วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีต่างประเทศ

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปล
พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่
บรรณานุกรม

กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส

หนังสือเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ มี 3 สำนวน คือ

1. ฉบับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์

เป็นสมุดไทยดำ เส้นรงค์ เลขที่ 79 แต่งเป็นคำกาพย์ ตอนท้ายระบุเขียนเสร็จเมื่อวันแรมค่ำหนึ่ง เดือน 5 จุลศักราช 1115 ตรงกับพุทธศักราช 2296 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ข้อความดังกล่าวมีดังนี้

เถลิงสารสำฤทแทวาจก ปีมเมียฉ้อศกเสรจถอย วันสะสิเดอินหกแรมคำนึงนาจลศักราชพันรอยสืบหาปีปลาย
เมื่อนำมาจัดวางรูปแบบเสียใหม่ก็คือโคลงสี่สุภาพนั่นเอง
เถลิงสารสำฤทแท วาจก
ปีมเมียฉ้อศก เสรจถอย
วันสะสิเดอินหก แรมคำ นึงนา
จลศักราชพันรอย สืบหาปีปลาย

มีประวัติของหนังสือสมุดไทยนี้ว่าหอสมุดแห่งชาติได้ต้นฉบับตัวเขียนกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ฉบับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ มาจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2484 และยังไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ เมื่อหอสมุดแห่งชาติได้ชำระกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ฉบับภิกษุอินท์และพระยาราชสุภาวดีใหม่จากต้นฉบับสมุดไทย 6 เล่ม และพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2539 หลังจากมีการตีพิมพ์ครั้งแรกไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2489 ได้กล่าวถึงฉบับบรมโกษฐ์นี้ไว้ด้วยว่า

“อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ดูแล้ว อาจไม่ใช่ฉบับกรุงศรีอยุธยา

เพราะตัวหนังสือมิได้แตกต่างจากฉบับกรุงธนบุรี หากไม่ปรากฏข้อความในส่วนท้ายดังกล่าวก็มิสามารถระบุได้ว่าเป็นฉบับในสมัยกรุงศรีอยุธยา”

ข้อสันนิษฐานดังกล่าวยังไม่ถือเป็นข้อยุติ เพราะหากฉบับบรมโกษฐ์เขียนขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้เขียนจะต้อง “โกหก” ว่าเขียนเมื่อ จ.ศ. 1115 ดังนั้น ประเด็นนี้น่าจะได้มีการศึกษาในเชิงประวัติวรรณคดีกันต่อไป

 

2. ฉบับภิกษุอินท์และ พระยาราชสุภาวดี

เป็นสมุดไทย 6 เล่ม เลขที่ 73 – 75 เป็นฉบับที่เขียนในสมัยกรุงธนบุรี สันนิษฐานจากเนื้อความที่ระบุไว้ท้ายเรื่องว่า

เริ่มกลอนบพิตรท่าน พระยาราชสุภา-
วดีลิขิตตรา แสดงนามโดยมี
ผู้ช่วยบริรักษ์ นราโลกพราหมณ์ชี
ในกรุงนครศรี ธรรมราชบุรินทร์
ทุกกาลผดุงการ ประกอบชอบ บ เว้นถวิล
ซึ่งเป็นฉบับจิน- ตนาท่าน บ ให้สูญ
นางกฤษณานาถ ก็มีเรื่องบริบูรณ์
สมุดเดิมก็เศร้าสูญ สลายลบ บ เป็นผล
เชิญเราชิโนรส พระนามอินทนิพนธ์
พจนารถอนุสนธิ์ จำหลักฉันทจองกลอน

เนื้อความฉบับธนบุรีเหมือนกันฉบับอยุธยาทุกประการ ต่างกันเพียงชื่อน้องสาวนางกฤษณา ใช้ว่านางจรับประภา หรือจันทรประพา แทนนางจิรัประภา ต่างที่ตัวสะกดและการใช้คำบางคำ นอกจากนี้ยังพบว่าฉบับพระภิกษุอินท์และพระยาราชสุภาวดีมีตอนหนึ่งที่คัดลอกกาพย์ฉบังจากฉบับเดิมตกไปบทหนึ่ง แต่แก้ไขโดยเติมคำเพื่อให้สัมผัสระหว่างบท ทำให้วรรคนั้นมีคำถึง 7 คำ แทน 6 คำ ดังนี้

(ฉบับบรมโกศ)

แมนอยูตามคำสังษร ทวยเทพนิกวร
จอวยวระมิงมงคน
กระษัตรอัถะทิ่ศทุกหน นรโลกยเลงผล
ยอมลอนจะยอยศไกรย
เทพอยูกำภูฉัตไชย ชมชื่นพระไทย
จะโอนศริสะษาทุกการ

(ฉบับภิกษุอินท์)

แม้นอยู่ตามคำสั่งสอน ทั่วเทพนิกร
จะอวยยอมิ่งมงคลไป
เทพอยู่กับภูฉัตรชัย ชมชื่นพระทัย
จะโอนศิรสาธุการ

ดังนั้น กล่าวได้ว่า กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ฉบับสมัยพระเจ้าอยู่บรมโกศเป็นสำนวนเก่าที่แต่งสมัยอยุธยา อาจมีผู้คัดลอกไว้หลายฉบับ แต่ก็ชำรุดเสียหาย ดังที่ฉบับภิกษุอินท์กล่าวไว้ว่า “ฉบับเดิมก็สูญหาย สลายลบ บ เป็นผล” ทำให้ในสมัยกรุงธนบุรี จึงมีผู้สร้างขึ้นใหม่ตามประเพณีนิยมในสมัยโบราณ เพื่อสืบทอดและรักษาวรรณคดีไว้ไม่ให้สาบสูญ เมื่อเทียบฉบับธนบุรีกับฉบับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงพบว่าเนื้อความในทั้งสองฉบับเหมือนกันแทบทุกคำ ยกเว้นกาพย์ฉบังตอนที่ยกมาเทียบข้างต้น ดังนั้น ฉบับภิกษุอินท์จึงไม่ใช่ฉบับที่แต่งขึ้นใหม่โดยพระยาราชสุภาวดีแต่งตอนต้นและภิกษุอินท์แต่งต่อจนจบอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นการ “เขียน” ขึ้นใหม่แทนสมุดไทยฉบับเดิมที่ชำรุดเสียหาย โดยพระยาราชสุภาวดี ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช เป็นผู้ประสงค์จะรักษา “ฉบับจินตนาท่าน บ ให้สูญ” จึงขอให้พระภิกษุอินท์เขียนขึ้นใหม่ และด้วยความเป็นผู้รู้หนังสือและการแต่งคำประพันธ์ ภิกษุอินท์จึงไม่เพียงทำหน้าที่ “จาร” หรือ “คัดลอก” เท่านั้น แต่ยังแต่งอินทรวิเชียรฉันท์เพิ่ม 9 บท เพื่อบอกเล่าประวัติหนังสือ ยกย่องคุณค่า และบันทึกชื่อผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ขึ้นใหม่และแต่งวสันตดิลกฉันท์อีก 7 บทเพื่อชี้แจงความรู้ในการแต่งฉันท์จากคัมภีร์วุตโตทัยด้วย

ดังนั้น การเพิ่มคำก็ดี การเปลี่ยนคำก็ดี การลอกกาพย์ฉบังตก 1 บทก็ดี รวมทั้งการเพิ่มบทฉันท์ รวมอีก 16 บทในฉบับพระภิกษุอินทร์และพระยาราชสุภาวดี น่าจะแสดงให้เห็นว่าเป็นฉบับที่สร้างขึ้นในภายหลังฉบับบรมโกศ มีประวัติว่าหอพระสมุดซื้อต้นฉบับกฤษณาสอนน้องสำนวนนี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2450

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย