านนิทานชาดกที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นธรรมระดับสูง ที่มุ่งไปทางมรรคผลนิพพาน เนื่องจากสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า จึงทรงบำเพ็ญโพธิสัตว์บารมีหรือพุทธการกธรรมตามหลักของบารมี 10 ประการ คือ แนวหลักก็ทรงยึดแนวของพระเวสสันดร บรมโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นพระชาติใหญ่

ด้านสาธารณูปการ การก่อสร้างวัดได้เกิดขึ้นมากในรัชกาลที่ 3 เพราะพระองค์ทรงเน้นที่ทานบารมี และการให้ทานนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า การให้ที่อยู่อาศัยชื่อว่าให้ทุกอย่าง ศิลปกรรมที่นำมาก่อสร้างในครั้งนั้น เน้นไปในด้านศิลปกรรมที่เป็นแบบจีน อาจจะเป็นเพราะทรงทำมาค้าขายกับจีนมาก่อน ความคุ้นเคยชอบพอกับศิลปกรรมแบบจีนซึ่งมีความแข็งแรงมากกว่าความสวยงาม เจ้านาย ผู้ใหญ่ เศรษฐี คหบดี ต่าง ๆ นิยมสร้างวัด บูรณะวัด ซ่อมแซมวัดเป็นส่วนมากวัดจึงเกิดขึ้นในยุคนี้มาก

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้การสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนา เรียกว่าทุกด้าน เนื่องจากยุคสมัยนั้นประชากรเรามีไม่มากนัก ปัญหาในด้านศีลธรรม จริยธรรม จึงไม่ค่อยมีอะไรที่รุนแรง ประกอบกับองค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้ที่ทรงมีความหนักแน่นในธรรม แม้จะมีคนยุยงส่งเสริมให้แตกแยกกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นทรงเป็นพระราชาคณะอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ก็ไม่สนพระทัย ทำให้การพระศาสนาในยุคนั้นดำเนินไปด้วยดี แม้ว่าการเกิดขึ้นของคณะธรรมยุต ซึ่งเรียกกันในกาลต่อมาว่า ธรรมยุติกนิกาย และเรียกว่าคณะธรรมยุตในปัจจุบันจะทำให้ทรงขุ่นข้องพระทัยในด้านการห่มจีวร โดยมีความเข้าพระทัยว่าเป็นการห่มจีวรแบบมอญ ในกาลต่อมา ทางคณะธรรมยุตเองก็ไม่เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญอะไร ก็ไปห่มตามแบบพระสงฆ์ที่มีอยู่ก่อน ซึ่งเรียกในตอนหลังว่า คณะมหานิกาย ความเป็นนิกายไม่ว่าในยุคใดสมัยใดเกิดขึ้นมาจากกิเลส ความรู้สึกเป็นเรา เป็นเขา เป็นพวกเรา พวกเขา ไม่มีจุดกลางของความคิดที่จะนัดพบกันที่หลักพระธรรมวินัยที่อยู่ในฐานะของพระศาสดา แทนพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ก่อนปรินิพพานที่ว่า

“ดูกรอานนท์ พระธรรมและพระวินัยใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย พระธรรมและพระวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว”

เจตนารมณ์ในการคิดปรับปรุงตนเองให้ปฏิบัติถูกตรงตามหลักพระธรรมวินัยที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก เกิดขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าของพระวชิรญาณหรือเจ้าฟ้ามหามกุฏในครั้งนั้น เป็นเหตุผลทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของยุคสมัย ที่คนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์และอยู่ในสถานการณ์นั้นเท่านั้นจะเข้าใจได้ว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนเพียงไร แต่ถ้ามองกันโดยเหตุผลแล้ว ดูเหมือนพระองค์ไม่ได้คิดว่าจะแยกออกไปเป็นนิกายหนึ่งต่างหาก การปฏิบัติอุปัชฌายวัตรก็ดี การอยู่ในคณะสงฆ์ก็ดีก็คงปฏิบัติอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้แยกออกเป็นคณะหนึ่งต่างหาก โดยไม่ยอมรับนับถือการบังคับบัญชาจากพระสังฆเถระทั้งหลาย ความแตกแยกที่เด่นชัดจึงอยู่ที่

ฝ่ายหนึ่งคิดว่า “ การปฏิบัติตามหลักพระไตรปิฎกเป็นความถูกต้อง” อีกฝ่ายหนึ่งก็ถือว่า “การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่เชื่อถือกันมาถูกต้อง” ต่อมาในยุคหลังอาศัยการรังเกียจเดียดฉันท์กันถือเราถือเขากัน การแยกกันอย่างเป็นนิกายจริง ๆ มาแยกกันในตอนหลัง เมื่อก่อนก็เป็นกลุ่มคณะที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ยุติด้วยธรรมหรือประกอบด้วยธรรมเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะที่ยังทรงสมณเพศอยู่ก็มีเหมือนกัน ซึ่งส่วนมากเกิดจากความริษยา ความเข้าใจผิด ความหูเบาของคนบางคนซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลก

ด้านการต่างประเทศนั้น สมัยรัชกาลที่ 3 มีกบฏและสงคราม คือกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ สงครามเมืองเขมร เมืองญาน เมืองพม่า ฉะนั้น ยามใดที่มีศึกสงคราม พระพุทธศาสนาก็ย่อมกระทบกระเทือนบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่ถึงกับมีอะไรรุนแรงเสียหายอย่างที่เคยเกิดในตอนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2

ยุคฟูนัน (พนม) (ศตวรรษที่ 6–7)
ยุคทวาราวดี (ศตวรรษที่ 11–16)
กษัตริย์เทียบเท่าพระโพธิสัตว์
ยุคศรีวิชัย (ศตวรรษที่ 12–18)
ยุคลพบุรี (ศตวรรษที่ 15–18)
พระพุทธศาสนายุคสุโขทัย(ศตวรรษที่ 18)
พระพุทธศาสนาสมัยพ่อขุนรามคำแหง
การปกครองคณะสงฆ์สมัยสุโขทัย
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท
พระพุทธศาสนาในสมัยล้านนา(ลานนา)
พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าเม็งราย(ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา)
พระเจ้ากือนาธรรมิกราช (ตื้อนา)
พระพุทธศาสนาสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนาสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163 เป็นต้นมา)
พระพุทธศาสนาสมัยพระนารายณ์มหาราช(พ.ศ.2199เป็นต้นมา)
แผนการยึดเมืองไทยของฝรั่งเศส
พระพุทธศาสนาสมัยสมเด็จพระบรมโกษฐ์(พ.ศ. 2275เป็นต้นมา
สรุปพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนาในสมัยกรุงธนบุรี(พ.ศ.2310–2325)
พระพุทธศาสนาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ.2325 ถึงปัจจุบัน)
พระพุทธศาสนาสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยลเดช
นาคหลวง
ภาวะแห่งความแย้งขัดระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น
เกี่ยวกับนิกายแห่งศาสนาและลัทธิอื่น
นิกายหรือลัทธิใหม่ที่เกิดมีขึ้นในประเทศไทย
การเข้ามาสู่ประเทศไทยของพระพุทธศาสนา
ยุคที่ 1 ลัทธิหินยานอย่างเถรวาท
ยุคที่ 2 ลัทธิมหายาน
ยุคที่ 3 ลัทธิหินยานอย่างพุกาม
ยุคที่ 4 ลัทธิลังกาวงศ์
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย