ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย

พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่4)

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(พ.ศ.2394–2411)เป็นนักปราชญ์ทางศาสนาพระองค์หนึ่งที่ประเทศไทยเคยมีมา ทรงมีความรอบรู้แตกฉานในภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาอังกฤษ และแตกฉานในพระธรรมวินัย เนื่องจากได้ทรงผนวชอยู่เป็นเวลานานถึง 27 พรรษา พระพุทธศาสนาในยุคนี้ จึงถือว่าเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อซึ่งนักการศาสนา สามารถคิดพินิจพิจารณาวิเคราะห์วิจัยหลักคำสอนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เพราะถ้าเรามองถึงความเป็นมาทางศาสนาแล้วจะพบว่า มีลักษณะเหมือนกับแม่น้ำที่ไหลลงจากที่สูง ต้นน้ำนั้นบริสุทธิ์สะอาดจริง แต่จำนวนน้ำก็น้อย และอยู่สูงเกินไป คนจะใช้ประโยชน์จากน้ำข้างบนนั้นได้น้อย แต่เมื่อน้ำเหล่านั้นได้ไหลมาลงในลำคลอง จากลำคลองสู่เเม่น้ำน้อยจากแม่น้ำน้อยสู่แม่น้ำใหญ่ จากแม่น้ำใหญ่ก็ออกไปสู่มหาสมุทร สถานที่เหล่านั้นเก็บน้ำได้มากขึ้นแต่น้ำก็ไม่สะอาดเหมือเดิม เพราะได้ชะล้างสิ่งต่าง ๆ มาเป็นอันมากบุคคลสามารถใช้สอยน้ำได้มากขึ้น แต่ถ้าจะนำมาดื่มก็ต้องผ่านกรรมวิธีด้วยการกลั่นกรอง

หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาก็มีลักษณะอย่างนั้น ผ่านเหตุการณ์ยุคสมัยเงื่อนไขต่าง ๆ ของสังคมในยุคในสมัยนั้นมานานก็ต้องมีอะไรแปลกปลอมปะปนเข้ามาบ้างเป็นธรรมดา ซึ่งอาจจะเปรียบได้เหมือนการส่งของจากที่ไกล จากมือผ่านมือ จากยุคผ่านยุค จากสมัยผ่านสมัย ก็ต้องมีอะไรอัดอะไรปะปนอยู่บ้าง คนที่รับของในปลายทางจะต้องเลือกเฟ้นเอาว่า “อะไรคือสิ่งที่ท่านส่งมาให้จริง ๆ อะไรคือสิ่งที่ท่านใช้ห่อของนั้นมา” ฉะนั้นจุดเด่นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงอาจจะสรุปได้ว่า

  1. ทรงเป็นพระองค์แรกที่กล้าใช้วิจารณญาณ วินิจฉัย ตีความในอรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา คือคัมภีร์รุ่นหลัง ไม่ใช่ไปตีความพระไตรปิฎก
  2. ทรงเป็นนักโบราณคดีที่มีความรอบรู้ในเรื่องโบราณคดีจากการเสด็จไปธุดงค์ในส่วนต่าง ๆ ของประเทศทำให้ทอดพระเนตรเห็นโบราณวัตถุ โบราณสถาน ที่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นอันมาก
  3. ทรงเป็นบุคคลแรกที่อ่านอักษรคฤนถ์ได้ และทรงวินิจฉัยจุดของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งแรกในเมืองไทยได้ว่า อยู่ที่นครปฐม
  4. ทรงศึกษาแตกฉานในภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาลาติน ภาษาอังกฤษ และเป็นกษัตริย์ทางเอเชียพระองค์แรกที่รู้ภาษาอังกฤษจนพูดได้แต่งได้

ผลจากการศึกษาของพระองค์นี้ มีประโยชน์ต่อชาติไทยอย่างกว้างใหญ่ไพศาล พระเกียรติคุณในฐานะที่เป็นผู้แตกฉานในด้านพระธรรมวินัยแพร่หลายไปถึงต่างประเทศ โดยเฉพาะเขมรกับลังกา จนพระสงฆ์ทั้งสองประเทศนั้นต้องส่งคณะทูตเข้ามาเรียนข้อวัตรปฏิบัติกับพระองค์ท่านที่วัดบวรนิเวศวิหาร และนำไปประดิษฐานที่ประเทศของตน ทรงมีพระปรารภที่จะนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในประเทศต่าง ๆ ปรากฏเอกสารหลักฐานที่ทรงมีไปถึงลังกา รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป แต่ว่าติดขัดด้วยระเบียบประเพณีในฐานะที่ทรงเป็นราชวงศ์ผู้ใหญ่ก็กลัวกันว่าจะไม่ปลอดภัย พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ทรงยอมให้ออกไปต่างประเทศทำให้ไม่อาจดำเนินการได้ ในขณะที่ทรงครองสมณเพศอยู่ 27 ปีนั้น ทรงใช้เวลาส่วนหนึ่งเสด็จจาริกธุดงค์ไปในส่วนต่าง ๆ ของประเทศทำให้สนิทสนมคุ้นเคยกับราษฎรและรู้สารทุกข์สุขดิบของราษฎร ทรงคุ้นเคยกับเจ้านาย พระเจ้าแผ่นดินและข้าราชการผู้ใหญ่ในประเทศทางยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น ตั้งแต่สมัยที่ผนวชเป็นพระอยู่และจากการที่ทรงศึกษาปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนาทำให้เข้าใจปัญหาต่าง ๆ ได้ดี เมื่อเสด็จออกเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ทรงให้สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนมีความใกล้ชิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากยิ่งขึ้นกว่าสมัยก่อน

งานในด้านพระศาสนาที่กระจายออกไป มองตามแนวองค์การกว้าง ๆ ดังต่อไปนี้

ด้านการปกครอง ในสมัยนั้น การปกครองก็คงอาศัยรูปแบบเดิม พระองค์เองแม้จะทรงเป็นต้นวงศ์ของคณะธรรมทูต แต่เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกที่ดี ระยะ 3 ปีแรกไม่ได้ทรงยกย่องพระเถระในคณะธรรมยุติขึ้นมาเลย เพราะตอนนั้นอายุพรรษาของท่านเหล่านั้นยังไม่สูงมากนัก กลับทรงยกย่องพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายมหานิกาย ทั้งนี้แม้แต่ท่านพุทธาจารย์(ฉิม) วัดโมฬีโลกยาราม ซึ่งขัดแย้งกันในสมัยที่เป็นกรรมการสอบบาลี พระองค์แยกเรื่องส่วนพระองค์ กับส่วนการงานได้และยกย่องท่านพระพุทธาจารย์(ฉิม) วัดโมฬีโลกยารามขึ้นเป็นที่พระราชาคณะ ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) แต่งคาถาประพันธ์ยกย่องและใช้จำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากพระองค์ทรงรู้ปัญหาในการบริหารคณะสงฆ์เป็นอย่างดีว่าบทบัญญัติตามพระวินัยนั้น ใช้สำหรับพระที่มีจิตสำนึกเป็นสมณะที่ดี ได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าพระบางองค์ที่ไร้ยางอายขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสมณภาวะของตน หรือเพราะพื้นเพจริตอัชฌาสัยยังไม่อ่อนโยนพอที่จะฝึกปรือ ด้วยบทบัญญัติทางพระวินัย จำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมาย ทำให้พระองค์มีพระบรมราชโองการสั่งบังคับจัดการแก้ปัญหาที่พระในสมัยนั้นทำ และป้องกันปัญหาที่พระจะทำขึ้นไว้เป็นอันมาก นี้ก็เป็นหลักของการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาประการหนึ่ง ของพระมหากษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ การบริหารคณะสงฆ์ไม่ว่ายุคใดสมัยใดในส่วนใดของโลกพระพุทธศาสนาก็ตาม ปัญหาบางอย่างนั้น คณะสงฆ์ไม่สามารถจัดการแก้ไขได้เพราะเป็นเรื่องใหญ่เกินไป ในพระพุทธศาสนาไม่มีอาชญา ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลังที่จะไปจัดการกับปัญหาเหล่านั้น พระมหากษัตริย์จึงต้องทรงเข้ามาอุปถัมภ์จัดการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ แม้ในสมัยพุทธกาลเองก็เป็นเช่นนั้น ฉะนั้นการกระทำของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเป็นการดำเนินตามปฏิปทาของบุพกษัตริย์พุทธมามกะในอดีต

ด้านการศึกษา ทรงส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นอย่างสูง จึงมีพระเถระที่ทรงความรู้ความสามารถเกิดขึ้นในยุคสมัยนั้นเป็นอันมาก และพระองค์ได้ทรงนิพนธ์คาถาที่เป็นภาษาบาลีออกมา ริเริ่มให้มีการทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน บททำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นก็เป็นงานนิพนธ์ภาษาบาลีของพระองค์

ด้านของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปแบบคงรูปแบบเดิมอยู่เรื่อย ๆ ถ้ามองในแง่ของการทำงานแล้วก็ถือว่ามีการเคลื่อนไหวต่ำมากต้องรอให้ชาวบ้านอาราธนาเสียก่อน พระจึงจะเทศน์ มีพิธีรีตองขัดขวางอยู่มากแต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของศรัทธา เชื่อถือ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันมานาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำพระองค์เป็นแบบอย่าง ทรงอาราธนาพระเถรที่มีความรอบรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยไปเทศน์ถวายในวัง และพระองค์ทรงเป็นผู้นำข้าราชบริพารภายในวัง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในการฟังธรรม การปฏิบัติพระองค์ในลักษณะนี้ ก็เป็นไปตามหลักที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงได้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล คือให้เอาพระองค์เองเป็นจุดเป็นฐานในการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยใจความว่า ถ้าหากว่าพระเจ้าแผ่นดินประพฤติธรรม ประพฤติสุจริตแล้ว คนใกล้ชิดกับพระเจ้าแผ่นดิน ก็จะประพฤติธรรม ประพฤติสุจริตตามไป เสนาข้าราชการน้อยใหญ่ ก็จะประพฤติปฏิบัติธรรม อาณาประชาราษฎร์ก็จะประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะได้ผู้นำที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นการแสดง ปรารภผู้บริหารเป็นกษัตริย์ในสมัยนั้น เพราะฉะนั้นในแง่ของการปฏิบัติแล้ว ผู้บริหารก็คือผู้บริหาร ชื่ออย่างไรนั้นไม่สำคัญ แต่เมื่อเป็นผู้บริหารแล้ว จะต้องเป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย ถ้าเป็นได้เช่นนี้ การแก้ปัญหาต่าง ๆ ก็จะง่ายขึ้นสะดวกขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำพระองค์ให้เป็นตัวอย่าง ในด้านการเผยแผ่ธรรม ก็ทำให้บุคคลเหล่าอื่นประพฤติปฏิบัติตามไป งานการเผยแผ่ของพระในรูปแบบต่าง ๆ คือในด้านการเทศน์ การสนทนา ในการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง สนทนาปราศรัยกันในเรื่องธรรมะก็เพิ่มขึ้น

ด้านสาธารณูปการคือในด้านก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดไว้เป็นอันมากในรัชสมัยนี้ วัดใดที่เป็นวัดโบราณ มีการชำรุดทรุดโทรม ก็ให้การบูรณะปฏิสังขรณ์ และทรงสร้างพวกเจดีย์พวกปราสาท ที่สำคัญก็คือว่าทรงบูรณะพระปฐมเจดีย์ ที่ทรงพบในสมัยยังเป็นพระอยู่ ในสมัยนั้นเคยทรงมากราบทูลถวายพระพรให้รัชกาลที่ 3 ทรงบูรณะซ่อมแซม แต่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงเห็นว่าอยู่ไกลเกินไป ไม่คุ้มทุนที่จะไปบูรณะซ่อมแซม พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยที่จะทำและโปรดให้พระยาพิพัฒน์เป็นแม่กองบูรณะจ้างพวกจีนพวกมอญเผาอิฐเกณฑ์ประชาชนสร้างพระมหาเจดีย์ครอบองค์เก่า องค์เก่าเดิมสูง 2 เส้นเศษ ทรงสร้างใหม่เป็น 3 เส้นเศษ สร้างครั้งแรกก็พังไป แล้วในที่สุดก็สร้างสืบต่อกันมา มาสมบูรณ์จริง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6

งานในด้านการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับศาสนาอื่น ในสมัยนี้ศาสนาคริสต์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น คือพวกบาทหลวงที่ถูกขับไล่ออกไปในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะไม่ยอมเคารพกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผนกฎหมายของไทย ก็ได้กลับเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 1 เริ่มมีสมัครพรรคพวกมากขึ้น จนมาถึงรัชกาลที่ 3 คนเหล่านี้เผยแผ่ศาสนาในลักษณะก้าวร้าวรุนแรง มองเห็นศาสนาอื่นเป็นศัตรูกับตนเสียหมด จึงมุ่งที่จะทำลายพระพุทธศาสนาตามแนวเดิมที่มีมาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในรัชกาลที่ 3 คนพวกนี้ได้เขียนหนังสือชื่อว่า “ปุจฉาวิสัชนา” มาเล่มหนึ่งเป็นคำถามเองแล้วก็ตอบเอง มีคำถามคำตอบทั้งหมด 27 ข้อด้วยกัน ด่าว่าโจมตีพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เสีย 24 ข้อ โจมตีนิกายโปรแตสแตนท์ เสีย 3 ข้อ แต่ถูกเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรียกมาว่ากล่าวตักเตือนและบังคับให้เผาทำลายหนังสือเหล่านั้นให้หมด ถ้าไม่อย่างนั้นจะไล่ออกไปต่างประเทศ พวกนี้ก็ลดความรุนแรงลงไประยะหนึ่ง แต่พอมาถึงรัชกาลที่ 4 เนื่องจากทรงรอบรู้ในเรื่องการต่างประเทศมาก ประกอบด้วยกาลัญญุตา คือรู้กาล รู้เวลา ทรงเป็นการณวสิโก อยู่ในอำนาจแห่งเหตุ เห็นว่าถ้าใช้วิธีรุนแรงอย่างนั้นสำหรับสถานการณ์เช่นนั้นก็คงจะไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะว่าอยู่ในยุคสมัยของฝรั่งนักล่าเมืองขึ้นที่จ้องจะฮุบประเทศไทยเป็นเมืองขึ้นของตนอยู่ พระองค์จึงให้ความสนิทสนมคุ้นเคยกับพวกเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ทำพระองค์คล้าย ๆ กับพระสหาย และเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่สมัยยังผนวชเป็นพระอยู่ ขนาดบาทหลวงขอเข้าไปเทศน์ที่ศาลาวัดบวรนิเวศ พระองค์ก็ทรงให้เทศน์ ตอนประทับที่วัดราชาธิวาสวิหาร บาทหลวงขอเข้าไปพูดไปเทศน์ก็ทรงอนุญาตให้ทำ ทั้งนี้ก็เพราะว่าคนไทยสมัยนั้นที่เข้าวัดฟังธรรมจำศีล มีความรอบรู้แตกฉานในพระศาสนา ฟังบาทหลวงเทศน์ก็ฟังไปสนุก ๆ เท่านั้นเอง ทำให้รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ด้วย รักษาไมตรีที่กับต่างประเทศไว้ได้ด้วย

ยุคฟูนัน (พนม) (ศตวรรษที่ 6–7)
ยุคทวาราวดี (ศตวรรษที่ 11–16)
กษัตริย์เทียบเท่าพระโพธิสัตว์
ยุคศรีวิชัย (ศตวรรษที่ 12–18)
ยุคลพบุรี (ศตวรรษที่ 15–18)
พระพุทธศาสนายุคสุโขทัย(ศตวรรษที่ 18)
พระพุทธศาสนาสมัยพ่อขุนรามคำแหง
การปกครองคณะสงฆ์สมัยสุโขทัย
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท
พระพุทธศาสนาในสมัยล้านนา(ลานนา)
พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าเม็งราย(ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา)
พระเจ้ากือนาธรรมิกราช (ตื้อนา)
พระพุทธศาสนาสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนาสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163 เป็นต้นมา)
พระพุทธศาสนาสมัยพระนารายณ์มหาราช(พ.ศ.2199เป็นต้นมา)
แผนการยึดเมืองไทยของฝรั่งเศส
พระพุทธศาสนาสมัยสมเด็จพระบรมโกษฐ์(พ.ศ. 2275เป็นต้นมา
สรุปพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนาในสมัยกรุงธนบุรี(พ.ศ.2310–2325)
พระพุทธศาสนาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ.2325 ถึงปัจจุบัน)
พระพุทธศาสนาสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยลเดช
นาคหลวง
ภาวะแห่งความแย้งขัดระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น
เกี่ยวกับนิกายแห่งศาสนาและลัทธิอื่น
นิกายหรือลัทธิใหม่ที่เกิดมีขึ้นในประเทศไทย
การเข้ามาสู่ประเทศไทยของพระพุทธศาสนา
ยุคที่ 1 ลัทธิหินยานอย่างเถรวาท
ยุคที่ 2 ลัทธิมหายาน
ยุคที่ 3 ลัทธิหินยานอย่างพุกาม
ยุคที่ 4 ลัทธิลังกาวงศ์
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย