ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
พุทธปรัชญาในคัมภีร์มิลินทปัญหา
ประวัติคัมภีร์มิลินทปัญหา
ทรรศนะของนักปราชญ์เกี่ยวกับคัมภีร์มิลินทปัญหา
คัมภีร์มิลินทปัญหาหลายฉบับ
พระเจ้ามิลินท์คือใคร
หาผู้ตอบปัญหาให้หายสงสัยไม่ได้
พระนาคเสนคือใคร
การประลองเชิงและตั้งกติกาการโต้วาทะ
การวิเคราะห์ลักษณะพิเศษ
เอกสารอ้างอิง
พระเจ้ามิลินท์คือใคร
ปัญหาว่าพระเจ้ามิลินท์ ผู้เป็นบุคคลสำคัญในเรื่องนี้คือใครนั้น ภรัต สิงห์ อุปัธยายะ (Bharat Singh Upadhyaya) ได้ให้คำตอบในปัญหานี้ไว้ว่า พระเจ้ามิลินท์ก็คือพระเจ้าเมนันเดอร์ กษัตริย์ชาติอินโดกรีก (ระหว่างศตวรรษที่ 2) คำว่า มิลินท์ มาจากคำภาษากรีกว่า เมนันดรอส (Menandros) นักเขียนในสมัยนั้นเรียกพระนามของกษัตริย์พระองค์นี้หลายอย่างด้วยกัน เช่น ในหนังสือ อวทานกัลปลดา ของท่านเกษเมนทร (Ksemendras Avadanakalpalata) เรียก มิลินทร์ (Milindra) ซึ่งเป็นนามเดียวกันกับที่พบในหนังสือหมวด ตันเซอร์ (the Bstan-hygur) แห่งพระไตรปิฎกธิเบต คำจารึกหีบศพภาษาชินกอต (Shinkot) เป็นตัวอักษร ขาโรษฐิ (Kharosthi) เรียกพระนามของกษัตริย์พระองค์นี้ว่าเมนัทระ (Menadra) เรื่องราวของนักประวัติศาสตร์กรีก เช่น สตราโบ (Strabo) พลูตาร์ก (Plutarch) และจัสติน (Justin) และเหรียญของพระเจ้าเมนันเดอร์เอง ซึ่งจากรึกตัวอักษรว่า Basileus Soteros Menandros ที่ค้นพบในที่ต่าง ๆ 22 แห่ง ในลุ่มน้ำกาบุล (Kabul) และสินธ์ (Sindh) และในบริเวณภาคตะวันตกของมณฑลอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ก็ยืนยันในเรื่องนี้ ส่วนในเรื่องสมัยอันแน่นอนของพระเจ้าเมนันเดอร์ สมิธ (Smith) มีความเห็นว่า พระเจ้าเมนันเดอร์รุ่งเรืองอยู่ในกลางศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. เอช. ซี. เรย์เชาธุรี (H.C. Raychaudhuri) กล่าวว่า พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ในศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ. ในมิลินท-ปัญหา กล่าวว่าพระเจ้ามิลินท์ทรงพระชนม์อยู่หลังพุทธปรินิพพาน 500 ปี ฉะนั้น จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะกล่าวว่า กษัตริย์กรีกพระองค์นี้ ทรงครองราชย์ในศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ. ในมิลินทปัญหาฉบับภาษาบาลีกล่าวว่า พระเจ้าเมนันเดอร์ เป็นพระราชาแห่งพวกโยนก โยนกานํ ราชา มิลินฺโท คำบาลีว่า โยนก หรือ โยน (สันสกฤตว่า ยวน) เป็นคำเดียวกับภาษาเปอร์เซียโบราณว่า เยานะ ซึ่งแต่เดิมหมายถึงพวกไอโอเนียนกรีก (Ionian Greeks) แต่ต่อมาเลือนไป หมายถึงพวกกรีกทั้งหมด อาณาจักรของพวกโยนะ (Yonas) และพวกกัมโพชะ (Kambojas) เป็นที่รู้จักแก่ชาวอินเดียในศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. ดังมีหลักฐานอยู่ใน อัสสลายนสูตร มัชฌิมนิกาย ซึ่งแสดงว่า ประชาชนของอาณาจักรเหล่านี้มีเพียง 2 วรรณะ คือ พวกนาย (Arya) และพวกทาส (Dasa) แทนที่จะมี 4 วรรณะ เหมือนในสังคมอินเดีย หลังสังคายนาครั้งที่ 3 ซึ่งทำที่กรุงปาฏลีบุตร ได้มีการส่งพระธรรมทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังประเทศโยนะอันห่างไกล อันประกอบไปด้วยอาณาจักรของพระเจ้าอันติโอคอสที่ 2 แห่งซีเรีย (Antiochos II of Syria) อาณาจักรของพระเจ้าอันตีโกนอส โกนาตอส แห่งเมซิโดเนีย (Antigonos Gonatos of Macedonia) เป็นต้น ในศิลาจารึกหลักที่ 2 และหลักที่ 13 ของพระเจ้าอโศก มีคำกล่าวต่อไปอีกว่า พระภิกษุชาวกรีกชื่อ ธรรมรักขิต (Yona Dhammrakkhita) ถูกส่งไปประกาศพระศาสนาในอปรานตกประเทศ ฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาได้เข้าถึงจิตใจของชาวกรีกก่อนสมัยของพระเจ้าเมนันเดอร์ แต่เป็นที่ทราบกันว่า กษัตริย์พระองค์นี้เป็นพระองค์แรกที่ทรงสนพระทัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยทรงตั้งข้อสงสัยขึ้นหลายประการ เมื่อพระองค์ทรงได้สดับคำวิสัชนาของพระนาคเสนจนหมดความสงสัยแล้ว พระองค์ก็ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนิกชน ทรงสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ในมิลินทปัญหากล่าวว่า พระเจ้ามิลินท์ประสูติที่ตำบลกลสิคาม
ในเกาะอลสันทะ คือ เมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) หรือกันทหาร (Kandahar)
ประเทศอาฟกานิสถานในปัจจุบัน นครหลวงของพระองค์ คือ เมืองสาคละ
ซึ่งเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองสังคาล (Sangal) หรือยูธูเมเดีย (Euthumedeia)
ของปโตเลมี (Ptolemy) เมืองนี้อยู่ในบริเวณเมืองไสอัลกอต (Sialkot) ในมณฑลปัญจาบ
อาณาจักรของพระเจ้าเมนันเดอร์ประกอบด้วยมณฑลเปษวาร์ (Peshawar) ลุ่มน้ำกาบุลตอนบน
(Kathiawar) และมณฑลอุตตรประเทศตะวันตก
เมื่อพระเจ้ามิลินท์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ก็ทรงสร้างวิหารชื่อ
มิลินทวิหาร ถวายพระนาคเสน นอกจากนี้
พระองค์ยังได้ทรงขยายอาณาจักรแห่งพระพุทธศาสนาออกไปอีกเป็นอันมาก
ก่อนที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนานั้น พระเจ้ามิลินท์โปรดการโต้วาทะกับนักปราชญ์คฤหบดี
เจ้าลัทธิศาสนาต่าง ๆ อยู่เสมอ และนักปราชญ์และเจ้าลัทธิต่าง ๆ
พ่ายแพ้ต่อพระยามิลินท์ และหวาดกลัวเกรงต่อพระเจ้ามิลินท์
ทำให้ชมพูทวีปว่างเว้นจากนักปราชญ์ที่ต่อกรโต้วาทะกับพระเจ้ามิลินท์ได้เป็นเวลา 12
ปี
จนกระทั่งเมื่อพระเจ้ามิลินท์ได้สดับฟังชื่อพระนาคเสนแล้วทรงเกิดความรู้สึกสะดุ้งพระทัยพิกล
แต่ก็แข็งพระทัยแสดงพระประสงค์จะโต้วาทะกับพระนาคเสนเถระให้จงได้
เรื่องที่พระเจ้ามิลินท์ทรงรู้สึกครั่นคร้าม เมื่อทรงสดับชื่อพระนาคเสนนั้น
คัมภีร์ฉบับภาษาบาลีเล่าว่า เป็นเพราะชาติก่อน
ชาติหนึ่งในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระเจ้ามิลินท์เคยเป็นสามเณร ส่วนพระนาคเสนเป็นพระภิกษุ
พระใช้ให้สามเณรกวาดเอากองหยากเยื่อที่พระกวาดแล้วไปทิ้ง
สามเณรรูปนั้นแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน เดินเฉยเสีย พระเรียกถึง 3
ครั้งก็ทำเฉยอย่างนั้น พระขัดใจว่า สามเณรว่ายาก จึงตีสามเณรด้วยด้ามไม้กวาด
สามเณรกลัว พลางร้องไห้และขนหยากเยื่อไปทิ้ง พร้อมทั้งตั้งความปรารถนาว่า
ด้วยบุญที่ทิ้งกองหยากเยื่อนี้
ขอเราจงมีอานุภาพยิ่งใหญ่เหมือนดวงอาทิตย์ในยามเที่ยงวันทุกภพทุกชาติจนกว่าจะบรรลุนิพพาน
ครั้นทิ้งหยากเยื่อแล้วไปอาบน้ำที่แม่น้ำ เห็นกระแสน้ำไหลเชี่ยว
ก็ตั้งความปรารถนาอีกว่า ขอเราจงมีปัญญาดุจกระแสคลื่นแห่งแม่น้ำนี้
ส่วนพระภิกษุที่เฆี่ยนสามเณรด้วยด้ามไม้กวาด ก็ไปอาบน้ำเหมือนกัน
ได้ยินเสียงปรารถนาของสามเณรแล้วคิดว่า
สามเณรนั้นเราใช้ให้ทำงานยังตั้งความปรารถนาถึงเพียงนี้
ถ้าความปรารถนาของสามเณรสำเร็จ ทำไมเล่าความปรารถนาของเราจะไม่สำเร็จ
จึงตั้งความปรารถนาบ้างว่า ขอปัญญาของเราจงไหลเชี่ยวดุจกระแสคลื่นในแม่น้ำนี้
และขอให้เราสามารถแก้ปัญหาที่สามเณรถามแล้วทุกประการ จนกว่าจะบรรลุพระนิพพาน
พระภิกษุและสามเณรทั้งสองนั้น
ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง
คือตลอดสมัยแห่งศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าและช่วงต่อระหว่างสมัยศาสนาของพระกัสสป
และของพระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า พอมาถึงสมัยแห่งพุทธกาลนี้
พระภิกษุมาเกิดเป็นพระนาคเสน และสามเณรมาเกิดเป็นพระเจ้ามิลินท์