ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พุทธจริยศาสตร์

ลักษณะทั่วไปของวิชาพุทธจริยศาสตร์
พุทธจริยศาสตร์ระดับต้น
พุทธจริยศาสตร์ระดับกลาง
พุทธจริยศาสตร์ระดับสูง

พุทธจริยศาสตร์ระดับกลาง

ศีลสำหรับผู้ครองเรือนระดับกลาง

สำหรับผู้ครองเรือนผู้ประกอบด้วยศรัทธา อุตสาหะ ประสงค์จะฝึกฝนตนเอง ด้านกาย วาจา ให้ยิ่งไปกว่าผู้ครองเรือนทั่ว ๆ ไป เป็นการรักษาศีลเพิ่มขึ้นมาอีก 3 ข้อ จากศีล 5 เพื่อต้องการขัดเกลาตนเอง เพิ่มพูนความดีงามให้ยิ่งขึ้นไป

ศีล 8 หรือ อัฏฐศีล คือ การรักษาระเบียบทางกาย วาจา ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกาย วาจา มีทั้งหมด 8 ข้อ คือ

  1. การเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธและศาตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ตลอดชีวิต
  2. การเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่ตลอดชีวิต
  3. การเว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน ตลอดชีวิต
  4. การเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก ตลอดชีวิต
  5. การเว้นขาดจากการเสพของมึนเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทตลอดชีวิต
  6. การเว้นขาดจากการฉันอาหารในเวลาวิกาล ตลอดชีวิต
  7. การเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการละเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล การทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกาย ด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิว อันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัวตลอดชีวิต
  8. การเว้นขาดจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย นอนบนที่นอนต่ำ คือ บนเตียงหรือบนที่นอนที่ปูลาดด้วยหญ้า ตลอดชีวิต

จุดมุ่งหมายของศีลสำหรับผู้ครองเรือน

จุดมุ่งหมายของศีลสำหรับผู้ครองเรือน ตั้งแต่ข้อ 1 ถึง ข้อ 5 มีอธิบายแล้วในจุดมุ่งหมายของศีล 5 ยกเว้นข้อ 3 เป็นการละเว้นจากการประพฤติที่ไม่เป็นพรหม กล่าวคือ การละเว้นจากการประพฤติที่ไม่ประเสริฐ ซึ่งเป็นการประพฤติเว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน ตลอดชีวิต ไม่เกี่ยวข้องเรื่องเมถุนธรรม เว้นการเสพกามแบบชาวบ้านทั่วไป เป็นการประพฤติขัดเกลา ฝึกฝนตนเอง ไม่ให้ยินดีในของต่ำ ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางแบบพรหม กล่าวคือ เป็นการประพฤติปฏิบัติแบบผู้ประเสริฐ

ข้อ 6 เป็นการประพฤติเว้นขาดจากการฉันอาหารในเวลาวิกาล ตลอดชีวิต ศีลข้อนี้ทำให้มองเห็นความจริงว่า ร่างกายของคนเราต้องการอาหารเพียงเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น ไม่ต้องการอาหารที่เป็นส่วนเกิน เพราะอาหารที่เป็นส่วนเกินจะทำเกิดโทษหลายอย่างด้วยกัน เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน โดยเฉพาะเวลาหลังเที่ยงไปแล้ว คนส่วนใหญ่จะทำงานใช้แรงงานทั้ง 2 ส่วน คือ แรงงานสมอง และแรงงานร่างกาย ทำให้ช่วยในการเผาผลาญอาหารได้ดี ไม่ให้ไขมันหรือส่วนเกินของอาหารตกค้าง ซึ่งจะเป็นโทษต่อร่างกาย

ที่สำคัญผู้ประพฤติพรหมจรรย์ จะได้มีเวลาในการประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตนเองให้มาก ไม่ต้องมีความกังวลเรื่องการแสวงหาอาหารเพื่อนำมาบริโภค ถ้าเป็นฆราวาส มองในมุมมองเศรษฐกิจ ก็เป็นการประหยัด ไม่ใช้จ่ายอาหารสิ้นเปลื้องเกินความจำเป็น เกินความจริง ที่ร่างกายต้องการ

ข้อ 7 เพื่อกำจัดสิ่งอันเป็นข้าศึกต่อการการประพฤติพรหมจรรย์ การฟ้อนรำ การดูการฟ้อนรำ การขับร้อง การฟังการขับร้อง การประโคมดนตรี การดูการประโคมดนตรี การดูการละเล่น การ เหล่านี้ถือว่าเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เพราะจะทำให้จิตใจหลงใหลติดใจในสิ่งเหล่านี้ ยากที่จะถอนตัว เหมือนคนติดยาเสพติด การทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกาย ด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิว อันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว ก็จะทำให้เสียเวลา สินเปลื้องเวลาไปกับสิ่งเหล่านี้ทำให้จิตหลงใหล มัวเมา รักสวยรักงาม เป็นข้าศึกต่อการประพฤติพรหมจรรย์

ศีลที่บุคคลประพฤติด้วยฉันทะ จิตตะ วิริยะ วิมังสา ปานกลาง ชื่อว่ามัชฌิมศีล อีกอย่างหนึ่งที่สมาทานด้วยความต้องการผลบุญ ชื่อว่ามัชฌิมศีล

 

เกณฑ์ตัดสินศีลสำหรับผู้ครองเรือน

เกณฑ์สำหรับตัดสินศีลของผู้ครองเรือน ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 5 ได้กล่าวไว้แล้วในเกณฑ์ตัดสินสำหรับศีลผู้ครองเรือนระดับต้น ยกเว้นข้อ 3 ซึ่งเป็นการประพฤติงดเว้นจากการประพฤติที่มิใช่พรหม หรือเว้นจากการประพฤติที่ไม่ประเสริฐ

อพรหมจริยามีองค์ 4 คือ

  1. อคมนียานํ หญิงที่ไม่ควรจะคบหา หมายเอาหญิงหรือสัตว์ บุคคลทุกประเภท (รวมทั้งหญิงที่เป็นภรรยาของตนด้วย) อันเป็นที่ตั้งแห่งการล่วงละเมิด
  2. ตตฺถ เสวนจิตฺตํ จิตคิดจะเสพซึ่งเมถุนแก่หญิงนั้น
  3. เสวน ปโยโค มีความพยายามที่จะเสพเมถุน
  4. มคฺเคน มคฺคปฺปฏิปตฺติอธิวาสนํ การยังมรรคและมรรคทั้ง 2 ให้ถึงกัน

ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน

ธรรมสำหรับผู้ครองเรือนระดับกลาง คือ การละความชั่ว การไม่ดำเนินไปในแนวทางแห่งความเสื่อม ทางแห่งความชั่ว กรรมอันนำไปสู่ความทุกข์หรือทุคติ เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ทางแห่งอกุศลกรรม มี 10 ประการ มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปหลายอย่าง เช่น ธรรมที่ไม่ดี อนริยธรรม อกุศลธรรม ธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ อธรรม ธรรมที่มีอาสวะ ธรรมที่มีโทษ ธรรมที่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงจุติและปฏิสนธิ ธรรมที่มีทุกข์เป็นกำไร ธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบาก ธรรมที่ไม่ใช่อริยมรรค ธรรมที่เป็นฝ่ายดำ อสัทธรรม ธรรมของอสัตบุรุษ ธรรมที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น ธรรมที่ไม่ควรเสพ ธรรมที่ไม่ควรเจริญ ธรรมที่ไม่ควรทำให้มาก ธรรมที่ไม่ควรระลึก ธรรมที่ไม่ควรทำให้แจ้ง ธรรมตามที่กล่าวมานั้น มีดังนี้

1. การฆ่าสัตว์
2. การลักทรัพย์
3. การประพฤติผิดในกาม
4. การพูดเท็จ
5. การพูดส่อเสียด
6. การพูดคำหยาบ
7. การพูดเพ้อเจ้อ
8. ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา
9. ความคิดร้าย
10. ความเห็นผิด

การตั้งอยู่ในความดี หรือทางแห่งการประกอบความดี ทางดำเนินอันประกอบด้วยความดี กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่ความสุขความเจริญความรุ่งเรืองหรือสุคติ เรียกว่า กุศลกรรมบถ ทางแห่งกุศลกรรม มี 10 ประการ คือ

1. เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
2. เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์
3. เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
5. เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด
6. เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ
7. เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
8. ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา
9. ความไม่คิดร้าย
10. ความเห็นชอบ

กุศลกรรมบถหมวดนี้ ในบาลีเรียกชื่อหลายอย่าง เช่นว่า ธรรมที่ดี อริยธรรม กุศลธรรม ธรรมที่เป็นประโยชน์ ธรรม ธรรมที่ไม่มีอาสวะ ธรรมที่ไม่มีโทษ ธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน ธรรมที่มีสุขเป็นกำไร ธรรมที่มีสุขเป็นวิบาก ธรรมที่เป็นอริยมรรค ธรรมที่เป็นฝ่ายขาว สัทธรรม ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ควรให้เกิดขึ้น ธรรมที่ควรเสพ ธรรมที่ควรเจริญ ธรรมที่ควรทำให้มาก ธรรมที่ควรระลึก ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง

จุดมุ่งหมายของธรรมสำหรับผู้ครองเรือน

1. เพื่อให้มีเมตตากรุณาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
2. เพื่อให้เคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น
3. เพื่อความไม่ล่วงละเมิดประเพณีทางเพศ
4. ป้องกันการกล่าวเท็จ เพื่อประโยชน์ตน และผู้อื่น หรือเพราะเห็นแก่ประโยชน์ใด ๆ
5. เพื่อเป็นแบบฝึกหัดวาจา ด้วยการพูดช่วยสมานคนที่แตกร้าวกัน ส่งเสริมคนที่สมัครสมานกัน กล่าวถ้อยคำที่สร้างความสามัคคี
6. เพื่อเป็นแบบฝึกหัดวาจา พูดแต่คำที่สุภาพอ่อนหวาน
7. เพื่อเป็นแบบฝึกหัดวาจา พูดแต่คำจริง มีเหตุผล มีสารประโยชน์ ถูกกาลเทศะ
8. เพื่อป้องกันความละโมบในทรัพย์สินของผู้อื่น
9. ให้มีจิตปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนกัน ไม่มีทุกข์ ครองตนอยู่เป็นสุขตลอดไป
10. ให้มีความเห็นชอบ เช่น เชื่อผลของกรรมดีกรรมชั่ว ทานมีผล การบูชามีผล

ศีลสำหรับบรรพชิต

ศีล 227

จุดมุ่งหมายของศีลสำหรับบรรพชิต

จุดมุ่งหมาย หรือ เป้าหมายหลัก ของการบัญญัติศีล หรือ สิกขาบท สำหรับบรรพชิตเพื่อประโยชน์สุข ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน อันจะพึงมี พึงเกิดขึ้น ทั้งแก่พระศาสนา พระสัทธรรมคือคำสอนของพระองค์ และพุทธบริษัท 4 โดยอาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ ดังต่อไปนี้

1. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
2. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
3. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
4. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
5. เพื่อกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
6. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต
7. เพื่อความเลื่อมใสของที่คนที่ยังไม่เลื่อมใส
8. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว
9. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
10. เพื่อเอื้อเฟื้อพระวินัย

ข้อ 1-2 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมคือสงฆ์
ข้อ 3-4 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่บุคคล
ข้อ 5-6 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์หรือแก่ชีวิต
ข้อ 7-8 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน
ข้อ 9-10 ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา

เกณฑ์ตัดสินศีลสำหรับบรรพชิต

ศีลที่ไม่เศร้าหมองด้วยโทษมีการยกตนข่มผู้อื่นอย่างนี้ว่า "เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก" ดังนี้เป็นต้นเป็นโลกิยศีลที่ไม่เศร้าหมอง จัดเป็นมัชฌิมศีล อีกอย่างหนึ่งที่ประพฤติเพื่อต้องการความหลุดพ้นแห่งตน เป็นมัชฌิมศีล

ธรรมสำหรับบรรพชิต

ผู้ที่ครองตัวครองตนอยู่ในเพศบรรพชิต ควรมีหลักธรรม หรือ คุณธรรมเบื้องต้นสำหรับดำเนินชีวิต เพื่อความเหมาะสม เพื่อความดีงาม เพื่อความสำรวมระวัง เพื่อยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้น และเพื่อความเจริญก้าวหน้าในพระธรรมวินัยของพระศาสดา ธรรมที่ว่านี้ คือ

  1. หิริ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวตัวบาป
  2. มีกายสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึง ภิกษุไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ใช้ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ หรือศัสตราทุบเบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่เงื้อมือหรือท่อนไม้ไล่กาที่กำลังดื่มน้ำในหม้อน้ำ หรือจิกกินข้าวสุกในบาตร
  3. มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึง ภิกษุไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่กล่าวดูหมิ่นใคร ๆ หรือไม่กล่าวถากถางเยาะเย้ยภิกษุใด ๆ
  4. มีมโนสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึง ภิกษุไม่มีอภิชฌา ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความเห็นผิด ไม่ยินดีทองและเงิน หรือไม่ตรึกถึงกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก
  5. มีอาชีวะบริสุทธิ์ หมายถึง ภิกษุไม่เลี้ยงชีพด้วยกรรมที่ไม่สมควร เช่น การรักษาไข้ การให้น้ำมันทาเท้า การหุงน้ำมัน พูดเลียบเคียงขอผู้อื่น หรือการสะสมปัญจโครสมีเนยใสเป็นต้น
  6. สำรวมอินทรีย์
  7. รู้จักประมาณในโภชนะ
  8. ตื่นบำเพ็ญเพียร
  9. เจริญสติสัมปชัญญะ
  10. การละนิวรณ์ 5
  11. การอุปมาฌาน 4
  12. การอุปมาวิชชา 3

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย