ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พุทธปรัชญาในคัมภีร์มิลินทปัญหา

ประวัติคัมภีร์มิลินทปัญหา
ทรรศนะของนักปราชญ์เกี่ยวกับคัมภีร์มิลินทปัญหา
คัมภีร์มิลินทปัญหาหลายฉบับ
พระเจ้ามิลินท์คือใคร
หาผู้ตอบปัญหาให้หายสงสัยไม่ได้
พระนาคเสนคือใคร
การประลองเชิงและตั้งกติกาการโต้วาทะ
การวิเคราะห์ลักษณะพิเศษ
เอกสารอ้างอิง

การวิเคราะห์ลักษณะพิเศษ

คัมภีร์มิลินทปัญหานี้แต่งขั้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะอธิบายชี้แจงพระพุทธศาสนาคือพระธรรมวินัยให้แจ่มแจ้งด้วยการยกเรื่องการโต้วาทะของนักปราชญ์ทางศาสนา ปรัชญาและลัทธิต่าง ๆ คือพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนเถระขึ้น ซึ่งบุคคลทั้งสองมีตัวตนจริง ที่ประวัติศาสตร์รับรอง ณ อินเดียภาคเหนือ เป็นการบันทึกการปุจฉาและวิสัชนาของนักปราชญ์ทั้งสอง และมีการแต่งเพิ่มเติมในภายหลังซึ่งเชื่อว่ามีพระ-คันถรจนาจารย์ที่แต่งเพิ่มเติมภายหลังคือพระปิฎกจุฬาภัยและพระพุทธโฆษาจารย์ในพุทธ-ศตวรรษที่ 9-10 มีลักษณะพิเศษที่อาจยกขึ้นมาวิเคราะห์ให้เห็นได้ 7 ประเด็น ดังนี้

1. ความเป็นยอดแห่งคัมภีร์

มิลินทปัญหาปกรณ์ฉบับเดิมเชื่อว่าแต่งโดยใช้ภาษาสันสกฤต และต่อมานักปราชญ์ชาวสิงหลได้แปลเป็นภาษาบาลีและภาษาจีน ยังคงรักษาต้นฉบับภาษาบาลีและภาษาจีนไว้จนมาถึงทุกวันนี้ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปสำหรับชาวยุโรปคือ ฉบับบาลีสิงหล ฉบับบาลีพม่า และฉบับบาลีไทย เพราะถือว่าบริบูรณ์ดีกว่าฉบับอื่น ๆ คัมภีร์มิลินทปัญหาได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดแห่งคัมภีร์รองลงมาจากพระไตรปิฎกซึ่งคัมภีร์รุ่นหลังอาจเทียบได้ก็เห็นมีแต่คัมภีร์วิสุทธิมรรคซึ่งแต่งโดยพระพุทธ-โฆษาจารย์ แต่คัมภีร์มิลินทปัญหาเป็นคัมภีร์ที่เก่าก่อนหนังสือวิสุทธิมรรค ตั้ง 500 ปี แม้ในการแต่งคัมภีร์ พระพุทธโฆษาจารย์ก็ยังได้อ้างคัมภีร์มิลินทปัญหาเป็นหลักในการวินิจฉัยข้อธรรมวินัย ซึ่งนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาได้ถือเป็นหลักฐานวินิจฉัยตัดสินพระธรรม-วินัยมาแต่หลังพุทธปรินิพพานแล้ว

2. การใช้วิธีวิทยายอดเยี่ยม

คัมภีร์มิลินทปัญหา แสดงให้เห็นว่า นักปราชญ์ ทั้งสองท่านคือพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนเถระมีความรู้ลุ่มลึกในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งและท่านผู้แต่งคัมภีร์นี้แม้จะเป็นการบันทึกเหตุการณ์หรือแต่งเพิ่มเติมภายหลังบางส่วน ก็ล้วนแต่เป็นผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญพิเศษที่เป็นวิธีการ (Methodology) ในความพยายามที่แสดงความคิด เหตุผล อารมณ์ความรู้สึกให้ผู้อื่นเข้าใจได้ดีสมเจตนารมณ์ วิธีการปุจฉาและวิสัชนาล้วนแต่เป็นความพยายามสร้างความเข้าใจให้แก่กันและกัน ให้เข้าใจตามข้อเท็จจริงเรื่องราวและเหตุการณ์ อาศัยเหตุผลเป็นตัวกลางด้วยการคิดหรือฟื้นหาความจริง และให้เกิดความรู้สึกร่วมเหตุการณ์นั้น ๆ อาศัยอารมณ์ผ่านประสบการณ์ในอดีตมาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนอย่างแรกให้เกิดความคิดรื้อฟื้นและจินตนาการหรือมโนภาพ อย่างหลังให้เกิดความรู้สึกสะท้อนเข้าหาตัวเองและเกิดพลังความเชื่อที่ปรากฏทางการกระทำให้เห็นได้ในลักษณะต่าง ๆ ทั้งสองอย่างแสดงออกเป็นศาสตร์และศิลป์ แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตาม จุดมุ่งหมายอยู่ที่การพยายามค้นหาความจริงให้เป็นคำตอบ ค้นหาความเข้าใจและความรู้สึกที่เป็นตัวเชื่อมโยงให้เข้าถึงเป็นอันเดียวกับความจริงนั้น ในคัมภีร์มิลินทปัญหานั้นได้พบว่า แม้จะเป็นการโต้วาทะด้วยการปุจฉาและวิสัชนาเชิงเสวนา เพื่อหาทางอธิบายพระธรรมวินัยก็ตาม แต่เป็นการปะทะคารมกันของบุคคลที่มีฐานะไม่เท่าเทียมกันคือ ผู้ถามเป็นพระราชามหากษัตริย์เจ้าแผ่นดินอยู่เหนือหัว ผู้ตอบเป็นราษฎรลูกชาวไร่ชาวนาจากแดนทุรกันดารในชนบทชายแดน เป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในประเภทเดียวกันคือ ผู้ถามเป็นคฤหัสถ์นอกพระพุทธศาสนา แต่ผู้ตอบเป็นบรรพชิตนักบวชในพระพุทธศาสนา ผู้ถามทรงอำนาจสูงสุด มีเดชานุภาพต่อมนุษย์ด้วยกันไม่จำกัด เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พร้อมที่จะใช้พระเดชลงโทษได้ถึงขั้นประหารชีวิต และทรงพระคุณจะยกย่องให้ปรากฏในแผ่นดินได้ทุกเมื่อ ขึ้นอยู่กับพระราชหฤทัยที่ทรงพอหรือไม่พอพระราชหฤทัยเท่านั้น อันมนุษย์ใด ๆ ไม่อาจจะสบพระพักตร์ได้โดยง่าย

คัมภีร์มิลินทปัญหา นอกจากแสดงให้เห็นถึงนักปราชญ์ทั้ง 2 ท่านที่มีความแตกฉานชำนาญและเชี่ยวชาญอย่างลุ่มลึกในพุทธธรรมคือ ความฉลาดเฉียบแหลมในทางวินิจฉัย และในกระบวนวิสัชนาพระธรรมวินัยให้เข้าใจได้ง่ายด้วยการยกอุปมามาเปรียบเทียบได้อย่างแยบยลซึ่งเป็นเสน่ห์แรงจูงใจให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาได้ยกย่องนับถือคัมภีร์มิลินทปัญหานี้ว่าทรงคุณค่าดุจรัตนะอันวิเศษที่นักศึกษาพระพุทธศาสนาได้สืบต่อกันมากว่า 2,000 ปีแล้ว และเป็นคัมภีร์ที่ได้แปลเป็นภาษาของชาติต่าง ๆ ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้วอย่างน้อย 10 ภาษา

 

3. เนื้อหาครอบคลุมพุทธธรรม

คัมภีร์มิลินทปัญหา มีเนื้อหาการโต้วาทะกันระหว่างนักปราชญ์ทั้งสองท่านคือ เรื่องธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ในส่วนของพระ-รัตนตรัยว่าด้วยเรื่องของพระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบัน พระธรรมอันประกอบด้วยแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ และพระสงฆ์ว่าด้วยคุณสมบัติ ลักษณะ และข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ ทั้งที่เป็นพระปุถุชน กัลยาณชนและพระอริยบุคคล เรื่องปฏิบัติ เรื่องไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิและปัญญา เรื่องเกี่ยวกับโลก จักรวาล และมนุษย์ เรื่องกิเลส เรื่องกรรม เรื่องวิบากแห่งกรรมหรือสังสารวัฏ เรื่องปรมัตถธรรมว่าด้วยเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป และเรื่องนิพพาน เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องอริยสัจ 4 เรื่องมรรค 8 เรื่องธรรมทั้งปวงที่เป็นระดับ

โลกิยธรรม คัมภีร์มิลินทปัญหาได้แสดงธรรมย่นย่อพระไตรปิฎกลงไว้ด้วยวิธีเสวนาอย่างครบถ้วน

4. ได้รับการแปลถ่ายทอดสู่ภาษาอื่นเป็นอันมาก

คัมภีร์มิลินทปัญหานอกจากจะได้รับการแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาบาลีและภาษาจีนเป็นเบื้องต้นแล้วนั้น ภาษาบาลีเองก็ได้รับการถ่ายทอดแปลไปสู่ภาษาอื่น ๆ อีกทั้งในเอเชียและในทางยุโรป เฉพาะสำหรับประเทศไทยได้มีการแปลคัมภีร์มิลินทปัญหาจากภาษาบาลีออกสู่พากษ์ไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ทราบได้จากหนังสือไตรภูมิพระร่วงซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไทย ทรงนิพนธ์ขึ้น ได้อ้างถึงคัมภีร์มิลินทปัญหาไว้ด้วย ต่อมาก็ได้แปลเป็นภาษาไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งมีทั้งฉบับหลวง ฉบับราษฎร์ ฉบับพิสดาร และฉบับย่อ

5. แสดงให้เห็นอานุภาพกฎแห่งกรรม

มิลินทปัญหาฉบับภาษาบาลีได้มีการนำเสนอบุพกรรมของพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนว่า อดีตกรรมส่งผลให้นักปราชญ์ทั้งสองท่องเที่ยวไปในภพชาติต่าง ๆ ยาวนานจนได้มาเกิดเป็นมนุษย์ร่วมชาติกัน แม้จะต่างเวลากันบ้าง แต่มีความฝักใฝ่มุ่งมั่นในการหาความรู้เพื่อขจัดความสงสัยทั้งปวงของตน ความครุกรุ่นรุ่มร้อนภายในจึงเนื่องมาจากผลของการอธิษฐานจิตในชาติปางก่อนกลายมาเป็นฉันทะ ความพอใจที่จะเป็นนักปราชญ์ ซึ่งเป็นจุดร่วมที่นักปราชญ์ทั้งสองท่านได้พบกันและเกิดการโต้วาทะเสวนาเชิงนักปราชญ์ตามกติกาที่ตกลงไว้ด้วย ที่ผู้ด้อยกว่าได้นำเสนอเป็นข้อตกลงกติกากันก่อนทำสงครามวาทะกันท่ามกลางบริวารของทั้งสองฝ่าย และเวลาโต้ตอบกันเป็นเวลาหลายคืนหลายวันอย่างสมศักดิ์ศรี และสุดท้ายการสงครามยุติลงด้วยความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน พระภิกษุทำให้พระราชากลายเป็นสัมมาทิฏฐิ เคารพ พระ-รัตนตรัยตราบเท่าชีวิต ได้สร้างคุณูปการให้กับพระพุทธศาสนาเป็นอเนกอนันต์ กลายเป็นอมตชนแห่งชาวโยนก

6. แสดงพุทธวิธีแม่บทการตอบปัญหา การพยากรณ์ตอบปัญหาหรือการวิสัชนา ในทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้ว่ามีอยู่ 4 ประการคือ

  1. เอกังสพยากรณียปัญหา ปัญหาที่พึงตอบตรงไปตรงมา เช่นถามว่า จักษุเป็นอนิจจังหรือ พึงตอบตรงไปทีเดียวว่า “ถูกแล้ว”
  2. ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ปัญหาที่พึงย้อนถามแล้วจึงแก้ เช่นถามว่า โสตะ เหมือนจักษุหรือ พึงย้อนถามก่อนว่า ที่ถามนั้นหมายถึงแง่ใด ถ้าเขาว่า ในแง่เป็นเครื่องมองเห็น พึงตอบว่า “ไม่เหมือน” ถ้าเขาว่า ในแง่เป็นอนิจจัง จึงควรตอบรับว่า “เหมือน”
  3. วิภัชชพยากรณียปัญหา ปัญหาที่จะต้องแยกความตอบ เช่นถามว่า สิ่งที่เป็นอนิจจังได้แก่จักษุใช่ใหม่? พึงแยกความออกตอบว่า “ไม่เฉพาะจักษุเท่านั้น ถึงโสตะ ฆานะ ฯลฯ ก็เป็นอนิจจัง”
  4. ฐปนียปัญหา ปัญหาที่จะพึงยับยั้งเสีย ได้แก่ ปัญหาที่ถามนอกเรื่อง ไร้ประโยชน์อันจักเป็นเหตุให้เขว ยืดเยื้อ สิ้นเปลืองเวลาเปล่า เช่นถามว่า “ชีวะอันใด สรีระก็อันนั้นหรือ?” อย่างนี้เป็นลักษณะเก็งความจริง ถึงอธิบายไปผู้ถามก็ไม่อาจเข้าใจ เพราะอยู่นอกประสบการณ์หรือการณ์ที่จะพิสูจน์ได้

ในมิลินทปัญหาจะเห็นว่า พระนาคเสนเถระได้ใช้วิธีการตั้งแต่ 1-3 อย่าง ตามลำดับ แต่ไม่ใช้วิธีการอย่างที่ 4 ในการวิสัชนา แม้พระเจ้ามิลินท์ในฐานะผู้รับคำสอน ขาดประสบการณ์ในทางพระพุทธศาสนาทุก ๆ กรณี เพราะเป็นปุถุชน แม้จะคิดว่ารู้พระธรรมวินัยแต่ก็เป็นเพียงสัญญาจำได้หมายรู้ ไม่ใช่เป็นการรู้หรือเข้าถึงหรือบรรลุอย่างที่เรียกว่า โพธิญาณ เมื่อยังไม่มีประสบการณ์พอก็เป็นการยากที่จะตอบให้เข้าใจได้เหมือนนกไม่มีประสบการณ์ในน้ำ ปลาไม่มีประสบการณ์ในอากาศ อธิบายให้กันฟังอย่างไรก็ไม่อาจทำให้ฝ่ายหนึ่งเข้าใจได้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ พระนาคเสนก็วิสัชนาตอบทุกปัญหาไม่ยกเว้น ซึ่งต่างจากพระพุทธองค์ทรงเลือกแสดงเฉพาะแก่ผู้สมควร คือเข้าข่ายพระ-ญาณเท่านั้น แต่พระนาคเสนได้พยายามใช้วิธีการทั้ง 3 อย่าง ส่วนอย่างที่ 4 นั้น ได้พยายามหาวิธีอื่น ๆ มาใช้แทนคือการอุปมา ทำให้พระเจ้ามิลินท์เข้าพระทัยคำตอบอันอยู่พ้นประสบการณ์ของพระองค์ได้จนทรงยอมรับว่าพระนาคเสนเถระฉลาดแท้ เป็นที่อัศจรรย์จนชมเชยถึงว่า ถ้าพระพุทธองค์ซึ่งปรินิพพานแล้วตั้ง 500 ปี ได้ทรงพระชนม์ชีพอยู่สดับฟังด้วย คงจะยกย่องชมเชยพระนาคเสนเถระเป็นแน่แท้ นั่นก็คือพระนาคเสนเถระได้นำวิธีการที่เรียกว่า “การอุปมา” มาแทนแบบที่ 4 เป็นการนำมาประกอบคำวิสัชนา เป็นคำตอบที่แสดงให้เห็นถึงความฉลาดเฉียบแหลม ในอุปายโกศลวิธีการสอนธรรมอย่างแท้จริง เป็นปฏิปทาของพระอรหันต์ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทาโดยตรง ซึ่งได้ทำให้คำวิสัชนาสัจธรรมแจ่มแจ้งชัดเจนแก่ผู้ฟัง

7. วัตถุประสงค์และเนื้อหาการรจนาตรงกันอย่างชัดเจน

พระอรรถกถา-จารย์มีความประสงค์จะชี้แจงข้อธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาให้แจ่มแจ้ง พ้นจากความสงสัย จึงนำเรื่องพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสนโต้วาทะมาผูกเป็นเรื่องตามเค้ามูลในประวัติศาสตร์ของชาวโยนก แล้วอธิบายธรรมวินัยตามแนวพระไตรปิฎกหรือพระพุทธศาสนาดั้งเดิม ซึ่งในกาลนั้นพระพุทธศาสนายังไม่ได้แตกแยกเป็นนิกายมหายาน และเป็นคัมภีร์แต่งด้วยภาษาสันสกฤต แล้วต่อมาแปลเป็นภาษาสิงหล และภาษาจีน ตามลำดับ ซึ่งได้สืบทอดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ด้วยความนิยมชื่นชมยกย่องของบรรดานักปราชญ์ทั้งตะวันออกและตะวันตกว่า เป็นคัมภีร์เก่าแก่และดีเด่นเป็นยอด มีเนื้อหาครอบคลุมพระไตรปิฎกอย่างลึกซึ้ง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย