ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พุทธปรัชญาในคัมภีร์มิลินทปัญหา

ประวัติคัมภีร์มิลินทปัญหา
ทรรศนะของนักปราชญ์เกี่ยวกับคัมภีร์มิลินทปัญหา
คัมภีร์มิลินทปัญหาหลายฉบับ
พระเจ้ามิลินท์คือใคร
หาผู้ตอบปัญหาให้หายสงสัยไม่ได้
พระนาคเสนคือใคร
การประลองเชิงและตั้งกติกาการโต้วาทะ
การวิเคราะห์ลักษณะพิเศษ
เอกสารอ้างอิง

การประลองเชิงและตั้งกติกาการโต้วาทะ

ก่อนการโต้วาทะกันจะอุบัติขึ้น นักปราชญ์ทั้งสองต่างกระหายใคร่ที่จะได้เผชิญหน้ากันอยู่แล้ว เพราะต่างฝ่ายต่างมีเบื้องหลังแห่งอดีตชาติที่ถือว่าเป็นกรรมในชาติปางก่อนกำหนดบันดาลให้ต้องพบกันในลักษณะปรปักษ์กันเช่นนี้ รอยแค้นและแรงอธิษฐานส่งผลข้ามภพข้ามชาติให้ตามมาทันในฐานะคู่แข่งอาฆาตจองเวร แต่แล้วในที่สุดก็ได้กลับกลายเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ที่สำคัญอีกอย่างคือในเหตุการณ์นี้ต่างฝ่ายต่างมีบริษัทบริวารหรือกองเชียร์ของตนเองคอยติดตามมาฟังและสนับสนุนหัวหน้าฝ่ายของตนอย่างมืดฟ้ามัวดิน

ส่วนข้อแตกต่างกันคือฝ่ายหนึ่งเป็นพระราชามหากษัตริย์ ทรงเป็นเจ้าแผ่นดิน ทรงเดชานุภาพอันล้นเหลือและมีปัญญาอันเฉียบแหลมปราบเจ้าลัทธิต่าง ๆ มาจนราบแผ่นดินแล้ว ราษฎรหรือใคร ๆ จะแตะต้องหรือขัดขืนหรือต่อกรขัดแย้งถกเถียง แม้แต่ด้วยความคิด คำพูดหรือการกระทำใด ๆ ไม่ได้เด็ดขาด ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เพราะนั่นคือกบฏโทษถึงประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตร แต่อีกฝ่ายเป็นลูกชาวบ้าน บวชเป็นสามเณรน้อย อายุครบ 20 ปี

ต่อมาอุปสมบทเป็นพระ ศึกษาธรรมวินัยอยู่วัดบ้านนอกชนบทชายแดน แม้จะมีบริษัทติดตามก็เป็นลูกชาวไร่ชาวนาเช่นเดียวกัน เมื่อถึงคราวจำเป็นที่ศาสนาต้องการ “พระบ้านนอก” ก็ต้องเดินเท้าเข้ากรุง หาสำนักศึกษาฝึกฝนวิทยายุทธ์ติดปลายดาบคือปัญญา เมื่อวันที่พระเจ้าเหนือหัวเรียกหามาถึง เพื่อการทำสงครามกันด้วยอาวุธคือปัญญา ด้วยหอกคือปาก ที่เรียกว่าการโต้วาทีก็เริ่มขึ้น และเริ่มขึ้นโดยพระเจ้าแผ่นดินเป็นฝ่ายทรงเริ่มทักทายเป็นการลองเชิงก่อนว่า “เหยื่อรายนี้จะไปได้สักกี่เพลง” แต่พอจะทรงทราบว่า “ไม่หมู”

และขณะเดียวกันฝ่ายพระเถระบ้านนอกก็ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น จึงขออนุญาตตั้งกติกาป้องกันตนเองไว้ก่อนว่า จะต่อสู้กันแบบไหน ถ้าแบบพระราชากับราษฎร ที่ราษฎรไม่ว่าตอบถูกหรือผิดต่อหน้าพระราชาก็ผิดอยู่วันยังค่ำ และมีโทษถึงประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตร ถ้าอย่างนี้ “ขอไม่สู้ด้วย” แต่ถ้าแบบนักปราชญ์สู้กันด้วยอาวุธคือปัญญาหรือเหตุผล มีแพ้กันได้ ชนะกันได้ ด้วยวิธีการของบัณฑิต อย่างนี้ “ยินดีสนองพระเดชพระคุณ” ในที่สุดพระราชาก็เลือกใช้วิธีของนักปราชญ์ แล้วการโต้วาทะ ณ ห้องโถงท้องพระโรงในพระราชวังอันเป็นที่ประชุมเสนาอำมาตย์ของพระราชานั้นก็เริ่มขึ้นท่ามกลางบริษัทบริวารผู้ติดตามมาเป็นกำลังใจสนับสนุนทั้งสองฝ่าย ดังนี้

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามถึงเป้าหมายของการบวชของพระนาคเสนว่า เธอบวชประสงค์อะไร พระนาคเสนทูลตอบทันทีว่า ขอถวายพระพร อาตมภาพบวชด้วยประสงค์จะดับทุกข์ และจะให้เป็นประโยชน์สุขแก่คนทั่วไป

พระเจ้ามิลินท์ ถ้ากระนั้น เธอจะยอมสละเวลาพูดกับข้าพเจ้าได้หรือไม่
พระนาคเสน. ถ้าพระองค์ตรัสอย่างบัณฑิต อาตมภาพก็จักพูดด้วยได้ ถ้าตรัสอย่างพระเจ้าแผ่นดิน อาตมภาพก็พูดด้วยไม่ได้
พระเจ้ามิลินท์ บัณฑิตพูดกันอย่างไรเล่าเธอ
พระนาคเสน. บัณฑิตพูดกัน ย่อมผูกเป็นปัญหาถามกันบ้าง แก้ปัญหากันบ้าง พูดขู่บ้าง ยอมรับบ้าง พูดแข่งกันบ้าง อีกฝ่ายกลับพูดแข่งบ้าง และย่อมไม่โกรธเพราะการพูดโต้เถียงกันนั้น ขอถวายพระพร บัณฑิตพูดกันอย่างนี้
พระเจ้ามิลินท์ ก็พระเจ้าแผ่นดินพูดอย่างไรเล่าเธอ
พระนาคเสน. ขอถวายพระพร พระเจ้าแผ่นดินเมื่อทรงออกความเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ ผู้ใดทูลคัดค้านขึ้น ก็ลงพระราชอาชญาแก่ผู้นั้น พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายตรัสอย่างนี้
พระเจ้ามิลินท์ ข้าพเจ้าจักพูดอย่างบัณฑิต จะไม่พูดอย่างพระเจ้าแผ่นดิน ขอเธอจงพูดตามสบายเหมือนอย่างพูดกะสามเณรหรือคนรักษาวัดนั้นเถิด อย่าได้มีความเกรงกลัวเลย
พระนาคเสน. ขอถวายพระพร เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่ง
พระเจ้ามิลินท์ ข้าพเจ้าจะขออนุญาตซักถามเธอจะได้หรือไม่
พระนาคเสน. ขอพระองค์จงตรัสถามเถิด
พระเจ้ามิลินท์ ข้าพเจ้าได้ถามเธอแล้ว
พระนาคเสน. อาตมภาพก็ได้ถวายวิสัชนาแล้ว
พระเจ้ามิลินท์ เธอวิสัชนามาว่ากระไร
พระนาคเสน พระองค์ตรัสถามมาว่ากระไร

พระเจ้ามิลินท์ทรงรู้สึกประทับพระราชหฤทัยความเฉียบแหลมในการตอบของพระเถระจึงตรัสว่า เธอนี้สามารถจริง ข้าพเจ้ายินดีสนทนาด้วย แต่แล้วก็ทรงพระราชดำริอีกว่า พระภิกษุรูปนี้มีปรีชาสามารถพูดโต้ตอบเราได้ ก็แต่ข้อที่เราจะต้องถามยังมีอยู่มาก วันนี้หมดเวลาเสียแล้ว อย่ากระนั้นเลย พรุ่งนี้จึงพูดกันต่อไปในวังเถิด เมื่อทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว จึงตรัสสั่งเทวมันติยอำมาตย์ให้อาราธนาพระเถระเข้าไปในพระราชวังในวันรุ่งขึ้น แล้วเสด็จจากราชอาสน์ ตรัสลาพระเถระมาทรงม้าพระที่นั่งเสด็จกลับคืนเข้าสู่พระราชวัง ฝ่ายเทวมันติยอำมาตย์ก็อาราธนาพระเถระตามรับสั่ง

วันรุ่งขึ้น อำมาตย์ 4 นายคือ เนมิตติยอำมาตย์ 1 อันตกายอำมาตย์ 1 มังกุรอำมาตย์ 1 สัพพทินนอำมาตย์ 1 พร้อมกันเข้าไปทูลถามพระเจ้ามิลินท์ว่า จะโปรดให้นิมนต์พระนาคเสนเข้ามาหรือยัง เมื่อตรัสอนุญาตแล้วจึงทูลถามว่า จะโปรดให้มากับพระภิกษุสักกี่รูป ตรัสว่า ท่านจะมากับพระภิกษุกี่รูปก็ตามใจท่านเถิด จึงอำมาตย์ 4 นายพากันไปเรียนพระเถรเจ้าตามพระราชดำรัส

ครั้นได้เวลา พระนาคเสนก็พาพระภิกษุสงฆ์เข้าไปสู่สาคลนคร ขณะเมื่อเดินไปตามทาง อันตกายอำมาตย์เข้าเดินเคียงพระนาคเสนแล้วถามขึ้นว่า คำชื่อที่เธอแสดงว่า “นาค-เสน” นั้น อะไรเป็นนาคเสน

พระนาคเสนถามว่า ก็ท่านเข้าใจว่ากระไร
อันตกาย ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ลมหายใจเข้าออกนั่นแหละเป็นนาคเสน
พระนาคเสน ก็ถ้าลมนั้น ออกมาแล้วไม่กลับเข้าไปอีก หรือเข้าไปแล้วไม่กลับออกมาอีก คนนั้นจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกได้หรือไม่
อันตกาย คนนั้นก็ตายสิท่าน
พระนาคเสน คนที่เป่าสังข์ เป่าขลุ่ยหรือเป่าเขนง ลมกลับเข้าไปอีกหรือ
อันตกาย หามิได้
พระนาคเสน ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนเขาจึงไม่ตายเล่า
อันตกาย เธอพูดจัดจ้านนัก ข้าพเจ้าไม่มีความสามารถพอที่จะพูดโต้ตอบได้ ขอเธอจงว่าให้ฟังทีเดียวเถิด
พระนาคเสน ลมหายใจเข้าออกนั้น ไม่ใช่ชีวิต เป็นแต่สำหรับปรนปรือร่างกายให้เป็นอยู่เท่านั้น
อันตกายอำมาตย์ก็เลื่อมใส

เมื่อพระนาคเสนไปถึงพระราชวัง พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงประเคนอาหารบิณฑบาตเลี้ยงและพระราชทานผ้าไตรแก่พระสงฆ์ทั่วทุกรูปแล้ว มีพระราชดำรัสนิมนต์แต่พระนาคเสนกับพระภิกษุ 10 รูปให้รออยู่ นอกนั้นให้กลับไป แล้วจึงตรัสถามว่า

ดูก่อนพระนาคเสน นี่เราจะพูดกันถึงเรื่องอะไรดี
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร การพูดกันนี้ก็มีความประสงค์อยู่แต่เนื้อความเท่านั้น เพราะฉะนั้น จงตรัสแต่โดยเนื้อความเถิด

พระเจ้ามิลินท์ การบวชของเธอมีประโยชน์อย่างไร และมีอะไรเป็นคุณ ซึ่งเธอต้องประสงค์อย่างยิ่ง

พระนาคเสน การบวชมีประโยชน์ที่จะได้รู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะดับความทุกข์ที่มีอยู่ได้ และจะไม่ให้ความทุกข์อย่างอื่นเกิดขึ้นอีก อนุปาทานนิพพาน (การดับจนสิ้นเชื้อ) เป็นคุณซึ่งอาตม- ภาพต้องประสงค์อย่างยิ่ง

พระเจ้ามิลินท์ บรรดานักบวช บวชมุ่งประโยชน์อย่างนั้นด้วยกันทั้งนั้นหรือ

พระนาคเสน หามิได้ บางพวกบวชเพื่อจะหนีพระเจ้าแผ่นดินหรือหนีโจร บางพวกบวชตามพระราชานุมัติ บางพวกบวชแก้บน บางพวกบวชหวังผลคือลาภยศ บางพวกบวชเพราะกลัวภัย ขอถวายพระพร แต่บางพวกบวชดี ด้วยมุ่งประโยชน์อย่างนั้น

พระเจ้ามิลินท์ ก็ตัวเธอเล่า บวชมุ่งประโยชน์อย่างนั้นหรือ

พระนาคเสน ขอถวายพระพร อาตมภาพบวชแต่ยังเป็นเด็ก ไม่ทราบว่าการบวชเพื่อประโยชน์อย่างนั้น เป็นแต่คิดเห็นในขณะนั้นว่า พระสมณศากยบุตรเป็นผู้มีปัญญา ท่านคงจะให้ศึกษาตาม เมื่อได้เล่าเรียนศึกษาตามท่านต่อมาจึงทราบว่า การบวชนี้มีประโยชน์อย่างนั้น

 

พระเจ้ามิลินท์ เธอว่านี้ฉลาดจริง
พระยามิลินท์ตรัสลองเชิงต่อไปอีกว่า ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะพูดด้วยเธอ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร ขอพระองค์จงตรัสมาเถิด อาตมภาพก็ใคร่จะฟังอยู่
พระเจ้ามิลินท์ ข้าพเจ้าพูดแล้ว เธอฟังเอาเถิด
พระนาคเสน. อาตมภาพฟังแล้ว พระองค์ตรัสมาเถิด
พระเจ้ามิลินท์ เธอฟังได้ยินว่ากระไร
พระนาคเสน พระองค์ตรัสมาว่ากระไร
พระเจ้ามิลินท์ ก็ข้าพเจ้าได้ถามเธอแล้ว
พระนาคเสน อาตมภาพก็ได้ถวายวิสัชนาแล้ว
พระเจ้ามิลินท์ เธอวิสัชนาว่ากระไร
พระนาคเสน พระองค์ตรัสถามว่ากระไร

เมื่อต่างฝ่ายต่างลองดูไหวพริบแห่งกันและกันอยู่ฉะนี้ ประชาชนชาวโยนกก็พากัน ซ้องสาธุการถวาย พระนาคเสน ที่อาจหาญโต้ตอบพระราชาได้ทันท่วงทีแล้วกราบทูลพระ-เจ้ามิลินท์ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงตรัสถามปัญหาในทันทีนี้เถิด

จึงพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาผู้ที่จะพูดกัน ถ้าไม่รู้จักชื่อและสกุลก่อนแล้ว จะพูดกันอย่างไร เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอทราบว่าเธอชื่อไร?

พระนาคเสนทูลตอบว่า ชื่อของอาตมภาพเพื่อนพรหมจารีเรียกว่านาคเสน แต่โยมทั้ง 2 เรียกนาคเสนบ้าง วีรเสนบ้าง สุรเสนบ้าง สีหเสนบ้าง ขอถวายพระพร อันคำชื่อเหล่านี้เป็นคำที่ตั้งขึ้นไว้สำหรับร้องเรียกกันเท่านั้น หามีตัวบุคคลที่จะพึงค้นได้ในชื่อนั้นไม่ ขอถวายพระพร

ทันใดนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงกระหยิ่มพระทัยว่าทรงได้ทีแล้วได้ตรัสประกาศกะบริษัทราชบริพารทั้งหลายว่า “สูเจ้าทั้งหลายจงเป็นพยานช่วยกันจำคำพระนาคเสนไว้ให้ดี” แล้วตรัสกะพระเถระว่า ดูกระพระนาคเสน ถ้าว่าคนเราไม่มีตัวตนจริงเช่นเธอว่านั้น ก็ใครเล่าถวายบาตรจีวรแก่เธอ ใครเป็นผู้ใช้สอยบาตรจีวรนั้น และหากว่าใครเขาฆ่าเธอ ก็คงจะไม่เป็นบาป แล้วตรัสซักไซ้ต่อไปอย่างได้ทีว่า ก็ที่เธอแสดงชื่อว่านาคเสนนั้น อะไรเล่าเป็นนาคเสน ผมหรือเป็นนาคเสน เมื่อพระเถรทูลตอบว่า มิใช่ ก็ตรัสถามต่อไปจนครบอาการ 32 ทรงไล่เลียงไปแต่ละอย่าง ๆ ว่า เป็นนาคเสนหรือ พระเถระก็ทูลตอบว่ามิใช่ จึงตรัสไล่ถึงขันธ์ 5 แต่ละอย่าง ๆ ว่าเป็นนาคเสนหรือ พระเถรเจ้าก็ทูลตอบว่า มิใช่ จึงตรัสไล่รวมกันว่า หรือทั้ง 5 ขันธ์เป็นนาคเสน หรือนาคเสนมีนอกออกไปจากขันธ์ทั้ง 5 นั้น พระเถระก็ทูลตอบว่า มิใช่ ๆ ทุกข้อไป

พระเจ้ามิลินท์เห็นเป็นอีกแล้ว จึงตรัสเย้ยพระเถระว่า ข้าพเจ้าถามไล่เลียงเธอ ก็ไม่พบว่า อะไรเป็นนาคเสน เธอพูดเหลวไหล ไม่มีส่วนที่เป็นนาคเสนตามที่เล่าลือสักหน่อย

ก่อนที่พระเถระจะถวายวิสัชนาแก้ปัญหานั้น ได้ทูลบรรยายเป็นฐานปราศรัย เพื่ออ้อมหาช่องให้พระเจ้ามิลินท์ตรัสเป็นทีเสียก่อน ตอบว่า “พระองค์เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ เสด็จออกจากพระนครมาเวลาเที่ยง กรวดทรายตามทางกำลังร้อนจัด ถ้าทรงดำเนินมา พระบาทคงจะพอง พระราชหฤทัยคงจะอ่อนเพลียเป็นแน่ ขอถวายพระพร พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาด้วยพระบาทหรือพระราชพาหนะ” พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า “ข้าพเจ้าก็มาด้วยรถสิเธอ”

พระนาคเสนเถระเห็นได้ทีบ้างจึงทูลถามว่า ถ้าพระองค์เสด็จมาด้วยรถ ขอพระองค์ได้ตรัสบอกกะอาตมภาพว่าอะไรเป็นรถ งอนหรือเป็นรถ พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า มิใช่ พระเถระจึงทูลถามต่อไปว่า หรือเครื่องอุปกรณ์อย่างอื่นเช่นเพลาล้อแอกแต่ละอย่าง ๆ เป็นรถ พระเจ้ามิลินท์ก็ตรัสตอบว่า มิใช่ พระเถระจึงทูลถามอีกว่า หรือเครื่องอุปกรณ์เหล่านั้นทั้งหมดเป็นรถ หรือว่ารถที่นอกออกไปจากเครื่องอุปกรณ์เหล่านี้ พระเจ้ามิลินท์ก็ตรัสตอบว่า มิใช่ ๆ พระเถระจึงทูลเย้ยบ้างว่า อาตมภาพทูลถามพระองค์ ก็ไม่พบว่าอะไรเป็นรถ พระองค์ตรัสได้สมกับพระดำรัสเบื้องต้น

ขณะนั้น เหล่าประชาชนชาวโยนกต่างก็ส่งเสียงแซ่ซ้องสาธุการถวายพระนาคเสน ว่าคงจะสู้ได้แน่ แล้วกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงตรัสแก้เสียบัดนี้เถิด

พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า ดูก่อนพระนาคเสน คำว่ารถซึ่งข้าพเจ้าตอบเธอในเบื้องต้นนั้น เหตุอาศัยทั้งงอนทั้งเพลาเป็นต้น รวมกันเข้าจึงมีชื่อเรียกเช่นนั้น

พระเถระจึงทูลว่า พระองค์ตรัสถูกแล้ว ขอถวายพระพร แม้คำว่านาคเสนซึ่งเป็นชื่อของอาตมภาพก็เช่นนั้นเหมือนกัน อาศัยทั้งผมทั้งขนเป็นต้น อาศัยทั้งรูปทั้งนามประชุมกันเข้า จึงมีคำชื่อนี้ขึ้น แต่ว่าเมื่อพูดโดยปรมัตถ์แล้ว ก็หามีตัวบุคคลที่จะพึงค้นได้ในชื่อนั้นไม่

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย