ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พุทธปรัชญาในคัมภีร์มิลินทปัญหา

ประวัติคัมภีร์มิลินทปัญหา
ทรรศนะของนักปราชญ์เกี่ยวกับคัมภีร์มิลินทปัญหา
คัมภีร์มิลินทปัญหาหลายฉบับ
พระเจ้ามิลินท์คือใคร
หาผู้ตอบปัญหาให้หายสงสัยไม่ได้
พระนาคเสนคือใคร
การประลองเชิงและตั้งกติกาการโต้วาทะ
การวิเคราะห์ลักษณะพิเศษ
เอกสารอ้างอิง

ประวัติคัมภีร์มิลินทปัญหา

เมื่อพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชกรีฑาทัพจากประเทศกรีกเข้ารุกรานอินเดียจนได้ชัยชนะและเลิกทัพกลับไปนั้น แคว้นที่ทรงตีได้แล้วก็โปรดให้แม่ทัพนายกองของพระองค์ปกครองดูแล ทิ้งกองทหารกรีกไว้บางส่วน ฝรั่งชาติกรีกเหล่านี้ได้ตั้งเป็นอาณาจักรอิสระขึ้น เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคตแล้ว อาณาจักรที่มีกำลังมากคืออาณาจักรซีเรียและอาณาจักรบากเตรีย ปัจจุบันคือเตอรกีสถานและอัฟกานิสถาน ซีเรียในอดีตเป็นอาณาจักรมหาอำนาจ เป็นสื่อเชื่อมอารยธรรมกรีกกับอินเดียเป็นเวลานานถึง 247 ปี จึงถูกโรมันตีแตก ส่วนบากเตรียเดิมทีก็อยู่ในอำนาจของซีเรีย พระราชาเชื้อสายกรีกพระองค์หนึ่ง พระนามว่า เมนันเดอร์ หรือที่เรียกในคัมภีร์บาลีว่า พระเจ้ามิลินท์ ได้ยกกองทัพตีเมืองต่าง ๆ แผ่พระราชอำนาจลงมาถึงตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำคงคา เดิมทีกษัตริย์องค์นี้มิได้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงเป็นปรปักษ์ขัดขวางการขยายตัวของพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป แต่ทรงแตกฉานวิชาไตรเพทและศาสนาปรัชญาต่าง ๆ รวมทั้งพุทธปรัชญาด้วย จึงประกาศโต้วาทีกับนักบวชในลัทธิศาสนาต่าง ๆ ในเรื่องศาสนาและปรัชญา ปรากฏว่าไม่มีใครสู้พระองค์ได้ เวลานั้นพระเจ้ามิลินท์ทรงประทับอยู่ที่นครสาคละ

บรรดาพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาต่างครั่นคร้ามในวาทะของพระเจ้ามิลินท์ อยู่ไม่เป็นสุขในเมืองสาคละพากันอพยพไปอยู่ที่อื่นหมดสิ้น เมื่อสาคละว่างพระสงฆ์สามเณรอยู่ถึง 12 ปี จนกระทั่งคณะสงฆ์สมัยนั้นได้เลือกนิมนต์พระเถระผู้สามารถรูปหนึ่งมายังเมืองสาคละเพื่อโต้วาทะเรื่องศาสนาและปรัชญากับพระเจ้ามิลินท์ ท่านผู้นั้นคือพระนาคเสน พระเจ้ามิลินท์ทรงทราบข่าวนั้นเสด็จไปสนทนาเป็นเชิงปุจฉาวิสัชนา อภิปรายปัญหาทั้งทางโลกและทางธรรมกันขึ้น เป็นเวลาหลายวัน ผลปรากฏว่า พระเจ้ามิลินท์ยอมแพ้พระนาค-เสน ข้อสนทนาระหว่างนักปรัชญาทั้ง 2 ท่านนี้ได้รวบรวมไว้เป็นคัมภีร์สำคัญคัมภีร์หนึ่ง เรียกว่า “มิลินทปัญหา” ดังนั้นมิลินทปัญหาจึงเป็นปกรณ์มีมาเก่าแก่และสำคัญปกรณ์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ไม่ปรากฏว่าท่านผู้ใดเป็นผู้รจนา เชื่อกันว่ารจนาขึ้นในราวพุทธศักราช 500 ปรากฏตามมธุรัตถปกาสินี ฎีกาแห่งมิลินทปัญหาซึ่งรจนาโดยพระมหาติปิฎกจุฬาภัย ว่าพระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้แต่งนิทานกถาและนิคมกถาประกอบเข้าเมื่อพุทธศตวรรษที่ 10

มิลินทปัญหาแบ่งออกเป็น 6 ส่วน คือ (1) บุพพโยค ว่าด้วยบุพพกรรมและประวัติของพระนาคเสนและพระเจ้ามิลินท์ (2) มิลินทปัญหาว่าด้วยปัญหาเงื่อนเดียว (3) เมณฑก ปัญหา ว่าด้วยปัญหาสองเงื่อน (4) อนุมานปัญหา ว่าด้วยเรื่องที่รู้โดยอนุมาน (5) ลักขณปัญหา ว่าด้วยลักษณะแห่งธรรมต่าง ๆ (6) และอุปมากถาปัญหา ว่าด้วยเรื่องที่จะพึงทราบด้วยอุปมา

มิลินทปัญหา อาจศึกษาได้ในเชิงปรัชญาตะวันตก โดยแบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ

  1. หมวดอภิปรัชญา (Metaphysics) ว่าด้วยจิต เจตสิก รูป นิพพาน และจักรวาลวิทยา
  2. หมวดญาณวิทยา (Epistemology) ว่าด้วยพุทธญาณ และความรู้ระดับต่าง ๆ มี ความรู้ระดับวิญญาณ เป็นต้น และความรู้โพธิญาณ เป็นที่สุด
  3. หมวดคุณวิทยา (Axiology) ว่าด้วยตรรกศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ และจริย-ศาสตร์ เป็นต้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย