ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พุทธจริยศาสตร์เพื่อมหาชน

มหายานกับอุดมการณ์พระโพธิสัตว์
ปรัชญาปารมิตา : อภิปรัชญาของมหายาน
พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ในมหายาน
การตั้งโพธิจิต : หัวใจของอุดมการณ์พระโพธิสัตว์
อุดมการณ์พระโพธิสัตว์เป็นจริยธรรมเชิงบวก
บารมี 6 : จริยศาสตร์ภาคปฏิบัติการของพระโพธิสัตว์
บรรณานุกรม

พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ในมหายาน

เพื่อความเข้าใจพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ของมหายานได้ดี จะขออธิบายเปรียบเทียบกับทัศนะของเถรวาท ดังนี้

  1. แม้ว่าพระนิพพานจะเป็นอุดมการณ์สูงสุดของพระพุทธศาสนาทุกนิกาย แต่ก่อนจะถึงนิพพาน มหายานได้เพิ่มอุดมการณ์อีกแบบหนึ่งเข้ามาคือ อุดมการณ์พระโพธิสัตว์ แนวคิดเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ของมหายานที่แตกต่างจากรายละเอียดตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เริ่มปรากฏอย่างชัดเจนมากขึ้นจากนิกายมหาสังฆิกะ ที่ไม่เห็นด้วยกับมติสังคายนาครั้งที่ 2 ของพระมหาเถระฝ่ายเถรวาท มหายานได้นำมาพัฒนาต่อ พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ที่มีฐานะเป็นมนุษย์ได้เปลี่ยนไปเป็นเทพที่ควรแก่การสวดมนต์ขอพรเพื่อปลดเปลื้องทุกข์โศกในชีวิต เถรวาทและมหายานยุคแรกมีความเห็นสอดคล้องกันว่า พระพุทธเจ้าทรงมี 2 พระกาย คือ รูปกาย (ภายหลังเรียกว่านิรมานกาย) หรือกายเนื้อในรูปเบญจขันธ์ที่เติบโต ทรุดโทรม และดับขันธ์ไปตามกาลเวลา และธรรมกาย หมายถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นกฎธรรมชาติ ต่อมาภายหลังมหายานนิกายวิชญาณวาทิน กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงมี 3 พระกาย โดยเพิ่มพระกายที่ 3 คือ สัมโภคกาย หรือกายทิพย์เข้ามา พระกายที่ 3 นี้อยู่ระหว่าง รูปกาย และธรรมกาย และเป็นการปูทางไปสู่แนวคิดเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ของมหายาน
  2. เถรวาทถือว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ การตรัสรู้ของพระองค์มาจากความเพียรพยายามของมนุษย์คนหนึ่ง อาศัยพระมหากรุณาคุณจึงได้ทรงนำธรรมที่ตรัสรู้มาสั่งสอนเวไนยสัตว์ ส่วนมหายานเห็นว่าพระพุทธเจ้า พระองค์จริงคืออาทิพุทธ เป็นภาวะนิรันดร์ ไม่เคยประสูติ สถิตในสรวงสวรรค์ชั้นอกนิษฐภูวนา ทรงมีอยู่ และดำรงอยู่ด้วยพระองค์เอง พระโคดมพุทธเจ้าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ เป็นการสำแดงออกมาเป็นรูปกายของพระพุทธเจ้าพระองค์จริง สัทธรรมปุณฑริกสูตรได้กล่าวว่า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามีนับจำนวนครั้งไม่ได้ พระชนม์ชีพของพระองค์ไม่อาจกำหนดได้ ทรงถือกำเนิดด้วยพระองค์เอง และประทับที่ภูเขาคิชกูฏ (สัทธรรมปุณฑริกสูตร, 2537 : 249) ส่วน เถรวาทเชื่อแต่เพียงว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสในโลกแล้วมากกว่าหนึ่งพระองค์ แต่มหายานเชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าจำนวนนับไม่ถ้วน มากกว่าเม็ดทรายในมหาสมุทรเสียอีก หากมองอย่างพิเคราะห์แล้ว พระพุทธเจ้าของมหายานละม้ายคล้ายคลึงกับพระวิษณุในศาสนาฮินดูและคำสอนเกี่ยวกับการอวตารของพระองค์ในภควัทคีตา พระพุทธเจ้าในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์จึงได้กลายเป็นจอมเทพ (เทวาธิเทพ) ผู้คอยช่วยเหลือสัตว์โลกในพระพุทธศาสนามหายาน การอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์เป็นที่นิยมของศาสนิกมากกว่าการใช้เหตุผลและการใช้ความเพียรพยายามเพื่อหาทางออกจากปัญหาให้กับตนเอง

     
  3. ในเถรวาท พระโพธิสัตว์ หมายถึงผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต แต่ในมหายานได้พัฒนาไปอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือ ศาสนิกทุกคนควรตั้งโพธิจิต เพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ อุดมคติพระโพธิสัตว์ในฐานะระบบจริยธรรม ที่เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต ซึ่งปัจเจกชนสามารถดับทุกข์ได้ด้วยความเพียรของตนเอง ถูกแทนที่ด้วยระบบจริยธรรมที่ต้องพึ่งพิงสิ่งภายนอกช่วยเหลือให้พ้นทุกข์แทน นอกจากนั้น มหายานยังเห็นต่อไปอีกว่า พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีแก่กล้า สมควรที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้แล้ว อาจจะไม่ยอมตรัสรู้และยินดีเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อช่วยขนสรรพสัตว์จากกองทุกข์ในวัฏฏสงสารต่อไป สรรพสัตว์ทั้งปวงแม้จะมีพุทธภาวะในตน แต่ก็ใช่ทั้งหมดที่จะสามารถช่วยตนเองได้ จึงต้องอาศัยการช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์จึงจะสามารถดำรงตนอยู่ได้และก้าวหน้าในธรรมขั้นสูงต่อ ๆ ไป

จากแนวคิดดังกล่าวนี้ทำให้กล่าวได้ว่า แทบไม่มีข้อแตกต่างกันแต่อย่างใดระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระโพธิสัตว์ เพราะแต่เดิมนั้นการรื้อขนสรรพสัตว์ออกจากวัฏฏสงสารเป็นพุทธกิจโดยเฉพาะ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเพื่อทำภารกิจนี้ แต่มหายานได้มอบภารกิจนี้ให้เป็นของพระโพธิสัตว์แทน ฉะนั้น จึงเท่ากับว่า พระโพธิสัตว์มีฐานะไม่แตกต่างไปจากฐานะของพระพุทธเจ้า

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย