วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีต่างประเทศ

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปล
พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่
บรรณานุกรม

กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ทรงนิพนธ์ขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อจารึกบนแผ่นศิลาประดับที่ผนังด้านในศาลาหลังเหนือ หน้าพระมหาเจดีย์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในคราวปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ระหว่าง พ.ศ. 2374 – 2378 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ใหม่ให้ดีกว่าของเดิม ดังที่สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์เป็นเชิงบอกกล่าวไว้ตอนต้นเรื่องว่า

แปลกแปลงแสดงพจนาเพรงเชลงลักษณะบรรยาย
ชาวชนบทธิบาย ประดาษ

ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จ ฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นคำประพันธ์ประเภทฉันท์ สมเด็จฯทรงใช้ชื่อน้องสาวนางกฤษณาว่า จิรประภา ทรงเลือกใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับสถานะของนางกฤษณาและนางจิรประภาที่เป็นนางกษัตริย์ ในขณะที่ฉบับธนบุรีอาจจะเขียนไว้ให้ชาวบ้านอ่านจึงใช้ถ้อยคำสามัญ ด้วยฝีมือของกวีชั้นครู กฤษณาสอนน้องฉบับพระนิพนธ์จึงไพเราะงดงามด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ตัวอย่างตอนที่จำกันได้ดีคือตอนที่กล่าวว่าความดีเป็นสิ่งคงทน ฉบับภิกษุอินท์แต่งด้วยกาพย์ฉบัง ดังนี้

 

คชสารแม้ม้วยมีงา โคกระบือมรณา
เขาหนังก็เป็นสำคัญ
บุทคลถึงการอาสัน สูญสิ้นสาระพัน
คงแต่ความชั่วกับดี
ความเดียวกันนี้ ฉบับพระนิพนธ์แต่งด้วยฉันท์ ดังนี้
พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา

กฤษณาสอนน้องคำฉันท์เป็นวรรณคดีที่รับอิทธิพลมาจากวรรณคดีอินเดีย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องกฤษณาสอนน้อง ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2432) ไว้ว่าทรงเข้าพระทัยว่าเนื้อเรื่องน่ามาจากชาดกเรื่องใดเรื่องหนึ่งเช่นเดียวกับวรรณคดีนิทานของไทยโดยส่วนใหญ่ ทรงขอให้พระเทพโมลีช่วยค้นเรื่องนางกฤษณาในคัมภีร์บาลี แต่กลับพบว่าพระพุทธเจ้าทรงติเตียนนางกฤษณาว่าเป็นตัวอย่างของหญิงที่มีความปรารถนามากในกามคุณ มีสามีถึง 5 คนแล้วยังเป็นชู้กับบุรุษพิการ (เปลี้ย) ครั้นสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสกล่าวไว้ในคำฉันท์ว่าเป็นหนังสือที่แต่งมาแต่โบราณ จึงทำให้ทรงระลึกได้ว่าอาจจะมาจากหนังสือมหาภารตะซึ่งเป็นเรื่องรวบรวมนิทานเก่าและลัทธิต่าง ๆ ที่ถือกันอยู่ในมัชฌิมประเทศก่อนพุทธกาล

เรื่องนางกฤษณาจึงน่าจะได้มาจากพราหมณ์ พระองค์จึงทรงค้นหา และทรงพบว่าเรื่องกฤษณาสอนน้องมีที่มาจากคัมภีร์มหาภารตะ ตอนวนบรรพ วรรคที่ 222 และ 233 ชื่อว่า เทฺราปทิสัตยภามาสังวาท มีความโดยสรุปว่า นางเทฺราปทิและนางสัตยภามาสนทนากันด้วยความสำราญพระทัย นางสัตยภามาถามนางเทฺราปทิว่านางประพฤติอย่างไรจึงสามารถผูกใจกษัตริย์ปาณฑพทั้ง 5 ไว้ได้ เหตุใดกษัตริย์เหล่านั้นจึงเกรงกลัว อ่อนน้อมและทำตามคำแนะนำของนาง นางเทฺราปทิมีวิธีการอย่างไร ใช้การทรมานกายถวายเทพจนได้บุญวิเศษ ใช้ญาณสมาบัติ ใช้ยา ใช้เวทมนตร์ เสน่ห์ยาแฝด หรือสิ่งใด นางเทราปทิตอบว่านางมิได้ใช้กลวิธีเยี่ยงหญิงเพศยา หากแต่ประพฤติปฏิบัติตนด้วยความจงรักภักดีและปรนนิบัติสวามีตามหน้าที่ของภรรยาที่ดี ได้แก่ ไม่หึงหวง ไม่กล่าวคำเท็จ คำหยาบ ไม่นั่งนอนยืนเดินด้วยกิริยาอันไม่สมควร ไม่ชำเลืองแลบุรุษอื่น ยกย่องเทิดทูนสวามี ปรนนิบัติสวามีให้กายสะอาดกินอิ่มนอนหลับก่อนปรนนิบัติตนเอง และมีความสามารถในการดูแลบ้านเรือน ทรัพย์สิน เผื่อแผ่น้ำใจอันดีไปยังขุนทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและนางสนมกำนัลทั้งหลาย

จากเนื้อความที่ทรงแปลสรุปความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของประตัปจันทร รอย (Pratap Chandra Roy) และเปรียบเทียบกับฉบับของไทย จะเห็นได้ว่าฉบับของไทยรักษาแก่นเรื่องสำคัญคือการสอนให้รู้หน้าที่ของภรรยาที่มีต่อสามี คำสอนส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับต้นฉบับเดิม แต่ส่วนที่เป็นวัฒนธรรมความเชื่อของศาสนาฮินดูตามต้นฉบับเดิมนั้น กวีไทยละทิ้งเนื้อความเหล่านั้น เช่น การบูชาพราหมณ์ด้วยอาหารและเครื่องดื่ม การที่ภรรยาเลิกประดับประดาตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้และของหอมเมื่อสามีจากบ้าน ในทางตรงกันข้ามกวีไทยกลับแต่งเติมส่วนที่กล่าวถึงขนบประเพณีไทย เช่น ผู้หญิงต้องไม่เดินทัดดอกไม้ เสยผม ขยับชายพก กรีดกรายผ้าสไบ ลูบแก้ม นั่งเท้าคางเท้าแขน แอ่นอก ซึ่งเป็นคำสอนที่พบในหนังสือสุภาษิตสอนหญิง กฤษณาสอนน้องฉบับของไทยให้บรรยากาศแบบไทย เห็นภาพผู้หญิงกินหมาก นุ่งโจงกระเบน ห่มสไบ นอกจากนี้ในด้านตัวละคร กฤษณาสอนน้องฉบับของไทยยังเปลี่ยนจากนางเทฺราปทิและนางสัตยภามาซึ่งเป็นเพื่อนกัน มาเป็นนางกฤษณาและนางจิรประภาซึ่งเป็นพี่น้องกันอีกด้วย

เรารับวรรณคดีคำสอนเรื่องนี้จากอินเดียโดยง่ายเพราะคำสอนนั้นไม่ขัดต่อค่านิยมเดิมในสังคมไทย และยังเสริมขนบความเชื่อนั้นให้หนักแน่นยิ่งขึ้น เพราะสังคมไทยถือว่า “สามีเป็นช้างเท้าหน้า ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง” หรืออย่างความเปรียบว่า

ราชาก็ปรากฏเป็นปิ่น นครินทร์เขตแสวง
สวามีเป็นศรีสวัสดิแสดง ศักดิ์สง่าแก่นารี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย