วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีต่างประเทศ
บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปล
พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่
บรรณานุกรม
สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปล
สามก๊กเป็นวรรณคดีจีนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรด-เกล้าฯให้แปลด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นประโยชน์แก่ข้าราชการขุนนางทั้งปวง
วรรณคดีจีนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสั่งให้แปลในรัชกาลนี้มี 2
เรื่อง คือ ไซ่ฮั่น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ
กรมพระราชวังหลังทรงอำนวยการแปล และสามก๊ก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
เป็นผู้อำนวยการแปล (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2510 : 11) เหตุที่ต้องเป็น 2
ท่านนี้เป็นเพราะกรมพระราชวังหลังก็ดี เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็ดี
เคยอยู่ในคณะทูตที่ไปผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนในสมัยพระเจ้ากรุงจีน
เพราะวังหลังเองนั้นเมื่อสถาปนาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านเองเรียกว่าเจ้าปักกิ่ง
แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญพอสมควร (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และคนอื่น, 2536 :
13)
สามก๊กพากย์ไทยไม่ได้แปลมาจากสามก๊กจี่หรือหนังสือจดหมายเหตุสามก๊กซึ่งนักศึกษาประวัติศาสตร์จีนถือว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง
แต่สามก๊กของไทยแปลมาจากสามก๊กทงซกเอี้ยนหงี หรือนิทานสามก๊ก เขียนโดย ล่อกวนตง
นักเขียนจีนในปลายสมัยราชวงศ์หงวนต่อราชวงศ์เหม็ง
เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ใช้เหตุการณ์จริงราว 30 %
ที่เหลือเป็นจินตนาการของผู้แต่ง ซึ่งสัมฤทธิผลในการเขียนได้สนุกพิสดาร น่าอ่าน
น่าเชื่อถือ (ยง อิงคเวทย์ ในเรื่องเดียวกัน : 46)
นิทานสามก๊กเป็นที่รู้จักแพร่หลายและเป็นที่นิยมกันมากถือเป็นวรรณกรรมมวลชน
เพราะทำให้ประชาชนชาวจีนชื่นชมในคุณค่าของความกตัญญูกตเวที
คุณธรรมจรรยาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของประชาชาติจีน
หนังสือนี้ได้มีการพิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง
ต่อมาเหมาจงกังลูกศิษย์ของกิมเสี่ยถ่างเช่นเดียวกับล่อกวนตงได้ปรับปรุงสามก๊กฉบับของล่อกวนตงทั้ง
120 บท โดยตัดต่อ แต่งเติม เปลี่ยนชื่อเรื่อง แก้สำนวน มี พังโพย หรือเชิงอรรถ
และมีคำนำเป็นบทอธิบายเชิงวิจารณ์ของกิมเสี่ยถ่างประกอบ
หนังสือสามก๊กฉบับแก้ไขของเหมาจงกังก็พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่นั้นมา
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือหนังสือสามก๊กภาษาจีนมีภาพประกอบเป็นรูปตัวละครและเรื่องราวในตัวเรื่องด้วย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2510 : 57 58)
ทรงสันนิษฐานว่ารูปภาพเหล่านี้น่าจะเกิดจากตัวงิ้วและเกิดร่วมสมัยกับหนังสือสามก๊กที่นิยมอ่านกันแพร่หลาย
ภาพจากเรื่องสามก๊กยังเป็นภาพที่คนจีนนิยมใช้ประดับบ้านและแพร่หลายมายังไทยด้วย
เช่น ภาพประดับพระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคล
ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เมื่อมีการแปลนิทานสามก๊กเป็นพากย์ไทยก็ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าฉบับพากย์จีน
และส่งผลให้มีการแปลวรรณคดีจีนต่อเนื่องมาอีกหลายรัชกาล
ไม่มีหลักฐานว่าเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลสามก๊กขึ้นเมื่อใด
จึงกำหนดได้แต่ว่าต้องแปลก่อน พ.ศ. 2348
ซึ่งเป็นปีที่เจ้าพระยาพระคลังถึงแก่อสัญกรรมก่อนอำนวยการแปลจนจบ
สามก๊กพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2408 ในสมัยรัชกาลที่ 4
โดยโรงพิมพ์ของหมอบลัดเลย์ และใน พ.ศ. 2470 ราชบัณฑิตยสภา โดยสมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภาได้ตั้งคณะกรรมการชำระวรรณคดีเรื่องสามก๊ก
เพื่อประทานในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
และในครั้งนั้นทรงนิพนธ์ ตำนานสามก๊ก ไว้ด้วย ในตอนหนึ่งทรงกล่าวถึงการแปลว่า
สำนวนแปลคงจะไม่สู้ตรงกับสำนวนที่แต่งไว้ในภาษาจีนแต่เดิม
เพราะผู้แปลมิได้สันทัดทั้งภาษาจีนและภาษาไทยรวมอยู่ในคนเดียวเหมือนเช่นแปลหนังสือฝรั่งกันทุกวันนี้
และ
อนึ่งการแปลหนังสือจีนเป็นไทยผิดกับการแปลภาษาอื่นอีกอย่างหนึ่งด้วยจีนต่างเหล่าอ่านหนังสือจีนสำเนียงผิดกัน
(สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2510: 30 31 และ 32)
ในสมัยต่อมามีผู้ศึกษาวิจัยเรื่องสามก๊กอีกหลายคน
รวมทั้งมีการแปลสามก๊กสำนวนใหม่ขึ้นด้วย
ทำให้มีการวิเคราะห์ให้เห็นว่าฉบับแปลของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
ไม่ตรงกับฉบับของจีนอยู่มาก ดังที่มาลินี ดิลกวณิช (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
และคนอื่น , 2536 : 180) กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบหนังสือ สามก๊ก
ฉบับไทยกับต้นฉบับจีน พบว่าโดยมากฉบับไทยจะแปลถอดความ
รักษาไว้เพียงโครงเรื่องและลำดับของเนื้อเรื่อง
ส่วนรายละเอียดในเนื้อหาสาระเมื่อเปรียบเทียบตามตัวอักษรแล้วปรากฏว่ามีความแตกต่างกันมาก
ความแตกต่างเหล่านั้นมีหลายลักษณะ จากข้อเขียนของมาลินี ดิลกวณิช (เรื่องเดียวกัน :
180 195) สรุปได้ว่าส่วนที่แตกต่างไป ได้แก่
- การตัดบทกวีที่สอดแทรกอยู่ตลอดเรื่องกว่า 200 บท ตามค่านิยมของวรรณศิลป์จีน
การสอดแทรกบทกวีเป็นการยกระดับความสุนทรีย์ของงานเขียน
แสดงว่าผู้แต่งมีการศึกษาและรสนิยมสูง
การตัดบทกวีออกไปจึงเป็นการทำลายความงามและทำให้ขาดอรรถรสไปมาก
- การแบ่งบทเสียใหม่ลบล้างเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของนิยายจีน
เพราะตามขนบนิยมของจีน แต่ละบทจะต้องประกอบด้วยเหตุการณ์สำคัญเพียง 2 เหตุการณ์
และจะจบลงตรงจุดที่ตื่นเต้นหรือวิกฤตที่สุดซ่อนเงื่อนที่สุด
เพื่อเชิญชวนให้ตามอ่านบทต่อไป
- ฉบับของไทยแนะนำชื่อตัวละครก่อนบรรยายประวัติและคุณสมบัติ
ต่างจากฉบับจีนที่แนะนำตัวละครในแนวที่สร้างความตื่นเต้นลึกลับ
- ผู้เล่าเรื่องฉบับไทยจะเป็นประเภทหยั่งรู้ความคิดของตัวละคร
ชอบบรรยายความรู้สึกนึกคิด
และบางครั้งก็ขยายความเพิ่มจากต้นฉบับจีนเพื่อให้คนอ่านไทยเข้าใจเหตุการณ์ยิ่งขึ้น
- ฉบับไทยเปลี่ยนแปลงแนวคิดในเนื้อหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อในเรื่องชะตากรรม คนจีนเชื่อว่าเป็นชะตาฟ้าลิขิต ไม่มีใครขัดขืนได้เลย ชะตาฟ้าลิขิตจะใช้ในการพลิกผันเหตุการณ์ที่สำคัญและน่าตื่นเต้น ใช้ในการกำหนดชะตากรรมของตัวละคร และใช้กำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง แต่ฉบับไทยจะกล่าวถึงชะตากรรมตามหลักพุทธศาสนา นั่นคือ ชะตากรรมขึ้นอยู่ความรับผิดชอบของมนุษย์ แล้วแต่บุญทำกรรมแต่ง ไม่ใช่ความศักดิ์สิทธิ์ของฟ้าเบื้องบน ตัวละครจึงคิดและเชื่อแบบไทย ไม่ใช่แบบจีน
วรรณคดีจีนพากย์ไทยเรื่องสามก๊กจึงเป็นตัวอย่างอันดีอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าในอดีตไทยรับวรรณคดีจากต่างประเทศโดยไม่คำนึงว่าจะต้องรักษาเนื้อเรื่อง
บุคลิกตัวละคร วัฒนธรรมความเชื่อหรือขนบทางวรรณศิลป์ของวรรณคดีต้นฉบับ
แต่จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของไทย
และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วรรณคดีจากต่างประเทศเหล่านั้นเป็นที่นิยมในหมู่คนไทย
เพราะทำให้คนอ่านไทยเข้าใจ ซาบซึ้ง ไม่รู้สึกแปลกแยกหรือขัดแย้ง
เช่นเดียวกับที่มาลินี ดิลกวณิช (เรื่องเดียวกัน : 180) ให้ความเห็นว่า
เมื่อได้ศึกษาเปรียบเทียบสามก๊กกับต้นฉบับจีน
ก็ได้พบคำตอบว่าบทบาทที่สำคัญของสามก๊กไม่ได้อยู่ที่เป็นวรรณกรรมแปลจากเรื่องจีน
เพราะเป็นการแปลที่ไม่ได้ถ่ายทอดออกมาอย่างซื่อสัตย์ครบถ้วนตามต้นฉบับ
ลักษณะความเป็นจีนจึงไม่ใช่สิ่งที่เด่นอีกต่อไปในฉบับภาษาไทย
แต่สิ่งที่ถูกดัดแปลงและเปลี่ยนแปลงไปต่างหากที่ทำให้ สามก๊ก
มีเอกลักษณ์ใหม่ของตนเองและกลายเป็นแบบแผนของการประพันธ์วรรณกรรมประเภทหนึ่งของไทย
มีประเด็นควรพิจารณาว่าการรับอิทธิพลวรรณกรรมจากต่างประเทศเข้ามาเป็นวรรณกรรมไทยมีสาเหตุอันใด
ได้พบว่าสาเหตุของการรับอิทธิพลอาจจะมีหลายประการ ได้แก่
วรรณคดีเรื่องนั้นมีความสนุกสนานบันเทิงจึงน่าจะแปลหรือนำมาเล่าใหม่ให้คนไทยสนุกรื่นรมย์ไปด้วย
วรรณคดีบางเรื่องอาจนำเข้ามาพร้อมกับสิ่งอื่น เช่น ความเชื่อความศรัทธาในศาสนา
การประกอบพิธีกรรม หรือศิลปะการแสดงต่าง ๆ นอกจากนี้แล้ว
ยังน่าคิดว่าการรับอิทธิพลวรรณกรรมจากต่างประเทศอาจมีเหตุผลทาง การเมือง แฝงอยู่
นั่นคือ
วรรณคดีเรื่องนั้นสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง
อันเป็นคุณต่อการปกครองแผ่นดิน เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ยืนยันแนวคิดเทวะราชา
และส่งเสริมสถาบันกษัตริย์
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์สนับสนุนค่านิยมที่ผู้หญิงต้องเป็นภรรยาที่ดี เคารพเทิดทูน
ปรนนิบัติสามีให้มีความสุข มีกิริยา วาจา และจิตใจดีงาม สามก๊ก ตลอดจน ไซ่ฮั่น
และราชาธิราชที่แปลเป็นไทยในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
เป็นวรรณคดีจีนและมอญพากย์ไทยที่แสดงกลยุทธ์ในการทำสงครามว่าลำพังแต่อาวุธและกำลังไพร่พลที่ทุ่มเข้าฟาดฟันกันนั้นไม่เพียงพอ
การยุทธ์ยังต้องประกอบไปด้วยการวางแผนทั้งรุกทั้งรับ
เพื่อเอาชนะศัตรูด้วยปัญญาอันแหลมคม นอกจากนี้ วรรณคดีทั้ง 3
เรื่องนี้จะแสดงให้เห็นว่าผู้นำเป็นผู้มีบุญญาบารมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาบารมี
และขุนทหารเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดแล้ว
ยังแสดงให้เห็นคุณสมบัติของผู้นำว่าต้องใจกว้าง เสียสละ และยุติธรรม
คุณสมบัติของข้าทหารคือ จงรักภักดี กล้าหาญ และรักเกียรติยศศักดิ์ศรี
เรื่องสามก๊กยังเป็นอุทาหรณ์ให้คนไทยไม่แตกสามัคคี
ส่วนราชาธิราชเป็นกำลังใจให้คนไทยมีจิตใจฮึกเหิมในการต่อสู้กับพม่า
เหมือนเช่นกองทัพมอญของพระเจ้าราชาธิราชที่สามารถเอาชนะพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้
วรรณคดีทั้ง 4 เรื่องในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีจึงรังสรรค์ขึ้นถูกจังหวะ
เหมาะแก่สภาพเหตุการณ์ของยุคสมัย
จนน่าเชื่อว่ามีนัยการเมืองแฝงอยู่มากกว่าการนำเสนอวรรณคดีที่มีวรรณศิลป์เท่านั้น