ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

วรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่

วรรณกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมยุคใหม่

เป็นที่ยอมรับกันว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่อย่างเต็มตัวตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมาตรฐานอย่างหนึ่งที่มักจะถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทย คือ ความเสื่อมลงของโลกทัศน์แบบไตรภูมิแล้วถูกแทนที่ด้วยแนวคิดแบบเหตุผลนิยม (rationalism) และวิทยาศาสตร์จากประเทศตะวันตก รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นชั้นนำไทยที่ถือว่าเป็นตัวแทนของยุคสมัยใหม่ เพราะทรงสนพระทัยในวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก จนได้รับฉายาว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ด้วยอิทธิพลเหตุผลนิยมแบบวิทยาศาสตร์ ทำให้พระองค์มีท่าทีปฏิเสธความเชื่อใด ๆ ก็ตามที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล รวมทั้งระบบความเชื่อที่มีฐานมาจากจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิด้วย เช่น ความเชื่อเรื่องพุทธกาล 5,000 ปี พระองค์ทรงแย้งว่า พระพุทธศาสนาสามารถจะดำรงอยู่ได้ตลอดกาลนานถ้าชาวพุทธตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติเป็นนิจ แม้คติเรื่องนรกสวรรค์ในชาติหน้าก็ถูกลดทอนลงจากความหมายระดับอภิปรัชญา (metaphysical) ให้เหลือเพียงความหมายระดับจิตวิทยา (psychological) คือให้เหลือเพียงสรรค์ในอกนรกในใจเท่านั้น รวมทั้งคติความเชื่อเรื่องยุคพระศรีอาริย์ เรื่องพระโพธิสัตว์ และการปรารถนาพุทธภูมิก็ถูกละทิ้งไป พระองค์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ประกาศชัดเจนว่า “มิทรงเอื้อมอาจปรารถนาพุทธภูมิ” แม้แนวคิดในการตั้งธรรมยุติกนิกายของรัชกาลที่ 4 ในขณะที่เป็น “วชิรญาณภิกขุ” ก็ได้สะท้อนแนวคิดแบบเหตุนิยมของพระองค์ด้วยเช่นกัน พระองค์ทรงต้องการให้ชาวพุทธตั้งคำถามกับตัวเองว่า การนับถือศาสนานั้นมีประโยชน์ “อย่างไร” เพราะ “เหตุใด” และ “ทำไม” จึงต้องนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้ที่จะนับถือศาสนาจะต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้กอ่นว่าอะไร ทำไม และเพราะเหตุใดก่อนจึงต้องนับถือศาสนา นอกจากนั้น พระองค์สนับสนุนให้วิพากษ์การตีความพระไตรปิฎกตามจารีตแบบลังกาด้วยว่า “ถ้อยคำพวกนี้ พระอรรถกถาจารย์กล่าวให้ฟันเฟือนไปไม่ตรงอยู่ตามเดิม ชื่อว่าหาเคารพแก่พระ พุทธานุญาตไม่”

อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมเชิงศาสนาในช่วงที่สังคมไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของแนวคิดแบบเหตุผลนิยมและวิทยาศาสตร์ตะวันตก คือ “หนังสือ แสดงกิจจานุกิจ” แต่งโดยเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ในปี พ.ศ. 2410 วรรณกรรมชิ้นนี้ได้พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธศาสนาเข้ากันได้กับหลักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องโลกกลม เป็นต้น และพร้อมทั้งวิพากษ์จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิว่าเป็นเรื่องที่เหลวไหลไม่น่าเชื่อถือ เพราะเข้ากันไม่ได้กับหลักวิทยาศาสตร์ ดังที่ ส.ศิวรักษ์ ได้กล่าวถึงงานชิ้นนี้ว่า “กิจจานุกิจท้าทายไตรภูมิมาก โดยสอนให้กลับไปหาพระพุทธวจนะที่เป็นตัวธรรมะ เป็นวิทยาศาสตร์ไม่แพ้ฝรั่ง”

กล่าวโดยสรุป สัญลักษณ์สำคัญของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ของสังคมไทย คืออิทธิพลของแนวคิดแบบเหตุผลนิยมและวิทยาศาสตร์ตะวันตก เมื่อมองในแง่ของความคิดความเชื่อ นี้คือยุคของการเสื่อมถอยของจารีตแบบลังกาและจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิแล้วถูกแทนที่ด้วยจักรวาลวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ และเมื่อมองในแง่วรรณกรรมทางศาสนา นี้คือยุคแห่งความเสื่อมถอยของอิทธิพลวรรณกรรมยุคเก่าคือไตรภูมิพระร่วง และจารีตการแต่งวรรณกรรมแบบลังกา พร้อมกับการเกิดขึ้นของวรรณกรรมแนวเหตุผลนิยมที่พยายามจะวิพากษ์ความเชื่อแบบงมงายไร้เหตุผลแล้วแสดงถึงความสอดคล้องกันระหว่างคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ตะวันตก

ยุคใหม่ในสังคมตะวันตก
ยุคใหม่ในสังคมไทย
วรรณกรรมแบบจารีตลังกา
จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ
วรรณกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมยุคใหม่
แนวโน้มวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่
โครงเรื่องแนวเหตุผลนิยม
การวิพากษ์เรื่องอภินิหาร
การตีความเรื่องอภินิหาร
การวิพากษ์ความไม่สมเหตุสมผล
ยุคใหม่ตอนกลาง : วรรณกรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ
ภาษาคน-ภาษาธรรม : ทฤษฎีการตีความของท่านพุทธทาส
การวิพากษ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และวิสุทธิมรรค
การปฏิเสธจักรวาลวิทยาแบบอภิปรัชญา
การตีความปฏิจจสมุปบาทแนวใหม่
การฟื้นฟูมิติโลกุตรธรรม
วรรณกรรมของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)
การฟื้นฟูมิติทางสังคมแนวพุทธ
การวิพากษ์ฐานคิดตะวันตกและเสนอแนวคิดแบบองค์รวมเชิงพุทธ
วรรณกรรมของฟริตจ๊อฟ คาปร้า
ทัศนะแบบจักรกล (mechanistic view)
ทรรศนะแบบลดทอน (Reductionistic view)
แนวคิดพิชิตธรรมชาติ (conquest of nature)
ควอนตัมฟิสิกส์ กับ พระพุทธศาสนา
กลุ่มวรรณกรรมที่เน้นพุทธจริยธรรมเชิงสังคม
วรรณกรรมของนายแพทย์ประเวศ วสี
วรรณกรรมของนิธิ เอียวศรีวงศ์
วรรณกรรมที่เน้นจริยธรรมแบบผูกพันกับสังคม
วรรณกรรมของนายแพทย์ประสาน ต่างใจ
นิพพานในฐานะเป็นวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของจิต
วรรณกรรมของปริญญา ตันสกุล
โครงสร้างจิตและการทำงานของจิต
การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
การปฏิบัติเพื่อเข้าสู่นิพพาน
วรรณกรรมพระพุทธศาสนากับแนวคิดหลังสมัยใหม่
บทสรุป
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย