ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
พุทธปรัชญาในคัมภีร์มิลินทปัญหา
เดือน คำดี
โดยทั่วไปปรัชญาจะต้องมีพื้นฐานทางความคิดที่มีมูลบทไม่เป็นเอกนิยมทางจิตที่เรียกว่าจิตนิยม
(Idealism) ก็ต้องเป็นเอกนิยมทางสสาร ที่เรียกว่า สสารนิยม (Materialism)
หรือไม่ก็เป็นทั้งสองอย่างที่เรียกว่า ทวินิยม (Dualism)
ปรัชญาทั้งหลายไม่ว่าระบบใดหรือของใครและจะมีมูลบทเป็นแบบใดก็ตามต่างก็มีความขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว
นั่นก็คือเมื่อมีความไม่ลงรอยและความแตกต่างกัน ในทางอภิปรัชญา (Metaphysics)
จะต้องมีความขัดแย้งกันต่อไป ในทางญาณวิทยา (Epistemology) ในทางตรรกศาสตร์ (Logic)
ในทางสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) และในทางจริยศาสตร์ (Ethics) ตามลำดับอีกด้วย
ซึ่งทำให้ปรัชญาทั้งหลายมีความหลากหลาย
ปรัชญาตะวันออกไม่ว่าจะเป็นปรัชญาอินเดีย (ฮินดู) ปรัชญาตะวันออกกลาง
(อิสลาม) หรือปรัชญาจีน (เต๋า) ก็ล้วนแต่ไม่สามารถจะแยกออกจากศาสนาได้
เพราะในทางตะวันออก ปรัชญาและศาสนาเป็นเรื่องเดียวกัน ต่างแต่วิธีศึกษาเท่านั้น
ปรัชญาและศาสนาทั้งหลายเหล่านั้นก็มีลักษณะเป็นความเชื่อเทวนิยม (Theism) กล่าวคือ
ปรัชญาตะวันออกเหล่านั้นมีรากฐานมาจากจิตนิยม และพัฒนาการเป็นเทวนิยมในที่สุด
ฉะนั้นญาณวิทยาก็ดี จริยศาสตร์ก็ดี จึงต้องอาศัยการวิวรณ์ (Revelation) ของเทพเจ้า
และเทว- โองการ เป็นสำคัญ แม้จะมีปรัชญาตะวันออกบางระบบ เช่น ปรัชญาจารวาก
และปรัชญาเชน
จะร่วมกันปฏิเสธศาสนาฮินดูหรือพระเวทว่าไม่ใช่ผลงานของเทพเจ้าแต่อย่างใด
แม้กระนั้นปรัชญาทั้ง 2 ระบบก็ขัดแย้งกัน เพราะมีพื้นฐานทางอภิปรัชญาและ
จริยศาสตร์แตกต่างกัน
ความไม่ลงรอยกันในทางความคิดเหล่านี้
ทำให้เกิดความแตกต่างกันในการนำเสนอทฤษฎีทางปรัชญาของตะวันออกตามที่กล่าวมานี้
ย่อมแสดงให้เห็นความหลากหลายทรรศนะซึ่งจะเปรียบเทียบกับปรัชญาตะวันตกไม่ได้
เพราะปรัชญาตะวันตกไม่มีลักษณะเป็นศาสนา แต่เป็นทฤษฎีทางความคิดล้วน ๆ
ซึ่งมีบ่อเกิดมาจากความสงสัยและความพยายามที่จะตอบปัญหาความสงสัยเหล่านั้น
ด้วยการเก็งความจริง (Speculation) บนพื้นฐานแห่งการสังเกต (observation)
และได้พัฒนาไปเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ จึงศึกษาโลกและชีวิตในเชิงทัศนะ (View of the
World and Life)
แต่ปรัชญาตะวันออกเป็นคำตอบที่ได้มาจากการปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ความเป็นจริงด้วยการใช้ชีวิตเป็นเครื่องพิสูจน์หาความรู้โดยเฉพาะเป็นเรื่องการค้นหาความจริงของชีวิตซึ่งเป็นเรื่องภายใน
ดังนั้น ปรัชญาตะวันออกจึงกลายเป็นศาสนาและวิถีชีวิต (Way of life)
แม้กระนั้นปรัชญาทั้งสองสาย คือทั้งของตะวันตกและของตะวันออกเหล่านั้น
แม้จะว่าด้วยการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับโลกและชีวิตแต่ก็อยู่ในลักษณะที่เป็นทรรศนะที่สุดโต่ง
(Extremist) ด้วยกันทั้ง 2 ด้าน คือด้านที่เป็นกามสุขัลลิกานุโยค
และด้านที่เป็นอัตตกิลมถานุโยค
แต่มีปรัชญาอีกระบบหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากปรัชญาทั้งหลายเหล่านั้นโดยมีพื้นฐานหรือมูลบทและคำตอบต่าง
ๆ ที่ว่าด้วยโลกและชีวิต ในด้านอภิปรัชญาก็ดี ด้านญาณวิทยาก็ดี
และด้านจริยศาสตร์ก็ดี
มีลักษณะสอดคล้องกันและเป็นของตนเองที่เรียกว่าทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา (Middle
way) ซึ่งแสดงออกให้เห็นความแตกต่างจากปรัชญาอื่น ๆ เช่น มีลักษณะเป็นอเทวนิยม
(Atheism) แต่ไม่ใช่สสารนิยมหรือจิตนิยม เป็นมนุษยนิยม (Humanism)
ซึ่งก็แตกต่างจากมนุษยนิยมในทางเทวนิยมหรือทางวิทยาศาสตร์ เรียกชื่อว่า พุทธปรัชญา
แม้ปรัชญาระบบนี้จะเป็นศาสนาด้วย
แต่ก็เป็นระบบคำสอนที่เกิดมาจากผลการตรัสรู้ของมนุษย์ แม้จะมีลักษณะเป็นปฏิบัตินิยม
แต่ก็แตกต่างจากปฏิบัตินิยมของนักปรัชญาตะวันตกที่เน้นเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์
แม้จะสอนเรื่องกฎแห่งกรรม แต่ก็ไม่ใช่กรรมลิขิตหรือชะตากรรมนิยม (Fatism)
อย่างทรรศนะของปรัชญาตะวันออกของพราหมณ์หรือเชน
พุทธปรัชญามีความพิสดารปรากฏอยู่ในคัมภีร์ที่เรียกว่าพระไตรปิฎก
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นหลักการปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตและพัฒนาชีวิตไปสู่ความเป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลสตัณหาและบาปกรรมทั้งปวง
มีพระนิพพานเป็นจุดหมายสูงสุด
ดังนั้นในพระไตรปิฎกจึงอาจค้นพบได้ซึ่งทรรศนะทางปรัชญาเช่น อภิปรัชญา ญาณ-วิทยา
และจริยศาสตร์ เป็นต้น
อนึ่ง เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน 500 ปี
พระพุทธศาสนาเจริญอยู่ที่ภาคเหนือของชมพูทวีป
ได้มีการบันทึกการปุจฉาและวิสัชนาโต้ตอบปัญหาทางโลกและทางธรรมกันระหว่างนักปราชญ์ 2
ท่าน
คือพระนาคเสนเถระกับกษัตริย์นักรบชาติกรีกซึ่งปกครองอินเดียภาคเหนืออยู่ในเวลานั้น
เป็นการโต้คารมกันอย่างดุเดือดและเฉียบคม
ได้มีการตั้งกติกาและใช้วิธีการถกกันอย่างบัณฑิตสนทนากัน
โต้หักล้างข้อเสนอและข้อแย้ง คำถามคำตอบของกันและกันอย่างมีเหตุผล
ใช้เวลายาวนานหลายสัปดาห์จึงยุติลงได้
เรื่องการเสวนาโต้ตอบกันระหว่างนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นมีความพิสดาร
ได้ถูกบันทึกเป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดและเก่าแก่ที่สุดคัมภีร์หนึ่งในพระพุทธศาสนา
ซึ่งมีอายุสืบทอดมาประมาณ 2000 ปี ชื่อ คัมภีร์มิลินทปัญหา
ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมปัญหาว่าด้วยโลกและชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องปัญหาในอดีต ปัจจุบัน
และอนาคตไว้ด้วยอย่างลึกซึ้ง
ที่แสดงให้เห็นแนวความคิดทางปรัชญาซึ่งมีรากฐานมาจากพุทธพจน์และทรรศนะความคิดของตะวันตกมีลักษณะเป็นคำถามคำตอบที่มีนัยหลายหลากสลับซับซ้อนและกว้างขวาง
ลุ่มลึก เพราะเป็นการโต้ตอบกันด้วยเจตนารมณ์ที่จะหาคำตอบ
จึงหักล้างกันโดยใช้โวหารปฏิภาณอย่างหลักแหลมและเผ็ดมันอย่างยิ่ง
คัมภีร์มิลินทปัญหาเป็นคัมภีร์ที่ผู้แต่งหรือพระอรรถกถาจารย์ในรุ่นหลังได้อ้างถึงและกล่าวถึงไว้เป็นอันมาก ที่สำคัญคือพระพุทธโฆษาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์ปกรณ์วิเศษวิสุทธิมรรค ในพุทธศตวรรษที่ 10 ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์สำคัญรองลงมาจากพระไตรปิฎกก็ได้อ้างถึงคัมภีร์มิลินทปัญหาและคัมภีร์นี้ยังได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาต่าง ๆ จากภาษาสันสกฤต มาเป็นภาษาบาลี ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย เป็นต้น คัมภีร์มิลินทปัญหา นอกจากบันทึกการเสวนาโต้ตอบกันระหว่างนักปราชญ์ที่มีทรรศนะและวิถีชีวิตแตกต่างกันจนเป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกันแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวเนื่องไปสู่อรรถกถาแห่งพระสูตรและชาดกต่าง ๆ เช่น ทีฆนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย เป็นต้น
ดังนั้นคัมภีร์มิลินทปัญหาน่าจะเป็นคัมภีร์ที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงพระไตรปิฎกอันเป็นพุทธพจน์กับอรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา ซึ่งพระรจนาจารย์ได้แต่งอธิบายพุทธพจน์และการบันทึกประเด็นการนำเสนอวิธีการในการสร้างความเข้าใจพุทธธรรมอันลุ่มลึกที่ปุถุชนทั้งหลายไม่อาจจะเข้าใจได้ให้เข้าใจได้โดยง่าย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้อีกว่าคัมภีร์มิลินทปัญหาได้บันทึกทรรศนะทางปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออก รวมทั้งทรรศนะอื่น ๆ ที่พระนาคเสนเถระและพระยามิลินท์นำมาอธิบายโต้ตอบกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจพุทธธรรมซึ่งมีกระจัด-กระจายอยู่ทั่วทุกบท แต่ยังไม่มีการศึกษาและวิเคราะห์จำแนกออกให้เห็นลักษณะพิเศษบางประการ และความเหมือนและความแตกต่างในทางปรัชญาสากลที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่มีการศึกษาถึงวิธีการที่นักปราชญ์ทั้ง 2 ท่านนั้นได้นำมาเสนอเพื่ออธิบายพุทธธรรมในเชิงปรัชญาอย่างไร
ประวัติคัมภีร์มิลินทปัญหา
ทรรศนะของนักปราชญ์เกี่ยวกับคัมภีร์มิลินทปัญหา
คัมภีร์มิลินทปัญหาหลายฉบับ
พระเจ้ามิลินท์คือใคร
หาผู้ตอบปัญหาให้หายสงสัยไม่ได้
พระนาคเสนคือใคร
การประลองเชิงและตั้งกติกาการโต้วาทะ
การวิเคราะห์ลักษณะพิเศษ
เอกสารอ้างอิง