สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้  >>

โรคติดต่ออุบัติใหม่

โรคไข้หวัดนก

สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก

ทั่วโลก : ข้อมูลจากองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ พบว่า นับตั้งแต่การระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ปี พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน 11 สิงหาคม พ.ศ.2552 มีประเทศต่างๆ ที่พบการระบาดของไวรัสไข้หวัดนก (H5N1) ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา รวม 62 ประเทศ โดยประเทศที่รายงานพื้นที่ระบาดของโรคมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนาม 2,539 จุด ไทย 1,141 จุด และอียิปต์ 1,084 จุด เฉพาะประเทศที่มีรายงานการระบาดของโรคในปี พ.ศ.2552 มีจำนวน 10 ประเทศ เป็นการระบาดในสัตว์ปีกหลายชนิดในประเทศ เช่น ไก่ ไก่งวง ห่าน เป็ด และนกกระทา ฯลฯ

ประเทศไทย : ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมไข้หวัดนก กรมปศุสัตว์ เริ่มมีรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกครั้งแรกในช่วงเดือนมกราคม 2547 จากนั้นมีการระบาดครั้งต่อๆ มาอีกทุกปีรวม 5 ระลอก ปี พ.ศ.2551 มีการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีก 4 จุด คือ เดือนมกราคม 2551 พบการระบาดในไก่เนื้อที่ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ในไก่ที่พื้นเมือง อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2551 พบการระบาดในไก่พื้นเมือง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย และอำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี สำหรับปี พ.ศ. 2552 (ข้อมูล ณ 27 สิงหาคม 2552) ไม่มีรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนก 288 วัน นับจากวันที่ทำลายสัตว์ป่วยรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551

สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคน

ทั่วโลก : องค์การอนามัยโลกรายงานการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในคน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ถึงปัจจุบัน (11 สิงหาคม 2552) พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก รวม 438 ราย เสียชีวิต 262 ราย จาก 15 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอาเซอร์ไบจัน กัมพูชา จีน สาธารณรัฐจิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไนจีเรีย พม่า ปากีสถาน ไทย ตุรกี เวียดนาม และบังคลาเทศ โดยประเทศที่มีผู้ป่วยในปี พ.ศ.2552 มี 3 ประเทศ คือ จีน อียิปต์ และเวียดนาม พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกแล้วทั้งหมด 43 ราย เสียชีวิตรวม 12 ราย

ประเทศไทย : ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา รายงานผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกครั้งแรกในเดือนมกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน (20 สิงหาคม 2552) ไทยมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย โดยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2549 ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ณ ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่

บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว แต่เนื่องจากในต่างประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านของไทย เช่น จีน และเวียดนาม ยังคงพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายเชื้อมายังไทยได้ รวมทั้งยังพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในไทยอยู่เป็นระยะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด กำชับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคทั้งในสัตว์และในคนที่มีอยู่ให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนกและบริเวณพื้นที่ชายแดน และดำเนินการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ความรู้กับประชาชน เพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง

โรคไข้กาฬหลังแอ่น
โรคไข้เลือดออกอีโบลา
โรคไข้เลือดออกมาร์เบอร์ก
โรคไข้หวัดนก
โรคไข้เหลือง
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya)
โรคมือเท้าปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา
โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส
โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส
โรคทูลารีเมีย (Tularemia)
โรคเมลิออยโดซิส
โรคลิชมาเนีย
โรควีซีเจดีหรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่
โรคไข้หวัดใหญ่ (Seasonal influenza)
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (Influenza A H1N1)
โรคแอนแทรกซ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย