วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีต่างประเทศ
บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปล
พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่
บรรณานุกรม
พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่
นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่เป็นตัวอย่างของวรรณคดีไทยที่ปรุงขึ้นด้วยอิทธิพลของวรรณคดีที่รับมาจากต่างชาติ
มีผู้ศึกษาเรื่องที่มาของการแต่งเรื่องพระอภัยมณีไว้หลายคน
สรุปได้ว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีโดยได้ วัตถุดิบ จาก 4 ทางด้วยกัน คือ
1. จากวรรณคดีไทยและวรรณคดีต่างชาติที่นำเค้าเรื่องมาแต่งใหม่
2. จากวรรณคดีจีน
3. จากเหตุการณ์ทั้งในและนอกประเทศที่สุนทรภู่ได้ยินได้ฟังมา
4. จากจินตนาการของสุนทรภู่เอง
ประเด็นเรื่องการรับอิทธิพลวรรณคดีต่างชาติจะอยู่ใน 2 ข้อแรก ดังนี้
1. จากวรรณคดีไทยและวรรณคดีต่างชาติที่นำเค้าเรื่องมาแต่งใหม่
ได้แก่ พระลอ อิเหนา รามเกียรติ์ สังข์ทอง
พระลอ ตอนศรีสุวรรณและสามพราหมณ์เข้าเมืองรมจักร
ศรีสุวรรณและสามพราหมณ์เกี้ยวนางเกษราและสามพี่เลี้ยงในสวน
ฉากรักนี้คล้ายกับฉากพระลอเกี้ยวพระเพื่อนพระแพง
และนายแก้วนายขวัญเกี้ยวนางรื่นนางโรย
อิเหนา สุนทรภู่นำเค้าเรื่องมาแต่งหลายตอน เช่น
รูปเสน่ห์นางละเวง
นางละเวงส่งสารไปขอให้เจ้าเมืองต่างประเทศมาช่วยรบกับกองทัพฝ่ายพระอภัย
พร้อมกับส่งรูปเสน่ห์ลงอาคมของนางไปด้วย
เจ้าเมืองทั้งหลายหลงรูปเสน่ห์พากันยกทัพมาช่วย
เจ้าละมานเป็นคนหนึ่งที่หลงรูปและตายเพราะความหลง
เนื้อความตอนนี้เหมือนตอนวิหยาสะกำหลงรูปนางบุษบาจนต้องทำศึกกะหมังกุหนิง
เพื่อชิงบุษบาจากจรกา วิหยาสะกำตายในที่รบ
ในเรื่องพระอภัยมณี รูปเสน่ห์จากเจ้าละมานตกไปอยู่ในมือพระอภัย
ทำให้พระอภัยหลงเสน่ห์นางละเวง สุดสาครช่วยแก้ฤทธิ์อาคมได้ในเวลาต่อมา
สินสมุทเป็นสื่อรัก ในระหว่างพระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลีไปจากเกาะแก้วพิสดาร
พระอภัยหลงรักนางสุวรรณมาลีแต่ไม่กล้าเกี้ยวแสดงความรัก
จึงใช้ให้สินสมุทไปขอผ้าสไบบ้าง นำสารรักไปให้บ้าง
เหมือนอิเหนาขอให้สียะตราไปขอผ้าสไบและชานหมากจากนางบุษบา
สุนทรภู่ยังให้พระอภัยมณีรำพันไว้ตอนนี้ว่า เหมือนอิเหนาเผาเมืองเรื่องยังมี
เรายังดีกว่าอิเหนาเป็นเท่าไร
รามเกียรติ์
สุนทรภู่น่าจะได้ความคิดเรื่องตัวละครมีกำเนิดจากพ่อแม่ต่างเผ่าพันธุ์จากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
เพราะมีตัวละครลักษณะนี้หลายตัว เช่น มัจฉานุ เป็นลูกลิงกับปลา
(หนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา) อสุรผัดเป็นลูกลิงกับยักษ์ (หนุมานกับนางเบญกาย)
ในเรื่องพระอภัยมณีจึงมี สินสมุท เป็นลูกมนุษย์กับยักษ์ (พระอภัยมณีกับนางผีเสื้อ)
และสุดสาครเป็นลูกมนุษย์กับเงือก (พระอภัยกับนางเงือก)
นอกจากนี้นางเงือกและผีเสื้อสมุทรก็นำมาจากเรื่องรามเกียรติ์
ตอนผีเสื้อสมุทรสู้กับหนุมาน ส่วนนางเงือกมาจากนางสุพรรณมัจฉา
2. ได้อิทธิพลจากวรรณคดีจีน
เรื่องพระอภัยมณีเป็นนิทานคำกลอนแบบจักร ๆ วงศ์ ๆ
แต่ขณะที่อ่านก็ได้กลิ่นอายของความเป็นจีนอยู่ไม่น้อย เช่น
สุนทรภู่เรียกอาวุธว่ากระบี่ เกาทัณฑ์ เหมือนเรื่องจีน นอกจากนี้
ในด้านเนื้อเรื่องและตัวละคร
ยังพบว่าวรรณคดีจีนที่มีอิทธิพลต่อสุนทรภู่ในการสร้างสรรค์เรื่องพระอภัยมณีมี 3
เรื่อง คือ สามก๊ก ไซ่ฮั่น เลียดก๊ก ดังนี้
สามก๊ก สุนทรภู่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสามก๊กอยู่หลายตอน เช่น
อุบายเผาเรือ นางละเวงทำอุบายเผากองทัพเรือของพระอภัยมณีที่ยกไปตีเมืองใหม่
จนกองทัพเมืองผลึกต้องถอยร่นไม่เป็นขบวน
เหตุการณ์ตอนนี้น่าจะได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ
เพราะอุบายของจิวยี่และขงเบ้ง
ความกตัญญูของสุดสาคร
สุดสาครแสดงความกตัญญูต่อพระฤษีเกาะแก้วพิสดารโดยสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ที่เจ้าเมืองการะเวกมอบให้
แล้วทับด้วยหนังเสือของพระฤษี
ซึ่งสุดสาครกล่าวปฏิญาณไว้ว่าจะไม่ถอดจนกว่าจะได้กลับไปหาพระฤษีอีกครั้ง
การแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณเช่นนี้คล้ายคลึงกับเรื่องสามก๊ก
โจโฉจับตัวกวนอูน้องร่วมสาบานของเล่าปี่ได้ คิดจะชุบเลี้ยงเพราะรู้ว่าเป็นคนมีฝีมือ
จึงผูกใจกวนอูด้วยการบำรุงบำเรอให้ความสุขด้วยอาหารการกินพร้อมให้เสื้อผ้าชุดใหม่
กวนอูสวมเสื้อชุดใหม่ของโจโฉไว้ข้างในแล้วสวมเสื้อเก่าขาดที่เล่าปี่ให้ไว้ข้างนอก
แสดงให้โจโฉเห็นว่ากวนอูเป็นคนกตัญญู จงรักภักดีต่อเล่าปี่ไม่เปลี่ยนแปลง
ไซ่ฮั่น มีอิทธิพลต่อเรื่องพระอภัยมณีหลายตอน เช่น
เพลงปี่ห้ามทัพ พระอภัยมณีเป่าปี่ยุติทัพนางละเวง
เนื่องจากฝ่ายเมืองผลึกเริ่มเพลี่ยงพล้ำ ศรีสุวรรณและสินสมุท
ต่างติดอยู่ในรถกลของนางละเวง เพลงปี่ของพระอภัยมีเนื้อความดังนี้
วิเวกหวีดกรีดเสียงสำเนียงสนั่น คนขยั้นยืนขึ้งตะลึงหลง
ให้หวิววาบทราบทรวงต่างง่วงงง ลืมประสงค์รบสู้เงี่ยหูฟัง
พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้ ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง
วิเวกแว่วแจ้วเสียงสำเนียงปี่ พวกโยธีทิ้งทวนชวนเขนง
ลงนั่งโยกโงกหงับทับกันเอง เสนาะเพลงเพลินหลับระงับไป
เนื้อความของเพลงปี่พระอภัยคล้ายคลึงกับเพลงปี่ห้ามทัพของเตียวเหลียงในเรื่องไซ่ฮั่นมาก
เตียวเหลียงมีความเชี่ยวชาญในการเป่าปี่
จึงอาสาพระเจ้าฮั่นอ๋องไปเป่าปี่บนภูเขาเพื่อให้ทหารของพระเจ้าฌ้อปาอ๋องเกิดความเศร้าสลดใจ
กลัวตายและคิดถึงบ้าน จะได้ชวนกันหนีทัพกลับไป
เพลงปี่ของเตียวเหลียงมีเนื้อความดังนี้
เสียงเป่าปี่อยู่บนภูเขาเป็นเพลงว่า เดือนยี่ฤดูหน้าหนาว
น้ำค้างตกเย็นทั่วไปทั้งสี่ทิศ จะดูฟ้าก็สูง แม่น้ำก็กว้าง
ฤดูนี้คนทั้งปวงได้ความเวทนานัก ที่จากบ้านเรือนมา ต้องทำศึกอยู่นั้น
บิดามารดาและบุตรภรรยาอยู่ภายหลังก็ยืนรอคอยอยู่แล้ว
ถึงมีเรือกสวนและไร่นาก็จะทิ้งรกร้างไว้ไม่มีผู้ใดจะทำ
เพื่อนบ้านที่เขาไม่ต้องไปทัพอยู่พรักพร้อมกัน ก็จะอุ่นสุรากินเล่นเป็นสุข
น่าสงสารผู้ที่จากบ้านช่องมาหลายปีนั้น
ที่บิดามารดาแก่ชราอยู่ก็ป่วยเจ็บล้มตายเสียหาได้เห็นใจบิดามารดาไม่
และตัวเล่าต้องมาทำศึกอยู่ฉะนี้
ถ้าเจ็บป่วยล้มตายลงก็จะกลิ้งอยู่กลางแผ่นดินแต่ผู้เดียว
บุตรภรรยาและญาติพี่น้องก็มิได้ปรนนิบัติรักษากัน เป็นผีหาญาติมิได้
ถ้าแต่งตัวออกรบครั้งใดก็มีแต่ฆ่าฟันกัน กระดูกและเนื้อถมแผ่นดินลงทุกครั้ง
ดูสังเวชนัก ท่านทั้งปวงก็เป็นมนุษย์ มีสติปัญญาอยู่ทุกคน
เร่งคิดเอาตัวรอดไปบ้านช่องของตัวเถิด ท่านไม่รู้หรือม้านั้นก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน
ถ้าผู้ใดพาไปจากโรงและมิได้ผูกถือกักขังไว้ ก็ย่อมกลับคืนมาถิ่นที่อยู่ของตัว
อันประเพณีมนุษย์ถ้าจะเจ็บป่วยล้มตาย ก็ยอมให้อยู่ที่บ้านช่องของตัว
พร้อมบิดามารดาและญาติพี่น้องจึงจะดี
ครั้งนี้เทพยดารู้ว่าพระเจ้าฌ้อปาอ๋องสิ้นวาสนาแล้วและมีความกรุณาแก่ท่านทั้งปวงว่า
จะมาพลอยตายเสียเปล่า จึงใช้เรามาบอกให้รู้ให้เร่งคิดเอาตัวรอดเสีย
ถ้าชักช้าอยู่อีกวันหนึ่งสองวัน ฮั่นอ๋องก็จะจับตัวพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้
ถึงผู้ใดมีกำลังและหมายจะสู้รบก็เห็นไม่พ้นมือฮั่นอ๋องแล้ว
อันกำลังศึกฮั่นอ๋องครั้งนี้ อย่าว่าแต่คนเข้าต้านทานเลย
ถึงมาตรว่าหยกและศิลาก็ไม่อาจทนทานอยู่ได้ อันฮั่นอ๋องเป็นผู้มีบุญ
น้ำใจก็โอบอ้อมอารีนัก ถึงผู้ใดจะเป็นข้าศึกแต่ถ้าเข้าไปสามิภักดิ์แล้ว
ก็ชุบเลียงมิได้ทำอันตราย ฮั่นอ๋องจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นแน่แท้
ท่านทั้งหลายทั้งปวงจงคิดอ่านเอาตัวรอดรักษาชีวิตไว้เอาความชอบดีกว่า
ม้ามังกร เป็นพาหนะของสุดสาครที่มีลักษณะประหลาดคือ
เป็นลูกผสมระหว่างม้ากับมังกรมีกำลังมหาศาล และกินทุกอย่าง
กินผู้คนปูปลาหญ้าใบไม้ สุนทรภู่บรรยายลักษณะว่า พอพบม้าหน้าเหมือนมังกรร้าย
แต่กีบกายนั้นเป็นม้าน่าฉงน หางเหมือนอย่างหางนาคปากคำรณ กายพิกลกำยำดูดำนิล
และมีลักษณะวิเศษ คือ เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน
ถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน
สุนทรภู่นำเรื่องมังกรมาจากจีนแน่นอน
เพราะจีนถือว่ามังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ศิลปะของจีนจะมีรูปมังกร
เป็นประติมากรรมและจิตรกรรมที่เผยแพร่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนี้
วรรณคดีเรื่องไซ่ฮั่น กล่าวถึงพาหนะของห้างอี๋ เป็นสัตว์ประหลาด ชื่อ โอจือเบ๊
เป็นมังกรสีดำแปลงร่างเป็นม้าได้
นอกจากนี้ วรรณคดีจีนเรื่อง ไคเภ็ก แปลในสมัยรัชกาลที่ 5
กล่าวถึงม้ามังกรไว้เช่นกัน แม้เรื่องนี้จะแปลหลังสมัยสุนทรภู่แล้ว
แต่ก็น่าสนใจที่สัตว์ประหลาดนี้คงเป็นตัวละครที่จีนนิยมมาก
จึงปรากฏในวรรณกรรมหลายเรื่อง เรื่องไคเภ็ก กล่าวถึงม้ามังกรไว้ดังนี้
ที่แม่น้ำเม่งจิ้น เกิดเป็นพายุมีคลื่นระลอกใหญ่ น้ำท่วมขึ้นมาบนแผ่นดิน
แล้วมีสัตว์ตัวหนึ่งรูปร่างเหมือนมังกร ครั้นพิเคราะห์ดูหาใช่มังกรไม่
บางคนดูรูปร่างเหมือนม้าแต่หาใช่ม้า เพราะรูปร่างใหญ่โตมีปีกด้วย
จึงไม่รู้ว่าสัตว์อะไรแน่ ขึ้นมาโลดเต้นอยู่บนน้ำ ราษฎรตกใจกลัว
ขุนนางผู้ใหญ่ทราบหนังสือบอกนั้นแล้ว ก็กราบทูลพระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้
พระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้ทราบแล้วสงสัย จึงตรัสว่าเหตุนี้จะเป็นประการใด
ขณะนั้น นางหนึงออสี ผู้เป็นภคินีของพระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้
เฝ้าอยู่ที่นั่นจึงทูลว่า สัตว์นี้รูปร่างเหมือนมังกร แลคล้ายม้า
แล้วเกิดมาแต่ในแม่น้ำนั้น เห็นเป็นการมงคล
ควรพระองค์จะพาข้าราชการไปตั้งเครื่องสักการบูชาและคำนับจึงจะชอบพระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้เห็นชอบด้วย
จึงพาข้าราชการไปดู เห็นมีคลื่นระลอกในแม่น้ำเม่งจิ๋นแล้วสัตว์นั้นก็ยืนอยู่ในน้ำ
รูปร่างเหมือนม้า สูงประมาณ 8 เชียะ 9 เชียะ (ประมาณ 9 ถึง 10 ฟุต) ตัวนั้นมีเกล็ด
มีปีก 2 ข้าง ครั้นดูไปเห็นเหมือนรูปเลาะเลาะ คือรูปอูฐ ตะพายหีบแดงหีบหนึ่ง
ที่หน้าหีบจารึกอักษร 4 อักษรภาษาจีนว่า ห้อโตลกจือ
พระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้จึงให้ตั้งเครื่องบูชาแล้วพากันคำนับ
พระเจ้าฮอกฮีสีฮ่องเต้ก็ประกาศว่า ข้าพเจ้ารักษาแผ่นดินมาได้หลายร้อยปีแล้ว
ถ้าข้าพเจ้ามิได้ตั้งอยู่ในยุติธรรมแล้ว ข้าพเจ้าจะรับโทษ
ขอท่านจงให้คลื่นและระลอกที่โตใหญ่นั้นสงบ
แล้วอย่าให้น้ำท่วมขึ้นมาให้ราษฎรได้ความลำบากเลย
ครั้นประกาศแล้วลมแลคลื่นและระลอกก็หยุดเป็นปกติอย่างเดิม จึงได้เรียกสัตว์นั้นว่า
เล่งเบ๊ เล่งเบ๊นั้น แปลว่าม้ามังกร
เลียดก๊ก มีอิทธิพลต่อเรื่องพระอภัยมณีดังนี้
นางวาลี
นางวาลีในเรื่องพระอภัยมณีมีลักษณะคล้ายนางจงลี่ฉุนในเรื่องเลียดก๊กทั้งรูปร่างหน้าตา
อุปนิสัย และสติปัญญา เรื่องเลียดก๊กบรรยายถึงนางจงลี่ฉุนว่า นางจงลี่ฉุนคนนี้
มีสติปัญญาเฉียบแหลมนัก แต่รูปร่างนั้นพิกล จักษุกลม จมูกยาว หน้าผากใหญ่ คอสั้น
เท้าโต มือโต นิ้วมือนั้นยาว ทั้งสูง ทั้งใหญ่ สีตัวดำ เหมือนทาหมึก
นุ่งกางเกงใส่เสื้อขาด
สุนทรภู่บรรยายว่านางวาลีเป็นคนรูปชั่วตัวดำอัปลักษณ์แต่มีวิชาความรู้ ดังกล่าวว่า
อยู่ภายหลังยังมีสตรีหนึ่ง อายุถึงสามสิบสี่ไม่มีผัว
ชื่อวาลีสีเนื้อนั้นคร่ำมัว รูปก็ชั่วชายไม่อาลัยแล
ทั้งกายาหางามไม่พบเห็น หน้าก็เป็นรอยฝีมีแต่แผล
เป็นกำพร้ามาแต่หล่อนยังอ่อนแอ ได้พึ่งแต่ตายายอยู่ปลายนา
เป็นเชื้อพราหมณ์ความรู้ของผู้เฒ่า แต่ก่อนเก่าบูราณนานหนักหนา
เป็นมรดกตกต่อต่อกันมา นางอุตส่าห์เรียนเล่าจนเข้าใจ
รู้ฤกษ์ผาดินฟ้าสำแดงเหตุ ทั้งไตรเภทพิธีคัมภีร์ไสย
ครั้นเจนแจ้งแกล้งเอาเข้าเผาไฟ มิให้ใครพบปะพระคัมภีร์
นางวาลีเหมือนนางจงลี่ฉุนที่มีความทะเยอทะยาน
นางจงลี่ฉุนเสนอตัวเป็นภรรยาหลวงของอุยอ๋องข้อเสนอของนางได้รับการเย้ยหยัน
แต่นางแสดงปัญญาชาญฉลาดโดยชี้จุดบกพร่องของอุยอ๋องซึ่งเป็นเจ้าเมืองและเสนอแนะวิธีแก้ไขข้อบกพร่อง
คำพูดของนางจงลี่ฉุนแม้จะแทงใจดำ แต่อุยอ๋องยอมรับว่านางฉลาด จึงรับไว้ใช้ราชการ
เรื่องราวของนางวาลีก็ไม่แตกต่างไปจากนางจงลี่ฉุนนัก
นางขอเข้าเฝ้าพระอภัยมณีเพื่อถวายตัวรับราชการและขอเป็นมเหสี
นางวาลีได้รับเสียงหัวเราะเยาะหยันเช่นกัน เมื่อนางแสดงตนว่ามีความรู้
พระอภัยทดสอบความรู้เรื่องการศึกจนพอใจ
แต่ทัดทานเรื่องที่นางขอเป็นมเหสีเพราะนางมีรูปไม่งาม
นางวาลีกราบทูลอย่างหลักแหลมว่า
นางทูลว่าที่น้องนี้รูปชั่ว ก็รู้ตัวมั่นคงไม่สงสัย
แต่แสนงามความรู้อยู่ในใจ เหมือนเพชรไพฑูรย์ฝ้าไม่ราคี
แล้วหมายว่าฝ่าพระบาทก็มีห้าม ล้วนนางงามเคยประณตบทศรี
แต่หญิงมีวิชาเช่นข้านี้ ยังไม่มีไม่เคยเลยทั้งนั้น
จึงอุตส่าห์มายอมน้อมประณต ให้พระยศใหญ่ยิ่งทุกสิ่งสรรพ์
บรรดาผู้วิชาสารพัน จะหมายมั่นพึ่งพาบารมี
แม้ทรงศักดิ์รักโฉมประโลมสวาท ไม่เลี้ยงปราชญ์ไว้บำรุงซึ่งกรุงศรี
ก็ผิดอย่างทางทำเนียบประเวณี เห็นคนดีจะไม่มาสามิภักดิ์
ขอพระองค์ทรงตรึกให้ลึกซึ้ง เป็นที่พึ่งแผ่ไปทั้งไตรจักร
อันรูปหญิงพริ้งเพริศล้ำเลิศลักษณ์ ดีแต่รักรอนราญการโลกีย์
พระอภัยมณีฟังนางวาลีพูดจาหลักแหลมทั้งล่อทั้งชนอย่างนี้
จึงยอมรับนางเป็นชายา แต่เนื่องจากนางยังไม่ได้แสดงความสามารถแต่อย่างใด
จึงตั้งให้เป็นนางสนมไปก่อน นางวาลีพิสูจน์ผลงานให้เห็นว่าเก่งสมกับที่คุยไว้
ด้วยการออกอุบายให้นางสุวรรณมาลียอมอภิเษกกับพระอภัย
และช่วยทำศึกเมืองลังกาที่ยกมาตีเมืองผลึก ทำให้เจ้าลังกาบาดเจ็บและจับตัวอุศเรนได้
นางวาลีเห็นการณ์ไกลว่าหากปล่อยตัวอุศเรนไปตามประสงค์ของพระอภัย
อุศเรนจะเป็นภัยแก่เมืองผลึกในภายหน้า
นางจึงใช้วาจาประหัตประหารจิตใจของอุศเรนจนสิ้นใจตาย
แต่นางวาลีก็ต้องจบชีวิตลงด้วยปีศาจอุศเรนเข้าสิง
ดินถนัน เป็นของวิเศษที่เป็นยาอายุวัฒนะ
สุนทรภู่น่าจะได้ความคิดมาจากเรื่องเลียดก๊ก ดินถนันหรือนมพระธรณี
เป็นของวิเศษที่นางละเวงพบระหว่างหนีพระอภัย
สุนทรภู่บรรยายลักษณะและรสชาติของดินถนันไว้ว่า
พอได้ยินดินลั่นเสียงครั่นครื้น สะเทือนพื้นภูผาป่าระหง
ประเดี๋ยวหนึ่งตึงสะดุ้งดังผลุงลง กลิ้งอยู่ตรงหน้าเท่าน้ำเต้าทอง
เหลืองอร่ามงามงอมหอมระรื่น ดูสดชื่นชูสีไม่มีสอง
สงสัยนักชักมีดออกกรีดลอง ขาดเป็นสองซีกไส้ข้างในแดง
นางชิมดูรู้ว่าโอชารส เหลือกำหนดในมนุษย์สุดแสวง
ทั้งหอมหวานซ่านเสียวมีเรี่ยวแรง ที่ศอแห้งหิวหายสบายบาน
เทพารักษ์ซึ่งพระอิศวรสาปให้กายขาดครึ่งท่อน
ให้อยู่เฝ้าเขาอังกาศมาขอแบ่งดินถนันจากนางละเวงวัณฬากินให้พ้นคำสาป
และเล่าความเป็นมาพร้อมทั้งสรรพคุณของดินถนันให้นางละเวงฟังว่า
ลูกนั้นหรือชื่อว่านมพระธรณี ถึงพันปีผุดขึ้นเหมือนปืนดัง
ฝูงสัตว์ไพรได้ยินทั้งกลิ่นหอม มาพรั่งพร้อมหมายจะกินถวิลหวัง
ด้วยหวานเย็นเห็นประเสริฐเลิศกำลัง กำจัดทั้งโรคาไม่ราคี
อายุยืนชื่นชุ่มเป็นหนุ่มสาว ผิวนั้นราวกับทองละอองศรี
ถึงแก่เฒ่าเข้าเรือนสามร้อยปี ก็ไม่มีมัวหมองละอองนวล
ทั้งเนื้อหอมกล่อมกลิ่นระรินรื่น เป็นที่ชื่นเชยบุรุษสุดสงวน
สรรพคุณต่าง ๆ ของดินถนันว่าเป็นยาอายุวัฒนะอาจเกิดจากจินตนาการของ
สุนทรภู่เอง เพราะเป็นสิ่งที่สุนทรภู่ประสงค์จะได้มาก
ดังปรากฏในนิราศหลายเรื่องว่าสุนทรภู่แต่งเมื่อเดินทางไปตามหายาอายุวัฒนะ
แต่ในเรื่องเลียดก๊ก กล่าวถึงผลไม้ชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายดินถนันมาก
สุนทรภู่อาจจะได้ความคิดจากวรรณคดีจีนเรื่องนี้ด้วย
เลียดก๊กมีความตอนหนึ่งว่า
กษัตริย์เมืองฌ้อองค์หนึ่งนามว่า
ฌ้อเจียวอ๋องได้แล่นสำเภาไปในทะเลพร้อมกับขุนนาง ได้พบของสิ่งหนึ่งลอยน้ำมา
สีแดงกลมใหญ่ จึงให้คนลงไปเก็บยกขึ้นมาบนสำเภา
และพระเจ้าฌ้อเจียวอ๋องถามใครดูก็ไม่มีใครทราบว่าคืออะไร จึงเอากระบี่ผ่าออกเป็น 2
ซีก เนื้อในแดงดั่งผลแตงโมจึงเชือดออกชิมดู มีรสหวานหาที่สุดไม่
แล้วตัดแจกบรรดาขุนนางกินกันทุกคน ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึงบ้านเมืองแล้ว
พระเจ้าฌ้อเจียวอ๋องให้คนไปถามขงจู๊ดูว่าผลไม้คืออะไร ขงจู๊ตอบว่า ผลนี้เรียกว่า
ผลภูสิทธิ์ เกิดแต่ในน้ำไม่มีต้นไม่มีรากเหมือนต้นไม้ทั้งปวง
ต่อเมื่ออายุถึงพันปีจะมีขนาดโตเท่านี้
ใครได้พบได้เห็นและได้กินนับว่าเป็นผู้มีบุญเพราะเป็นของวิเศษ
ดินถนันและผลภูสิทธิ์ต่างกันที่ดินถนันผุดขึ้นจากดิน
ส่วนผลภูสิทธิ์ผุดขึ้นจากน้ำ ลักษณะเหมือนผลไม้เช่นกัน แต่ไม่มีต้นไม่มีราก
รสชาติหวาน กลิ่นหอม และจะปรากฏขึ้นเมื่อมีอายุพันปี
ดินถนันมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะชัดเจน
แต่ผลภูสิทธิ์ซึ่งเป็นของวิเศษสำหรับผู้มีบุญ
ผู้เขียนไม่ได้กล่าวไว้ว่ามีสรรพคุณอย่างไร
ตราราหู เป็นของวิเศษของนางละเวง มีลักษณะดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า
ประการหนึ่งซึ่งตราพระราหู เป็นของคู่ขัตติยาเทวาถวาย
เป็นตราแก้วแววเวียนวิเชียรพราย แต่เช้าสายสีรุ้งดูรุ่งเรือง
ครั้นแดดแข็งแสงขาวดูพราวพร้อย ครั้นบ่ายคล้อยเคลือบสีมณีเหลือง
ครั้นค่ำช่วงดวงแดงแสงประเทือง อร่ามเรืองรัศมีเหมือนสีไฟ
แม้นเดินหนฝนตกไม่ถูกต้อง เอาไว้ห้องหับแห่งตำแหน่งไหน
ไม่หนาวร้อนอ่อนอุ่นละมุนละไม ถ้าชิงชัยแคล้วคลาดซึ่งศาสตรา
ตราราหูมีลักษณะคล้าย หยกวิเศษ ในเรื่องเลียดก๊ก ซึ่งบรรยายว่า
กว้างคืบหนึ่งหนาหกนิ้วยาวศอกหนึ่ง หยกนั้นสีต่าง ๆ เวลาเช้าไปจนเที่ยงสีขาว
ตั้งแต่เวลาบ่ายไปจนค่ำสีนั้นแดง แต่ค่ำไปจนเที่ยงคืนสีเขียว
แต่เที่ยงคืนไปจนรุ่งสีเหลือง
คุณวิเศษของหยกนี้คือ
ผู้ใดได้ไว้กับเรือนจะมีความเจริญ ริ้นยุงและเลือดไรแมลงวัน
แต่บรรดาสัตว์จะเบียดเบียนนั้นไม่มี เพลิงก็มิได้ไหม้เรือน
แล้วก็กันปีศาจและความไข้ต่าง ๆ ถ้าหน้าหนาวหยกนั้นอุ่นเหมือนหนึ่งถ่านเพลิง
หน้าร้อนหยกนั้นเย็นดังน้ำ ตั้งไว้ใกล้ตัวผู้ใดก็ให้ความสุขแก่ผู้นั้น
วรรณคดีไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง
เพราะมีทั้งสร้างซ่อมของเดิมฉบับอยุธยา สร้างงานชิ้นใหม่แห่งยุคสมัย
และผสมผสานของเก่าและของใหม่เข้าด้วยกัน
ลักษณะของความหลากหลายเหล่านี้มีอิทธิพลจากวรรณคดีต่างประเทศเป็นปัจจัยอยู่ด้วย
จะเห็นได้ว่าวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมของประเทศต่าง ๆ
ทางตะวันออกหลายชาติ ทั้งอินเดีย เปอร์เซีย ชวา-มลายู มอญ และจีน
การรับอิทธิพลจะมีลักษณะของการนำเค้าเรื่องมาผูกขึ้นใหม่
เพราะแทบทั้งหมดเป็นวรรณคดีที่ถ่ายทอดมาโดยมุขปาฐะ อย่างเช่น รามเกียรติ์ อิเหนา
ดาหลัง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
วรรณคดีบางเรื่องได้อิทธิพลจากหลายแหล่งก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากต้นฉบับเดิม
เช่นเรื่องรามเกียรติ์
แม้วรรณคดีที่แปลจากพงศาวดารมอญและนิยายจีนก็มิได้แปลตามภาษาต้นฉบับทั้งหมด ดังนั้น
กล่าวได้ว่ากวีไทยได้ตัด เติม ปรับเปลี่ยน และ ปรุง
วรรณคดีที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศให้เป็นไปตามขนบนิยมทางวรรณศิลป์ของไทย
ให้สอดคล้องกับรสนิยมของคนไทยและส่งเสริมหรือไม่ขัดต่อค่านิยมของสังคมไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันอันเป็นที่นับถือ คือชาติ ศาสนา
พระมหากษัตริย์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนานาประเทศทางตะวันออกตั้งแต่สมัยอยุธยา
และสืบต่อจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ทำให้วัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีจากนานาประเทศตะวันออกไหลเวียนปะทะสังสรรค์อยู่ในบริบทของวรรณคดีไทย
นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ของ สุนทรภู่
เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นความเป็นสหบท (intertexuality) ในวรรณคดีไทย
เพราะกวีได้แรงบันดาลใจจากเนื้อหาและตัวละครจากวรรณคดีต่างประเทศหลายชาติหลายเรื่อง
แล้วนำมาสร้างสรรค์ใหม่ด้วยจินตนาการของตน
ทำให้เกิดวรรณคดีที่มีความแปลกต่างไปจากวรรณคดีร่วมสมัยเดียวกัน ดังนั้น
วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงมีลักษณะเด่นและมีความสำคัญอย่างยิ่งในวงวรรณคดีศึกษา