ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พุทธปรัชญาในคัมภีร์มิลินทปัญหา

ประวัติคัมภีร์มิลินทปัญหา
ทรรศนะของนักปราชญ์เกี่ยวกับคัมภีร์มิลินทปัญหา
คัมภีร์มิลินทปัญหาหลายฉบับ
พระเจ้ามิลินท์คือใคร
หาผู้ตอบปัญหาให้หายสงสัยไม่ได้
พระนาคเสนคือใคร
การประลองเชิงและตั้งกติกาการโต้วาทะ
การวิเคราะห์ลักษณะพิเศษ
เอกสารอ้างอิง

ทรรศนะของนักปราชญ์เกี่ยวกับคัมภีร์มิลินทปัญหา

เนื่องจากมิลินทปัญหา เป็นคัมภีร์ปกรณ์ที่เก่าแก่และสำคัญ จึงมีผู้รจนาแต่งเสริมบางตอนและใช้ภาษาหลายภาษาในการแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลีลาการแต่งและอรรถาธิบายพุทธธรรมด้วยความพิสดาร หลักแหลมและแยบยล สอดคล้องกับพระไตรปิฎกใช้การอุปมาอุปมัยเป็นหัวใจของการอรรถาธิบายอย่างแจ่มแจ้งนั้น ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าในมิลินทปัญหาจึงมีความเห็นแตกต่างกันไปดังนี้

1. วี.แทรงก์เนอร์ (V. Trenckner) ผู้ถ่ายทอดมิลินทปัญหาออกเป็นอักษรโรมันเป็นคนแรก เมื่อ พ.ศ. 2423 กล่าวว่า มิลินทปัญหานี้ รจนาขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 และลงความเห็นว่าต้นฉบับเดิมเป็นภาษาสันสกฤต เพราะใช้คำเริ่มต้นว่า “ตมฺ ยถา นุสูยต” แทนที่จะใช้คำเริ่มต้นที่นิยมใช้กันในคัมภีร์ทั่ว ๆ ไปว่า “เอวมฺเม สุตํ” และว่าเป็นปกรณ์ที่รจนาขึ้นทางอินเดียเหนือ อันเป็นดินแดนที่อยู่ในความปกครองของพระเจ้าเมนันเดอร์ (มิลินท์) ซึ่งดูก็ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับลังกาทวีป

2. ศาสตราจารย์ริส เดวิดส์ (Prof. Rhys Davids) ผู้แปลมิลินทปัญหาเป็นภาษาอังกฤษเป็นคนแรก เมื่อ พ.ศ. 2433 ไม่ได้ระบุผู้รจนา กล่าวแต่เพียงว่า มิลินทปัญหาเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นทางอินเดียภาคเหนือ ราวแรกตั้งคริสต์ศักราช (คริสต์ศักราชเริ่มเมื่อ พ.ศ. 543) ในเวลาที่พระพุทธศาสนายังไม่เกิดแตกแยกกันเป็นนิกายมหายาน ข้างฝ่ายเหนือ และนิกายเถรวาท ข้างฝ่ายใต้ และว่ามิลินทปัญหานี้ เดิมคงแต่งขึ้นในภาษาสันสกฤตหรือภาษาปรากฤตเช่นเดียวกับคัมภีร์อื่น ๆ ที่รจนาขึ้นในทางอินเดียภาคเหนือ แต่ฉบับเดิมสาบสูญไปเสียแล้ว ฉบับที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้นั้น เป็นฉบับที่ชาวลังกาได้แปลเป็นภาษาบาลีไว้

3. พระอานันท์ เกาศัลยายนเถระ (Anand Kausalyayana) ชาวอินเดีย กล่าวงานฉลองพระพุทธศาสนามีอายุ 2500 ปีว่า มิลินทปัญหานั้น รวบรวมขึ้นโดยพระนาคเสนมหาเถระ และเป็นคัมภีร์ที่มีหลักฐานดีเล่มหนึ่ง มิลินทปัญหาคงรจนาขึ้นในสมัยพระเจ้าเมนันเดอร์ (มิลินท์) หรือหลังจากนั้น แต่จะต้องรจนาขึ้นก่อนสมัยพระพุทธโฆษาจารย์ เพราะพระพุทธโฆษาจารย์มักจะอ้างถึงมิลินทปัญหาเสมอ เมื่อประมาณดูแล้ว มิลินท-ปัญหาคงจะรจนาขึ้น 150 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึงคริสต์ศักราช 400 ปี เมื่อถือว่ามิลินท-ปัญหามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือใครเป็นผู้รวบรวมขึ้น รวบรวมขึ้นเมื่อไร มีการเพิ่มเติมลงไปบ้างหรือไม่ และถ้ามีการเพิ่ม เพิ่มเติมไปเมื่อไร มีผู้เสนอความคิดว่ามิลินทปัญหาไม่ใช่เป็นคัมภีร์ที่รจนาขึ้นโดยบุคคลคนเดียว เพราะแต่ละตอนมีลีลาการแต่งแตกต่างกัน บางทีจะมีการเพิ่มเข้าไปในภายหลังเป็นบางตอนก็ได้ ข้อพิสูจน์คำที่กล่าวนี้มีอยู่ว่า ฉบับที่แปลเป็นภาษาจีนระหว่างคริสต์ศักราช 317-420 (พุทธศักราช 860-963) ซึ่งเรียกว่านาคเสนสูตรนั้น มีเพียง 3 ตอนแรก เมื่อพิจารณาตามหลักนี้ จะเห็นได้ว่า 4 ตอนที่เหลือเพิ่มเข้ามาในภายหลัง ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนคำกล่าวข้าวต้น คือ เมื่อจบตอนที่ 3 แล้ว ก็แสดงว่าพระเจ้ามิลินท์ทรงถามปัญหาจบลง แต่ถึงตอนที่ 4 กลับเหมือนทรงเริ่มต้นถามใหม่อีก จึงมีทางสันนิษฐานได้เป็น 3 ทาง คือ
(1) อาจจะมีการเพิ่มเติมเข้ามาภายหลังอีกหลายตอน
(2) อาจจะแต่งขึ้นครบบริบูรณ์อย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้มาเดิมแล้ว และ
(3) ชาวจีนอาจจะเลือกแปลไว้เพียง 3 ตอนแรกก็ได้



4. นาย เอ. แอล. บาชัม (A.L. Basham) เห็นว่า มิลินทปัญหาน่าจะรจนาขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือมิฉะนั้นก็ราวแรกตั้งคริสต์ศักราช แต่อย่างน้อยก็ต้องก่อนพระพุทธ-โฆษาจารย์ไปลังกา แม้จะไม่ทั้งหมดก็ต้องบางส่วน หรือไม่ก็ภายหลังที่พระไตรปิฎกได้จัดเป็นชาดก เป็นทีฆนิกาย มัชฌิม-สังยุตต-อังคุตตร-ขุททกนิกายแล้ว ส่วนภาณกาจารย์ผู้ทำหน้าที่ในการรวบรวมนั้น ก็คงจะรวมอยู่ในจำนวนผู้ที่พระนาคเสน กล่าวว่าเป็นผู้ที่อยู่ในธรรมนครของพระพุทธเจ้า

5. นาย เอ. ดี. แอดิการัม (A.D. Adikaram) ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า มิลินทปัญหาน่าจะเกิดขึ้นในอินเดียเหนือ มิใช่เกิดขึ้นที่ลังกา

6. นาง ไอ.บี.ฮอนเนอร์ (I.B. Horner) กล่าวว่า มิลินทปัญหาอาจจะไม่ได้แต่งขึ้นในสมัยของพระเจ้ามิลินท์ นาย เอส. ดุตต์ (S. Butt) ประมาณว่า อาจจะร้อยกรองขึ้นในยุคต่อ ๆ มาอีกช้านาน

นางฮอนเนอร์ ได้ให้ข้อสังเกตต่อไปอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าในอัตถสาลินี อ้างข้อความบางตอนจากมิลินทปัญหา ตอนที่ 1 - 3 และพระธัมมปทัฏฐกถา ก็อ้างข้อความจากมิลินทปัญหา ตอนที่ 4-6 ด้วย หลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้แสดงว่าพระพุทธโฆษาจารย์มีความชำนิชำนาญในมิลินทปัญหาเป็นอย่างดี ดังนั้น มิลินทปัญหาอาจจะได้รจนาขึ้นในอินเดีย หรือแคชเมียร์ เมื่อประมาณ 300-400 ปีก่อนที่จะตกเข้ามาในประเทศลังกา เมื่อเทียบให้เห็นข้อต่างกันแล้ว จะเห็นว่าวิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์นั้น ให้ความรู้ในทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการทำตนให้บริสุทธิ์อย่างละเอียดลออ ส่วนพื้นฐานการอธิบายและการแนะนำต่าง ๆ ในมิลินทปัญหานั้น เป็นไปในทางพัฒนาปัญญามากกว่า มิใช่เป็นแบบแผนในการเจริญสมาธิภาวนา จุดมุ่งหมายตามที่แสดงไว้ก็คือ ต้องการจะขจัดสาเหตุแห่งความเคลือบแคลงสงสัยต่าง ๆ อันอาจจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากการมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับพระคัมภีร์ หรืออรรถแห่งคำสอนให้หมดสิ้นไป และเพื่อจะขจัดปัญหายุ่งยากต่าง ๆ เพื่ออนุชนในอนาคตจะได้รับคำตอบที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาสองแง่ อันอาจทำให้เกิดความฉงนสนเท่ห์ และเพื่อจะทำให้การโต้เถียงกันอันจะพึงมีได้ในอนาคตเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้หมดสิ้นไป ผู้แต่งจะต้องได้บันทึกการสนทนาที่เกิดขึ้นจริง ๆ หรือว่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจริงระหว่างกษัตริย์ผู้ที่ทรงพระปรีชาสามารถเป็นอย่างยิ่ง กับพระนาคเสน ซึ่งมีความสามารถพอ ๆ กัน หรือไม่เช่นนั้น ก็จะต้องคิดแต่งขึ้นมาเอง โดยมีการรวบรวมและเพิ่มเติมมาเรื่อย ๆ นับเวลาเป็นปี ๆ และอาจจะมีคณะหรือศิษย์ช่วยเพิ่มเติมต่อ ๆ มาด้วย และด้วยวิธีดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้กลายเป็นงานที่มีหลักฐาน มีสาระและมีความสำคัญขึ้น จึงกล่าวได้ในที่สุดว่า มิลินท-ปัญหานี้ เป็นผลงานของรจนาจารย์มากกว่าหนึ่งท่าน ลีลาอันกะทัดรัดในตอนต้น ๆ ของคัมภีร์นี้ จะเห็นว่าแตกต่างกันกับตอนท้าย ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความชำนิชำนาญในทางสำนวนวรรณคดี ย่อมจะเป็นเครื่องสนับสนุนสมมติฐานดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี

ศาสตราจารย์ริส เดวิดส์ ได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับผู้รจนามิลินทปัญหาไว้ว่า เมื่อประมวลหลักฐานต่าง ๆ จากชื่อสถานที่สำคัญและแม่น้ำสำคัญที่กล่าวถึงในคัมภีร์นี้แล้ว ก็พอสรุปได้ว่า ผู้รจนาคัมภีร์นี้ อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย หรือในแคว้นปัญจาบของอินเดียปัจจุบัน และเหตุผลที่จะมาสนับสนุนความเห็นดังกล่าวนี้ให้หนัก-แน่นยิ่งขึ้น ก็คือว่าในที่อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลังกา ซึ่งอาจจะพิจารณาว่าเป็นที่อยู่ของผู้แต่งคัมภีร์นี้ หากท่านไม่ได้อยู่ในที่ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ได้นั้น ไม่ปรากฏว่ามีอนุสรณ์อะไรเกี่ยวกับพระเจ้าเมนันเดอร์อยู่เลย มิลินทปัญหานี้รจนาขึ้นภายหลังคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ในพระอภิธรรมปิฎกที่แต่งโดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ในคราวทำสังคายนาครั้งที่ 3 หลังพุทธปรินิพพานแล้ว 235 ปี เพราะเมื่อเปรียบเทียบคัมภีร์ทั้งสองนี้ดูแล้ว จะเห็นว่า ข้อความในมิลินทปัญหาหลายตอนมาจากคัมภีร์กถาวัตถุ เช่น ปัญหาเรื่องทิพจักษุเป็นได้จริงหรือไม่ เรื่องคฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตแล้วจะบวชด้วยวิธีอย่างไร เป็นต้น ตรงกับความในกถาวัตถุทุกอย่าง และในกถาวัตถุยังละเอียดพิสดารกว่าอีกด้วย และเป็นธรรมดาว่า ข้อความในคัมภีร์ที่เก่ากว่านั้น มักจะถูกนำมาอ้างในคัมภีร์ที่แต่งทีหลัง และความมุ่งหมายก็อย่างเดียวกัน คือเพื่อปราบพวกมิจฉาทิฏฐิและป้องกันพระศาสนาจากพวกพาหิรลัทธิ

7. เสถียร โพธินันทะ อาจารย์บรรยายวิชาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาใน มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นปราชญ์ผู้หนึ่งในทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า มิลินทปัญหาเป็นหนังสืออธิบายธรรมะอย่างวิจิตรพิสดาร พร้อมทั้งอ้างหลักฐานในพระไตรปิฎกนับว่าเป็นของมีค่าดุจรัตนะอันวิเศษ ซึ่งนักศึกษาทางพระพุทธศาสนาควรจะต้องศึกษา จะได้ข้อคิดแยบยลในธรรมะอีกทวีตรีคูณ นักปราชญ์ทั้งยุโรปและเอเชียต่างลงความเห็นว่าปกรณ์มิลินทปัญหาเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง อาจถือว่าเป็นอรรถ-กถาเล่มแรกในพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ สมควรที่ชาวพุทธควรให้ความสนใจศึกษาอย่างใส่ใจ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย