ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ลักษณะทั่วไปของวิชาพุทธจริยศาสตร์
พุทธจริยศาสตร์ระดับต้น
พุทธจริยศาสตร์ระดับกลาง
พุทธจริยศาสตร์ระดับสูง
พุทธจริยศาสตร์ระดับสูง
- ศีลสำหรับผู้ครองเรือน
ศีลชั้นสูงสำหรับผู้ครองเรือน ซึ่งเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธาอุตสาหะอย่างแรงกล้านั้น ผู้เขียนขอนำศีล 10 มานำเสนอ เพราะมีตัวอย่างของอุบาสกอย่างน้อย 2 ท่านที่ประสงค์จะทำบุญให้ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่การให้ทานเป็นต้นไป ศีล 10 หรือ สิกขาบท 10 ประการ มีดังนี้
1. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
2. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนางดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
3. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนางดเว้นจากพฤติกรรม อันมิใช่พรหมจรรย์
4. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
5. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุรา และเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
6. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
7. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี และดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล
8. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้
9. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนางดเว้นจากการนอนบนที่นอนสูงและที่นอนใหญ่
10. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการรับทองและเงิน - จุดมุ่งหมายของศีลชั้นสูงสำหรับผู้ครองเรือน
ผู้ครองเรือนที่มีศรัทธาตั้งมั่น มีความอุตสาหะอย่างแรงกล้า มีความประสงค์จะรักษาศีลให้ยิ่งขึ้นไปจากศีล 5 ศีล 8 และศีล 10 เป็นลำดับ ของความเป็นผู้มีศรัทธาอุตสาหะ เพื่อพัฒนาความประพฤติปฏิบัติให้ยิ่งขึ้น จากผู้ครองเรือนทั่วไป จึงได้สมาทานประพฤติศีล 10 ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ผู้เขียนค้นพบอุบาสก 2 ท่าน คือ 1) อนุปุพพเศรษฐี 2) ฆฏิการพราหมณ์ สำหรับจุดมุ่งหมายของศีลในชั้นนี้มีดังต่อไปนี้ คือ
1. เพื่อให้มีเมตตาธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น ให้เขาได้รับความเดือดร้อน
2. เพื่อให้ดำรงตนอยู่ในสุจริตธรรม ด้วยการประกอบอาชีพที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ลักขโมย ปล้นชิง ฉ้อโกงทรัพย์สินของผู้อื่น
3. เพื่อให้เกิดการประพฤติแบบพรหม คือ งดเว้นจากการเสพกาม อันเป็นของชาวบ้าน
4. เพื่อป้องกันการโกหกหลอกลวง ให้มีความซื่อสัตย์ มีความจริงใจ และไว้วางใจกันได้ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
5. เพื่อป้องกันความประมาท มัวเมาอันเกิดจากการหลงลืมสติ ขาดสัมปชัญญะ และเพื่อสนับสนุนการรักษาศีล 4 ข้อ ข้างต้นให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น
6. เพื่อลดภาระ ความยุงยาก อันเกิดจากการแสวงหาอาหารเพื่อบริโภค ทำให้กายเบา เหมาะแก่การเจริญภาวนา
7. เพื่อความสำรวมระวังต่อรูปและเสียง อันเป็นข้าศึกต่อกุศล ต่อความดีงาม สำรวมระวังไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น
8. เพื่อความสำรวมระวัง มิให้มีการทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมและเครื่องประทินผิวต่าง ๆ อันเป็นวิสัยของผู้ครองเรือน
9. เพื่อความเป็นผู้นั่งและนอนง่ายในที่ทั้งปวง
10. เพื่อป้องกันโทษภัยอันเกิดจากการยินดีรับทองและเงิน
ศีลที่ผู้สมาทานประพฤติด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อย่างประณีต ชื่อว่าปณีตศีล อีกอย่างหนึ่ง ที่สมาทานอาศัยอริยภาวะ ด้วยคิดว่าสิ่งนี้ควรทำแท้ ชื่อว่าปณีตศีล - เกณฑ์ตัดสินศีลสำหรับผู้ครองเรือน
1. เป็นไปเพื่อความเมตตากรุณา ไม่เป็นไปเพื่อความโหดร้ายทารุณ
2. เป็นไปเพื่อสัมมาอาชีวะ ไม่เป็นไปเพื่อมิจฉาอาชีวะ
3. เป็นไปเพื่อกามสังวร ไม่เป็นไปเพื่อความมักมากในกาม
4. เป็นไปเพื่อวจีสุจริต ไม่เป็นไปเพื่อวจีทุจริต
5. เป็นไปเพื่อความไม่ประมาท มัวเมา ไม่เป็นไปเพื่อความประมาท มัวเมา
6. เป็นไปเพื่อความเป็นผู้รู้จักประมาณในบริโภคอาหาร ไม่เป็นไปเพื่อความมักมากในการบริโภคอาหาร
7. เป็นไปเพื่อการงดเว้นจากการกระทำที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์
8. เป็นไปเพื่อการงดเว้นจากการประดับตกแต่งเพื่อให้เกิดความสวยงาม
9. เป็นไปเพื่อความเป็นผู้นอนง่าย
10. เป็นไปเพื่อความไม่ยินดีในเงินและทอง - ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน
ธรรมสำหรับผู้ครองเรือนชั้นสูง เรียกว่า ปรมัตถะ จุดหมายสูงสุด หรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การมีปัญญารู้เท่าทันความจริง เข้าถึงธรรมชาติของโลกและชีวิตอันทำให้จิตใจเป็นอิสระ
ก) ไม่หวั่นไหวหรือถูกครอบงำด้วยความผันผวนปรวนแปรต่าง ๆ
ข) ไม่ผิดหวังโศกเศร้าบีบคั้นจิตเพราะความยึดติดถือมั่นในสิ่งใด
ค) ปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใส สดชื่น เบิกบานใจตลอดเวลา
ง) เป็นอยู่และทำการด้วยปัญญาซึ่งมองที่เหตุปัจจัย
ได้แก่การสามารถดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้โดยเด็ดขาด ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของความชั่วทางจิตใจ และความทุกข์ร้อนกลัดกลุ้มอีกต่อไป ดังนั้นธรรมที่จะเป็นทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ได้ มีทางสายเดียว ซึ่งเป็นทางสายเอกอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ ที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งจะได้นำมากล่าวในหัวข้อธรรมสำหรับบรรพชิตเป็นลำดับไป - จุดมุ่งหมายของธรรมสำหรับผู้ครองเรือน
จุดมุ่งหมายสูงสุดสำหรับธรรมของผู้ครองเอง ก็ไม่ต่างอะไรจากจุดมุ่งหมายของธรรมบรรพชิต คือ มีจุดมุ่งหมายสูงสุดอย่างเดียวกัน กล่าวคือ การหลุดพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดยึดเหนี่ยว ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง สดชื่น เบิกบาน สงบเย็น - เกณฑ์ตัดสินธรรมสำหรับผู้ครองเรือน
1. เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น ไม่แปรปรวน ไม่เป็นไปเพื่อถูกครอบงำ และความแปรปรวน
2. เป็นไปเพื่อความอิสระ ไม่เป็นไปเพื่อความบีบคั้นจิตใจ และยึดมั่นสิ่งใด ๆ
3. เป็นไปเพื่อปลอดโปร่ง ผ่องใส สดชื่น เบิกบานใจ สงบเย็นตลอดเวลา ไม่เป็นไปเพื่อความอึดอัด คับแคบ ร้อนรน กระวนกระวาย
4. เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงตามเหตุตามปัจจัยที่ปรุงแต่งซึ่งกันและกัน - คุณค่าทางจริยธรรมของพุทธจริยศาสตร์
- ศีลสำหรับบรรพชิต
ศีลชั้นสูงสำหรับบรรพชิตผู้เขียนขอนำ ปาริสุทธิศีล 4 มานำเสนอ เพื่อให้เห็นลำดับแห่งการรักษาศีลแต่ละขั้นว่า มีความละเอียดอ่อน และลึกซึ้ง ประณีต แตกต่างกันออกไป ของผู้มุ่งบำเพ็ญประโยชน์สูงสุด หรือประโยชน์อย่างยิ่ง กล่าวคือ พระนิพพาน เป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิต
ศีลใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ภิกษุใดในศาสนานี้เป็นผู้สำรวมด้วยปาฏิโมกขสังวรอยู่ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษมาตรว่าเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย" ดังนี้ ศีลนี้ชื่อปาฏิโมกขสังวรศีล
ส่วนศีลใดที่ตรัสไว้ว่า "ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว เป็นผู้ไม่ถือเอานิมิต ไม่ถือเอาอนุพยัญชนะ อภิชฌาโทมนัสทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นบาปเป็นกุศล จะพึงไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์อยู่ เพราะเหตุไม่สำรวมจักขุนทรีย์อันใด ย่อมปฏิบัติเพื่อปิดกั้นเสียซึ่งจักขุนทรีย์นั้น รักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์เธอฟังเสียงด้วยโสตะแล้ว ฯ ล ฯ ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ฯลฯ ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยมนะแล้ว ไม่ถือเอานิมิต ไม่ถือเอาอนุพยัญชนะฯ ล ฯ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์"1 ดังนี้ ศีลนี้ชื่อว่า อินทริยสังวรศีล
ส่วนการงดเว้นจากมิจฉาชีวะ อันเป็นไปด้วยอำนาจแห่งการละเมิดสิกขาบท 6 ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเพราะอาชีพเป็นเหตุเพราะอาชีพเป็นจัวการณ์ และ (ด้วยอำนาจ) แห่งบาปธรรมทั้งหลายมีอย่างนี้ คือ "การล่อลวง (กุหนา) การป้อยอ (ลปนา) การทำใบ้ (เนมิตฺติกา) การบีบบังคับ (นิปฺเปสิกตา) การแสวงหาลาภด้วยลาภ (ลาเภน ลาภํ นิชิคึสนตา)" ดังนี้เป็นต้น ศีลนี้ชื่อว่าอาชีวปาริสุทธิศีล.
การบริโภคปัจจัย 4 อันบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณา ที่พระศาสดาตรัสไว้โดยนัยว่า "ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วเสพจีวร ว่าเพียงเพื่อบำบัดความหนาว" ดังนี้เป็นต้น นี้ชื่อว่าปัจจยสันนิสิตศีล
คำว่า ปาฏิ-โมกข์ หมายเอาศีลที่เป็นสิกขาบท เพราะว่าผู้ใดเฝ้าระวัง คือรักษาศีลนั้น ศีลนั้นย่อมยังผู้นั้นให้รอด คือให้พ้นจากทุกข์ทั้งหลายมีทุกข์ในอบายเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ศีลนั้นท่านจึงเรียกว่า ปาฏิโมกข์
ความปิดกั้น ชื่อว่าสังวร คำว่า สังวรนี้ เป็นชื่อแห่งความไม่ละเมิดทางกายและทางวาจา สังวรคือปาฏิโมกข์ ชื่อว่าปาฏิโมกขสังวร ภิกษุสำรวมแล้ว คือเข้าถึง ประกอบพร้อมแล้วด้วยสังวรคือปาฏิโมกข์นั้น ชื่อว่าผู้สำรวมด้วยปาฏิโมกขสังวร
"คำว่า ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร" มีนิเทศว่า อาจาระก็มี อนาจาระก็มี ใน 2 อย่างนั้น อนาจาระเป็นไฉน ? ความละเมิดทางกาย ความละเมิดทางวาจา ความละเมิดทั้งทางกายทั้งทางวาจา นี้ท่านเรียกว่าอนาจาระ ความเป็นผู้ทุศีลแม้ทั้งหมด ก็ชื่ออนาจาระ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมเลี้ยงชีวิตด้วยการให้ไม้ไผ่บ้าง ด้วยการให้ใบไม้บ้าง ด้วยการให้ดอกไม้ ผลไม้เครื่องสนานและไม้สีฟันบ้าง ด้วยการทำตัวต่ำ (เพื่อจะให้เขารัก) บ้างด้วยพูด (เล่นปนจริง) เป็นแกงถั่วบ้าง ด้วยทำตัวเป็นพี่เลี้ยงทารกบ้างด้วยการรับสื่อข่าวให้เขาบ้าง หรือด้วยมิจฉาชีวะอย่างอื่น ๆ ที่พระ-พุทธเจ้าทรงรังเกียจ นี้ชื่อว่าอนาจาระ.
ใน 2 อย่างนั้น อาจาระเป็นไฉน ? ความไม่ละเมิดทางกายความไม่ละเมิดทางวาจา ความไม่ละเมิดทั้งทางกายทั้งทางวาจา นี้ท่านเรียกว่าอาจาระ สีลสังวรแม้ทั้งหมดก็ชื่อว่าอาจาระ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ไม่เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ก็ดี ไม่เลี้ยงชีพด้วยการให้ใบไม้ก็ดีไม่เลี้ยงชีพด้วยการให้ดอกไม้ ผลไม้เครื่องสนาน และไม้สีฟันก็ดี ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตัวให้ต่ำ (เพื่อจะให้เขารัก) ก็ดี ไม่เลี้ยงชีพด้วยพูด (เล่นปนจริง) เป็นแกงถั่วก็ดี ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตัวเป็นพี่เลี้ยงทารกก็ดี ไม่เลี้ยงชีพด้วยการรับสื่อข่าวให้เขาก็ดี ไม่เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีวะอย่างอื่น ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจก็ดี นี้ก็เรียกว่าอาจาระ
คำว่า โคจร มีนิเทศว่า โคจร ก็มี อโคจร ก็มี ใน 2 อย่างนั้น อโคจรเป็นไฉน ? ภิกษุลางรูปในศาสนานี้ก็เป็นผู้หญิงมีแพศยาเป็นโคจร หรือมีหญิงหม้าย สาวเทื้อ บัณเฑาะก์ ภิกษุณี และโรงสุราเป็นโคจร เป็นผู้คลุกคลีอยู่กับพระราชา กับมหาอำมาตย์กับเดียรถีย์ โดยการสังสรรค์กับคฤหัสถ์อย่างไม่สมควร ก็หรือว่าย่อมเสพ ย่อมคบ ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ซึ่งตระกูลทั้งหลายที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ที่ด่าว่าเอา ที่มุ่งสิ่งอันไม่มีประโยชน์ (ให้) มุ่งสิ่งที่ไม่เกื้อกูล (ให้) มุ่งความไม่ผาสุก (ให้) มุ่งความไม่เกษมจากโยคะ (ให้) แก่พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นี้เรียกว่าอโคจร.
ใน 2 อย่างนั้น โคจรเป็นไฉน ? ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ไม่เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจร ฯ ล ฯ ไม่เป็นผู้มีโรงสุราเป็นโคจร ไม่คลุกคลีอยู่กับพระราชา ฯ ล ฯ กับสาวกของเดียรถีย์ โดยการสังสรรค์กับคฤหัสถ์ที่ไม่สมควร ก็หรือว่าย่อมเสพ ย่อมคบ ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ซึ่งตระกูลทั้งหลายที่มีศรัทธาเลื่อมใส เป็น (ดุจ) บ่อน้ำ รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ มีกลิ่นอายฤษีเข้าออก1 มุ่งประโยชน์ (ให้) ฯ ล ฯ มุ่งธรรมที่เกษมจากโยคะ (ให้) แก่พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกานี้เรียกว่าโคจร ภิกษุผู้ไปเข้าจนถึง เป็นผู้เข้ามาจนถึง เป็นผู้ปฏิบัติจนถึง เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยอาจาระนี้ด้วย ด้วยโคจรนี้ด้วยโดยนัยที่กล่าวมานี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า "อาจารโคจรสมฺปนฺโน" ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร
อีกนัยหนึ่ง ก็อนาจาระมี 2 อย่าง คือ อนาจาระทางกาย 1 อนาจาระทางวาจา 1 ใน 2 อย่างนั้น อนาจาระทางกายเป็นไฉน ? ภิกษุลางรูปในพระศาสนานี้ แม้อยู่ในชุมนุมสงฆ์ ก็ไม่กระทำความยำเกรง ยืนเบียดบ้าง นั่งเบียดบ้าง ซึ่งภิกษุทั้งหลายผู้เถระ ยืนหน้า (ท่าน) บ้างนั่งหน้า (ท่าน) บ้าง นั่งอาสนะสูง (กว่าท่าน) บ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้างยืนพูดบ้าง ยกมือขวักไขว่พูดบ้าง เมื่อภิกษุผู้เถระไม่สวมรองเท้าจงกรมอยู่ ตนสวมรองเท้าจงกรมบ้าง เมื่อท่านจงกรมอยู่ในที่จงกรมต่ำ ตนจงกรมอยู่ในที่จงกรมสูงบ้าง เมื่อท่านจงกรมอยู่ที่พื้นดิน ตนจงกรมบนที่จงกรมบ้าง ยืนแทรกบ้าง นั่งแทรกบ้าง ซึ่งภิกษุผู้เถระกันภิกษุใหม่ด้วยอาสนะบ้าง ยังไม่ทันขอโอกาสภิกษุผู้เถระ แม้ในเรือนไฟ ขนฟืนไป ปิดประตูไป แม้ที่ท่าน้ำ เดินเสียดสีภิกษุผู้เถระลงไปบ้าง ลงก่อนบ้าง เบียดอาบบ้าง อาบก่อนบ้าง เบียดขึ้นบ้างขึ้นก่อนบ้าง แม้เข้าไปสู่ละแวกบ้านก็เดินเบียดเสียดภิกษุผู้เถระไปบ้างไปก่อนท่านบ้าง หลีกขึ้นหน้าพระเถระไปบ้าง อนึ่ง ห้องเรือนของตระกูลทั้งหลายที่เป็นห้องลับและเขาปิดไว้ ซึ่งเป็นที่กุลสตรีกุลกุมารีนั่งกัน ก็ผลุนผลันเข้าไปในห้องนั้นบ้าง ลูบคลำศีรษะเด็กชายบ้าง นี้เรียกว่า อนาจาระทางกาย.
ใน 2 อย่างนั้น อนาจาระทางวาจาเป็นไฉน ? ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ แม้อยู่ในชุมนุมสงฆ์ก็ไม่ทำความยำเกรง ยังมิได้ขอโอกาสภิกษุผู้เถระ กล่าวธรรมไป แก้ปัญหาไป สวดปาฏิโมกข์ไป ยืนพูดบ้าง ยกมือขวักไขว่พูดบ้าง แม้เข้าไปสู่ระแวกบ้าน กล่าวกะหญิงหรือเด็กหญิงอย่างนี้ว่า "แน่ะแม่ผู้มีชื่ออย่างนี้ ผู้มีโคตรอย่างนี้ ข้าวต้มยังมีอยู่หรือ ข้าวสวยมีอยู่หรือ ของเคี้ยวมีอยู่หรือ" พูดพล่ามไปว่า "อาตมาจักดื่มอะไร จักเคี้ยวอะไร จักฉันอะไร" หรือว่า "ท่านทั้งหลายจักให้อะไรแก่อาตมา" ดังนี้ นี้เรียกว่าอนาจาระทางวาจา ส่วนอาจาระ พึงทราบโดยปฏิปักขนัยแห่งอนาจาระนั้นเถิด.
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุผู้มีความเคารพ มีความยำเกรง ถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะ นุ่งเรียบร้อย ห่มเรียบร้อย มีกิริยาก้าวไป ถอยกลับ แล เหลียว คู้แขน เหยียดแขน น่าเลื่อมใส จักษุทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ รักษาทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบเนือง ๆ ซึ่งชาคริยธรรม กอบด้วยสติสัมปชัญญะ มักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร กระทำโดยเคารพในอภิสมาจารสิกขาบททั้งหลาย มากไปด้วยความเคารพและยำเกรงอยู่ ความเป็นผู้มีความเคารพเป็นอาทินี้ เรียกว่า อาจาระพึงทราบอาจาระดังนี้ก่อน.
ส่วนโคจรมี 3 อย่าง คือ อุปนิสัยโคจร อารักขโคจร อุปนิพันธ-โคจร ในโคจร 3 อย่างนั้น อุปนิสัยโคจรเป็นไฉน ? กัลยาณมิตรผู้กอบด้วยคุณอันเป็นกถาวัตถุ 10 ซึ่งเป็นที่บุคคลได้อาศัยแล้วย่อมฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ทำสิ่งเคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ข้ามความสงสัยเสียได้ ทำความเห็นให้ตรง ทำจิตใจให้ผ่องใสได้ หรือบุคคลศึกษาตามกัลยาณมิตรใดอยู่ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ย่อมเจริญด้วยศีลสุตะ จาคะ ปัญญา กัลยาณมิตรนี้เรียกว่า อุปนิสัยโคจร
อารักขโคจรเป็นไฉน ? ภิกษุในพระศาสนานี้ เข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน มีจักษุทอดลง มองดูชั่วแอก สำรวมไป ไม่แลดูพลช้าง ไม่แลดูพลม้า ไม่แลดูพลรถ ไม่แลดูพลราบ ไม่แลดูหญิง ไม่แลดูชาย ไม่แหงนดู ไม่ก้มดู ไม่เหลียวลอกแลกเดินไป นี้เรียกว่า อารักขโคจร
อุปนิพันธโคจรเป็นไฉน ? อุปนิพันธโคจรได้แก่สติปัฏฐาน 4 ซึ่งเป็นที่นำจิตเข้าไปผูกไว้ สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "(ถามว่า) ดูกรภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าเป็นโคจรของภิกษุ ? (ตอบว่า)ธรรมที่เป็นวิสัยของบิดาของตน ธรรมนี้คืออะไร ? คือสติปัฏฐาน 4 นี้เรียกว่าอุปนิพนธโคจร* ภิกษุเป็นผู้เข้าถึง เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยอาจาระนี้ด้วย ด้วยโคจรนี้ด้วย โดยนัยที่กล่าวมานี้ แม้เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า "อาจารโคจรสมฺปนฺโน" ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจาระและโคจร
- จุดมุ่งหมายของศีลสำหรับบรรพชิต
ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปด้วยอิทธิบาทธรรมทั้งหลายชั้นประณีต ชื่อว่า ปณีตศีล ศีลที่บุคคลสมาทานเพราะอาศัยอริยภาพว่า ศีลนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ ชื่อว่า ปณีตศีล โลกุตตรศีล จัดเป็นปณีตศีล อีกอย่างหนึ่ง ศีลบารมีที่ประพฤติเพื่อต้องการความหลุดพ้นแห่งสรรพสัตว์ เป็นปณีตศีล จากข้อความดังกล่าว ทำให้มองเห็นจุดมุ่งหมายของศีลธรรมชั้นสูงว่า ทรงมุงหมายให้ผู้ประพฤติปฏิบัติได้ดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐ เป็นแดนเกษมจากโยคะ หมดความอาลัย เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด เป็นไปเพื่อความสินทุกข์ เป็นไปเพื่อ มรรค ผล นิพพาน - เกณฑ์ตัดสินศีลสำหรับบรรพชิต
สำหรับเกณฑ์ในการตัดสินสิ่งที่เป็นศีลสำหรับบรรพชิต จะกล่าวรวมกันกับเกณฑ์ในการติดสินธรรมสำหรับบรรพชิต ในหัวข้อถัดไป - ธรรมสำหรับบรรพชิต
คุณธรรมสำหรับบรรพชิต หรือนักบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีคำเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น บรรพชิตบ้าง ภิกษุบ้าง สมณะบ้าง คุณธรรมของผู้เป็นภิกษุนั้น มี 10 ประการ คือ
1. ไม่อาศัยศิลปะเลี้ยงชีพ
2. เป็นอยู่เรียบง่าย
3. มุ่งบำเพ็ญประโยชน์
4. สำรวมอินทรีย์
5. หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง
6. ไม่แล่นไปตามตัณหา
7. ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าของเรา
8. ไม่มีความหวังอะไร
9. ละความถือตัวได้
10. เทียวไปแต่ผู้เดียว
คุณธรรมสำหรับบรรพชิต หรือคุณธรรมที่ทำให้เป็นสมณะอีกนัยหนึ่ง มี 20 ประการด้วยกัน คือ
1. เป็นผู้มีความยินดีในธรรมอย่างประเสริฐ
2. ความเป็นผู้มีระเบียบวินัยที่เลิศ
3. เป็นผู้มีการประพฤติปฏิบัติ
4. เป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ประจำใจ
5. เป็นผู้มีการควบคุมอินทรีย์
6. เป็นผู้มีการสำรวมระวัง
7. เป็นผู้มีความอดทน
8. เป็นผู้มีความสงบเสงี่ยม
9. เป็นผู้มีความประพฤติมุ่งอยู่ผู้เดียว
10. เป็นผู้มีความยินดีอยู่ผู้เดียว
11. เป็นผู้มีความหลีกเร้น
12. เป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ
13. เป็นผู้มีความเพียร
14. เป็นผู้มีความไม่ประมาท
15. เป็นผู้สมาทานธรรมฝ่ายขาว
16. เป็นผู้มีการเล่าเรียนพระพุทธพจน์
17. เป็นผู้มีการสอบถามพระพุทธพจน์
18. เป็นผู้มีความยินดีในศีลเป็นต้น
19. เป็นผู้ไม่มีความอาลัย
20. เป็นผู้บำเพ็ญสิกขาบท
ธรรมสำหรับบรรพชิต เมื่อกล่าวโดยหลักใหญ่ใจความสำคัญแล้ว ก็จะไม่พ้นเรื่องไตรสิกขา แม้ในอริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อย่อลงแล้วก็เหลือ 3 เช่นกัน ดังนั้นเพื่อมองเห็นภาพโดยรวมก่อนผู้เขียนจึงขอนำอริยมรรคมีองค์ 8 มาเสนอเป็นลำดับไป
1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
3. สัมมาวาจา การเจรจาชอบ
4. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
5. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ
6. สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ
7. สัมมาสติ การระลึกชอบ
8. สัมมาสมาธิ การตั้งจิตมั่นชอบ
จัดอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ ลงในธรรมขันธ์ 3 หรือในสิกขา 3 หรือไตรสิกขา ได้ดังนี้
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเข้าในศีลขันธ์ หรือ อธิสีลสิกขา
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเข้าในสมาธิขันธ์ หรือ อธิจิตตสิกขา
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเข้าในปัญญาขันธ์ หรือ อธิปัญญาสิกขา - จุดมุ่งหมายของธรรมสำหรับบรรพชิต
จุดมุ่งหมายธรรมสำหรับบรรพชิตว่าโดยย่อ มี 3 ประการด้วยกัน คือ
1. ขั้นศีล เป็นอธิสีลสิกขา มุ่งให้ผู้ประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้มีศีลอันยิ่ง ขั้นอริยกันตศีล คือ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ ตัณหาและทิฏฐิครอบงำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ
2. ขั้นสมาธิ เป็นอธิจิตตสิกขา มุ่งให้ผู้ประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้มีสมาธิอันยิ่ง หรือสมาธิขั้นสูงสุด
3. ขั้นปัญญา เป็นอธิปัญญาสิกขา มุ่งให้ผู้ประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้มีปัญญาอันยิ่ง คือเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งสูงสุด - เกณฑ์ตัดสินธรรมและวินัยสำหรับบรรพชิต
เกณฑ์สำหรับติดสินว่าสิ่งใดเป็นธรรมสิ่งใดเป็นวินัยนั้น พระพุทธองค์แก่ พระนางปชาบดีโคตรมี ในสมัยที่ประทับ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ซึ่งมีใจความดังนี้
1. เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
2. เป็นไปเพื่อความพราก ไม่เป็นไปเพื่อความประกอบไว้
3. เป็นไปเพื่อการไม่สะสม ไม่เป็นไปเพื่อการสะสม
4. เป็นไปเพื่อความมักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความมักมาก
5. เป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ
6. เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ
7. เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
8. เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก
เกณฑ์สำหรับตัดสินสิ่งที่เป็นธรรมเป็นวินัย นัยที่ 2 ซึ่งพุทธองค์ตรัสแก่พระอุบาลีเถระ มีข้อความดังนี้
1. เป็นไปเพื่อเบื่อหน่ายอย่างที่สุด
2. เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
3. เป็นไปเพื่อความดับ
4. เป็นไปเพื่อสงบระงับ
5. เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง
6. เป็นไปเพื่อตรัสรู้
7. เป็นไปเพื่อนิพพาน