ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
มหายานกับอุดมการณ์พระโพธิสัตว์
ปรัชญาปารมิตา : อภิปรัชญาของมหายาน
พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ในมหายาน
การตั้งโพธิจิต : หัวใจของอุดมการณ์พระโพธิสัตว์
อุดมการณ์พระโพธิสัตว์เป็นจริยธรรมเชิงบวก
บารมี 6 : จริยศาสตร์ภาคปฏิบัติการของพระโพธิสัตว์
บรรณานุกรม
ปรัชญาปารมิตา : อภิปรัชญาของมหายาน
หากจะกล่าวว่าจริยศาสตร์ มีรากฐานจากอภิปรัชญาแล้ว
พุทธจริยศาสตร์ของมหายานไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์พระโพธิสัตว์ หลักโพธิจิต
และหลักมหากรุณา เป็นต้น ล้วนมีรากฐานจากปรัชญาปารมิตาสูตร มหายานถือว่า
พระสูตรนี้สำคัญและศักดิ์สิทธิ์มาก พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่มหายานโดยเฉพาะ
ท่ามกลางชุมนุมของเหล่าพระโพธิสัตว์ที่ภูเขาคิชกูฏ เมืองราชคฤห์
สาระสำคัญของพระสูตรกล่าวถึงความศูนย์ของเบญจขันธ์ คำว่า ศูนย์
ไม่ได้หมายถึงความขาดสูญซึ่งเป็นอุจเฉททิฏฐิ
แต่หมายเอาการไม่มีตัวตนของเบญจขันธ์ซึ่งเป็นสิ่งปรุงแต่ง
แต่ที่เราเข้าใจว่ามีตัวตน เป็นเพราะอวิชชาของเราเอง กล่าวโดยสรุป
ปรัชญาปารมิตาสูตรก็คือ การอธิบายอนัตตา และปฏิจจสมุปบาทในอีกแนวหนึ่งนั่นเอง
สาระสำคัญทางจริยธรรมของปรัชญาปารมิตาก็คือ ในสภาพศูนยตา
จะไม่มีความเห็นแก่ตัวหลงเหลืออยู่ เป็นความเต็มบริบูรณ์ด้วยปัญญา (ปรัชญาปารมิตา
)ซึ่งเป็นการบรรลุทางจิตก่อนการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในภาวะเช่นนี้
ความแตกต่างระหว่างตนเองกับผู้อื่นไม่มีหลงเหลืออีกต่อไป
จะมีก็แต่ความเมตตาสงสารในสัตว์ทั้งหลาย
เพราะมีความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ตถตา) ว่าอยู่ในสภาพศูนยตา ไม่มีสัตว์
บุคคล ตัวตน เราเขาใด ๆ อีก ดังที่ โจชิ สรุปไว้ดังนี้
ดังนั้น ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ตรรกะแห่งคำสอนเรื่องปรัชญาปารมิตานี้
ได้นำไปสู่ความกรุณาและมุทิตาในสัตว์ทั้งหลาย เมื่อสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีสัตว์ บุคคล
ตัวตน เรา เขาหลงเหลืออยู่ เมื่อสัตว์ทั้งหลายต่างมีพุทธภาวะ
และเมื่อสัตว์ทั้งหลายต่างรักสุข เกลียดทุกข์ ต้องการอิสรภาพและความสงบสุข
สัตว์ทั้งหลายจึงต้องสร้างความรักแบบพระโพธิสัตว์ให้มีในตน
จะมีเหตุผลใดอีกที่จะมีตัวตนที่เห็นแก่ตัวหลงเหลืออยู่
ความสมบูรณ์ทางจริยธรรมจะบังเกิดขึ้นได้ ก็โดยอาศัยหลักปรัชญาปารมิตานี้ (Joshi,
1987 : 96)
จากคำอธิบายปรัชญาปารมิตาดังกล่าว
จะพบจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออันเป็นที่มาของข้อแตกต่างระหว่างเถรวาทกับมหายานคือ
หลังจากรู้จักความเป็นจริงของเบญจขันธ์แล้ว
เถรวาทจะมุ่งไปที่การทำลายอหังการและมมังการ (ความรู้สึกว่าเป็นเรา และของเรา)
ในตนเองเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ จากนั้นจึงคิดช่วยเหลือผู้อื่นตามความสามารถของตน
แต่มหายานกลับมองไปที่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน (ภาวะที่เหมือนกัน)
ระหว่างตนกับผู้อื่นและ (ในฐานะของผู้เข้าใจความจริง) คิดช่วยเหลือผู้อื่น ในทันที
นี้คือข้อแตกต่างระหว่างการมุ่งเพื่อความหลุดพ้นส่วนตนของเถรวาทและความหลุดพ้นของมหาชนหรือการเป็นพระโพธิสัตว์ในทัศนะของมหายาน